25/03/2022
Public Realm

Art-leds Urban Regeneration ถอดบทเรียน เรียนรู้ผ่าน ‘กระบวนการฟื้นฟูเมือง’

อภิชยา ชัยชิตามร
 


ในปัจจุบัน ‘เมือง’ ที่พวกเราอาศัยกันอยู่ มีการเปลี่ยนแปลง และมีความเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการพัฒนาเมืองจึงมีหลากหลายวิธีเพื่อตอบรับการพัฒนาที่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลง และบริบทของพื้นที่ โดย หนึ่งในนั้น คือ การพัฒนาด้วยการฟื้นฟูเมือง โดยใช้ศิลปะ ที่เรียกว่า “การฟื้นฟูเมืองด้วยศิลปะ” หรือ Art-leds Urban Regeneration ที่นอกจากจะช่วยสร้างความใหม่ให้กับเมืองแล้ว ยังแฝงเรื่องราวทางวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของเมืองและย่าน ให้ผู้คนได้ร่วมเรียนรู้ผ่านผลงานศิลปะหลากหลายแขนง

‘ศิลปะ กับ การฟื้นฟูเมือง’

“การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ จะช่วยให้ความหมาย และเปลี่ยนเมืองผ่านการสร้างเอกลักษณ์ และสร้างภาพจำใหม่ให้แก่เมือง

McCarthy, 2006

ปัจจุบัน มีการนำผลงานทางด้านศิลปะ มาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ระดับนโยบายท้องถิ่น จังหวัด ไปจนถึงระดับชาติ เพื่อพัฒนาสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง ผ่านการฟื้นฟูด้วย ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว วิถีชีวิต และประสบการณ์ 

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การใช้ศิลปะในการฟื้นฟูเมือง เปรียบเสมือนการหยิบเอาเรื่องราวเหล่านั้นออกมาปัดฝุ่น เช็ดขัดเงา แต่งเติมเล็กน้อย และทำให้ผู้คนมองเห็นสิ่งเหล่านั้นได้ชัดเจนขึ้น เช่น การจัดนิทรรศการ เทศกาลศิลปะ การเขียนภาพฝาผนัง เป็นต้น

บทความนี้ จึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับกรณีศึกษาของเมืองที่นำแนวคิดการฟื้นฟูเมืองด้วยศิลปะมาใช้ฟื้นฟูและพัฒนาเมืองกัน

Skopje Light Art District, เมืองสโกเปีย ประเทศมาซิโดเนียเหนือ

สโกเปีย หนึ่งในเมืองประวัติศาสตร์ ของมาซิโดเนียเหนือ ได้มีการจัด โครงการ Skopje Light Art District (SkLAD) เทศกาลแสงไฟครั้งแรก ในปีค.ศ. 2018 โดยเป็น หนึ่งในกิจกรรมของโครงการ ROCK Project โครงการความร่วมมือระหว่าง 13 ประเทศ 10 เมือง 32 ภาคความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มภาคการศึกษา กลุ่มหน่วยงานเอกชนตั้งแต่บริษัทเล็กไปจนถึงใหญ่ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โครงข่ายรอบพื้นที่ และผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งสหภาพยุโรป ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองประวัติศาสตร์ที่มีสภาพความเสื่อมโทรมทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสภาพพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การกลายเป็นเมืองที่พัฒนาด้วยนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

“แสง” เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ และส่งเสริมภูมิทัศน์เมือง

ภายในงาน ได้มีการรวบรวมผลงานจัดวางแสงสี มากกว่า 20 ชิ้น ที่มุ่งเสริมสร้างประสบการณ์ของผู้คนในเมืองได้ผ่านผลงานเหล่านั้น ไปพร้อม ๆ กับการแสดงศักยภาพและคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมของย่านเมืองเก่าที่มีอยู่แต่เดิม ที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ โดยกลุ่มศิลปินและนักออกแบบ ได้มีการออกแบบผลงาน ที่สอดคล้องกับบริบทของความเป็นย่าน ผ่านผลงานศิลปะหลากหลายแขนง ตลอดจนประยุกต์ใช้นวัตกรรมอื่น ๆ เช่น ผลงานจากตรวจจับอารมณ์ของผู้เข้าร่วมงาน และแปลความหมายออกมาเป็นสีสัน เป็นต้น ทั้งนี้งานได้มีการจัดทำแผนที่จุดแสดงภายในย่านลงบนแพลตฟอร์มช่องทางสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวเมืองรับรู้ และมีผู้เข้าชมมากกว่า 5,000 คน

https://lh4.googleusercontent.com/DUC-12HkuttfGIrDahxRTUpru5kpZVPcOZJGQT1ftk3OM8usoeeJUiFGt1nS3sk1gXh7gRzs9ksTPSDOzUCxfUh19ddlFhrDr7v7AAWW7Z5f3oSRAl6naK-S96qyLVdJT_Iw8ngH

Skopje Light Art District, Skopje 

ที่มา : Rock FactSheet n3

https://lh3.googleusercontent.com/-BGFStfO1fPXiWqRCmdqDSQopzZFMNya6mfMTaKdPsBExPdWjXnlKe2-85612-TtjNkkDMBu0gLhyplWPNTrEGWwAd_nKe9tLGUk3KXj8EUTftYIE4pY-KbupoI_DenfR9eaSU3e

ที่มา : https://wikiapk.com/skopje-light-art-district-2019-apk-by-pane-dimovski/

Discussion Island Lobby, เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

https://lh5.googleusercontent.com/5nWcBjAIuuHzK3X8UyFHPO24ecX11QKcIInXS2vtv1RUv-lX4zjGeBRdwURz7HDsBoDM7juvw0A3dw3a92SFXAUJVA_ZRu-jV6b9hcc38LuuYL2CGPjvQ11Mh7-1J91whpVz2aT0

ที่มา : http://www.nouveauxcommanditaires.eu/en/25/103/discussion-island-lobby

การพัฒนาพื้นที่ด้วยศิลปะในโครงการ Nuovi Committenti เริ่มขึ้นครั้งแรก ที่ประเทศอิตาลี โดยความร่วมมือของภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไร ‘Fondation de France’ ที่มุ่งนำเสนอให้ ‘ศิลปะ’ ช่วยแก้ไขปัญหาของสังคม โดย Nuovi Committenti ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มศิลปิน ชุมชน พลเมือง นักขับเคลื่อนเมือง ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมกันในการรังสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อออกแบบมาแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ในชุมชน ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ ไปจนถึงการพัฒนาย่าน และเมือง ซึ่งดำเนินงานด้านการฟื้นฟูพื้นที่ด้วยศิลปะมามากกว่า 400 โครงการทั้งในทวีปยุโรป และขยายไปทั่วโลก

Discussion Island Lobby หนึ่งในโครงการของ Nuovi Committenti ที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่าด้วยการฟื้นฟูสภาพอาคารประวัติศาสตร์ที่ถูกออกแบบในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ตอนนี้กำลังเป็นอาคารรองรับผู้อยู่อาศัย แต่ด้วยความไม่ปลอดภัยของอาคาร ทั้งแสงสว่าง และโครงสร้างที่เสื่อมสภาพ จึงจำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยและชาวเมือง ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างผู้อยู่อาศัย ชาวเมือง และนักออกแบบ โดยโจทย์หลัก ก็คือ จะออกแบบผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม และยังคงคุณค่าของตึกเก่าที่ประดับอยู่ในเมืองประวัติศาสตร์นี้อย่างไร

Liam Gillick ศิลปินชาวชื่อดังอังกฤษ ได้มีการออกแบบศิลปะการจัดรูปทรงเลขาคณิตด้วยสีสันโดดเด่น ทดแทนกระจกของตึกอาคารที่เสื่อมสภาพไป พร้อมกับมีการเพิ่มสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัย ผ่านการออกแบบแสงสว่างภายใน การฟื้นฟูอาคารในครั้งนี้ ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ แต่มีการเพิ่มสีสันที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์และภาพจำใหม่ให้กับสถานที่และย่าน

การฟื้นฟูครั้งนี้ไม่เพียงแต่ฟื้นฟูสภาพของตึกเท่านั้น แต่ยังฟื้นฟูคุณภาพ และวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยชาวเมือง อีกทั้งยังสร้างความร่วมมือในการฟื้นฟูเมืองอย่างมีส่วนร่วม ความสดใหม่ของสภาพแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ แต่ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กับเมือง

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร การปรับใช้แนวคิดการฟื้นฟูเมือง ปัจจุบันมีให้พวกเราได้ผ่านตากันมาบ้าง และพอทำให้นึกออกไม่ยาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาก็มักจะเป็นงานที่จัดขึ้นแบบชั่วครั้งชั่วคราว ยังขาดกลไกในการจัดงานเชิงนโยบาย และขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ

หัวข้อถัดไปจะพาผู้อ่านไปลองถอดบทเรียนการใช้แนวคิดนี้ฟื้นฟูย่าน ผ่าน ‘ย่านกะดีจีน – คลองสาน’ หนึ่ง ในย่านประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองกรุงเทพมหานคร ฯ ที่กำลังผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูย่านแบบมีส่วนร่วมไปพร้อมกับส่งเสริมการฟื้นฟูย่านอย่างยั่งยืน

ถอดบทเรียนการฟื้นฟูย่านด้วยศิลปวัฒนธรรม ‘ย่านกะดีจีน – คลองสาน ’

“กะดีจีน – คลองสาน” ย่านประวัติศาสตร์ แหล่งรวบรวมทุนทางสังคม ที่ร่ำรวยด้วยมรดกและความหลากหลายทางวัฒนธรรมสำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่ก่อนจะถูกพูดถึงในนามของพื้นที่ที่ควรค่าแก่การฟื้นฟู เมื่อย้อนกลับไปไม่กี่ทศวรรษ แต่ด้วยการเจริญเติบโตของเมืองที่รวดเร็ว ทำให้ย่านกะดีจีน-คลองสาน ได้เผชิญกับสถานการณ์ความทรุดโทรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะทางคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และพื้นที่ รวมไปถึงความเลือนรางต่อมรดกวัฒนธรรม

จากการที่พื้นที่มีต้นทุนและอารยธรรมสำคัญที่ฝังอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน กลุ่มภาคการศึกษา ได้แก่ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการฟื้นฟูย่าน โดยได้สนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนการพัฒนาย่าน จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการฟื้นฟูเมืองด้วยศิลปะ ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือการขับเคลื่อนการพัฒนาย่านในครั้งนี้ ผ่านการดำเนินกิจกรรม ‘ศิลป์ ใน ซอย’ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงครั้งที่ 6 

ภายใต้งบประมาณที่จำกัด รูปแบบของกิจกรรมจึงเน้นไปที่งาน ‘ศิลปะ’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสในการถ่ายทอดและตระหนักถึงคุณค่าของย่านกะดีจีนของคนในชุมชน สร้างพื้นที่ในการรื้อฟื้น แลกเปลี่ยนความทรงจำ เรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านผลงานศิลปะที่จัดเป็นนิทรรศการ และเปิดพื้นที่ให้ผู้คนหลากหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสร้าง “แบรนด์” ให้กับพื้นที่ และสามารถต่อยอดเป็นกิจกรรมประจำปีที่สามารถส่งผลในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้

การดำเนินเทศกาล ‘ศิลป์ ใน ซอย’ เกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มภาคการศึกษา กลุ่มภาคประชาชน ผู้นำชุมชน คนในย่านที่คอยเชื่อมโยงความร่วมมือ ระหว่างกลุ่มชุมชน โรงเรียน ศาสนา จากภาคีร่วมขับเคลื่อนที่มีเพียงหลักหน่วย ก็เพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบ จากผู้ขับเคลื่อนที่อยู่ในวงจำกัด ก็ได้ขยับขยายออกยังภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสื่อสาธารณะ ภาคชุมชนโครงข่ายโดยรอบ  ที่ให้การสนับสนุน พยายามผลักดันให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดึงดูดให้ผู้คนนอกย่านเข้ามาในพื้นที่ และทำให้เกิดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูย่านอย่างมีส่วนร่วม อันเป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อระหว่าง ‘ผู้คน กับ ผู้คน’ ‘ผู้คน กับ องค์ความรู้ในย่าน’ และ ‘ผู้คน กับ พื้นที่’

C:\Users\User\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\งานออกแบบที่ไม่มีชื่อ (2).png

โครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อการบริหารจัดการ เทศกาลกะดีจีน-ศิลป์ในซอย ครั้งที่ 1-3

ที่มา : เอกสารวิเคราะห์เชิงนโยบายการฟื้นฟูเมืองแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ศิลปวัฒนธรรม กรณีศึกษาย่านกะดีจีนกรุงเทพมหานคร

C:\Users\User\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\50229518_2252986368309787_867255730736988160_n.jpg

เทศกาลศิลป์ในซอย ครั้งที่ 5

ที่มา : Facebook Page ‘Art in Soi – ศิลป์ในซอย’ 

จุดแข็ง – โอกาส – ข้อจำกัด – ความท้าทาย

เทศกาลศิลป์ในซอย เป็น หนึ่งรูปแบบวิธีฟื้นฟูเมืองด้วยศิลปวัฒนธรรม และเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ด้วยองค์ความรู้ในย่านที่ต้องการรวบรวม จัดการและถ่ายทอดออกมาให้ผู้คนในย่าน นอกย่าน ชาวเมืองได้รับรู้ว่ามีมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ 

จุดแข็งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นในเรื่องของมรดกวัฒนธรรม กลุ่มประชาสังคมในย่านที่มีความต้องการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ยังมีโครงข่ายกลุ่มภายนอกย่านที่มีความต้องการฟื้นฟูย่าน ไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาสังคม หน่วยงานเอกชน พลเมือง ภาครัฐ ซึ่งเป็นโอกาสในการฟื้นฟูย่าน อย่างมีส่วนร่วมต่อไป

หากแต่ ‘ความต้องการฟื้นฟู’ อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ยังต้องการ ‘กลไก’ ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมตรงนี้ให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานแกนกลาง ที่จะทำหน้าที่ในระดับพื้นที่จัดกิจกรรมการฟื้นฟูย่าน โดยคำนึงถึงความเป็นไปทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มรดกวัฒนธรรมของชุมชน เชื่อมเข้ากับการถูกบรรจุอยู่ในนโยบายการพัฒนาเมืองในระดับจังหวัด เพื่อที่จะทำให้การดำเนินงานเกิดขึ้นได้จริง ได้รับการสนับสนุนทางงบประมาณให้เกิดความต่อเนื่องในการฟื้นฟูเมือง ซึ่งในปัจจุบันสิ่งที่เหล่านี้เองเป็นทั้งข้อจำกัด และความท้าทายต่องานฟื้นฟูเมืองด้วยศิลปวัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

ทำยังไงให้เกิดความยั่งยืน ?

การดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งในย่านกะดีจีน – คลองสาน ชุมชนเก่าในสโกเปีย และบรัสเซลส์ มีสิ่งหนึ่งสะท้อนออกมาให้เราเห็น คือ กระบวนการฟื้นฟูเมืองด้วยศิลปะอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งสิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมาผ่านงานศิลปะ แต่เป็นการร่วมกันคิด ร่วมออกแบบ และทำร่วมกัน ให้เป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่จะสร้างอัตลักษณ์ให้อยู่คู่กับย่าน ซึ่งสามารถต่อยอดสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องราวแห่งการเรียนรู้ที่เผยแพร่ออกให้รับรู้ร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่ ระดับวงกว้างอย่างต่อเนื่องผ่านการสนับสนุนทั้งเชิงนโยบาย และการมีส่วนร่วมของหลากหลายผู้ขับเคลื่อน ซึ่งจะสามารถสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวอันเป็นมรดกวัฒนธรรม และเล่าบอกต่อไปกับผู้คนอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ที่มาข้อมูล

SKLAD Festival Of Lights And Sound

SKOPJE LIGHT ART DISTRICT 2019 Apk by Pane Dimovski

Regeneration of Cultural Quarters: Public Art for Place Image or Place Identity?

Discussion Island Lobby Liam Gillick


Contributor