28/03/2022
Public Realm

ส่องทิศทางการพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา

ณัฐชนน ปราบพล
 


หากถามว่าย่านไหนในกรุงเทพฯ ที่เติบโตเร็วที่สุด มีการเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นที่สุด? เชื่อว่าย่านพระโขนง-บางนา คงเป็นหนึ่งในคำตอบของใครหลายคน ทุกวันนี้ เรารู้จักย่านพระโขนง-บางนากันดีในฐานะของย่านที่อยู่อาศัยไม่ไกลจากศูนย์กลางเมืองของกรุงเทพฯ การเดินทางที่สะดวกยิ่งขึ้นจากการมาถึงของรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยาย ถือเป็นตัวแปรสำคัญ ที่นำความเจริญและการเปลี่ยนผ่านจากอดีตที่เคยเป็นชานเมืองเงียบเหงา มาสู่การเป็นย่านทำเลทองแห่งใหม่ที่ใคร ๆ ก็ต่างให้ความสนใจ

วันนี้ จึงอยากจะพาทุกคนไปส่องอนาคตของย่านพระโขนง-บางนาอันใกล้ ที่จะกลายเป็นศูนย์ชุมชนชานเมือง ด้วยนโยบายจากแผนผังแนวคิดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกรุงเทพฯ การเป็นย่านนวัตกรรมดิจิทัล จากนโยบายการพัฒนาย่านนวัตกรรมดิจิทัลต้นแบบของไทย โดย NIA ร่วมกับ True Digital Park ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้การเดินทางสัญจรในย่านแห่งนี้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยรถไฟฟ้าสายใหม่ 2 สาย การพัฒนาโครงข่ายถนนอีก 10 เส้นทาง และการเป็นย่านสำหรับการใช้ชีวิตตั้งแต่อยู่อาศัย ทำงาน และพักผ่อน จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่าง ๆ กว่า 10 แห่ง ทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า

ย่านพระโขนง-บางนา จะเป็นศูนย์ชุมชนชานเมือง

แผนผังแนวคิดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกรุงเทพฯ ที่กำลังจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้ มีแนวคิดกระจายความแออัดของการใช้ประโยชน์ที่ดินออกจากพื้นที่ศูนย์กลางเมืองเดิม (CBD) สู่ศูนย์กลางพาณิชยกรรมรอง และศูนย์ชุมชนย่านชานเมือง ซึ่งแยกบางนาและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์ชุมชนย่านชานเมือง ซึ่งจะทำให้แยกบางนาจะกลายเป็นย่านพาณิชยกรรมขนาดย่อมแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โซนตะวันออกเฉียงใต้ และสมุทรปราการ และพื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ก็ย่านที่อยู่อาศัยที่หนาแน่นมากขึ้น รองรับการมาถึงของ monorail สายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเชื่อมกรุงเทพฯ และสมุทรปราการเข้าด้วยกัน

ย่านพระโขนง-บางนา จะเป็นย่านนวัตกรรม

ทำเลที่ตั้งที่ไม่ไกลจากเมืองชั้นในและการเดินทางที่สะดวกขึ้น ทำให้มีสำนักงานขนาดใหญ่หลายแห่งย้ายเข้ามาตั้งอยู่ในย่าน และด้วยการมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ ทำให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมมือกับ True Digital Park และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ปั้นพื้นที่บริเวณสถานี BTS ปุณณวิถี เป็นย่านดิจิทัลต้นแบบของไทย (Bangkok CyberTech District) ภายใต้แนวคิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ของคนยุคใหม่ที่สนใจในด้านของเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นแหล่งสร้างสรรค์งานวิจัยนวัตกรรม บ่มเพาะสตาร์ทอัพ และรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ

ย่านพระโขนง-บางนา จะเต็มไปด้วยโครงการพัฒนา

นอกจากนโยบายที่จะเป็นทิศทางการพัฒนา และกำหนดบทบาทย่านพระโขนง-บางนาในอนาคตแล้ว ย่านแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่จะทำให้หน้าตาของย่านเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นย่านแห่งความผสมผสานสำหรับการใช้ชีวิตตั้งแต่อยู่อาศัย ทำงาน และพักผ่อน ซึ่งแบ่งโครงการพัฒนาได้เป็น 2 ประเภท

1. โครงการโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวม 18 โครงการ

โครงการรถไฟฟ้า 2 สาย 1) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและ สำโรง จ.สมุทรปราการเข้าด้วยกัน ตามแนวถนนศรีนครินทร์ กำหนดเปิดบริการปี 2565 2) รถไฟฟ้าสายสีเงิน เชื่อมย่านพระโขนง-บางนากับสนามบินสุวรรณภูมิ ตามแนวถนนบางนา-ตราด ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอ EIA

โครงการพัฒนาถนนตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ปรับปรุงครั้งที่ 4 จำนวน 10 เส้นทาง เป็นโครงการพัฒนาถนนตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จำนวน 10 เส้นทาง เป็นการขยายซอยและเชื่อมต่อโครงข่ายซอยเดิมเพื่อเพิ่มความสะดวกในการสัญจรภายในย่าน 8 สาย 1) ซอยอ่อนนุช 30 – ซอยพึ่งมี 29 เชื่อมถนนอ่อนนุช กับซอยสุขุมวิท 93 2) อ่อนนุช 44 – ซอยอุดมสุข 51 เชื่อมถนนอ่อนนุช กับถนนอุดมสุข 3) ซอยสุขุมวิท 93 4) ถนนปุณณวิถี 5) ซอยปุณณวิถี 28 – ซอยวชิรธรรมฯ 23 เชื่อมถนนปุณณวิถี กับถนนวชิรธรรมฯ 6) ซอยปุณณวิถี 43 – ซอยพึ่งมี 38 เชื่อมถนนปุณณวิถี กับซอยสุขุมวิท 93 7) ซอยศรีนครินทร์ 38 – ซอยวชิรธรรมฯ 57 เชื่อมซอยอ่อนนุช 44 กับถนนศรีนครินทร์ 8) ซอยศรีนครินทร์ 42 – ซอยวชิรธรรมฯ 70 เชื่อมถนนวชิรธรรมฯ กับถนนศรีนครินทร์

และการก่อสร้างถนนสายใหม่ เพื่อเชื่อมโยงย่านพระโขนง-บางนากับพื้นที่โดยรอบอีก 2 สาย 1) ถนนสายใหม่ เชื่อมระหว่างถนนพัฒนาการกับถนนอ่อนนุช บริเวณซอยอ่อนนุช 39 2) ถนนสายใหม่ เชื่อมระหว่างถนนศรีนครินทร์กับถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 บริเวณใกล้ซอยศรีนครินทร์ 45

โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลอง 6 สาย ได้แก่ คลองบางนางชิ้น คลองเคล็ด คลองบางอ้อ คลองบ้านหลาย คลองเจ็ก และคลองบางนา

2. โครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ 13 โครงการ

โครงการศูนย์การค้าและมิกซ์ยูส 3 แห่ง 1) Bangkok Mall โครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่รวมกว่า 8 แสนตารางเมตร ตรงแยกบางนา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2) Cloud 11 โครงการมิกซ์ยูสบนพื้นที่ 27 ไร่ ริมถนนสุขุมวิท ตรงข้าม True Digital Park เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาย่านนวัตกรรม Bangkok CyberTech District ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3) Summer Lasalle โครงการมิกซ์ยูสในรูปแบบของออฟฟิศแคมปัสบนพื้นที่ 61 ไร่ กลางซอยลาซาล ปัจจุบันเปิดให้บริการระยะแรกแล้ว

โครงการอาคารสำนักงานใหม่ 4 แห่ง 1) 66 Tower โครงการอาคารสำนักงาน พื้นที่รวมกว่า 5 หมื่นตารางเมตรโดยเมืองไทยประกันชีวิต ใกล้ BTS อุดมสุข ก่อสร้างเสร็จปี 2564 2) Nai Lert Office โครงการอาคารสำนักงานของบริษัท นายเลิศ จำกัด บริเวณ BTS บางจาก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3) True Digital Park เฟส 2 โครงการส่วนต่อขยายของ True Digital Park บริเวณปากซอยวชิรธรรมสาธิต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4) Intanin Mansion & Tower โครงการอาคารสำนักงานและโรงแรม โดยบริษัทในเครือภิรัชบุรี บริเวณ BTS อ่อนนุช ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

โครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ 5 แห่ง 1) Skyrise Avenue โครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 1,961 ยูนิต บริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/2 ใกล้ BTS ปุณณวิถี กำหนดแล้วเสร็จปี 2567 2) Chatrium City โครงการคอนโดมิเนียมริมถนนสุขุมวิท ใกล้ BTS อุดมสุข เป็นที่อยู่อาศัย 664 ยูนิต และโรงแรม 498 ห้อง 3) Piti Sukhumvit 101 โครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 168 ยูนิต ริมถนนสุขุมวิท ใกล้ BTS ปุณณวิถี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4) The Privacy S101 โครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 394 ยูนิต ในซอยปุณณวิถี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5) Innside Bangkok โครงการโรงแรมจำนวน 208 ห้อง ริมถนนสุขุมวิท ใกล้ BTS อ่อนนุช ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพฯ – บางนา ก่อสร้างศูนย์ราชการของกรุงเทพฯ ประกอบด้วย สำนักงานเขตบางนา โรงพยาบาลบางนา สถานีดับเพลิงบางนา และศูนย์กีฬาทั้งในร่มและกลางแจ้ง บริเวณพื้นที่สำนักงานเขตบางนาในปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

โครงการนี้เป็นโครงการศึกษาและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ สตูดิโอการฟื้นฟูย่าน ภาคผังเมือง จุฬาฯ


Contributor