26/04/2021
Life

Dominique Alba ราชินีผังเมืองแห่งปารีส ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณมหาศาล เพื่อให้พลเมืองสร้างสรรค์โครงการเมืองด้วยตัวเอง

สิตานัน อนันตรังสี
 


จะดีแค่ไหนหากงบประมาณประจำปีจำนวนมหาศาลของเมือง จะถูกจัดสรรไว้ก้อนหนึ่ง จะแปลงเป็นโครงการพัฒนาเมืองโดยภาคพลเมือง ที่ตอบโจทย์ความต้องการอันหลากหลายของเมืองด้วยตัวเอง

“ราชินีผังเมืองแห่งปารีส” เป็นสมญานามที่ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ยกย่อง Dr. Dominique Alba ผู้อำนวยการ Paris Urbanism Agency (APUR) ประเทศฝรั่งเศส ผู้อยู่เบื้องหลังการวางยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเมืองปารีสหลายโครงการ ล่าสุดให้เกียรติบรรยายสาธารณะโครงการ MUS x UDDC International Lecture Series โดยแบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานในฐานะเบื้องหลังโครงการฟื้นฟูเมืองปารีสมากมาย

หลายคนอาจคุ้นเคยกับเจ้าของฉายา “ราชินีผังเมืองแห่งปารีส” เป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และ ศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย (IRASEC) ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) มูลนิธิ Heinrich Boll และ UN WOMEN ได้ร่วมเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: อะไรคือบทบาทของพลเมือง” (Urban Changes in Southeast Asia: what is the citizen’s role?) ซึ่งในงานนี้ Dr. Dominique Alba ได้ให้เกียรติมาเข้าร่วมเสวนาร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ครั้งนี้ Dr. Alba ได้มาเปิดประสบการณ์ของเมืองปารีสให้กับผู้ฟังอย่างเต็มรูปแบบตลอดการบรรยายประมาณสองชั่วโมงเต็ม ซึ่งการบรรยายในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนเมืองปารีสที่มีต่อ “คน” ในเมืองอย่างมาก Dr. Alba ได้จัดเนื้อหาการบรรยายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับปารีส 6 หัวข้อ ได้แก่

1) Reinventing Paris

2) Participatory budget

3) Innovation arch

4) Hybrid places for homeless and migrants

5) Beautify Paris

6) Public space, the 7 major places

สำหรับบนเวทีเสวนาโต๊ะกลมที่ผ่านมา Dr. Alba ได้เปิดประเด็นถึงการนำระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budget) เข้ามาใช้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในเมืองอย่างก่อให้เกิดความพึงพอใจในทุกฝ่าย ต่อเนื่องมาสู่การบรรยายในครั้งนี้ Dr. Alba ได้มาทำการอธิบายกลไกและวิธีการดำเนินงานของการจัดตั้งงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของเมืองปารีส

ระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budget) สำหรับปารีสงบประมาณส่วนนี้มีความสำคัญมาก ๆ เนื่องจากเป็นวงเงินที่มีจำนวนมหาศาล (100 ล้านยูโร ในปีค.ศ. 2019) ซึ่งจะถูกจัดสรรขึ้นในแต่ละปี ไอเดียนี้มาจากการตั้งงบประมาณสำหรับลงทุนให้ลงตรงไปยังพลเมืองโดยตรง ซึ่งพลเมืองจะตัดสินใจเองได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร อยากทำอะไร ด้วยจำนวนเงินก้อนนั้น กว่าสองแสนคนต่อปีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ ขั้นตอนของระบบงบประมาณนี้เริ่มจากการส่งโครงการเข้ามาร่วมนำเสนอโดยที่ชุดข้อมูลของแต่ละโครงการที่ชาวเมืองส่งเข้ามาจะอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จากนั้นเจ้าหน้าเมืองปารีสเองจะนำมาเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจสกัด ควบรวม และคัดเลือกโครงการ จากราวสองพันกว่าโครงการให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง จากนั้นข้อมูลที่เลือกมานี้จะถูกแชร์ไปให้ชาวเมือง มาร่วมตัดสินใจและร่วมออกแบบโครงการ ศึกษาความเป็นไปได้ด้วยกัน ซึ่งจากหนึ่งพันกว่าโครงการจะเหลือเพียงราวสี่ร้อยโครงการเท่านั้นที่ได้เข้าสู่กลไกลการลงคะแนนเสียงคัดเลือก ซึ่งกว่า 62% ของโครงการถูกปฏิเสธ และขั้นตอนท้ายที่สุดก็คือการนำไปปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาดำเนินงานเกือบหนึ่งปี และ Paris Urbanism Agency (APUR) ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือ สนับสนุนด้านข้อมูลระหว่างกระบวนการตัดสินใจ

ระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของปารีสไม่ได้ส่งผลดีแก่ประชาชนในวงกว้างเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างกลไกการบริหารเมืองที่ดีอีกด้วย Dr. Alba ชี้ให้เห็นข้อดีที่ระบบงบประมาณนี้นอกจากส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนการมีส่วนเกี่ยวข้องของประชาชนกับเมือง เป็นการสร้างความตระหนัก ปลุกพลังของพลเมือง และยังสามารถรวบรวมผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องเข้ามาลงทุนในพื้นที่สาธารณะได้แล้ว ยังเป็นส่วนที่ทำให้การจัดระบบบริหารเมืองทันสมัยขึ้นไปอีก

ระบบงบประมาณนี้ช่วยออกแบบระบบจัดการข้อมูลอย่างมีความร่วมมือ เป็นการสร้างระบบการประสานงานข้ามหน่วยงานเพื่อผลิตเครือข่าย นโยบายและโครงการต่าง ๆ และยังสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างแฟลตฟอร์มออนไลน์และระบบงานเอกสาร หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในปีค.ศ. 2014 ในขณะนั้นมีโครงการที่เกิดขึ้นมาเพียง 15 โครงการ และเนื่องจากระบบงบประมาณนี้ได้ผลตอบรับอย่างดี ในปีต่อ ๆ มา โครงการเริ่มขยายไปเรื่อย ๆ และมีผู้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี

และในส่วนของการนำไปปฏิบัติ เพื่อทำให้การนำโครงการที่ถูกเสนอมานำไปลงมือทำจริงได้ง่าย โครงการต่าง ๆ ถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ซึ่งคำนึงถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะและธรรมชาติของเมือง โครงการที่เสนอมามีหลากหลายรูปแบบ เช่น การสร้างอุปกรณ์ออกกำลังกายนอกสถานที่ในพื้นที่สาธารณะ ปรับปรุงโรงเรียนอนุบาล โครงการสำหรับคนไร้บ้าน รวมถึงโครงการสำหรับศิลปะวัฒนธรรม

Dr. Dominique Alba ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าความท้าทายที่สำคัญของระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วมที่ปารีสนำมาใช้คือ การสร้างความร่วมมือทางการเมืองที่ชัดเจน การบรรยายของราชินีผังเมืองแห่งปารีสในครั้งนี้แน่นอนว่าเป็นการเปิดมุมมองที่มีต่อเมืองและคนที่อยู่ห่างจากประเทศไทยเราคนละซีกโลก ที่สามารถนำมาปรับใช้เป็นบทเรียนสำคัญในการวางแผนและพัฒนาเมืองได้ในอนาคต และที่สำคัญที่สุดไปเลยก็คือ “คน”และเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้ คนทุกคนในเมืองย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองในทุกมิติ

หมายเหตุ : บทความเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยาย MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 : Urban Regeneration Strategy EP.08 “Innovative Planification: Paris Experiments” โดย Dominique Alba ผู้อำนวยการ Paris Urbanism Agency (APUR) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564

ท่านสามารถรับฟังย้อนหลังได้ทาง https://www.facebook.com/276255902507371/videos/490589832120500

การบรรยายสาธารณะ MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ Master of Science on Urban Strategies (MUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 4 มีนาคม – 4 พฤษภาคม 2564 ร่วมดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสื่อใหม่ Thai PBS และ The Urbanis


Contributor