30/06/2021
Public Realm

เมืองกับศักยภาพการเป็นโรงพยาบาลสนามในภาวะฉุกเฉิน ย้อนมองไทย สหรัฐฯ และอินเดีย

หฤษฎ์ ทะวะบุตร สรวิชญ์ ธรรมรติวงศ์ ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


ภาพปกบทความ โดย สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของพื้นที่สาธารณะและพื้นที่กึ่งสาธารณะของเมืองในมุมมองที่แตกต่างจากภาวะปกติ ดังเห็นว่าพื้นที่บางประเภท เช่น หอประชุม สนามกีฬาในร่ม อาคารเรียน ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานเพื่อรองรับความต้องการของเมืองในยามคับขัน เช่น ถูกปรับเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเเบ่งเบาภาระของสถานพยาบาลที่มีจำนวนไม่เพียงพอกับผู้ติดเชื้อ

ไทยกับปรากฏการณ์เตียงผู้ป่วย ห้อง ICU ที่ไม่เพียงพอ

ข้อมูลจากสำนักข่าวบีบีซีไทย (28 เมษายน 2564) พูดถึงประเด็นน่ากังวลเรื่องการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 และจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยไอซียูห้องความดันลบเริ่มจะเต็มกำลังการรองรับของระบบสาธารณสุข ภายหลังเกิดการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานยอดผู้ป่วยสูงขึ้นสู่ระดับ 2,000 คนต่อวัน โดยระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน 25644 ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นจาก 418 ราย เป็น 695 ทำให้สถานการณ์เตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักหรือไอซียู เกิดสภาวะที่เรียกว่า “เตียงตึง” โดยกรมการแพทย์ให้ข้อมูลว่า มีผู้ป่วยครองเตียงไปแล้ว 70-80% ทั่วประเทศ

ไม่เพียงเตียงผู้ป่วยและเตียงผู้ป่วยไอซียูที่ไม่เพียงพอ แต่เครื่องช่วยหายใจและระบบความดันลบก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากมีผู้ป่วยหนักย่อมแสดงว่าความต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจก็มีมากขึ้น ขณะนี้เครื่องช่วยหายใจที่ต้องมีระบบออกซิเจนเริ่มมีไม่เพียงพอ อีกทั้งการที่มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นยังทำให้พื้นที่โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้อย่างเพียงพอ

ข้อมูลรายงานสถานการณ์เตียงของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ วันที่ 25 เมษายน 2564  โดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

สถานการณ์ไทยเทียบกับอินเดียแล้วหรือไม่?

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับการระบาดเมื่อปี 2563 ทั้งยังเกิดการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อินเดียที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดมาก่อน ส่งผลให้ปริมาณเตียงทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามเริ่มจะถึงขีดจำกัด หากยังไม่มีการเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม สภาพการระบาดของประเทศไทยก็เป็นไปได้ที่จะเข้าใกล้ระดับที่พบในประเทศอินเดีย

ที่ประเทศอินเดียพบปัญหาการขาดแคลนออกซิเจน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นจนเกินกว่าที่จะรับมือได้ ผู้ป่วยบางส่วนต้องนำออกซิเจนมาเอง ด้านสภาพโรงพยาบาลสนามก็มีผู้ป่วยมากจนไม่สามารถรักษาได้ทัน ผู้เสียชีวิตจึงเพิ่มขึ้นเร็วมาก ผู้ป่วยหนักบางคนเสียชีวิตโดยที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล

การเผาศพผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิดกลางแจ้งในอินเดีย ภาพโดย qz.com

สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นผลจากการละเลยความร้ายแรงของเชื้อไวรัส ทำให้มีการเปิดเมืองให้คนในชีวิตได้อย่างปกติ ไม่รักษาการเว้นระยะห่างใด ๆ อีกทั้งยังอนุญาตให้จัดพิธีกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รัฐบาลเองก็จัดงานปราศรัยใหญ่โดยปราศจากมาตรการป้องกันเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จำนวนผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหัน รัฐบาลที่ประกาศชัยชนะไปแล้ว ก็ย่อมไม่ได้เตรียมตัวที่จะรับมือกับการระบาดรอบนี้

ดังคำพูดของเจ้าของบริษัทผลิตยาเรมเดซิเวียร์ที่ใช้รักษาโควิด-19 กล่าวว่า “หากรัฐบาลได้สั่งการล่วงหน้า พวกเขาคงจะสามารถผลิตยาตุนไว้เผื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ โดยไม่ต้องมาเร่งผลิตอย่างรวดเร็วในระหว่างการระบาด ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ทันอย่างแน่นอน ทำให้เกิดการขาดแคลน” นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องรัฐบาลยังไม่ได้ให้งบประมาณมากพอในการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัส ทำให้กว่าจะตรวจเจอการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก็สายไปแล้ว

สภาพเช่นประเทศอินเดียอาจเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยหากภาครัฐยังไม่พยายามจำกัดการแพร่ระบาด และขยายจำนวนโรงพยาบาลสนามเพื่อเตรียมรับมือจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในระยะเวลาอันสั้น รัฐต้องพยายามหาพื้นที่ที่เหมาะแก่การตั้งโรงพยาบาลสนาม จัดเตรียมอุปกรณ์การแพทย์ และบุคลากรให้พร้อมรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาพอันน่าสะเทือนใจดังที่ประเทศอินเดียประสบมาก่อนหน้านี้

เมื่อศึกษารายงานสถานการณ์เตียงของกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า จำนวนเตียงว่างรวมอยู่ที่ประมาณ 37% เทียบกับจำนวนเตียงทั้งหมด แต่แม้ว่าจะยังมีเตียงเหลือ แต่อัตราการครองเตียงก็มีสูงเช่นกัน และแต่ละพื้นที่ก็มีความหนาแน่นของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน ส่วนเครื่องช่วยหายใจนั้นยังถือว่ามีเพียงพอเพราะเครื่องช่วยหายใจมีมากกว่าห้องไอซียูและสามารถเคลื่อนย้ายได้หากจำเป็น แต่เครื่องช่วยหายใจเองก็มีความจำเป็นต่อผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย และหากสถานการณ์ยังคงย่ำแย่ลง ผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้น ก็อาจเกิดเหตุการณ์เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) รวมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุด หรือ worst case scenario ไว้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในภายภาคหน้าที่ยังมาไม่ถึง

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติเหตุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้วิเคราะห์ต่อไปในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น โดย กรณีห้องไอซียูความดันลบ ห้องไอซียูธรรมดาเต็ม ขั้นต่อไปคือ ต้องรักษาในหอผู้ป่วยธรรมดา ที่แยกออกจากหอผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่น และเมื่อหอผู้ป่วยเต็มในตัวอาคาร ขยายไปยังโรงพยาบาลสนาม ซึ่งบรรจุผู้ป่วยได้ 100-500 คน แต่จุดประสงค์ของโรงพยาบาลสนามในตอนนี้มีขึ้นสำหรับผู้ป่วยเฝ้าดูอาการ เมื่ออาการเพิ่มเป็นระดับ 2-3 จะส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเมื่อสถานการณ์ยกระดับ ทำให้โรงพยาบาลเต็ม จะไม่สามารถย้ายผู้ป่วยที่เฝ้าดูอาการที่โรงพยาบาลสนามไปยังโรงพยาบาลหลักได้ ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนลักษณะของโรงพยาบาลสนาม ให้กลายเป็นโซนของผู้ป่วยอาการหนัก 

จากที่ ศ.นพ. ธีระวัฒน์ วิเคราะห์เกี่ยวกับวิธีรับมือเมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม มีความสำคัญมากในการบริหารจัดการ คำถาม คือ โรงพยาบาลสนามควรมีลักษณะอย่างไร ที่ใดที่ควรจะเป็นโรงพยาบาลสนามบ้างในกรุงเทพ และต่างประเทศมีการสร้างโรงพยาบาลสนามอย่างไรบ้าง เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้ แต่ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลสนามจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องจำนวนที่มากพอและต้องมีการจัดการ การกระจายไปยังโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ให้ทั่วถึงกัน

โรงพยาบาลสนาม 101 : โรงพยาบาลสนามควรหน้าตาประมาณไหน

โรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ที่จำเป็นอย่างมากในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังพุ่งขึ้นที่จุดสูงสุด เพื่อป้องกันปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โดยการนำผู้ป่วยที่อาการไม่สาหัส ไม่จำเป็นต้อบใช้เครื่องมือทางการแพทย์สำคัญ ไปรักษาอาการโรงพยาบาลสนาม คุณสมบัติที่เหมาะสมของโรงพยาบาลสนาม คือ มีระบบเครื่องกลที่ทนทาน มีระบบการประปาที่พร้อมรับคนจำนวนมาก และเป็นสถานที่ที่มีระบบป้องกันอัคคีภัย ดังนั้น พื้นที่ของเมืองที่เหมาะสมที่สุดคือหอประชุม เพราะกว้าง มีระบบอำนวยความสะดวกที่พร้อมรองรับคนจำนวนมาก อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกเมืองจะมีหอประชุม พื้นที่อื่น ๆ ที่เข้าข่ายเป็นโรงพยาบาลสนามอาจเป็นโรงแรม สนามกีฬาในร่ม โรงเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงคุณสมบัติด้านตำแหน่งที่ตั้ง โรงพยาบาลสนามควรอยู่ใกล้โรงพยาบาล เพื่อสะดวกต่อการส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเข้าขั้นวิกฤตได้ทันที และสามารถส่งต่อมายังโรงพยาบาลหลักได้รวดเร็วทันเวลา

ด้านการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงพยาบาลสนาม ควรได้รับการวางผังการวางเตียงผู้ป่วยโดยแบ่งเป็นห้อง ๆ อย่างชัดเจน เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างผู้ป่วย ทางเข้า-ออกต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะเข็นเตียงผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินหรือขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ มีระบบระบายอากาศที่ดี โดยอาจจะติดตั้งเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อให้เชื้อที่ลอยในอากาศถูกจำกัดออกไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่สะสมอยู่ในสถานที่ปิด ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรที่ดูแล

มีข้อเสนอว่าการออกแบบโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควรยึดการออกแบบของสถานพักฟื้นผู้ป่วยวัณโรค (tuberculosis sanatorium) เนื่องจากได้ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเช่นกัน

เมื่อเปิดโรงพยาบาลสนามแล้ว การดูแลจัดการระบบก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งการดูแลจัดการที่เป็นประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งชุมชนที่คอยสอดส่องดูแลพื้นที่โดยรอบ ทีมแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยและการจัดเตรียมพร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วย เช่น เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ ฝ่ายอาคารและสถานที่ที่คอยอำนวยความสะดวกและดูแลความเรียบร้อยพื้นที่ และอื่น ๆ รวมถึงผู้ป่วย เพื่อให้ผลการดำเนินงานออกมามีประสิทธิภาพที่สุด

Javits Center จากหอประชุมเมืองสู่โรงพยาบาลสนามและศูนย์ฉีดวัคซีน

โรงพยาบาลสนามที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดย Business Insider

เมื่อทราบถึงหลักเกณฑ์ในการตั้วโรงพยาบาลสนามพอสังเขปแล้ว ต่อไปจะยกตัวอย่างโรงพยาบาลสนามกรณีศึกษาในนิวยอร์กเพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ที่นิวยอร์กขณะนี้ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนากำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยอดการฉีดวัคซีนที่เป็นไปตามที่คาดหมาย ส่งผลให้นิวยอร์กสามารถเปิดเมืองและกลับสู่สถานการณ์ปกติแล้ว ถึงกระนั้นสถานการณ์ในมหานครแห่งนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นตั้งแต่ต้น

นิวยอร์กเป็นหนึ่งในกลุ่มรัฐที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และยังเผชิญการระบาดใหญ่รวดเร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ คือตั้งแต่ช่วงเมษายน 2563 นครนิวยอร์กซิตีจึงต้องรับมือกับผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเป็นการเร่งด่วน จึงต้องมีการตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมาเพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น Javits Center ที่เป็นโรงพยาบาลสนามในศูนย์ประชุมแห่ง Hudson Yards โดย Javits Center เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของเมือง พื้นที่ภายในศูนย์การประชุมถูกปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 1,000 เตียงภายในเวลา 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ Central Park ก็ถูกนำมาใช้เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวเช่นกัน โรงพยาบาลในสวนสาธารณะมีลักษณะเป็นเต๊นท์ชั่วคราว รองรับผู้ป่วยได้ 315 เตียง

Javits Center นอกจากจะเป็นศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ของเมืองที่สามารถรองรับผู้คนได้เป็นจำนวนมากแล้ว ก่อนหน้านี้ศูนย์ประชุมแห่งนี้ถูกเป็นสถานที่ที่รองรับเหตุฉุกเฉินมาแล้วหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นสำนักงานใหญ่ของสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA) หลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นสถานที่รวบรวมเงินบริจาคในช่วงพายุเฮอริเคนมาเรีย ซึ่งทำให้ Javits Center มีความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและมีความเหมาะสมในการใช้เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม

โรงพยาบาลสนามนี้ถูกสร้างด้วยความร่วมมือจากหลายองค์กร เช่น สำนักงานใหญ่ของสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA), กรมอนามัยและบริการมนุษย์ (the Department of Health and Human Services), กระทรวงกลาโหมสหรัฐ (DoD), คณะวิศวกรของกองทัพบกสหรัฐ (USACE) และรัฐนิวยอร์ก (the State of New York) เพื่อช่วยแก้ปัญหาเตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางการร่วมมือระหว่างองค์กร รวมถึงการดึงศักยภาพของหน่วยกองทัพในการมาช่วยเหลือเหตุการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

บรรยากาศภายใน Javits Center ภาพโดย CNN

ภายในศูนย์ประชุมมีการแบ่งห้องกั้นเตียงผู้ป่วยออกจากกัน โดยภายในห้องแต่ละห้องหลักๆจะประกอบไปด้วยเตียงผู้ป่วย ผ้าห่ม เก้าอี้ ฯลฯ และสิ่งสำคัญคือในแต่ละห้องจะมีกระเป๋าสีส้มอยู่ ซึ่งในกระเป๋าจะประกอบไปด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เช่น กรรไกร ผ้าพันแผลเจลล้างมือ หูฟังทางการแพทย์ (stethoscope) สำหรับให้หมอหรือพยาบาลนำไปใช้รักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ในกระเป๋ายังแจกน้ำผึ้งเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายอีกด้วย

แต่เดิมทีศูนย์การประชุมไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด ส่วนใหญ่เพราะไม่มีเตียง ICU หรือเครื่องช่วยหายใจเพียงพอ แต่เมื่อเริ่มได้รับอุปกรณ์ที่เหมาะสม Javits Center จึงสามารถรับผู้ป่วยที่มีอาการในหลายๆระดับได้ แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องการขนส่งอุปกรณ์และขนย้ายผู้ป่วยทำให้ไม่สามารถรับผู้ป่วยที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจได้เนื่องจากโรงพยาบาลเองก็ต้องรับมือกับผู้ป่วยมากกว่า 20,000 คนทำให้ได้รับอุปกรณ์จากคลังสินค้าของสหรัฐฯ ล่าช้า ในแง่ของการสร้างโรงพยาบาลสนามนั้นระบบการเคลื่อนย้ายขนส่งจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญเช่นกัน แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์แต่การมีโรงพยาบาลสนามมาช่วยซัฟพอร์ตก็คือว่าเป็นการบรรเทาสถาการณ์และเป็นช่องทางที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ในมหานครนิวยอร์กนั้น ดีขึ้นอย่างมาก จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง Javits Center ที่เคยเป็นโรงพยาบาลสนามจึงถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในมหานครนิวยอร์กเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้นแทน เห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานเมืองนั้นมีความสำคัญไม่ใช่แค่การสร้างเพื่อให้ตอบโจทย์ฟังก์ชั่นหลัก แต่ในยามสถานการณ์ฉุกเฉินโครงสร้างเหล่านี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของเมืองได้

ผู้คนรอฉีดวัคซีนที่ Javits Center ภาพโดย Spencer Platt / Getty Images

โรงพยาบาลสนามในไทยยังขาดอะไรหรือไม่?

ปัจจุบันโรงพยาบาลสนามของไทยกระจุกในพื้นที่ของโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยเป็นหลัก เหล่านี้ทำให้โรงพยาบาลสนามเข้าถึงปัจจัยด้านบุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์ได้ง่าย ตอบรับกับความต้องการพื้นฐานของโรงพยาบาลสนามดังที่ได้กล่าวข้างต้น 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามบางแห่งก็ได้จัดตั้งขึ้นในสถานที่นอกโรงพยาบาลที่มีบริเวณกว้างและมีโครงสร้างที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน โดยมักใช้พื้นที่ของสนามกีฬาของรัฐ ที่กว้างขวางและระบายอากาศได้ดีพอสมควร เช่น โรงพยาบาลสนามที่ศูนย์กีฬาฯ บางบอน ที่บางกอกอารีนา และที่สนามกีฬาฯ บางมด เขตทุ่งครุ เป็นต้น และได้มีการเปิดโรงแรมหลายแห่งที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ขึ้นเป็น Hospitel สอดคล้องกับแนวคิดที่ได้ปรากฏมาตั้งแต่ปี 2563 ในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้น ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่อยู่ข้างเคียงยังมีการเปิดโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ครบวงจรในแนวคิดเดียวกับโรงพยาบาลสนามที่ Jarvits Center เช่นเดียวกัน ในชื่อ โรงพยาบาลบุษราคัม ในพื้นที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยจากการดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1,092 เตียง โรงพยาบาลแห่งนี้ขยายผลการดูแลผู้ป่วยทั้งกลุ่มที่ไม่มีอาการ และกลุ่มที่มีอาการแต่ไม่รุนแรง และมุ่งเน้นขยายผลไปถึงการเปิดเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนในอนาคต

ในขณะที่โรงพยาบาลสนามและ Hospitel มุ่งเน้นดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเป็นหลัก โรงพยาบาลบุษราคัมสามารถช่วยลดภาระของโรงพยาบาลถาวรในการดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่หนักได้ แต่ที่สุดแล้วผู้ป่วยอาการหนักก็ยังคงต้องเร่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมือง จากรายงานในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนักครองเตียงแล้วถึง 409 ราย เหลือพื้นที่สำหรับผู้ป่วยเพิ่มอีก 20 รายเท่านั้น และมีผู้ป่วยที่มีอาการแต่ไม่หนักครองเตียงแล้วกว่า 3,900 ราย เหลือพื้นที่สำหรับอีก 300 ราย

เนื่องจากประชากรไม่ได้อาศัยกระจายอยู่เท่ากันทุกพื้นที่ และการแพร่ระบาดของไวรัสไม่ได้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่ีที่มีการติดเชื้อมากจึงจะมีจำนวนผู้ครองเตียงจนเต็มอย่างรวดเร็ว ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจคือ เราจะเพิ่มโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่ที่ไหนได้บ้างในพื้นที่เสี่ยงสูงเหล่านี้ เราสามารถหาคำตอบเหล่านั้นได้จากการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์และผังเมือง

บรรยากาศภายในโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สังกัดกรุงเทพมหานคร ภาพโดย สำนักประชาสัมพันธ์ กทม.

โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา ในสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นอีกสถานพยาบาลที่มีจำนวนผู้ป่วยไม่น้อย ถูกใช้งานค่อนข้างเต็มความจุ รองรับความต้องการของผู้ป่วยในพื้นที่เขตบางแคเป็นหลัก สำนักข่าว PPTV รายงานว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ดำเนินการตรวจเชิงรุกวันละกว่า 300 กรณี และพบผู้ติดเชื้อวันละ 30-40 คน แต่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียง 200 เตียง นอกจากการดูแลเรื่องผู้ป่วยโควิดแล้วยังมีผู้ป่วยอื่น ๆ เช่นกัน ทั้งยังติดปัญหาในเรื่องการรอผลวิเคราะห์จากโรงพยาบาลกลางที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 วัน และด้วยงบสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างจำกัดทางโรงพยาบาลจึงต้องมีการเปิดรับบริจาคเพื่อสร้างห้องแล็บเอง

กรณีโรงพยาบาสนามราชพิพัฒน์ เป็นตัวอย่างการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามในภาวะ ที่แม้จะยึดหลักการตรวจเชิงรุกอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการกระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว แต่ถ้ามองฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดในอนาคต ทั้งยอดติดเชื้อที่ลุกลามบานปลาย บุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ งบประมาณด้านสาธารณสุขที่จำกัด หรือเกิดภัยพิบัติที่ยากจะควบคุมได้ทันการณ์ จะเห็นว่า การรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่พร้อมด้วยการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์และผังเมือง เพื่อเล็งเป้าหมายพื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมการรับมือความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต

แหล่งข้อมูล

Field Hospitals Should Be Assembled Right Now in These Locations 

Field hospital site selection criteria: a Delphi consensus study

Tracking Coronavirus in New York: Latest Map and Case Count

Tips for Opening a Field Hospital During the Coronavirus

Field hospital that treated coronavirus patients in Central Park to close

กทม. เปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 6 รองรับผู้ป่วยโควิดเขียว

โรงพยาบาลสนาม ที่ไหนยังว่าง? อว.รายงานทุกภาค ทุกจังหวัด เช็กที่นี่!

เปลี่ยนอาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เป็นโรงพยาบาลสนามบุษราคัม รักษาผู้ป่วยโควิด-19 นายกฯ ให้กำลังใจภาคสนาม

ส่องคุณสมบัติ ‘Hospitel’ สำหรับผู้ป่วยโควิดแบบไหน ต่างจาก ‘โรงพยาบาลสนาม’ อย่างไร ?

ศบค. พบ 5 คลัสเตอร์ใหม่ จับตาเขตปทุมวัน ย่านห้างดัง ติดเชื้อพุ่ง 144 ราย

กทม.เปิดชื่อ 4 โรงพยาบาลสนาม 1,250 เตียง รับสถานการณ์ผู้ป่วย ‘โควิด’

แพทย์ศิริราชเผยเบ่งเตียงไอซียูเต็มที่ ผู้ป่วยแน่นทุกวัน เตือนถ้าหละหลวม 3 เดือนก็หยุดเชื้อไม่ได้

สธ. เตรียมอัพเกรด รพ.สนาม ใน กทม. เพิ่มเตียงผู้ป่วยโควิดอาการหนัก

Coronavirus: How India descended into Covid-19 chaos

โควิด-19: ยกระดับ รพ.สนามรักษาผู้ป่วยวิกฤต แผนรองรับหลังไอซียูโควิดใกล้เต็ม

Why NYC’s largest emergency hospital is pretty much empty

What I saw at the Javits Center’s Covid-19 hospital

COVID-19 Construction of Alternate Medical Facility at Javits Center in NYC


Contributor