22/02/2022
Public Realm

กรุงเทพฯ เมืองร่วม “คิด”

มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์
 


จะดีแค่ไหน หากเมืองสามารถรวมทุกเสียงจากทุกมุมเมืองมาต่อยอดการพัฒนาได้?

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การที่จะทำให้พลเมืองรัก หวงแหน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ปัจจัยหลักมากจากการที่พลเมืองมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาต่างๆ เมื่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนเปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเห็น ตลอดจนรับฟังและเคารพเสียงของเรา แน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการและปัญหาของเมืองและคนเมืองอย่างแท้จริง รวมไปถึงสร้างความสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเมืองอีกด้วย

วันนี้เราเลยหยิบยกกลไกและเครื่องมือในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมือง มาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหลายๆเมืองทั่วโลกมีการขับเคลื่อนการพัฒนาผ่านเสียงและการมีส่วนร่วมของประชาชน

กลไกและเครื่องมือในการรับฟังเสียงพลเมือง

1. แพลตฟอร์มกลางในการสื่อสารของทุกภาคส่วน 

เมื่อพูดถึงกลไกหรือเครื่องมือในการรับฟังเสียงของประชาชน รวมไปถึงกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่หลายเมืองทั่วโลกใช้ในช่วงเริ่มแรกนั้นคงจะหรือไม่พ้นการใช้แพลตฟอร์มหรือช่องทางในการรับความคิดเห็นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยจะขอยกตัวอย่าง 2 แพลตฟอร์มที่เป็นนิยมในการรวบรวมความคิดเห็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ (1) การลงคะแนนเสียงออนไลน์ (I-voting) คือเครื่องมือในการโหวตและแสดงความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนา เช่น โครงการ Shezidao ของไทเป ที่รัฐได้ทดลองให้ประชาชนมาลงคะแนนเสียงต่อโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และ (2) การจัดทำงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) คือเครื่องมือที่นอกจากจะให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและลงคะแนนเสียงต่อการพัฒนาของเมืองแล้ว ยังสามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของเมืองอีกด้วย ที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมและความชอบธรรมต่อการเสนองบประมาณของท้องถิ่น นอกจากนี้ ในยุคดิจิทัลยังจะเห็นได้ว่าผู้นำของหลายๆประเทศ เริ่มเป็นพื้นที่ออนไลน์ให้ประชาชนได้เข้ามาพูดคุย หรืออัพเดตความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ ทำให้การสื่อสารระหว่างผู้นำและประชาชนนั้นใกล้มากยิ่งขึ้น

2. การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (focus group)

การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการสนทนากลุ่มนั้น เป็นหนึ่งในกระบวนการรวบรวมข้อมูล จากการรับฟังความคิดเห็นของพลเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นต่างๆ โดยอาจจะเป็นการประชุมกลุ่มใหญ่ หรือกลุ่มย่อย แตกต่างกันออกไปตามเป้าหมายและจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วมกระบวนการ การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการพัฒนาของเมืองสามารถมีได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบวางผัง พื้นที่สาธารณะ หรือโครงการพัฒนา โดยตัวอย่างของการทำสนทนากลุ่มที่สำคัญคือ การพัฒนาคลองชองเกชอน โดยเทศบาลกรุงโซล ที่เรียกได้ว่าเป็นกรณีศึกษาโครงการพัฒนาเมืองและคลองที่สำคัญที่ของโลก ที่แต่เดิมมีร้านค้าโดยรอบกว่า 100,000 ร้านค้า และมีกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 200,000 คน ที่ตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ ได้มีทำกระบวนการมีส่วนร่วม (ส่วนใหญ่เป็นการประชุม) กว่า 4,200 ครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็น สร้างความเข้าใจ และฉันทามติร่วมกัน

3. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อการออกแบบ (design workshop)

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อการออกแบบนั้น เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีความคล้ายคลึงกันกับการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่จะเป็นกระดมความคิด และรับฟังความคิดเห็น อันจะนำไปสู่การออกแบบในสาขาต่างๆ ผ่านเทคนิคและเครื่องมือที่หลากหลาย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การทำกระบวนการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อการออกแบบของรัฐบาลอังกฤษ ในการรับฟังความต้องการของคนในอาศัยบ้านและอาคารสงเคราะห์ (social housing) เพื่อนำมาออกนโยบายและการออกแบบที่เหมาะสมต่อไป หรืออีกตัวอย่างที่สำคัญคือ หลักการ “มาจิสึคุริ” ที่เป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการพัฒนาเมืองและท้องถิ่นของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างอย่างในบริบทของย่านเก่า ที่จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อการออกแบบร่วมกับทุกภาคส่วน 

4. งานนำเสนอสาธารณะ (public presentation)

เมื่อมีการทำกระบวนการมีส่วนร่วมตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้ว แน่นอนว่าผลลัพธ์สำคัญที่ได้ ไม่ว่าจะเป็น แผนการพัฒนา ผังแนวคิด หรือโครงการพัฒนานั้น จะต้องมีการรวบรวม และสรุปการดำเนินงานและกระบวนการ รวมถึงผลลัพธ์นำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อขยายขอบเขตความรู้และความเข้าใจไปยังวงกว้างมากขึ้น โดยในงานนำเสนอสาธารณะนั้นนอกจากจะมีการนำเสนอผลที่ได้แล้ว ยังเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นของทุกภาคส่วนต่อผลลัพธ์นั้นๆ อีกทั้งยังมีการจัดทำนิทรรศการแสดงผลงานอีกด้วย 

จากกลไกและเครื่องมือในการรับฟังความคิดเห็นของพลเมืองในข้างต้น ที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมาในการรวบรวมเสียงและความคิดเห็นต่อความต้องการและปัญหาของประชาชนในทุกระดับ นำมาสู่คำถามสำคัญว่าจะดีแค่ไหนหาก กรุงเทพฯ จะมีกระบวนการมีส่วนร่วมหรือเครื่องมือในการรวบรวมเสียงของประชาชน และเราพร้อมหรือยังหรือจะขับเคลื่อนการพัฒนาไปพร้อมๆกับการกระตุ้นให้เกิดพลเมืองตื่นรู้! 

ในตอนนี้มีหลากหลายหน่วยงานและองค์กรที่พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ในส่วนของการต่อยอดกระบวนดังกล่าวให้กว้างขวางและทั่วถึง คงต้องฝากโจทย์นี้ให้ผู้นำและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณานำมาต่อยอด เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งเมือง (พลเมือง) ร่วมคิดได้ต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
.

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS

ที่มาข้อมูล

อ่าน Paris participatory budgeting ได้ที่บทความ “Dominique Alba ราชินีผังเมืองแห่งปารีส ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณมหาศาล เพื่อให้พลเมืองสร้างสรรค์โครงการเมืองด้วยตัวเอง”

Cheong Gye Cheon Restoration Project

Towards more participatory governance in Singapore

THE WORLD BANK – The Cheonggyecheon restoration project 

Digital use and citizen participation in Taiwanese urban development project, the I-Voting experience case in Taipei

Designing workshops for everyone

การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting)

Bangkok Budgeting อยู่เมืองนี้ ต้องรู้เยอะ รวมสร้างสรรค์ ชวนจับตา ให้งบกรุงเทพฯ ถูกใช้อย่างตรงจุด


Contributor