28/04/2020
Public Realm

เมื่อข้อมูลดิจิทัลในเมืองคือสายสืบชั้นดี : จัดการ COVID-19 แบบเกาหลีใต้

ณัฐกานต์ อมาตยกุล
 


มาถึงวันนี้ ผู้คนในเกาหลีใต้เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ หลายคนออกไปเดินดูดอกไม้บานต้นฤดูใบไม้ผลิ (แม้จะยังมีคำเตือนจากรัฐบาลว่ายังไม่ควรออกไปในที่ชุมชน) ผิดกับเมื่อเดือนมีนาคมที่คนเกาหลียังอยู่ในภาวะหวาดกลัวโรคระบาด COVID-19 จากตัวเลขที่พุ่งสูงต่อเนื่อง หลังเกิดเหตุการณ์แพร่เชื้อจำนวนมากในเมืองแทกูเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาฯ 

วันนี้ตัวเลขได้ลดระดับลงแล้วในระดับหลักสิบ จนรู้สึกเหมือนไม่มีผลอะไรกับชีวิต

เมื่อมองย้อนกลับไป ตัวเลขผู้ติดที่แซงหน้าประเทศอื่นๆ หลายประเทศอย่างรวดเร็วในกราฟระดับโลก มองแง่หนึ่ง คือความน่าสะพรึงกลัวของโรคระบาด แต่มองในอีกแง่ ตัวเลขเดียวกันนี้คือตัวเลขที่สะท้อนการจัดการอย่างเป็นระบบของเกาหลี ที่ทำให้เจอผู้ติดเชื้อได้ไวกว่าใครๆ 

โรคไม่ได้หยุดแพร่ระบาดแค่เพียงเพราะเรามองไม่เห็นมัน หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่เกาหลีใต้ในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 คือการติดตามค้นหาตัวผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อได้จำนวนมาก เพื่อมาเข้ากระบวนการตรวจสอบเชื้อได้อย่างครอบคลุม 

ว่าแต่ว่าเขาทำได้อย่างไร?

ภาพผู้คนออกมาใช้ชีวิตปกติริมแม่น้ำฮันเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2020
ภาพโดย watermelontart / Shutterstock.com

เพราะเข้าใจจึงมั่นใจ

ทางการเกาหลี เรียกกลยุทธ์ที่พวกเขาใช้จัดการกับภาวะวิกฤตนี้ว่า TRUST ซึ่งมาจากคำว่า ความโปร่งใส (transparency) ความรับผิดชอบ (responsibility) การทำงานสอดรับกัน (united actions) วิทยาศาสตร์และความเร็ว (science and speed) และการร่วมกันใจเป็นหนึ่ง (together in solidarity)

เมื่อมองเจาะได้ด้านความโปร่งใส ซึ่งเน้นไปที่การสืบหาตัวผู้เข้าข่ายติดเชื้อได้เร็วและรีบเผยแพร่ข่าวสารทันทีที่ได้รับการยืนยัน คือกุญแจสำคัญที่ประชาชนหลายคนเชื่อว่ารัฐรับมือได้ เพราะพวกเขาเองก็ได้รู้ทั้งสถานที่ที่ผู้ติดเชื้อผ่านในช่วงเวลาต่างๆ และได้รู้สถานการณ์ในละแวกบ้านว่าร้ายแรงระดับไหน

ส่วนหนึ่งที่ต้องยกความดีความชอบให้คือภาคเอกชนที่คิดชุดตรวจสอบโรค (test kit) ได้รวดเร็ว แต่อีกส่วน ต้องยกให้ความสามารถของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี หรือ KCDC ที่ตามตัวคนที่น่านำมาตรวจได้อย่างครอบคลุม การสืบหาตัวคนได้เร็วนี้ ก็เกิดจากหลักการ 3T : Trace, Test, Treat ที่มาประกอบกับคลังข้อมูลดิจิทัลที่มีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะเลือกมาหยิบใช้เมื่อไร และเพื่อใคร

สำหรับเรา คำสำคัญที่เด่นกว่าอักษรย่อใดๆ จึงกลายเป็น ข้อมูล ข้อมูล และข้อมูล

ตามหาตัว

เพราะความทรงจำคนเราไม่ได้แจ่มชัดขนาดนั้น นอกจากการสอบสวนโรคทั่วไป อย่างการสอบถามผู้ป่วยว่าได้ไปที่ไหนและติดต่อกับใครบ้าง ทางการเกาหลีก็ได้ใช้ ข้อมูลดิจิทัล จากการใช้บัตรเครดิต สัญญาณโทรศัพท์มือถือ และกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ตามถนนและอาคารต่างๆ ที่ภาคเอกชนสามารถส่งให้ได้มาประกอบกัน ทำให้เห็นรายละเอียดการเดินทางที่ชัดเจนขึ้นของผู้ป่วยแต่ละรายในหน่วยชั่วโมง

เมื่อระบุสถานที่และบุคคลเกี่ยวข้องได้แล้ว ทางการก็จะเข้าไปทำความสะอาดสถานที่ และติดต่อผู้ที่เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเพื่อสอบถามอาการต่อไป แล้วคัดกรองว่าเข้าข่ายต้องเข้ามาทดสอบหาเชื้อหรือกักกันตัวหรือไม่

ข้อมูลเหล่านี้มารวมกันแปรผลเป็นสิ่งที่มีความหมายได้ ก็เพราะการร่วมมือกันระหว่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี กรมตำรวจแห่งชาติ สมาคมเครดิตไฟแนนซ์แห่งเกาหลี บริษัทโทรคมนาคม 3 แห่ง และบริษัทบัตรเครดิตอีก 22 บริษัท 

แต่ศูนย์ข้อมูลนี้จำกัดให้เข้าถึงได้เฉพาะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่กี่คนเพื่อประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มาคู่กับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อนำไปแชร์ให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับผู้เข้าข่ายต้องสงสัย

หากเป็นคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ยากที่จะสืบย้อนกลับไปว่ามีโอกาสติดเชื้อหรือไม่ ก็ต้องเริ่มเก็บข้อมูลใหม่ โดยให้ผู้ที่เข้าประเทศ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ที่พัฒนาโดยภาครัฐ เพื่อสอบถามติดตามอาการในแต่ละวัน หากมีอาการที่เข้าข่ายเกิดขึ้นระหว่างระยะเวลากักตัว ระบบก็จะเตือนให้เข้ารับการตรวจเชื้อทันที 

ยังไม่หมด!

เพราะหากเทคโนโลยีตอบไม่ได้ทุกอย่าง ก็ยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์ เช่น กรณีที่มีการติดเชื้อในสถานที่คนพลุกพล่าน ตามตัวคนในสถานที่และเวลานั้นๆ ยาก ทางการเกาหลีก็ปล่อย emergency alert ไปถึงโทรศัพท์มือถือของทุกคน เพื่อเรียกหาตัวคนที่เคยไปเยือนสถานที่นั้นๆ ในช่วงเวลาที่เชื้อระบาดมาก

เรียกได้ว่า ข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันสองทาง ทั้งภาครัฐและประชาชน ยิ่งโปร่งใสและแพร่หลาย ก็ยิ่งทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ป้อนกลับมามากขึ้น

กักตัว

“จะทำยังไงดีกับคนไม่มีจิตสำนึกที่ไม่ยอมอยู่บ้าน”

เรื่องระบาดเป็นเรื่องที่เราต้องถอยออกมามองภาพใหญ่ มากกว่านั่งภาวนาให้ทุกคนเป็นคนดี (และคนมีอันจะกิน) ภาครัฐเลยต้องตอบโจทย์การควบคุมตัวคนให้อยู่แต่ในบ้านให้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพา “จิตสำนึก” ที่แสนเป็นถ้อยคำนามธรรม

ทั้งการจัดหาเสบียงอาหารที่เพียงพอกับการอยู่ในบ้าน 14 วัน และการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดูแลการกักตัวประจำเขตโทรเข้าไปสอบถามอาการทุกๆ วัน หรือบางครั้งก็มีการใช้ แอปฯ ติดตามตำแหน่งใน GPS คอยเตือนคนคนนั้นไม่ให้ออกไปไหน และเตือนทางการให้ได้รู้ความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทั้งเมือง โดยคาดโทษจำคุกและปรับไว้สูงถึง 10 ล้านวอน

ระวังตัว

อย่างที่สอง สำหรับคนที่ยังไม่เป็นโรคอะไร แต่อยากระวังตัวเอาไว้ก่อน คงจะดีกว่าถ้าเรามีข้อมูลแผนที่ในมือว่าควรไปที่ไหน หรือหลีกเลี่ยงที่ใด 

เรื่องนี้เป็นไปได้ เพราะโอเพ่นดาต้าของภาครัฐที่พร้อมเสิร์ฟ ทั้งในรูปแบบ เว็บไซต์ KCDC ข้อมูลจาก emergency alert ที่ส่งตรงถึงมือถือ และข้อมูลในเว็บไซต์ประจำเขตต่างๆ ที่เก็บข้อมูลประวัติการเดินทางของผู้ติดเชื้อเอาไว้ให้ค้นง่ายๆ 

ความพร้อมของข้อมูลตรงนี้เองที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีให้ผู้พัฒนาแอพฯ ภาคเอกชนสามารถนำไปปรุงต่อได้ กลายเป็นแอพและเว็บต่างๆ เช่น coronamap.site ที่ระบุพิกัดและวันที่ผู้ป่วยเดินทางไป

บทความ “เมื่อข้อมูลดิจิทัลในเมืองคือสายสืบชั้นดี : จัดการ COVID-19 แบบเกาหลีใต้” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor