26/03/2020
Public Realm

เมืองในโรคระบาด : ยิ่งเหลื่อมล้ำ ยิ่งเปราะบาง

ชยากรณ์ กำโชค
 


มากกว่าครึ่งของประชากรโลกอาศัยในเมือง ศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมเกิดขึ้นอย่างคึกคักระหว่างผู้คน ความเป็นเมืองจึงเป็นปัจจัยกระตุ้นการแพร่ระบาดของโรคระบาดอย่างยากจะปฏิเสธ มีการศึกษาน่าสนใจพบว่า เมืองที่มีความไม่เท่าเทียมระหว่างประชากรสูงมีความเปราะบางต่อโรคมากกว่าเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพและเข้าถึงคนอย่างทั่วถึง 

ในขณะที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นควรจะใช้ประโยชน์จาก “ดัชนีเตรียมการรับมือโรคระบาด” เพื่อการวางแผนและตอบสนองปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ  ดัชนีดังกล่าวคืออะไร สามารถศึกษาได้จากบทความนี้ 

เมือง: พื้นที่กระตุ้นวิกฤตโรคระบาด

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เมืองคือพื้นที่กระตุ้นให้สถานการณ์น่าเป็นห่วง ยิ่งเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ยิ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะการติดต่อระหว่างคนสู่คน 

ปัจจุบัน ประชากรโลกกว่า 4,000 คน อาศัยในเมือง ซึ่งมากกว่าครึ่งของประชากรโลกทั้งหมด กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มข้นในเมือง วัดได้ชัดเจนจากขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ราว 2 ใน3 ของทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นในเมืองกว่า 600 แห่งทั่วโลก

ดังนั้น เมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมการค้าและการเดินทาง มีความหนาแน่นของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น ส่งผลให้เมืองเป็นพื้นที่กระตุ้นวิกฤตโรคระบาดอย่างยากจะเลี่ยง

แล้วไม่เพียงเมืองขนาดใหญ่เท่านั้นที่เป็นพื้นที่เสี่ยง หากยังหมายรวมถึงเมืองรองและเมืองขนาดเล็กในท้องถิ่นอีกด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ ซาร์ส, H5N1 และโควิด-19 ที่กำลังประสบกันถ้วนหน้าในขณะนี้ ล้วนเกิดในเมืองทุกขนาด 

นักวิจัยของ Center for Global Health Science and Security มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเทศมาเลเซีย พบว่า การแพร่ระบาดของโรคส่วนใหญ่มักเกิดในพื้นที่รอยต่อระหว่างเมืองกับเมือง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสพบว่า มักฟักตัวและส่งต่อในชุมชนและเส้นทางคมนาคมบริเวณเมืองชั้นนอกก่อนจะเข้ามายังพื้นที่เมืองชั้นใน 

เมือง: พื้นที่คลี่คลายสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม เมืองก็ถือเป็นศูนย์กลางของการเตรียมพร้อม บรรเทา และเผชิญวิกฤตการณ์ จริงๆ แล้ว แนวทางเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเคยถูกถกเถียงแลกเปลี่ยนกันครั้งแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1851 กระทั่งแนวทางรับมือก็มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน หากระดับพัฒนาและระดับทางสังคมและเศรษฐกิจคือปัจจัยที่ทำให้แต่ละเมือง มีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

พบว่า เมืองที่มีความเข้มข้นของกลุ่มประชากรยากจนและมีความไม่เท่าเทียมสูง ยิ่งเปราะบางต่อการเผชิญวิกฤตกว่าเมืองที่มีทรัพยากรที่พร้อมกว่า มีความแออัดน้อยกว่า และกระจายการพัฒนาทั่วถึงกว่า

ความเข้นข้นของการกลายเป็นเมือง (Urbanization) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในระดับ 40-50 %

ที่มาภาพ : Our World in Data 

https://ourworldindata.org/urbanization

เมืองที่เปิด โปร่งใส มีความร่วมมือ และมีความสามารถปรับตัว เป็นต้นทุนสำคัญของการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต มากกว่าเมืองที่ไม่มีคุณสมบัติข้างต้น ดังเช่น เมืองไทเป และ เมืองสิงคโปร์ ในสถานการณ์โควิด-19  โดยใช้บทเรียนมาจากการระบาดของโรคก่อนหน้านี้ สร้างระบบหาต้นตอสาเหตุของโรคและระบบให้บริการสุขภาพ จนทำให้ยอดการระบาดของโรคลดต่ำลง เนื่องจากสามารถตรวจหาผู้ป่วยและผู้เป็นพาหะได้ตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาด และสามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ

เมืองแข็งแรงคนแข็งแรง เมืองเปราะบางคนเปราะบาง

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมืองที่มีระบบบริหารจัดการและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพประสิทธิภาพ จะสามารถแก้ไขวิกฤตการระบาดของโรคและลดจำนวนมากกว่า หลักการสำคัญอยู่ที่การบูรณาการระหว่างการตรวจตราโรคเชิงรุก การสื่อสารอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้คนเว้นระยะห่างทางสังคมและดูแลตัวเองไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยง มาตรการดังกล่าวล้วนสำคัญทั้งสิ้น ดังเช่น เมืองหางโจวในประเทศจีนที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ตั้งแต่การระบาดในช่วงต้น 

หากแบ่งวิธีกาป้องกันวิกฤตการแพร่ระบาดเป็น 2 ประเภท คือ ฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ 

ฮาร์ดแวร์ คือระบบการตรวจโรคอย่างเร่งด่วนพร้อมกับมีโครงสร้างด้านสาธารณสุขและกำลังพลเตรียมพร้อม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานไปพร้อมกับ ซอฟต์แวร์ ซึ่งจำเป็นไม่แพ้กัน เช่น การสร้างระเบียบร่วมกันในสังคมในภาวะวิกฤต การให้ศึกษากับประชาที่เหมาะสม การประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างบุคลากรด้านสาธารณุขและผู้บริหารเมืองทั้งในระดับประเทศ ระดับเมือง และท้องถิ่น 

ในทางตรงข้าม เมืองที่ไม่เตรียมพร้อมและการวางแผนที่มีประสิทธิภาพย่อมสร้างแต่ความสับสน ความกลัว และยิ่งทำให้การใช้งบประมาณสูงมากกว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

เมืองต้องประเมินความสามารถในการรับมือโรคระบาดของเมือง? 

เว็บไซต์ https://preventepidemics.org/  ได้จัดทำดัชนีความพร้อมเผชิญโรคระบาด (pandemic preparedness index) ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ในการประเมินวิกฤตของตนเอง เพื่อวางแผนและตอบสนองกับการแพร่ระบาดได้อย่างเหมาะสม แดชบอร์ดดังกล่าวติดต่อสถานการณ์ความสามารถในการจัดการของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยได้คะแนน 76/100 อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ระดับสีเหลือง กล่าวคือ มีนโยบายทางสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้ แต่ก็ยังพบช่องโหว่ในการเตรียมความพร้อมบางประการ เช่น การดำเนินการตอบสนองในภาวะเร่งด่วน เป็นต้น 

แผนที่แสดงดัชนีความพร้อมเผชิญโรคระบาด พบว่า ไทยอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (สีเหลือง) ได้คะแนน 76/100 

ที่มาภาพ : https://preventepidemics.org/map/?mode=scores 

การขยายความพร้อมในการรับมือโรคระบาดสามารถทำได้โดย 4 ขั้นตอนสำคัญ คือ  1) เตรียมพร้อม 2) ตรวจจับ 3) ตอบสนอง 4) ดูแลผู้ป่วย ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องมีแผนเตรียมพร้อมและงบประมาณสำรองในการเผชิญสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตรวจจับเชื้อโรคและสามารถรายงานต่อสาธารณะได้ทันที เช่นเดียวกับการสื่อสารในภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมการรองรับด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น

เพราะการประเมินศักยภาพในการรับมือโรคระบาดของเมืองเป็นเรื่องจำเป็น Center for Global Health Science and Security มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์  จึงจัดทำเครื่องมือที่เรียกว่า the Rapid Urban Health Security Assessment (RUHSA) หรือ แบบประเมินความมั่นคงทางสุขภาพของเมืองอย่างรวดเร็ว ที่ไม่เพียงเป็นแบบประเมินหากยังมีแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้บริหารเมือง ในการกำหนดข้อปฏิบัติและสร้างกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขได้อย่างแม่นยำ สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละเมือง ตลอดจนมีด้านที่แข็งแกร่งและเปราะบางไม่เหมือนกัน

ผู้บริหารเมืองและผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ทาง https://ghss.georgetown.edu/urbanprep/

บทความ “เมืองในโรคระบาด : ยิ่งเหลื่อมล้ำ ยิ่งเปราะบาง” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดย ชยากรณ์ กำโชค

แปลและเรียบเรียงจากบทความ  How cities around the world are handling COVID-19 – and why we need to measure their preparedness https://www.weforum.org/agenda/2020/03/how-should-cities-prepare-for-coronavirus-pandemics


Contributor