22/05/2020
Public Realm
สร้าง ‘เมือง’ เพื่อสร้าง ‘หนัง’ … ศิลปะสุดทะเยอทะยานหรืออีกหนึ่งเผด็จการในโซเวียตรัสเซีย?
ธีพิสิฐ มหานีรานนท์
บ่อยครั้งที่ ‘เมือง’ (Urban) หรือแม้แต่ ‘ความเป็นเมือง’ (Urbanization) มักถูกนำเสนอผ่านสื่อภาพยนตร์ในฐานะของ ‘ฉากหลัง’ ที่ช่วยส่งเสริมเรื่องเล่าให้ออกมาเปี่ยมเสน่ห์จนสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้ ทว่าไม่บ่อยนักที่พวกมันจะถูกก่อร่างสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยเฉพาะในฐานะของอีกหนึ่ง ‘ตัวละคร’ ที่มีความสำคัญต่อการเล่าเรื่องไม่แพ้บรรดาตัวละครมนุษย์
กรณีศึกษาที่โดดเด่นที่สุดแห่งยุคสมัยคงหนีไม่พ้น DAU โปรเจ็กต์หนังศิลปะสุดทะเยอทะยานที่ผู้กำกับชาวรัสเซียอย่าง อีล์ยา คาร์ซานอฟสกี (Ilya Khrzhanovsky) ลงทุนปลูกสร้างฉาก ‘สถาบัน’ (The Institute) อันเป็นภาพแทนของสังคมเผด็จการสหภาพโซเวียตระหว่างยุค 30-60 บนโลเคชั่นถ่ายทำขนาดใหญ่ในยูเครน รวมถึงใช้เวลาปลุกปั้นผลงานภายใต้กฎกองถ่ายอันแสนเข้มงวดเป็นเวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษ!
ที่สำคัญ, ตัวหนังและวิธีการ ‘สร้างเมือง’ ของคนทำหนังอย่างคาร์ซานอฟสกียังนำเราไปสู่ประเด็นถกเถียงทางสังคมอันเผ็ดร้อน ทั้งการตั้งคำถามถึงจริยธรรมการทำงาน และการส่องสังเกตพฤติกรรมเผด็จการของมนุษย์
ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยลับอันน่าเกรงขามที่มีขนาดเทียบเท่าเมืองจริงๆ รวมถึงความเป็นเมืองที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในกองถ่าย DAU จึงก้าวไปไกลกว่าการเป็น ‘แค่ฉากหลัง’ ดาษดื่นในหนังทั่วไป และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าศึกษาต่อยอดในหลากหลายมิติอย่างไม่ต้องสงสัย
1
ในแวดวงนักดูหนัง คาร์ซานอฟสกีคือคนทำหนังที่ถูกพะยี่ห้อด้วยคำว่า ‘เฮี้ยน’ มาตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกอย่าง 4 เมื่อปี 2004 สืบเนื่องจากพล็อตที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านอันเกี่ยวพันกับหนุ่มสาวสี่คนในบาร์เหล้า แผนการโคลนนิ่งมนุษย์ และรัฐบาลอันไม่น่าไว้วางใจของ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ซึ่งหนังเรื่องนี้เองที่ทำให้เขาคว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลหนังร็อตเทอร์ดามมาได้ กระทั่งในปี 2006 เขาจึงหอบหิ้วความ ‘เฮี้ยนขั้นกว่า’ หวนคืนสู่วงการหนังอีกครา ด้วยโปรเจ็กต์ที่มีชื่อเรียกสั้นห้วนแปลกหูว่า DAU ซึ่งถูกตั้งมาจากชื่อเล่นของ เลฟ แลนเดา (Lev Landau) นักฟิสิกส์ชาวโซเวียตผู้คว้ารางวัลโนเบลในปี 1962 อันเป็นบุคคลที่ตัวหนังเล่าถึง ผ่านภารกิจลับที่เขาต้องลงมือปฏิบัติใน ‘สถาบัน’ แห่งนั้น และผู้คนที่เขาต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในช่วง 30 ปีสุดท้ายของชีวิต ภายใต้การควบคุมของรัฐเผด็จการยุคโซเวียตอันแสนเครียดขึงกดดัน
แม้หนังจะวางฉากหลังสำหรับการถ่ายทำเอาไว้ในหลายประเทศ ทั้งรัสเซีย, อาเซอร์ไบจาน, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ค ทว่าฉากหลังที่มีความสำคัญที่สุด และถูกใช้ถ่ายทำเป็นหลักก็คือ ‘สถาบัน’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดบนพื้นที่ทิ้งร้างของ Dynamo Aquatic Stadium ในเมืองคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศยูเครน โดยมีลักษณะคล้ายกับเป็น ‘เมือง’ ขนาดใหญ่ และมีพื้นที่ราว 12,000 ตารางเมตร (หรือเท่ากับสนามฟุตบอลสองสนามต่อกัน) โดยเป็นการจำลองสถาบันวิจัยลับและสังคมแวดล้อมในกรุงมอสโคว์ของสหภาพโซเวียตระหว่างช่วงปี 1938 ถึง 1968 ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งต่อชีวิตของแลนเดาในฐานะนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง
ด้วยความมโหฬารของฉากหลังนี้เองทำให้มันมีสถานะเป็นฉากหนังที่ใหญ่โตที่สุดของวงการหนังยุโรปไปโดยปริยาย แถม ‘ผู้ร่วมงาน’ (participant) ในหนังก็ยังมีปริมาณมหาศาลไม่แพ้กันด้วย โดยเฉพาะนักแสดงหลักและสมทบที่มีจำนวนมากถึง 400 คน (ใช่, สี่ร้อยคน – คุณอ่านไม่ผิด) ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนักแสดงสมัครเล่น และ 400 คนนี้ก็ยังไม่นับรวมเหล่า ‘คนดัง’ ที่ยอมตอบรับคำเชิญจากโปรเจ็กต์นี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาทิ นักแสดงระดับโลกที่มาร่วมให้เสียงบรรยายอย่าง เจอราร์ด เดอปาร์ดีเยอ (Gerard Depardieu), อิซาแบลล์ อูแปรต์ (Isabelle Huppert), วิลเลม แดโฟ (Willem Dafoe) หรือแม้แต่ศิลปินจากสื่อต่างชนิดที่เข้ามาเป็น ‘ผู้ร่วมทดลอง’ ในบางภาคส่วนอย่าง มารีนา เอบราโมวิก (Marina Abramović) ศิลปินแนวคอนเซ็ปชวล อาร์ต และ ไบรอัน อีโน (Brian Eno) นักดนตรีแนวแอมเบียนต์
นอกจากนี้ ผู้กำกับยังเกณฑ์เอานักแสดงประกอบที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 10,000 คน (จากผู้ที่มาเข้าร่วมการคัดเลือกทั้งหมดเกือบ 400,000 คน!) มาเข้าฉากให้สมกับที่มันเป็น ‘เมืองจำลอง’ โดยพวกเขาเหล่านั้นต้องสามารถ ‘ประกอบอาชีพ’ หรือ ‘เข้าถึงสถานะ’ ของตัวละครภายในฉากได้จริง ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ พ่อครัว คนทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รัฐ คนทรงเจ้า หรือแม้กระทั่งสมาชิกกลุ่มนีโอนาซี (ซึ่งได้ตัวจริงในอดีตมารับบทเสียด้วย!)
ยิ่งไปกว่านั้น นักแสดงส่วนหนึ่งยังต้องอุทิศตนด้วยการย้ายเข้ามา ‘ใช้ชีวิต’ อยู่ร่วมกันจริงๆ ในเมืองจำลองแห่งนี้ โดยพวกเขาต้องจดจำชีวประวัติสมมติของตนให้ขึ้นใจ สร้างบทสนทนา แต่งเนื้อแต่งตัว ใช้เครื่องอุปโภคบริโภค และจับจ่ายด้วยเงินสกุลแบบเดียวกับเมื่อครั้งโบราณ – ประหนึ่งว่าตนเป็น ‘พลเมืองโซเวียตตัวจริง’ อยู่นานแรมเดือนแรมปี!
ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างภายในฉากของ DAU จึงต้องสามารถใช้งานได้จริง โดยที่ทางทีมออกแบบงานสร้างจะค่อยๆ ปรับปรุงรายละเอียดน้อยใหญ่ของ ‘สถาบัน’ ให้แปรเปลี่ยนไปตามเรื่องเล่าตลอดสามทศวรรษนั้น แถมยังวางระบบให้มันกลายเป็นเสมือน ‘เมืองปิด’ ที่ห้ามไม่ให้ใครเข้า-ออกได้ง่ายๆ โดยผู้ร่วมงานทุกคนต้องทำเรื่องขอ ‘ผ่านเข้าเมือง’ ตามขั้นตอนราวกับเป็นเมืองของจริง และแม้แต่สื่อมวลชนที่ถูกเชื้อเชิญให้มาเยี่ยมชมในจำนวนจำกัด ก็ยังถูกสั่งห้ามไม่ให้บันทึกภาพหรือเสียงเพื่อนำไปเผยแพร่เองโดยเด็ดขาดอีกด้วย
ฉากเมืองขนาดใหญ่ที่ถูกคาร์ซานอฟสกี ‘ปลอม’ ขึ้นมาจึงค่อยๆ ดู ‘จริง’ มากขึ้นไปทุกขณะ ตลอดระยะเวลาหลายปีของการประกอบสร้างโปรเจ็กต์ดังกล่าว
2
แต่ยิ่งผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานต้องใช้ชีวิตอยู่ใน ‘เมือง’ ของ DAU นานมากเท่าไหร่ ความสมจริงใน ‘ความเป็นเมือง’ ของมันก็ยิ่งเริ่มก่อให้เกิด ‘ปัญหา’ ตามมามากเท่านั้น …ปัญหาที่ดูจะร้ายแรงไม่ต่างจากสังคมในโลกความจริงข้างนอกนั่น
ตลอดระยะเวลาสามปีของการถ่ายทำระหว่างช่วงปี 2009-2011 โปรเจ็กต์นี้และคาร์ซานอฟสกีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในแง่ของจริยธรรมการทำงาน สืบเนื่องมาจาก ‘กฎ’ ในกองถ่ายหลายข้อที่ตัวผู้กำกับกำหนดขึ้นมาเองภายใน ‘สถาบัน’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปอย่างเข้มงวดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้นักแสดง ‘ต้อง’ สวมบทบาทเป็นตัวละครอยู่ตลอดเวลา หรือการสั่งห้ามไม่ให้ผู้ร่วมงานเอ่ยถึงอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ ‘โลกภายนอก’ เป็นอันขาด ซึ่งหากใครฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษโดยการปรับเงินทันที และยิ่งไปกว่านั้น ทุกคนในกองถ่ายอาจต้องยอมทำงาน ‘ล่วงเวลา’ เกินกว่าที่กฎหมายในโลกความจริงกำหนด เพราะผู้กำกับภาพ เยอร์เกน เยอร์เกส (Jürgen Jürges) ได้เตรียม ‘จัดแสง’ เมืองทั้งเมืองเอาไว้เพื่อให้สามารถถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 35 มม. อย่างอิสระ และเพื่อให้พร้อมออกกองได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยปราศจากบทหนัง ตารางถ่ายทำ การซักซ้อมล่วงหน้า หรือแม้แต่การถ่ายซ่อม ซึ่งเยอร์เกสเปรียบว่า มันคล้ายกับพวกเขากำลัง ‘ถ่ายทำหนังสารคดีแบบมาราธอน’ อยู่ก็ไม่ปาน
ข้อถกเถียงยังลุกลามไปถึงการกล่าวหาว่า โปรเจ็กต์ DUA อาจกำลังลิดรอนสิทธิมนุษยชนของผู้ร่วมงาน เมื่อมีข่าวว่าคาร์ซานอฟสกีละลาบละล้วงถามถึง ‘เรื่องเพศ’ ของหญิงสาวหลายรายที่มาเข้าร่วมการคัดเลือกนักแสดงประกอบ พร้อมกันนั้นยังมีคนตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นักแสดงบางคนอาจถูกเขา ‘ล่อลวง’ ให้ต้องยอมเปลือยร่างและถูกทรมาน-ทั้งทางกายและใจ-เพื่อความสมจริงของหนังอีกด้วย โดยเฉพาะในฉากหนึ่งที่ตัวละคร นาตาชา ของนักแสดงหญิง นาตาเลีย เบอเรซห์นายา (Natalia Berezhnaya) ต้องถูกจับเปลือยกาย ถูกคุมขัง และถูกทำร้ายด้วยการยัด ‘ขวดคอนญัก’ เข้าไปในอวัยวะเพศ!
ด้วยข้อหาทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ผู้กำกับอย่างคาร์ซานอฟสกีถูกตราหน้าว่า กำลังถลำลึกกับงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ชิ้นนี้ของตนจนเริ่ม ‘ลุแก่อำนาจ’ ด้วยการเข้าไปควบคุมชีวิตของบรรดา ‘ผู้ร่วมงาน’ ใต้อาณัติของเขา
ไม่ต่างอะไรกับเหล่าผู้นำในโลกเผด็จการที่ตนจำลองขึ้นมาเลย
3
คาร์ซานอฟสกีเคยเผยถึงเจตจำนงในการสร้าง DAU ว่า เขาไม่เคยต้องการทำหน้าที่เป็น ‘ผู้กำกับการแสดง’ เลยแม้แต่น้อย แต่เขาต้องการเป็นเพียง ‘ผู้กำหนดกฎเกณฑ์’ ให้ผู้ร่วมงานทุกฝ่ายปฏิบัติตามและ ‘แสดงธาตุแท้’ ไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิด ‘ภาพชีวิตที่จริงแท้ที่สุด’ ของมนุษย์ภายใต้สังคมเผด็จการนั่นเอง
เหนืออื่นใด เขาไม่ได้มองมันเป็นแค่โปรเจ็กต์ภาพยนตร์ธรรมดาๆ อีกต่อไปแล้ว ทว่าเขากลับมองโลกเผด็จการย้อนยุคของสหภาพโซเวียตที่เขาสร้างขึ้นมานี้ ว่าเป็นงานศิลปะเชิงสังคมวิทยาสำหรับศึกษาธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ เป็นพื้นที่สำหรับส่องสะท้อนและโต้ตอบกับสังคมโลกในยุคปัจจุบันที่ยังคงเต็มไปด้วยแนวคิดเผด็จการ – ซึ่งทั้ง ‘เซ็กซ์’ และ ‘ความรุนแรง’ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเองในเมืองจำลองแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ DAU จะทำให้เขาถูกมองว่าเป็น ‘เผด็จการที่เลวร้าย’ มากกว่าเป็น ‘ผู้กำกับที่ทะเยอทะยาน’ ในสายตาของคนนอก
แน่นอน, คาร์ซานอฟสกีและผู้ร่วมงานไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษานั้นสักเท่าไหร่
มาร์ทีน ด็องเกลอฌ็อง-ชาตีญง (Martine d’Anglejan-Chatillon) เอ็กเซ็กคิวทีฟโปรดิวเซอร์คู่ใจออกมาอธิบายถึงฉากสุดอื้อฉาวที่นักแสดงหญิงอย่างเบอร์เรซนายาถูกทรมานด้วยขวดคอนญักว่า ในการถ่ายทำฉากนั้น เธอสามารถร้องขอให้ทีมงานหยุดได้ทุกเมื่อ แต่ด้วยความทุ่มเทที่มีต่อโปรเจ็กต์นี้ เธอจึงเลือกที่จะแสดงฉากนั้นไปให้สุดทางด้วยความสมัครใจ ขณะที่เจ้าตัวเองก็ออกมาพยักหน้าเห็นด้วย โดยยืนยันว่า เธอ ‘รู้ตัวดีว่ากำลังทำอะไรอยู่’ ตลอดการถ่ายทำฉากนั้น
ส่วนคาร์ซานอฟสกีก็ออกมาให้สัมภาษณ์แก้ต่างว่า ที่เขาละลาบละล้วงเรื่องเพศของคนที่มาร่วมคัดเลือกนักแสดงประกอบ เพราะเขาจำเป็นต้องรู้ถึงประสบการณ์ชีวิตอันเปราะบาง-ทั้งชีวิตวัยเด็ก ความสัมพันธ์ หรือแม้แต่เซ็กซ์-ของว่าที่นักแสดงเหล่านั้นเพื่อนำมาใช้คัดสรรและกำหนดบทบาทของตัวละคร ซึ่งหากคนที่มาคัดเลือกต้องการมีส่วนร่วมกับงานศิลปะของเขาในฐานะของนักแสดงคนหนึ่งจริงๆ พวกเขาก็จำเป็นต้อง ‘ยินยอม’ เปิดเผยตัวตนในทุกมิติออกมาให้เขาได้เห็นอย่างสัตย์ซื่อ
แต่กระนั้น เขาก็ยังเชื่อว่า โดยเนื้อแท้ มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเป็นเผด็จการในตัวเองอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ฉะนั้น มันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือผิดบาปแต่อย่างใด หากการพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาตรงกับวิสัยทัศน์ในหัวของเขามากที่สุด จะทำให้เขากลายเป็น ‘เผด็จการ’ ในคราบของ ‘ผู้กำกับ’ อย่างที่ใครๆ พิพากษาไว้จริงๆ
เพราะบางที เราก็อาจกำลังทำตัวเป็นเผด็จการจิตใจคับแคบที่คอยควบคุมบงการครอบครัวของเรา ลูกน้องของเรา หรือแม้แต่วิถีชีวิตของเราอยู่โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ – เขากล่าว
4
หลังจากที่ฉาก ‘สถาบัน’ ถูกทุบทำลายในเดือนพฤศจิกายน 2011 เพื่อบันทึกภาพเอาไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญส่วนสุดท้ายของเรื่องเล่าอันยาวนานนี้ คาร์ซานอฟสกีพบว่าเขามีฟุตเตจให้เลือกตัดต่อเป็นหนังได้มากกว่า 700 ชั่วโมงจากการถ่ายทำทั้งหมด 180 วัน จนกระทั่งขั้นตอนการตัดต่อดำเนินไปอีกหลายปี เขาจึงเริ่มคิดขยับขยาย DAU จากการเป็นหนังเรื่องเดี่ยวไปสู่ ‘หนังชุด’ ที่สามารถแบ่งออกมาเล่าได้อีกหลายภาคหลายมุม
ย้อนกลับไปในสมัยที่ DAU ยังมีสถานะเป็นเพียงหนังเรื่องเดี่ยวนั้น มันเกือบจะมีโอกาสได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2011 อยู่รอมร่อ แต่ก็มีอันต้องยกเลิกไปเพราะความเชื่องช้าในขั้นตอนการผลิต และหนังก็ยังถูกเลื่อนฉายติดต่อกันมาอีกนานเกือบทศวรรษ ก่อนที่เมื่อต้นปี 2019 ผลงานบางส่วนจะถูกนำไปเปิดตัวในฐานะของนิทรรศการงานศิลปะแนว Immersive Art ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมชิ้นงาน ผ่านการฉายหนัง 12 เรื่องบนจอ 12 จอที่ถูกจัดวางอยู่ใน Pompidou Centre และโรงหนังอีกสองแห่งของกรุงปารีส เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเดินชมเวียนกันไปได้ โดยผู้ชมต้องทำ ‘วีซ่า’ -หรือก็คือการซื้อ ‘ตั๋วหนัง’- ผ่านระบบออนไลน์ล่วงหน้า ซึ่งสามารถเลือกระยะเวลาในการเข้าไปเดินรับชมได้ทั้งแบบ 6 ชั่วโมง, 24 ชั่วโมง และไม่จำกัดเวลา
แม้การจัดฉายหนังครั้งนั้นจะสร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้เข้าร่วมได้ไม่น้อย แต่ด้วยความที่ตัวโปรเจ็กต์เลือกนำเสนอฉากเซ็กซ์และความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมา และข้อถกเถียงเรื่องการละเมิดสิทธิทางเพศจากวิธีการทำหนังอันถึงพริกถึงขิงของคาร์ซาคอฟสกียังคงคุกรุ่น ก็ยังส่งผลให้ DAU ถูกแบนโดยกระทรวงวัฒนธรรมของรัสเซียบ้านเกิด ด้วยข้อหาว่ามันเป็นหนังสำหรับ ‘โฆษณาชวนเชื่อสื่อลามก’ ที่ไม่เหมาะสมกับการจัดฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปด้วยประทั้งปวง (และหากคาร์ซานอฟสกีกลับเข้าประเทศพร้อมหนังเรื่องนี้เมื่อไหร่ เขาก็อาจถูกดำเนินคดีได้ทันที!)
อย่างไรก็ดี การถูกแบนหนังในรัสเซีย-ที่ต่อมาถูกการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เล่นงานอย่างหนักจนทำให้โรงหนังในประเทศต้องปิดตัวลงชั่วคราว-คงไม่ใช่ปัญหาหนักอกสำหรับเขา เท่ากับการที่เทศกาลหนังระดับโลกอย่างคานส์หรือเวนิซ-ซึ่งเขาเคยหมายตาว่าจะนำผลงานไปฉาย-อาจต้องถูกเลื่อนหรือยกเลิกไปในห้วงยามแห่งการแพร่ระบาดเช่นนี้
ทว่าในท่ามกลางโชคร้ายก็ยังพอจะมีโชคดีหลงเหลืออยู่บ้าง เมื่อ DAU ได้ถูกเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลหนังเบอร์ลิน ครั้งที่ 70 เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก่อนหน้าที่ COVID-19 จะเริ่มระบาดหนัก ผู้ชมและนักวิจารณ์บางส่วนจึงได้มีโอกาสรับชมหนังสองเรื่องในโปรเจ็กต์อย่าง DAU. Natasha และ DAU. Degeneration -ที่คาร์ซานอฟสกีกำกับร่วมกับคนอื่นๆ และมีความยาวรวมกันถึง 8 ชั่วโมงครึ่ง – ให้สมกับการรอคอยเสียที โดยหนังเรื่องแรกเล่าถึงชีวิตธรรมดาสามัญของ นาตาชา หญิงสาวที่มีชีวิตอันรวดร้าวภายใต้ระบอบเผด็จการ ส่วนเรื่องหลังเล่าถึงตัวละครฝ่ายขวาจัดที่ขึ้นเถลิงอำนาจ – ซึ่งหนังภาค Degeneration ก็เพิ่งถูกปล่อยฉายทางสตรีมมิ่งออนไลน์ไปหมาดๆ พร้อมกับ DAU. Nora Mother (หนึ่งในหนังชุดที่เคยจัดฉายเมื่อปีกลาย ว่าด้วยความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างแม่กับลูกสาวผู้แต่งงานกับนักวิทยาศาสตร์) ในเดือนเมษายนนี้ด้วย ภายใต้คำวิจารณ์ที่แตกออกเป็นสองฝั่งทั้งรักและชัง
อนึ่ง คาร์ซานอฟสกียังมีแผนที่จะปล่อยหนังในชุดนี้ตามออกมาในอนาคตอันใกล้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง โดยนอกจากหนังแนวเรื่องแต่งแล้ว เขาก็ยังกำลังเดินหน้าผลิตทั้งหนังสารคดีเบื้องหลัง ซีรีส์ทางโทรทัศน์ และสื่อเล่าเรื่องชนิดอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย
5
ในอีกมุมหนึ่ง, ขณะที่โปรเจ็กต์ DAU ถูก ‘คนนอก’ ตัดสินและจิกกัดว่าเป็น Stalinist Truman Show กล่าวคือเป็นเวอร์ชั่นเผด็จการยุค สตาลิน ของหนังตลกฮอลลีวูดอย่าง The Truman Show (1998) ที่ตัวละครผู้ใสซื่อของ จิม แคร์รีย์ (Jim Carrey) ต้องถูกชักใยอยู่ภายในโลกจำลองของรายการโทรทัศน์ แต่สำหรับเหล่า ‘คนใน’ อย่างนักแสดงแล้ว DAU กลับเป็นโลกที่ทำให้พวกเขาหลายคนรู้สึก ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ และ ‘มีตัวตน’ – เผลอๆ อาจจะมากกว่าความรู้สึกที่พวกเขาได้รับจากโลกความจริงเสียด้วยซ้ำ
“ตอนที่เรากลับออกมาข้างนอก มันเหมือนว่าเรากำลังท่องเที่ยวอยู่ในอีกช่วงเวลาหนึ่ง มันเหมือนกับว่าโลกความจริงได้กลายเป็นเพียง ‘ฉากหนัง’ อันแปลกปลอมสำหรับเราไปแล้วน่ะครับ” ทีโอดอร์ เคอร์เรนต์ซิส (Teodore Currentzis) นักแสดงนำผู้รับบท เลฟ แลนเดา กล่าว “ผมรู้จักพวกนักแสดงบางคนที่ถ้าต้องให้ตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ที่นั่น (ฉากของ DAU) หรือกลับไปยัง ‘โลกอนาคต’ (โลกความจริง) …พวกเขาคงเลือก ‘อยู่ที่นั่น’ มากกว่า”
เช่นเดียวกับคาร์ซานอฟสกีที่ก็ดูจะไม่ยี่หระกับคำวิจารณ์แง่ลบที่มีต่อผลงานหรือวิธีการ ‘สร้างเมืองเพื่อสร้างหนัง’ ของเขาเลยสักนิด เพราะโปรเจ็กต์บ้าพลังชิ้นต่อไปของเขา คือการสร้าง ‘เมืองทดลอง’ ที่รวมเอาผู้คนจากทั่วโลกราว 5,000 คนมาอาศัยอยู่ร่วมกัน พร้อมกับบันทึกภาพและเสียงในทุกช่วงเวลาของพวกเขาเหล่านั้นเอาไว้ เพื่อนำไปสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นงานศิลปะและใช้เป็นกรณีศึกษาถึงพฤติกรรมอันหลากหลายของมนุษย์ – พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการสร้าง DAU ที่มีสเกลใหญ่โตกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัวนั่นเอง
“หากเปรียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกทุกวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นใน DAU มันไม่สามารถเทียบกันได้เลย” เขายังคงยืนยันหนักแน่นในวิสัยทัศน์ของตน “เพราะมันเป็นแค่ปัญหาระดับ ‘อนุบาล’ เท่านั้นแหละ”
เว็บไซต์ทางการของหนัง : https://www.dau.com