29/08/2020
Public Realm

เมือง Łódź : ปรับโรงงานร้าง สร้างการเรียนรู้

The Urbanis
 


เมื่อ “คน” คือโจทย์สำคัญของเมือง

คุณอาจจะไม่ค่อยคุ้นชื่อกับเมือง Łódź (ออกเสียงว่า “วูช”) ประเทศโปแลนด์เท่าไหร่นัก อาจเพราะไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศ แต่ด้วยแผนพัฒนาเมืองในปี 2020 ที่เริ่มวางแผนและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2012 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง ดึงดูดนักลงทุนและพัฒนาด้านเศรษฐกิจของเมือง ด้วยการทุ่มพละกำลังในการฟื้นฟูเมืองซึ่งมิได้มุ่งเน้นแต่การปรับโครงสร้างและส่วนประกอบของเมือง แต่ยังให้ความสำคัญกับการเริ่มจาก “พลเมือง” ที่จะเป็นทั้งฟันเฟือนในการขับเคลื่อนและผู้ที่จะใช้งานพื้นที่เมือง จึงทำให้เมืองนี้มีความน่าสนใจและอาจนำมาเป็นบทเรียนสำคัญให้กับเราได้เป็นอย่างดี

(ภาพจาก: ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง)

เมือง Łódź เป็นเมืองอุตสาหกรรมสิ่งทอเก่าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศโปแลนด์ มีประชากรประมาณ 700,000 คน ห่างจากเมือง Warsaw เมืองหลวงของโปแลนด์ประมาณ 119 กิโลเมตร มีสิ่งปลูกสร้าง และส่วนประกอบที่หลากหลาย อาทิ ที่พักอาศัยแบบตึกแถว พระราชวังกว่า 27 แห่ง พื้นที่สีเขียวทั้งในรูปแบบของสวนสาธารณะ สวนขนาดหย่อม พื้นที่ระหว่างอาคารที่ถูกปรับปรุงให้บรรยากาศโดยรอบของเมืองน่ามองยิ่งขึ้น และโรงงานเก่ากว่า 200 แห่งที่บางส่วนกลายมาเป็นไฮไลต์สำคัญของเรื่องราวในครั้งนี้

สังคมได้เรียนรู้ คือ ผลตอบแทนทางสังคมที่คุ้มค่าที่สุด

จากงานวิจัยในหลายส่วนในเมืองนี้ชี้ให้เห็นว่า คนมีความเข้าใจในเมือง Łódź และองค์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเมืองค่อนข้างน้อย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปทั้งความรู้สึกรับผิดชอบต่อเมือง และการใช้งานเมืองในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะของเมือง ยกตัวอย่างว่า หากมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็ตามให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่หากคนเมืองไม่เห็นถึงประโยชน์ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดการประท้วงและเมื่อสร้างเสร็จก็อาจไร้ผู้คนเข้ามาใช้งาน

รวมถึงการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเมืองที่ต้องอาศัยพลเมืองในการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ซึ่งทาง City of Łódź ได้ใช้หลากหลายวิธีในการเข้าถึงผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ อย่างสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ การจัดประชุม การจัดอบรม การเวิร์คชอป โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมที่เปิดให้คนในเมืองเสนอไอเดียในการจัดทำโครงการปรับปรุงพื้นที่ในบริเวณและรูปแบบที่สนใจได้พร้อมสร้างแรงดึงดูดด้วยเงินลงทุน 40 ล้าน

นอกจากนี้จุดมุ่งหมายของที่นี่ การให้ความสำคัญกับ quality of life ที่ไม่ใช่แค่สร้างเมืองให้สะดวกต่อการใช้งานพื้นฐาน แต่ต้องการสนับสนุนให้คนในเมืองได้ใช้ชีวิตหลังเลิกงาน หลังเลิกเรียน อย่างเต็มที่ด้วยการให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้จึงนำมาสู่การปรับปรุงส่วนประกอบต่างๆ ของเมือง และสิ่งสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอย่างโรงงานเก่าที่ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว

โรงงานเก่าที่เคยพาให้เมืองเป็นเมืองอุตสาหกรรมอันสำคัญ กำลังจะพาให้เมือง Łódź ก้าวไปไกลยิ่งกว่าเดิม

http://uddc.net/sites/default/files/image/wysiwyg/3_13.jpg
(ภาพจาก:http://www.ec1lodz.pl/ec1-today?language=en)

การเลือกปรับกรุงโรงงานเก่า นับเป็นโจทย์ท้าทายอย่างมากของเมือง ทั้งความยากในการเลือกต่อเติมจากโครงสร้างเดิมที่ต้องผ่านการศึกษา วางแผนและออกแบบเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการใช้งานของโรงงานนั้นๆ มีความเกี่ยวเนื่องกับสารอันเป็นอันตรายยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษทั้งสำหรับผู้ที่เข้าไปดำเนินการและการจะเปิดให้ผู้คนภายนอกได้เข้าไปใช้พื้นที่หลังการพัฒนา

ท้ายที่สุดคือเม็ดเงินมหาศาลที่ต้องใช้ในการปรับปรุงจนต้องทำให้หลายครั้งต้องทบทวนและเปรียบเทียบระหว่างจำนวนเงินในการสร้างใหม่กับการเข้าไปปรับปรุงต่อเติม เพราะผลจากการลงทุนในรูปแบบของตัวเงินอาจไม่สูง อย่างไรก็ตามกำไรที่ได้จากการทางสังคมในการเรียนรู้นับว่าคุ้มค่าจนทำให้หมดข้อสงสัยที่จะยอมลงทุนกับพื้นที่เหล่านี้

(ภาพจาก: http://www.ec1lodz.pl/news/ec1-planetarium-%C5%82%C3%B3d%C5%BA-new-polish-wonder?language=en)
(ภาพจาก: http://www.ec1lodz.pl/news/ec1-planetarium-%C5%82%C3%B3d%C5%BA-new-polish-wonder?language=en)
http://uddc.net/sites/default/files/image/wysiwyg/444.jpg
(ภาพจาก: http://www.ec1lodz.pl/news/ec1-planetarium-%C5%82%C3%B3d%C5%BA-new-polish-wonder?language=en)
(ภาพจาก: ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง)

ตัวอย่างโรงงานเก่าที่ถูกปรับปรุง

The EC1 Planetarium (http://www.ec1lodz.pl) ที่เมื่อปี 2016 เพิ่งชนะในการเป็น “7 New Wonders of Poland” จัดประกวดโดย National Geographic Traveler อันเป็นสถานที่ได้รับเงินลงทุนจาก City of Łódź ในการปรับเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของเมือง ให้กลายเป็นพื้นที่ที่สาธารณะได้เข้ามาใช้งานโดยการลุยปรับปรุงส่วนแรก คือ การปรับปรุงอาคารส่วนหนึ่งโดยพยายามใช้โครงสร้างที่มีอยู่เดิมให้มากที่สุด ให้เป็นเหมือนท้องฟ้าจำลองของกรุงเทพฯ เรานั่นเอง พร้อมทั้งมีสถานที่ที่เปิดให้สามารถจัดงานต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะคอนเสิร์ตหรือนิทรรศการหมุนเวียน

นอกจากอาคารเดิมที่ถูกปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว อีกโซนที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่จะเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายนนี้ ด้วยการออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เนื้อหาที่จะให้ผู้ชมได้เรียนรู้ แต่รูปแบบหรือวิธีการที่สร้างสรรค์และคำนึงถึงผู้ที่จะเข้ามาเยี่ยมชมนั้นน่าสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 3D projection ที่ทำให้การเล่าข้อมูลต่างๆ นั้นเสมือนจริงจนไม่อาจละสายตาได้ รวมถึงการแสดงข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ที่ให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้ การผนวกรวมข้อมูลกับเกมส์ที่เปิดให้ผู้ชมต้องขยับร่างกายเพื่อไม่ให้การเรียนรู้นั้นอยู่ที่แค่การสัมผัสหน้าจอเพียงอย่างเดียว

นี่เป็นเพียงหนึ่งในโรงงานที่ยกระดับตนเองเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ City of Łódź ทุ่มเทและพร้อมจะลงทุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้พลเมืองได้เกิดการเรียนรู้และเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่วนประกอบของเมืองส่วนอื่นๆ ก็กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ยังมี The Manufaktura ที่ไม่ได้แค่มีมิวเซียมในพื้นที่ แต่ยังมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงภาพยนตร์และร้านอาหารมากมายบรรจุอยู่ในบริเวณเดียวกัน

ไม่ใช่เพียงโรงงานในเมือง เหล่าบ้านพักของคนสำคัญในเมือง ก็ถูกปรับให้เป็นมิวเซียม ให้ทั้งคนในเมืองและนักท่องเที่ยวรวมทั้งเมืองที่ทำหน้าที่เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการผ่านการติดตั้งป้ายบอกเล่าต่างๆ ไปรอบเมืองถึงรายละเอียดสถานที่ต่างๆ เรียกได้ว่าเปลี่ยนทั้งเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

(ภาพจาก:  http://www.propertydesign.pl/architektura/104/international_expo_2022_w_lodzi_decyzja_w_polowie_roku,7755.html)

ก้าวต่อไปของ Łódź

ความต้องการในการฟื้นฟูเมืองของ City of Łódź ไม่ได้หยุดอยู่แค่การยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองในทุกๆด้านเท่าที่จะทุ่มพละกำลังทำได้ แต่มุ่งหวังให้เมืองนั้นเป็นที่พูดถึงในวงที่กว้างระดับโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจให้กับพลเมืองถึงเมืองของตนเอง ด้วยการลงสมัครเป็นหนึ่งในเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2022/2023 ภายใต้การนำเสนอตีม “CITY RE:INVENTED” ที่จะบอกเล่าถึงความท้าทายของเมืองต่างๆ ทั่วโลกถึงการฟื้นฟูเมืองในขณะนี้ ซึ่งน่าจะทราบผลการคัดเลือกในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ถึง


Contributor