22/02/2023
Public Realm
คนสร้างเมือง เมืองสร้างคน: การออกแบบเมืองกับการจัดระเบียบทางสังคม
วราภรณ์ ประดิษฐ์
“คนสร้างเมือง แล้วต่อไปเมืองจะสร้างคน”
ญาน เกห์ล
คิดว่าหลายคนคงอาจเคยได้ยินข้อความนี้มาก่อน โดยข้อความดังกล่าว เป็นคำกล่าวของสถาปนิกและนักผังเมืองชาวเดนมาร์ก ซึ่งทุกคนเคยคิดไหมว่า การที่เราสร้างเมืองขึ้นมาในแต่ละครั้งนั้น เมืองจะสามารถมีส่วนช่วยในการสร้างคนหรือระเบียบทางสังคมได้อย่างไร
บทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับความสำคัญของการออกแบบเมือง จากกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ด้วยการนำเสนอมุมมองของการออกแบบที่มีผลต่อความนึกคิดและพฤติกรรมของผู้คน ให้เห็นว่าการออกแบบเมืองนั้น สามารถกำหนดทิศทางของเมืองและผู้คนได้อย่างไร
การออกแบบเมืองกับความมีระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่น
ที่มาภาพ あたりまえになった整列乗車|TOKYO GOOD MUSEUM (goodmanners.tokyo)
หากนึกถึงประเทศญี่ปุ่น เราคงหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องความสวยงาม ความสะอาด และความสะดวกสบายที่ผู้คนสามารถใช้งานได้จริงและเอื้อต่อคนทุกกลุ่มไปไม่ได้ และแน่นอนว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามไปได้เลยก็คือ “ความมีระเบียบวินัย” ของคนญี่ปุ่น ทั้งจากการเข้าคิวต่อแถว การตรงต่อเวลา การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย หรือการขึ้นรถสาธารณะอย่างเป็นระเบียบก็ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าในสถานการณ์นั้นๆ จะต้องแข่งขันกับเวลา หรือมีผู้คนมากมายแค่ไหนก็ตาม แต่คนญี่ปุ่นก็ยังคงมีระเบียบวินัยและความเรียบร้อยอยู่เสมอ
หลายคนคงอาจคิดว่าความมีระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นนั้น เป็นเพราะคนญี่ปุ่นเอง ที่มีนิสัยมีระเบียบวินัยและมีจิตใต้สำนึกที่ดีอยู่แล้ว ประกอบกับสังคมและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นที่หล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นเป็นเช่นนั้น แต่ทุกคนเคยคิดไหมว่า นอกจากระเบียบวินัยในตัวเองแล้ว การออกแบบเมืองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาคน ที่ช่วยสนับสนุนให้คนมีระเบียบวินัยและมีพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยเช่นกัน เพราะการออกแบบและการพัฒนาเมือง ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงไปของเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้คนทั้งในทางตรงและทางอ้อมได้อีกด้วย
เบื้องหลังการออกแบบเมืองน่าอยู่ของประเทศญี่ปุ่นด้วยการใช้“เส้น”
ที่มาภาพ Livable Japan ออกแบบ‘เมือง’ดีไซน์‘ชีวิต’ สู่ญี่ปุ่นฉบับปัจจุบัน (matichon.co.th)
เริ่มต้นจากการที่เมือง เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวาย ความแออัดของผู้คน ปัญหาการแซงคิว หรือปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยปริพนธ์ นำพบสันติ (2565) ได้มีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้ ผ่านหนังสือ Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง ว่า หากประเทศญี่ปุ่นต้องการทำให้คนต่อแถวชำระเงิน ต่อแถวเข้าคิว ประเทศญี่ปุ่นก็จะมีการประยุกต์ใช้ “เส้น” เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเมือง เพื่อช่วยบ่งบอกว่าใครมาก่อนมาหลัง จากการยืนต่อแถวตรงเส้นที่ได้กำหนดไว้ หรืออย่างในกรณีที่หากต้องการแบ่งเลนระหว่างเลนคนเดินเท้ากับเลนสำหรับรถยนต์ภายในซอยเล็กๆ ประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการใช้เส้นนี้เอง ตีเป็นเส้นแบ่งเลนที่มีการแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจนไว้ภายในซอย โดยในส่วนของเส้นที่ประเทศญี่ปุ่นมีการใช้งานจริง ก็จะมีทั้งเส้นนอน เส้นหยัก และเส้นประ รวมไปถึงการใช้จุดในการชี้นำทิศทางการปฏิบัติให้แก่ผู้คน ซึ่งเราจะสามารถมองเห็นเส้นต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในพื้นที่สาธารณะ บริเวณขนส่งสาธารณะ บนท้องถนน หรือแม้กระทั่งภายในร้านสะดวกซื้อเองก็ด้วยเช่นกัน
การใช้สีและภาพกับการออกแบบเมืองญี่ปุ่น
ในขณะเดียวกัน อีกหนึ่งอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การใช้ “ภาพ” ในการออกแบบเมือง ถึงแม้ว่าในบางครั้ง สำหรับชาวต่างชาติอย่างเราที่มีภาษาเป็นอุปสรรค ประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการใช้ภาพหรือสัญลักษณ์เป็นตัวแทนของคำอธิบาย ที่บ่งบอกถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อให้แก่ผู้คนในสังคม ให้มีความเข้าใจตรงกันได้อย่างทันท่วงทีว่าผู้สื่อต้องการจะสื่ออะไร เช่น ที่จอดรถพิเศษ ประเภทของขยะที่จะทิ้ง หรืออาณาเขตบนท้องถนนระหว่างฝั่งคนเดินเท้ากับฝั่งทางจักรยาน เป็นต้น
จากการประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเมืองของประเทศญี่ปุ่น จะสามารถช่วยให้คนมีระเบียบขึ้นได้ เพราะการออกแบบดังกล่าว ไม่ใช่การออกแบบเพื่อคนในประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกแบบที่เล็งเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดปัญหา ความแออัด และความวุ่นวายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในเมืองได้ การใช้เส้น สี และภาพ จึงจะเป็นตัวชี้นำแนวทางในการปฏิบัติให้แก่ผู้คนในสังคม ซึ่งจะทำให้ผู้คนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน และมีพฤติกรรมในแบบที่เราอยากจะให้เป็น ซึ่งอาจเกิดเป็นความนึกคิด พฤติกรรม และวัฒนธรรม หรืออาจกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ที่จะสามารถช่วยจัดระเบียบทางสังคมได้ เพราะหากเราไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจถูกมองว่าเป็นคนที่ผิดแปลกไปจากสังคม
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการออกแบบเมืองมีส่วนช่วยในการส่งผลต่อความคิด พฤติกรรม และระเบียบวินัยของผู้คนได้เป็นอย่างมาก และอาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมและเป็นแรงจูงใจให้คนมีระเบียบวินัยได้ง่ายขึ้น จนอาจทำให้พฤติกรรมของผู้คนในด้านลบลดน้อยลงจากการออกแบบเมือง ที่อาจทำให้ความคิดของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป และพฤติกรรมก็อาจเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการที่ความคิดและพฤติกรรมของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไปได้นั้น ก็ต้องมาพร้อมกับการมีกฎหมายที่เคร่งครัดและจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
กลับมามองที่กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
หากมองย้อนกลับมาที่เมืองของเราในปัจจุบัน ก็ยังคงมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของการออกแบบเมืองที่เราอาจมองข้ามไปและยังไม่ได้ให้ความสนใจและความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งสิ่งเหล่านั้น อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้เมืองของเรามีความน่าอยู่ขึ้นได้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากรุงเทพมหานครก็มีโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น เพราะเมืองของเราก็มีการใช้เส้น สี และภาพเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจสังเกตได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงแรกที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม สิ่งแรกที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนในชีวิตประจำวันคือ การตีเส้นให้แก่ลูกค้าร้านสะดวกซื้อ สามารถต่อแถวชำระเงินได้พร้อมกับการเว้นระยะห่างทางสังคม จากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้คนมักจะมายืนต่อแถวตรงเส้นที่ตีขึ้นไว้ภายในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาในเรื่องของการแซงคิวให้ลดน้อยลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แต่แล้วทำไม หลายคนถึงยังคงประสบกับปัญหาในชีวิตประจำวันต่างๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งปัญหาที่มาจากผู้คนด้วยกันเอง อาจเป็นไปได้ไหมว่าการออกแบบเมืองในหลายๆ จุดของเมืองเรา อาจยังไม่ได้รับการออกแบบที่ดีพอ เส้น สี และภาพที่ใช้ในการสื่อสารกับผู้คนก็อาจยังมีความไม่ชัดเจน และอาจยังมีประสิทธิภาพที่ไม่มากเพียงพอ จนทำให้สิ่งต่างๆ ที่ถูกออกแบบและถูกสร้างขึ้นมา ที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ กลับกลายมาเป็นอุปสรรคมากกว่าโอกาส ที่เราไม่สามารถใช้งานได้จริงและขาดความสะดวกสบายเท่าที่ควรจะเป็น
สุดท้ายนี้ ทุกคนคิดว่าในปัจจุบันเมืองของเรา มีการประยุกต์ใช้เทคนิคในการออกแบบเมืองที่ดีแล้วหรือยัง หากทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองได้ ทุกคนอยากที่จะออกแบบเมืองของเราให้เป็นไปในรูปแบบไหน หรืออยากจะเห็นเมืองและผู้คนเติบโตไปในทิศทางใด เพราะในขณะเดียวกัน เมืองที่เราสร้าง ก็จะมีผลกลับมาที่ความคิดและพฤติกรรมของผู้คนที่เกิดขึ้นจากเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่สะท้อนต่อกันระหว่างคนกับเมือง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาข้อมูล
ปริพนธ์ นําพบสันติ. (2565). Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง. (พิมพ์ครั้งที่ 3). บร็อคโคลี.
Stubbs, Phil. (2020, August 12). Jan Gehl quotes. The Environment Show.
https://www.environmentshow.com/jan-gehl-quotes/