12/05/2022
Public Realm
TACTICAL URBANISM หนึ่งในลูกเล่นการพัฒนาเมืองที่จะพาไปสู่ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’
อภิชยา ชัยชิตามร
เพราะเมืองเปลี่ยนและเดินทางเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา รูปแบบการเรียนรู้จำเป็นจะต้องเปลี่ยนตามเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ชาวเมืองอย่างเราเองจำเป็นต้องรับบทบาทเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ‘Lifelong Learners’ ที่พร้อมรับมือเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวัน
เพื่อต่อยอดและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ความรู้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัยอยู่ ตั้งแต่บ้าน ซอย ย่าน ไปจนถึงเมืองที่จะเป็นพื้นที่กลางในส่งเสริมทักษะอาชีพ แรงงาน ให้ผู้คนมีความสามารถ ต่อยอดองค์ความรู้และสร้างสรรค์ผลงาน อันจะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาระดับเมืองไปจนถึงระดับประเทศชาติ จึงเกิดแนวคิด ‘นโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้’ ขึ้น
วันนี้ The Urbanis จะพาผู้อ่าน ไปทำความรู้จัก กับ 1 แนวคิดการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในเมือง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมที่ผลักดันโดยการดำเนินงานของภาคประชาชน สามารถเริ่มต้นด้วยการดำเนินแบบ ‘ล่างสู่บน’ และกระบวนการเชื่อมต่อเชิงเครือข่ายเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่เมือง อันเป็นฐานในการขับเคลื่อน ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’
Tactical Urbanism คืออะไร ?
“We have to do more with less— doing being the operative word.”
Mike Lydon and Anthony Garcia, Tactical Urbanism: Short-term Action for Long-Term Change
อ้างถึงในงานวิจัยเรื่อง Reimagining a Past Reality: Tactical Design Interventions for Historic Sites (2016) Julia D. Griffith
คำกล่าวของ Mike Lydon และ Anthony Garcia ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Tactical Urbanism: Short-term Action for Long-Term Change’ ว่าด้วยแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ ‘ลูกเล่น’ หรือ การฟื้นฟูเมืองแบบยุทธศาสตร์ เปรียบเสมือนเครื่องมือรวบรวมความรู้ในเมือง เป็น หนึ่ง แนวคิดในการสร้างฐานองค์ความรู้ให้กับผู้คน และ เมือง ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ด้วยการดำเนินงานระยะสั้น ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว และเกิดความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาชน จิตอาสา คนในชุมชน องค์กรไม่แสวงหากำไร ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการร่วมกันดำเนินการเปลี่ยนแปลงเพื่อฟื้นฟูเมือง
ปรับมุมมองจาก ‘Top-Down’ สู่ ‘Bottom-Up’
แนวคิดนี้ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเมืองด้วยพลังของภาคประชาชน กลุ่มชุมชน พลเมือง และปัจเจกบุคคล และช่วยปรับมุมมองต่อการพัฒนาเมืองที่จะต้องรอได้รับการพัฒนาเมืองจากภาครัฐ มาสู่การปฏิบัติและดำเนินงานพัฒนาแบบเชิงรุกของภาคประชาชนที่จะตอบสนองการทำงานที่ล่าช้าของระบบราชการ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เห็นถึงความสามารถของการเปลี่ยนแปลงจาก ‘ล่างขึ้นบน’ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ทำให้เกิดการรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้ในเมืองให้กระจายออกไปสู่ ชาวเมือง และผู้เรียนรู้
วันนี้ The Urbanis จึงมีกรณีตัวอย่างที่หลายเมืองกำลังบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ในเมือง กับ การพาเมืองไปสู่ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ด้วยการนำเทคนิคการฟื้นฟูเมืองแบบยุทธศาสตร์มาใช้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทางสังคมที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่
ว่ากันว่า การมี ‘พื้นที่’ จะก่อให้เกิดการเรียนรู้
โครงการ SEA Level Stories เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มา http://marketstreetprototyping.org/2016-festival/projects/sea-level-stories/?afg28_page_id=1#afg-28
โครงการ SEA Level Stories เป็น หนึ่งในกิจกรรมของโครงการ Park(ing) Day ที่ปรับสภาพพื้นที่ทางกายภาพเดิมเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างคุณประโยชน์ พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนเมือง ในรูปแบบ Pop-up หรือ พื้นที่ชั่วคราวทางสังคมแบบไม่เป็นทางการ
กิจกรรม Pop-up SEA Level Stories จัดขึ้น ณ เมืองซานฟรานซิสโก ที่บูรณาการระหว่างความรู้ทางกายภาพของเมืองซานฟรานซิสโกที่เป็นเมืองติดทะเล กับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก และแนวโน้มที่จะมีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจาก ปรากฏการณ์ภาวะโลกรวน (Climate Change)
ภายในกิจกรรมต้องการจะสื่อสารกับชาวเมืองให้เกิดการตระหนักรู้ต่อปัญหาภาวะโลกรวน ด้วยการฉายภาพระดับน้ำทะเลบริเวณริมทะเลเมืองซานฟรานซิสโกตั้งแต่ภาพอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่มีแนวโน้มว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านภาพถ่ายทางอากาศ ด้วยระดับ Bird’s eye View ของเมือง และวิดีโอคลิปแบบ Time-lapse พาสัมผัสกับประสบการณ์อย่างเจาะลึก นอกจากนี้ตัวกิจกรรมยังเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วม และพลเมืองในพื้นที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิด และคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตที่เมืองซานฟรานซิสโกอาจจะต้องประสบ
แม้จะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ แต่ก็นับได้ว่า เป็นการเริ่มต้นเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในพื้นที่ได้เกิดการคิด วิเคราะห์ และหาแนวทางร่วมกัน อีกทั้งยังไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นก้าวการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
โครงการ JalanJakarta เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
ที่มา : https://itdp-indonesia.org/2019/09/jalan-jakarta-cipete-raya/
โครงการยกระดับการเข้าถึงสถานีรถไฟอย่างปลอดภัยด้วยแนวคิด ‘Quick and Low-Cost : รวดเร็ว-ต้นทุนต่ำ’ ซึ่งดำเนินในโครงการนำร่อง ของโปรแกรม Kumpung Kota Bersama ในกรุงจาการ์ตา บริเวณสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (MRT : Mass Rapid Transit) Cipete Raya และ Haji Nawi
โครงการนำร่องนี้ ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วน อาทิ องค์กรแบบไม่แสวงหากำไรที่ขับเคลื่อนการพัฒนาด้านขนส่งมวลชนในเมืองอย่างยั่งยืน ITDP Indonesia องค์กรระบบขนส่งมวลชนแบบไฟฟ้าความเร็วสูง MRT Jakarta กลุ่มภาคประชาสังคม อย่าง PKK & Jumantik RW 06 & RW 07 Gandaria Selatan กลุ่มพลังสตรีในพื้นที่ และ Karang Taruna กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ กลุ่มผู้นำชุมชน และหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับชุมชน ย่าน ไปจนถึงระดับเมือง
ด้วยตำแหน่งการเข้าถึงสถานีรถไฟส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณแหล่งที่พักอาศัย โรงเรียนประถม-อนุบาล มีการเชื่อมต่อและใช้งานในลักษณะของการใช้พื้นที่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ตรอก-ซอก-ซอย-ถนน-หนทาง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้ใช้งานทางเท้าส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน และคนเดินเท้าจำนวนมากมักจะใช้ตรอกเล็ก ๆ และถนนในชุมชนเป็นทางลัดเพื่อไปสถานีรถไฟฟ้า โรงเรียนมากกว่าใช้ถนนหลัก จึงเป็นเหตุผลที่มากเพียงพอที่จะยกระดับความสามารถในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า และการเดินทางในพื้นที่ของทุกคนอย่างปลอดภัย
ในกระบวนการพัฒนาพื้นที่ดำเนินงานร่วมกันภายใต้ระยะเวลา 1 ปีเพียงเท่านั้น ตั้งแต่ การร่วมพูดคุยเป็นวงสนทนา การออกแบบ การลงมือทำ อาทิ วาดจุดทางเท้า เส้นทางเดินในซอยเล็กให้ชัดเจนขึ้น ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ด้วยสีสัน ศิลปะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้งาน การตระหนักถึงพื้นที่ปลอดภัย กระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน เด็กรุ่นใหม่ ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นองคาพยพ
นอกจากนี้กระบวนการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันยังเป็น หนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่จะมาร่วมแชร์ความคิดร่วมกัน ร่วมออกแบบพื้นที่ที่จะเป็นพื้นที่ที่พวกเขาใช้งานเอง จนสามารถสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ สร้างความรู้สึกปลอดภัย โดยหลังจากมีการร่วมมือกันจัดมุมการเดินและลงสีสันให้ชัดเจนใหม่แล้วนั้น 98% ของเด็กและผู้ปกครองที่ใช้ทางเท้ารู้สึกเดินอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ย้อนกลับมาที่บ้านเรา แม้ว่าตัวแนวคิดจะดูเป็นแนวคิดแปลกใหม่ในวงการวางผังเมือง แต่ก็ไม่ได้แปลกใหม่มากนัก เพียงแต่เราไม่เคยหยิบเอาแนวคิดมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีกลุ่มที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองในเมืองไทยหลายกลุ่มได้เคยหยิบเอาแนวคิดนี้มาใช้เป็นฐานในการออกแบบและพัฒนาเมือง เพื่อสร้างพื้นที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเมืองออกไปสู่ชาวเมือง อย่างเช่น กลุ่ม We Park! ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในเรื่องพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สีเขียวสำหรับชาวเมือง
โครงการสวนสานธารณะ, คลองสาน ประเทศไทย
ที่มา : https://wepark.co/parks/sansatarana
โครงการสวนสานธารณะ หรือ Khlongsan pop-up park โครงการนำร่องพัฒนาพื้นที่สีเขียวในความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพัฒนา กับการเปลี่ยนที่ทิ้งร้างให้เป็น Pop-up Park เพื่อแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะในมิติสังคม เศรษฐกิจ สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม โดยการผลักดันหลักของกลุ่ม We Park!
การพลิกฟื้นพื้นที่ทิ้งร้างของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้กลับมามีชีวิต และเกิดประโยชน์ต่อคนในย่านเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบย่านประวัติศาสตร์กะดีจีน-คลองสาน อันเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราว องค์ความรู้ภายใต้แนวคิด สวน-สาน-ธารณะ ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง ร้อยเรียง สานสัมพันธ์ ทั้งเรื่องราว ผู้คน ประสบการณ์ ความรู้ในย่านเข้าด้วยกันผ่านกิจกรรม ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบของ ‘กิจกรรมเดินเมือง’ ‘ตามหาพื้นที่สีเขียว’ ‘ภาพเก่าเล่าย่าน’ ‘ฟุตบอลเยาวชนยังธนคัพ’ และ ‘กิจกรรมสวนสานธารณะ’ ที่ล้วนเป็นองค์ประกอบเพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ในย่านผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในย่าน เจ้าของพื้นที่ ชาวชุมชน ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคการศึกษา ที่สนับสนุนให้เกิดการยกระดับพื้นที่ในเชิงรูปธรรมจับต้องได้
การฟื้นฟูเมืองด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ที่เป็นต้นทุนเดิมของย่าน เข้ากับการฟื้นฟูพื้นที่ทิ้งร้างและใช้เป็นพื้นที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชาวย่าน และหยิบเอาเรื่องราวในอดีตมาพูดคุย ร่วมวางแผนและออกแบบเรื่องราวในอนาคตร่วมกันด้วยการผลักดันของชาวย่าน ชาวเมือง ล้วนเป็นกระบวนการที่สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม
นอกจากจะเป็นเรื่องหลักการพัฒนาเมืองแล้วแนวคิดนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ผ่านการสร้าง ‘พื้นที่’ ด้วยความเป็นโครงข่ายทางสังคม ทุนเดิมที่สังคมมีอยู่ และองค์ความรู้มากมายที่อยู่ในเมือง อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ให้แก่กลุ่มเครือข่ายทางสังคมที่พยายามให้มีพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเมือง และชาวเมือง นอกจากนี้ยังสะท้อนออกมาให้เห็นว่า ‘พื้นที่’ เปรียบเสมือนตัวแทนของการฟื้นฟูเมืองแบบยุทธศาสตร์ในเชิงรูปธรรม ให้เห็นว่ามีพลังแค่ไหน ซึ่งล้วนแล้วแต่จะดึงดูดให้ผู้คนออกมาร่วมกันแชร์ประสบการณ์ แชร์ความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งนี้อาจนำพา ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาข้อมูล
Reimagining a Past Reality: Tactical Design Interventions for Historic Sites
Jalan Jakarta Cipete Raya: Prioritas Ruang Pejalan Kaki dan Zona Selamat Sekolah