28/02/2022
Public Realm

ร่วมปฎิบัติการนักสังเกตการณ์เมือง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


หนึ่งในวิธีที่เราจะสามารถศึกษาเรื่องเมืองได้ดีที่สุด คือการเป็นคนช่างสังเกต เพราะว่าการสังเกตจะช่วยให้เรารับรู้ถึงข้อมูล ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา แล้วมันสามารถนำมาวิเคราะห์กลั่นกรองออกมาเป็นข้อมูลใหม่ๆ เป็นแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวมาบ้างแล้ว คือ การค้นพบต้นเหตุที่มาของการระบาดของอหิวาตกโรคในลอนดอนในปี 1854 จากการที่ John Snow ได้สังเกตพฤติกรรมและจดบันทึก จนค้นพบว่าผู้ป่วยมีการเดินทางไปใช้น้ำจากแหล่งเดียวกัน

วันนี้ The Urbanis จึงอยากชวนผู้อ่านมาร่วมเป็นนักสังเกตการณ์เมือง ร่วมเรียนรู้วิธีการ “Urban Observatory”  การเก็บข้อมูลเมืองในแบบฉบับนักสังเกตการณ์เมืองจะเป็นอย่างไร แล้วการสังเกตการณ์เมืองจะช่วยพัฒนาเมืองของเราได้อย่างไรบ้าง ติดตามกันได้ที่บทความนี้

“เมือง” คืออะไร

ก่อนที่จะเป็นนักสังเกตการณ์เมืองเรามาทำความเข้าใจคำว่า “เมือง” กันก่อน คำว่าเมืองนั้นมีนิยามที่หลากหลายทั้งในเชิงกายภาพ ผู้คน เศรษฐกิจ หลายๆ ครั้งก็ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ว่าเราจะนิยามเมืองได้ครอบคลุมขนาดนั้นจริงหรือ แต่โดยรวมแล้วเมืองจะสะท้อนให้เห็นถึง ความแตกต่าง ความหลากหลาย โอกาส และความเหลี่ยมล้ำ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เมืองมีความซับซ้อน ไม่สามารถจำเพาะเจาะจงหรือจำกัดความได้ว่า เมือง หรือ การศึกษาเรื่องเมือง เป็นเรื่องเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แต่โดยส่วนตัวแล้วคุณอดิศักดิ์มองว่า เมือง คือ ผู้คน พื้นที่ และการปะทะสังสรรค์ของการใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและหนาแน่น “เมือง” จึงเปรียบเป็น พื้นที่แห่งชีวิต เพราะเมืองคือพื้นที่แห่งการใช้ชีวิตที่ประกอบไปด้วยกายภาพและกิจกรรมของผู้คน ดังคำพูดของ Jan Gehl ที่ว่า “Life Between Building” หรือ ชีวิตท่ามกลางตึกรามบ้านช่อง 

จะเริ่มต้นการศึกษาเรื่องเมืองอย่างไร?

หลังจากที่เราทำความเข้าใจเรื่อง “เมือง” แล้ว ว่าเมืองนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของกายภาพอย่างการมีตึกระฟ้าหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่ยังมีมิติของผู้คนและเรื่องของปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเมืองด้วย เห็นได้เลยว่าเมืองนั้นมีความซับซ้อนมากมาย แล้วทำไมเราจะต้องมีการศึกษาเรื่องเมืองด้วย? การศึกษาเรื่องเมืองสุดท้ายแล้วเราศึกษาเพื่อที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนที่อยู่ในเมือง และอีกด้านหนึ่ง คือการศึกษาเพื่อที่จะขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของเมือง

ซึ่งการศึกษาเรื่องเมือง เราสามารถเริ่มต้นศึกษาได้ตั้งแต่เรื่องพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น 1st place หมายถึง บ้าน ที่อยู่อาศัย 2nd place หมายถึงโรงเรียนหรือที่ทำงาน และ 3rd place หมายถึงสถานที่นอกเหนือจากบ้านหรือที่ทำงาน ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ร้านกาแฟ ฯลฯ  

หรือจะเป็นการศึกษาเรื่องการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองจะเกี่ยวข้องกับ 3 กิจกรรมหลัก คือ 1) Create หมายถึงการสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่นการทำงาน การประกอบอาชีพ รวมไปถึงการสร้างคุณค่าอื่นๆ ที่อยู่ในเมือง 2) Connect หมายถึงการเคลื่อนย้าย การเดินทาง การเชื่อมต่อ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทั้งทางกายภาพหรือออนไลน์ 3) Consume หมายถึงการบริโภค ทั้งการบริโภคสินค้า ความชอบ การเสพงานศิลปะ อาหารการกิน เทคโนโลยีต่างๆ

ดังนั้น การศึกษาเรื่องเมืองอย่างง่ายสามารถเริ่มต้นได้ที่ การศึกษาพื้นที่ภายในเมืองทั้ง 3 รูปแบบ ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และสถานที่อื่น และการศึกษากิจกรรมของผู้คนภายในเมืองที่เกิดจากการสร้าง การเคลื่อนย้าย และการบริโภค

การสังเกตการณ์คืออะไร แล้วเราจะสังเกตอะไรในเมืองได้บ้าง?

การสังเกตการณ์เมือง คือสิ่งสำคัญในการศึกษาเรื่องเมือง พื้นที่และชีวิตสาธารณะ ความจริงแล้วการสังเกตการณ์ถือได้ว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งการสังเกตการณ์ หมายถึงการเฝ้าดูหรือศึกษาคนหรือสิ่งของด้วยความใส่ใจและตั้งใจ เพื่อที่จะค้นพบบางสิ่งบางอย่าง

จากนิยามความเป็นเมือง เราสามารถแบ่งการสังเกตการณ์เมืองได้หลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ 1) กายภาพ เช่นการสังเกตเปลี่ยนแปลงกายภาพภายในเมือง 2) ผู้คน เช่นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนใหม่หรือคนเก่าที่เข้ามาอยู่ในเมือง 3) ปฏิสัมพันธ์  เช่นการสังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับกายภาพ ซึ่งเป็นได้ทั้งในเชิงกายภาพและไม่ใช่กายภาพ เช่นปฏิสัมพันธ์บนแฟลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างกรณีการไปถ่ายรูปที่ร้านกาแฟหรือคาเฟ่ ที่นอกจะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่แล้ว ยังมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับโลกออนไลน์อีกด้วย

สังเกตการณ์เมืองอย่างง่ายรอบตัวเรา

การสังเกตด้านกายเมืองสามารถเริ่มได้ที่กายภาพรอบตัวเรายกตัวอย่างเช่น การสังเกตป้ายในเมือง จากภาพเราสังเกตเห็นความแตกต่างของป้ายทั้ง 2 ป้ายได้อย่างชัดเจนคือ เรื่องของขนาด เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ป้ายทางด้านซ้ายเป็นป้ายขนาดเล็ก เป็นป้ายที่ทำขึ้นเพื่อบอกทางคนเดินเท้าทั่วไป แตกต่างจากป้ายขนาดใหญ่ทางด้วยขวาที่มักจะตั้งอยู่ริมฝั่งถนน เพื่อให้ผู้ที่ขับขี่รถด้วยความเร็วก็สามารถสังเกตเห็นและอ่านได้ง่าย 

หรือจากบทความ มองเมืองเชียงใหม่ ผ่านป้ายโฆษณาและชายคาอาคาร ที่มีการศึกษาดูพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของเมืองผ่านป้ายโฆษณา และรูปแบบชายคาอาคารของเมืองเชียงใหม่ ในช่วงปี 2010 – 2020 ว่าในแต่ละช่วงปีมีความแตกต่างกันอย่างไรผ่านทางเครื่องมือง่ายๆ อย่าง Google street view

ในส่วนของการสังเกตการณ์ผู้คนที่อยู่ในเมือง เราสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมหรือกิจกรรม โดยในบริบทของเมือง สามารถแบ่งกิจกรรมของคนเมืองได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1) กิจกรรมจำเป็น เป็นกิจกรรมที่ไม่ว่าจะฝนตกแดดออก สภาพแวดล้อมย่ำแย่แค่ไหน ไม่ว่าอย่างไรกิจกรรมนี้ก็ต้องเกิดขึ้น เช่นการไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ เป็นต้น 2) กิจกรรมทางเลือก จะเป็นกิจกรรมที่สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการทำให้เกิดกิจกรรมหรือไม่เกิดกิจกรรมนั้นๆ เช่น ถ้าวันนี้ฝนตกก็จะไม่ออกไปวิ่ง ถ้าตอนเที่ยงแดดร้อนก็ออกไปเล่นกีฬาตอนเย็นแทน และเมื่อเกิดกิจกรรมจำเป็นและกิจกรรมทางเลือกขึ้นในพื้นที่ ก็จะทำให้เกิด 3) กิจกรรมทางสังคมหรือกิจกรรม “ลูกโซ่” เช่น หากเราเลือกที่จะไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ก็จะเป็นรูปแบบกิจกรรมทางเลือก แต่หากเราเดินไปเห็นคนจูงสุนัขมาเดินเล่น การได้เห็นหรือได้ยิน ก็ถือว่าเกิดเป็นกิจกรรมทางสังคม หรือยิ่งไปกว่านั้นหากเราเดินไปทักทายหรือเล่นกับสุนัขของเขาด้วย ก็ถือว่าเกิดกิจกรรมทางสังคมขึ้น

ตัวอย่างรูปแบบสะท้อนกิจกรรมเมือง

ยกตัวอย่างรูปแบบพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมเมือง โดยตัวอย่างแรก คือ พฤติกรรมการเล่นของเด็ก มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมของผู้อื่นจะดึงดูดพฤติกรรมของเรา หรือท่าทางของเราที่จะสะท้อนออกมา ตัวอย่างเช่นถ้าเราพาลูกไปเล่นที่สวนสาธารณะ เด็กมักจะเล่นในบริเวณที่สามารถเห็นเด็กคนอื่นเล่นได้

พฤติกรรมการเลือกที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราไปร้านกาแฟหรือร้านอาหาร เรามักจะเลือกที่นั่งที่วิวดีที่สุด เห็นผู้คน เห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในร้านได้มากที่สุด ยกเว้นเสียว่าเราตั้งใจจะไปเงียบๆ ต้องการความเป็นส่วนตัว เราจึงจะเลือกที่นั่งที่เป็นมุมอับหรือบริเวณที่มีคนน้อยๆ ดังนั้น พฤติกรรมการเลือกที่นั่งหรือการจับจองพื้นที่ ทั้งที่เป็นในอาคารหรือนอกอาคาร มีผลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมหรือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นผ่านกายภาพ และกิจกรรมที่เรามีการตอบสนองกับพื้นที่หรือกิจกรรมนั้นๆ 

หรือตัวอย่างสุดท้าย เป็นพฤติกรรมที่มีผลสืบเนื่องซึ่งกันและกัน เราจะสังเกตได้ว่าเวลามีคนมาแสดงกิจกรรมบนท้องถนนหรือในพื้นที่สาธารณะ ผู้คนมักจะหยุดมอง หยุดฟัง เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ไทยมุง”ซึ่งนี่ก็เป็นกิจกรรมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง จากงานวิจัยพบว่า มนุษย์สามารถที่จะดึงดูดมนุษย์คนอื่นหรือผู้คนอื่นให้เข้ามาสนใจได้ดีกว่าลักษณะทางกายภาพ ตัวอย่างเช่น หากเราเดินอยู่บนถนนคนเดินแล้วมีร้านค้าเปิดเพลงเรามักจะเดินต่อ ไม่ได้หยุดฟัง แต่หากมีนักดนตรีมาบรรเลงเพลงบนถนน เรามักจะหยุดฟังหรือหยุดมองแม้ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบเพลงนั้นก็ตาม ดังนั้นกิจกรรมของมนุษย์ก็มักจะดึงดูดมนุษย์คนอื่นเสมอ ผู้คนหรือกิจกรรมของผู้คนก็จะมีการดึงดูดผู้คนไปเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “ลูกโซ่” นั้นเอง

มุมมองการสังเกตการณ์เมือง เรามองจากมุมไหนได้บ้าง?

มุมมองในการสังเกตการณ์เมือง เราสามารถมองได้ 3 แบบ ได้แก่ มองลง ระดับสายตา และมองขึ้น ซึ่งโดยส่วนมากแล้วการสังเกตการณ์เมืองมักจะใช้รูปแบบการมองในระดับสายตาและการมองลงหรือมองจากระยะไกลมากที่สุด ตัวอย่างเช่นการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมในการดูดัชนีพืชพันธุ์เพื่อดูพื้นที่กิจกรรมทางการเกษตร หรือการใช้ Remote sensing ในการดูความสว่างของแสงไฟในตอนกลางคืนเพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับ GDP ของแต่ละจังหวัด การใช้โดรนเก็บภาพกายภาพของเมือง หากจะสังเกตการณ์เมืองในระดับสายตาก็สามารถทำไปหลายรูปแบบ เช่น การสเก็ตภาพ การถ่ายรูป การใช้ Google street view ในการสำรวจ หรือที่เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง คือการสังเกตการณ์เมืองผ่านการถ่ายคลิปการเดินไปเรื่อยๆ ในเมือง เป็นต้น

ใช้ข้อมูลเปลี่ยนเมือง อย่างนักสังเกตการณ์เมือง

การสังเกตการณ์เมืองและการขับเคลื่อนข้อมูลแบบเปิด เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะขับเคลื่อนให้เกิดเมืองน่าอยู่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันเมืองของเรามีการขับเคลื่อนด้วยการบ่นหรือการด่าบนโลกโซเชียลมีเดียที่เป็นกระแสอยู่บ่อยครั้ง แต่จะดีกว่าหรือไม่หากเราหันมาใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนเมือง เริ่มได้ตั้งแต่จากการมอนิเตอร์ สังเกตการณ์บริเวณละแวกบ้าน มีการใช้เครื่องมือที่สามารถรายงานและบันทึกข้อมูลเมืองได้ มี Open Data ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

เพราะท้ายที่สุดนี้ การจะขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ได้ แค่บ่นอย่างเดียวคงไม่พอ แต่เราต้องมีพลเมืองอาสา นักสังเกตการณ์เมือง ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดข้อมูลเมืองจากหลากหลายมิติ ซึ่งข้อมูลเมืองเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในเมือง เกิดการนำไปปรับใช้ กลายเป็นโครงการพัฒนาที่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเมืองกลายเป็นเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน


Contributor