27/08/2020
Life

5 เคล็ดลับการประกอบธุรกิจด้วยหัวใจของสถาปนิกผังเมือง

กรกมล ศรีวัฒน์
 


จะมีสักกี่คนที่กล้าตัดสินใจเปิดบริษัทของตัวเองทั้งที่อายุยังน้อย ไม่ได้มีความพร้อมมากนัก และประสบความสำเร็จ

หนึ่งในนั้นคือคุณพงษ์พิพัฒน์ ช้างพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เออร์เบิ้น สเปซ จำกัดที่กล้าแผ้วถางทางสถาปนิกผังเมืองด้วยตัวเอง

คุณพงษ์พิพัฒน์ ช้างพันธ์ บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานผังเมืองของตัวเอง โดยเล่าให้ฟังว่าแรงบันดาลใจแรกๆ ที่ทำให้สนใจเกี่ยวกับสถาปนิกเกิดจากความชื่นชอบแปลนเมือง ผังหมู่บ้านที่ปรากฏอยู่ในหน้าปกหนังสือเรียนภาษาไทย หลังจากนั้นความชอบก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนตัดสินเลือกเรียนปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเข้าเรียนในปีพ.ศ. 2540

ช่วงเวลานั้นคณะสถาปัตยกรรมยังเป็นคณะยอดนิยมที่ติด 1 ใน 5 อันดับ สายงานอสังหาริมทรัพย์รุ่งเรือง หลังจบการศึกษาในปีพ.ศ.2545 เพียงไม่นานจึงเริ่มศึกษาต่อปริญญาโทเกี่ยวกับการวางผังเมือง มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากมาย หนึ่งในอาจารย์ที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต คือคุณกำธร กุลชล ผู้เขียนหนังสือ “การออกแบบชุมชนเมืองคืออะไร” เมื่อได้ทำงานสักพัก ด้วยความที่โตมากับยุคเพลง Alternative สร้างความรู้สึกของการเป็นผู้ประกอบการ ในช่วงอายุ 28 ปีจึงเริ่มต้นเปิดบริษัทของตัวเองเริ่มแรกในชื่อ ออกแบบท้องถิ่น จนเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท เออร์เบิ้น สเปซ จำกัดในปัจจุบัน

เส้นทางการเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้วยตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย ผ่านทั้งความสมหวังและผิดหวัง และนี่คือ 5 เคล็ดลับการประกอบธุรกิจ

1.ไขว้คว้าทุกโอกาส

ในช่วงแรกคุณพงษ์พิพัฒน์ยังไม่ได้มีงานเข้ามามากนักจึงเข้าร่วมการแข่งขันโครงการประกวดแนวคิด การพัฒนาที่ดินของ บมจ.อสมท.บนพื้นที่กว่า 50 ไร่โดยใช้แนวคิดการพัฒนาพื้นที่ครึ่งเดียวกับแนวคิดทฤษฎีใหม่ในการแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน แม้จะไม่คว้าชัยอันดับหนึ่ง แต่ก็ได้รางวัลติดมือเป็นเงินกว่า 75,000 บาท ซึ่งนั้นก็เป็นทุนที่ทำให้บริษัทดำเนินต่อไปได้

หลังจากนั้นก็มีนโยบายการวางผังเมืองของท้องถิ่น กระทรวงมหาดไท แม้บริษัทจะเพิ่งเปิดแต่เขาก็ไม่ละทิ้งโอกาส นำพอร์ตผลงานการออกแบบที่มีตั้งแต่งานสมัยเรียนยื่นเสนอต่อเทศบาลในหลายๆ จังหวัดจนสามารถรับงานของทางภาครัฐ และกระแสปากต่อปากทำให้บริษัทเติบโตจนปัจจุบันมีพนักงานรวม 40 คนในตลอดระยะเวลา 12 ปี ได้รับงานมาทั้งหมด 117 สัญญาจ้างใน 45 จังหวัด

2.ต้องให้มากกว่าที่เขาคาดหวัง และคงความเป็นมืออาชีพ

เคล็ดลับสำคัญในการทำงานคือไม่ว่างานจะมีราคาเท่าไรก็จำเป็นต้องให้ความใส่ใจเท่าเทียมกัน ช่วงแรกเริ่มในการรับงานเทศบาล คุณพงษ์พิพัฒน์ ช้างพันธ์ไม่เพียงแต่ออกแบบสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคเท่านั้น แต่ยังออกแบบพื้นที่เมืองให้คนได้มาใช้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งทำให้เทศบาลพอใจจนได้งานลักษะเดียวกันในจังหวัดอื่นอีกตามมา งานบางชิ้นจึงเป็นโอกาสสู่งานถัดไป เช่นเดียวกับกับงานบางงานอาจเป็นโอกาสให้เหล่าทีมงานได้พัฒนาฝีมือ แม้รายได้จะไม่ได้สูงมากก็ตาม

3.เข้าใจคนในพื้นที่

คุณพงษ์พิพัฒน์ ช้างพันธ์บอกเล่าให้ฟังว่าในช่วงที่รับงานในจังหวดแถบอีสาน เขาถึงกับต้องวางเพลง Alternative ที่รกและมาฟังเพลงหมอลำ เพื่อทำความเข้าใจคนในพื้นที่มากขึ้น ทั้งยังต้องลงพื้นที่กินอยู่ คอยดูกิจวัตรประจำวันของผู้คนทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้สามารถวางผังเมืองที่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ของประชาชน ตัวอย่างหนึ่งที่ประทับใจ คือ “โครงการผังแม่บทลำนำทวน ยโสธร งบประมาณ 1,500,000” ที่เปลี่ยนจากพื้นที่รกร้างมาเป็นพื้นที่สาธารณะและแลนด์มาร์กของเมือง

4.เรื่องการเงิน และแบรนด์ดิ้งต้องให้ความสำคัญ

หนึ่งในเรื่องที่คุณพงษ์พิพัฒน์ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่การเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในระดับมหาวิทยาลัยไม่ให้ความสำคัญมากนัก คือเรื่องการเงินและการทำการตลาด สร้างภาพลักษณ์ซึ่งแท้จริงแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบธุรกิจ หากใครมองความก้าวหน้าไปสู่ระดับที่มีกิจการเป็นของตัวเอง นี่ถือเป็นทักษะความรู้ที่ควรเตรียมความพร้อม

5. เริ่มก่อนได้เปรียบ

ช่วงท้ายของการพุดคุย คุณพงษพิพัฒน์บอกว่าถ้ากลับไปแก้ได้ก็อยากเริ่มเปิดบริษัทในช่วงอายุน้อยกว่านี้ในช่วงที่ยังคงมีเรี่ยวแรงลงพื้นที่ โดยย้ำให้ฟังว่า “การเริ่มต้นทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่” แต่ต้องเริ่มลงมือทำ ลองผิดลองถูก เพื่อสร้างการเรียนรู้และการเติบโตในอนาคต ยิ่งในยุคนี้ปลาเร็วกินปลาช้าเช่นยุคนี้แล้วด้วย

อนึ่งเป็นการเก็บความจาก การบรรยายสาธารณะ Public Talk โลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปีที่ 4 เป็นส่วนหนึ่งรายวิชา ดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CE.US) ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUURP) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และ The Urbanis


Contributor