30/01/2020
Public Realm

เกิดน้อยในเมืองใหญ่ การเกิดคือเรื่องของใคร

The Urbanis
 


Editorial team

‘เมื่อไหร่จะมีลูก’ ‘เมื่อไหร่จะได้อุ้มหลาน’

คำถามเหล่านี้กลายเป็นคำถามยอดฮิตของหลายครอบครัวในประเทศไทย

ส่วนในระดับนโยบายไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีการพูดถึงเรื่อง‘มีลูกเพื่อชาติ’รัฐบาลที่แล้วได้ ออกโครงการอย่าง‘สาวไทยแก้มแดง’ที่แจกจ่ายวิตามินแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์เพื่อ กระตุ้นการมีบุตร ไปจนถึงการลดหย่อนภาษีให้ผู้ที่มีบุตร

เหตุการณ์หลายอย่างในหลากระดับกำลังสะท้อนให้เห็นว่าอัตราการเพิ่มประชากรในไทยกำลังลดน้อยลงเรื่อยๆแต่เราไม่ได้กำลังเผชิญสิ่งนี้เพียงลำพังเพราะอัตราการเกิดที่กำลังน้อยลงคือความเป็นไปของยุคปัจจุบันและรวมถึงอนาคตทั่วทั้งมวลมนุษยชาติคนเกิดน้อยลงเพราะอะไรสัมพันธ์อย่างไรไหมกับความเป็นเมืองและจะเป็นไปได้ไหมที่อัตราการเกิดจะฟื้นคืนในอนาคต รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้วิจัยเรื่อง ‘การเกิดในเมือง’ภายใต้โครงการวิจัยคนเมือง4.0:อนาคตชีวิตคนเมืองในประเทศ

ไทยกำลังศึกษาหาคำตอบและมองความเป็นไปได้ในเรื่องนี้

เมืองใหญ่ไม่ไหวจะท้อง

ในขณะที่คนอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองมากขึ้นเรื่อยๆน่าสนใจว่าคนในเขตเมืองกลับมีอัตราเจริญพันธ์ุน้อยลงมีสถิติบางตัวที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้เช่นตัวเลขการหย่าร้างในเขตกรุงเทพมหานครที่เพิ่มสูงขึ้นถึง30%ในรอบสิบปีอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สัมพันธ์กับตัวเลขการเกิดที่น้อยลงไปด้วยหรือแม้แต่เรื่องที่ว่าในเมืองมีคนโสดมากกว่าเขตนอกเมืองเมื่อมองรูปแบบการอยู่อาศัยและการเลี้ยงลูกในปัจจุบัน รศ. ดร.อภิวัฒน์ชี้ให้เห็นว่าอาจส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูกด้วย กล่าวคือการที่พ่อแม่ในเมืองปัจจุบันเน้น

คุณภาพในการเลี้ยงลูกทำให้ต้องทุ่มเทเวลากับลูกสูงในขณะที่อยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยวซึ่งไม่มีปู่ย่าตายายหรือญาติๆที่จะไหว้วานให้ช่วยเลี้ยงดูพ่อแม่จึงตัดสินใจมีบุตรภายใต้ข้อจำกัดที่ตนจะเลี้ยงดูไหวเท่านั้น

ส่วนในเมืองหนาแน่นสูงอย่างฮ่องกงความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดที่ลดน้อยถอยลงนั้นสัมพันธ์กับลักษณะเมืองอย่างชัดเจนเพราะฮ่องกงเป็นเมืองที่มีค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยสูงลิบสูงเกินกว่าที่คนในวัย 20-30 ปีที่เพิ่งมีครอบครัวจะลงทุนครอบครองหรือเช่าที่อยู่อาศัยเองได้ผลก็คือคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และกำลังก่อร่าง

สร้างครอบครัวจำเป็นต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในพื้นที่ที่จำกัดจึงขาดพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่ที่จะปฏิสัมพันธ์กันอย่างอิสระ หรือกรณีที่มีบุตรสักหนึ่งคนแล้ว พื้นที่เพียง 20 กว่าตร.ม. ทำให้พ่อแม่หลายรายต้องคิดหนักเมื่อจะมีลูกคนต่อๆ ไป

นอกจากเรื่องพื้นที่และรูปแบบการอยู่อาศัยสิ่งแวดล้อมในเมืองอาจมีผลต่อความสามารถในการเจริญพันธุ์ได้เช่นกันกล่าวคือความเครียดหรือมลพิษจากการใช้ชีวิตในเมืองอาจส่งผลต่อจำนวนสเปิร์มและการตกไข่ทำให้โอกาสในการมีบุตรน้อยลงไปอีก ยังไม่รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลไปถึงเรื่องการตัดสินใจมีความสัมพันธ์เชิงสังคม มีเพศสัมพันธ์ และมีครอบครัวอีกด้วย

จากอดีตสู่ปัจจุบัน

หากมองย้อนกลับไปดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่คนวัยประมาณ 60 ในปัจจุบันจะมีพี่น้องมากถึงราว 5-10 คน ในปี 2517 อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีชัย วีระไวทยะ เคยประสบความสำเร็จในการรณรงค์ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อคุมกำเนิดและเพื่อความปลอดภัย ถึงขั้นที่ถุงยางอนามัยได้รับฉายาว่า ‘ถุงมีชัย’ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ลดจำนวนประชากรได้สำเร็จ

ทว่ามาถึงวันนี้ ประชากรที่น้อยเกินไปกลับกลายเป็นปัญหา

ปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้เปลี่ยนไป ได้แก่ ผู้หญิงที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น รวมถึงมีการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลสถิติที่ว่า ยิ่งมีการศึกษาสูง ยิ่งมีลูกน้อยลง ซึ่งเทรนด์ไทยและเทรนด์โลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

หรืออย่างค่านิยมเรื่องการมีลูกมากในสมัยก่อนนั้นเป็นไปได้ว่าสัมพันธ์กับการแพทย์และสุขภาพที่ยังก้าวหน้าไม่มากนักทำให้มีเด็กเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยอยู่เรื่อยๆ พ่อแม่จึงตัดสินใจมีลูกหลายคนเผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้น 

ยังไม่นับรวมว่าสังคมเกษตรกรรมในรูปแบบที่ต้องใช้แรงงานลดลง ทำให้ความจำเป็นในการมีบุตรเพื่อมาช่วยทำไร่ทำนาลดลงตามไปด้วย

มีลด – มีเพิ่ม?

ต่อให้เทรนด์โลกจะเป็นไปอย่างแน่ชัดว่าอย่างไรอัตราการเกิดก็ลดน้อยลง แต่ก็มีหลายๆ ประเทศที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเทรนด์นี้เปลี่ยนได้ เช่น ประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก สเปน สหรัฐอเมริกา ไอซ์แลนด์และไอร์แลนด์

ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) สูงทั้งนั้น ซึ่ง HDI เป็นดัชนีที่สัมพันธ์กับเรื่องอายุขัย การศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อหัว นั่นหมายความว่าหากประเทศพัฒนาไปได้อีกขั้นหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจมีโอกาสที่อัตราการเจริญพันธุ์จะกลับเป็นบวก

นอกจากนี้งานศึกษาของรศ.ดร.อภิวัฒน์ยังนำเสนอปัจจัยที่อาจเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์​ (Game Changer) อีกอย่างน้อย 2 ประการ คือ 

เพศชาย: แม้เพศหญิงจะเป็นที่ถูกพูดถึงมากในประเด็นเจริญพันธุ์ แต่เพศชายก็ไม่ควรถูกมองข้าม  รศ. ดร.อภิวัฒน์เสนอว่าทำอย่างไรให้ผู้ชายมีส่วนร่วมมากขึ้นในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ หมายถึง ตั้งแต่คิดที่จะมีบุตร ไปจนถึงขั้นเลี้ยงดูบุตร ในที่นี้หมายรวมถึงการลดภาระของเพศหญิง ซึ่งอาจทำได้ผ่านนโยบายให้พ่อที่มีบุตรลางานได้เท่ากับแม่ เป็นต้น

คนข้ามชาติ: มีสถิติที่เล่าถึงว่าคนที่มาจากที่อื่นเมื่อย้ายไปอยู่อาศัยในอีกประเทศ ในช่วงแรกของการย้ายถิ่นมักมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่สูงกว่าคนท้องถิ่น ดังนั้นคนกลุ่มนี้อาจช่วยเพิ่มประชากรให้กับรัฐหนึ่งๆ ได้

ทั้งนี้ ในประเทศไทยเองมีตัวเลขคนข้ามชาติอย่างเป็นทางการสองล้านคน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงย่อมมีมากกว่านั้น เมื่อพูดถึงการเพิ่มประชากร  รศ.ดร.อภิวัฒน์จึงนำคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในสมการด้วย

ฉายภาพอนาคตการเกิด

จากการศึกษาของรศ.ดร.อภิวัฒน์มีการฉายภาพอนาคตเกี่ยวกับนโยบายการเกิดของประชากรผ่านการมอง 2 เรื่องหลักคือ 

1. เน้นการเกิดแบบคุณภาพ หรือเน้นการเกิดแบบปริมาณ และ 2. มองเรื่องการเกิดคือเรื่องส่วนบุคคล หรือ เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ

เมื่อนำปัจจัยทั้งสองมามองร่วมกัน จึงเกิดความเป็นไปได้ 4 รูปแบบ คือ

1. เน้นคุณภาพ x การเกิดคือเรื่องส่วนบุคคล

หากมองการเกิดในลักษณะนี้เป็นไปได้ว่าครรภ์มารดาอาจเป็นบ่อเกิดแห่งความเหลื่อมล้ำ 

แม่หรือครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์หรือเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า แปลว่าลูกของคนกลุ่มนั้นจะมีคุณภาพการเกิดที่ดีกว่าแม่ที่มีต้นทุนน้อยกว่า

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ว่าคนรายได้น้อยมักอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในครรภ์ และคุณภาพการตั้งครรภ์ได้

2. เน้นคุณภาพ x การเกิดคือความมั่นคงของชาติ

การให้ความสำคัญในลักษณะนี้อาจทำให้รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ได้อย่างง่ายดาย เพราะรัฐต้องการให้ทุกคนที่เกิดมามีคุณภาพ

3. เน้นปริมาณ x การเกิดคือเรื่องส่วนบุคคล

หากอนาคตของการเกิดเป็นไปในลักษณะนี้ แปลว่าอาจมีคนข้ามชาติเข้ามาอยู่ในไทยจำนวนมาก หลายคนอาจเกิดในไทย ทว่าไม่ได้รับสิทธิในการเป็นคนไทย

4. เน้นปริมาณ x การเกิดคือเรื่องความมั่นคงของชาติ

การเกิดในรูปแบบนี้อาจมีการออกนโยบายในลักษณะที่ให้ใครก็ตามที่เกิดในแผ่นดินไทยกลายเป็นคนไทยโดยอัตโนมัติ

เมื่อการเกิดมองร่วมกับประเด็นเมืองและสังคม คำถามของคนรอบตัวที่ว่า ‘เมื่อไหร่จะแต่งงาน’‘เมื่อไหร่จะมีลูก’จึงอาจไม่ใช่เรื่องคำถามแค่เพียงคนใดคนหนึ่งต้องตอบ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันถึงระดับนโยบายอีกด้วย


Contributor