21/06/2021
Environment

สวนสาธารณะที่ไม่สาธารณะ กับ ความต้องการพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้นในวิกฤตโรคระบาด

หฤษฎ์ ทะวะบุตร สรวิชญ์ ธรรมรติวงศ์
 


ภาพปก Tree photo created by tirachard – www.freepik.com

การระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอกที่ผ่านมา กระทบโดยตรงต่อผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น การวิ่งในสวนสาธารณะ เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีคำสั่งปิดใช้งานสวนสาธารณะ นับรวมเป็นเวลาหลายเดือนที่พื้นที่สำหรับเสริมสร้างสุขภาวะ ถูกลบไปจากวิถีชีวิตประจำวันคนเมือง คำถามคือในภาวะล็อคดาวน์และกึ่งล็อกดาวน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น มิใช่พื้นที่สีเขียวหรอกหรือที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตเมืองให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ โดยไม่กระทบร่างกายและจิตใจมากเกินไป

กรุงเทพฯ เขียวน้อยลงได้อีกในภาวะโรคระบาด

แม้ในภาวะปกติ พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯเดิมก็มีให้ใช้ประโยชน์ไม่มากอยู่แล้วเมื่อเทียบสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในมหานครทั่วโลก ข้อมูลพื้นที่สีเขียวของสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ระบุว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวที่นับรวมจากพื้นที่สวน 7 ประเภททั้งสิ้น 40 ตารางกิโลเมตร (40 ล้านตารางเมตร) ทำให้ประชากร 5,487,876 คนในกรุงเทพฯ (อ้างอิงข้อมูลกระทรวงมหาดไทย และยังไม่รวมประชากรแฝงอีกจำนวนมาก) เข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้เฉลี่ยประมาณ 7 ตารางเมตรต่อคน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ 9 ตารางเมตรต่อคน

อ่านต่อ กรุงเทพฯ เขียวได้ แต่อยากเขียวแค่ไหน

เมื่อย้อนอ่าน ประกาศกรุงเทพมหานครสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ซึ่งรวมไปถึง สนามกีฬาทุกประเภท สวนสาธารณะ ลานสาธารณะ สถานออกกำลังกาย ทั้งนี้ สวนสาธารณะดังกล่าวประกอบด้วยสวน 3 ประเภท คือ สวนชุมชน สวนระดับย่าน และสวนระดับเมือง ดังนั้น ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลให้พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ถูกตัดขาดออกไปกว่า 14 ตารางกิโลเมตร เหลือไว้เพียงพื้นที่สวนหมู่บ้าน สวนหย่อม สวนถนน และสวนเฉพาะทางอื่น ๆ เท่านั้น

ในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่สีเขียวต่อหัวของประชากรตามสำมะโนครัวของกรุงเทพมหานครจึงจะลดลงเหลือเพียง 4.7 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น และพื้นที่จำนวนมากในนั้นยังเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น พื้นที่ของคอนโดมิเนียม พื้นที่ของหมู่บ้านจัดสรร หรือเป็นพื้นที่ประดับกลางถนน ที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยสาธารณะ ในช่วงเวลาของโรคระบาดนี้ ชาวเมืองหลวงจึงเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ยาก และได้น้อยกว่าที่เคยเป็นมา

แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์คำสั่งปิดสวนสาธารณะ โดย สำนักประชาสัมพันธ์ กทม.

เพราะกรุงเทพฯ ไม่เหมาะกับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

เมื่อสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวไม่เปิดให้บริการ ด้วยทางเลือกที่ไม่มากนัก จึงเกิดปรากฎการณ์ที่นักวิ่งจำนวนไม่น้อยต้องอาศัยวิ่งตามทางเท้าและตรอกซอกซอยใกล้บ้าน หรือแอบไปวิ่งในพื้นที่ราชการขนาดใหญ่ซึ่งพออะลุ่มอะล่วยเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานจากบ้าน ทว่าหลายพื้นที่กลับไม่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับการทำกิจกรรม อาทิ ปริมาณฝุ่นละอองและมลพิษ อันตรายจากยานพาหนะ หรือกระทั่งขนาดทางเท้าที่มีขนาดกว้างพอจะวิ่งแบบมีระยะห่างกับผู้ใช้อื่น เช่น คนเดินเท้า คนรอรถประจำทางที่ป้ายรถโดยสาร คนขายอาหารหาบเร่แผงลอย ฯลฯ

เหตุการณ์ที่เกิดกับกลุ่มนักวิ่งสืบเนื่องจากสวนสาธารณะโดยสั่งปิด สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ของเมืองกรุงเทพฯ ไม่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมกลางแจ้งมากนัก ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก ถนนในกรุงเทพฯ อาจไม่มีทางเท้าที่ใช้การได้ หรือไม่มีทางเท้าอยู่เลย โดยเฉพาะในถนนสายรองที่ขอบเขตที่ดินเวนคืนไม่มากนัก และทางซอยไม่ตันที่มีรถยนต์ผ่านมาก ทำให้พื้นที่ที่พอจะมีทางวิ่งต่อเนื่องกันได้สะดวกจำกัดอยู่แค่ตามถนนสายใหญ่เท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเสี่ยงกับการถูกรถเฉี่ยวตลอดเวลา 

อ่านต่อ กรุงเทพฯ: เมืองใหญ่ ถนนน้อย ทางเท้าด้อยคุณภาพ

ประการที่สอง ถนนหลายเส้นของกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยรถยนต์ปริมาณมหาศาล มีการจราจรที่หนาแน่นอยู่เกือบตลอดทั้งวัน รถยนต์เหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นควัน และแก็สที่เป็นมลพิษ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นต้น สารเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพิษเมื่อสูดหายใจเข้าไป และยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้นอีก 10 เท่าเมื่อร่างกายของสูดลมหายใจมากขึ้นขณะออกกำลังกาย เพราะอนุภาคฝุ่นถูกพาเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจลึกขึ้น ดังนั้น การออกกำลังกายในสภาวะที่มลพิษสูงถึงระดับหนึ่ง จึงไม่คุ้มค่ากับสุขภาพที่จะเสียไปจากมลพิษนั้นอย่างแน่นอน

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนรักการออกกำลังกายกลางแจ้ง คือ การวิ่งหรือออกกำลังกายนั้นไม่เสี่ยงเหมือนกับการรับประทานอาหารและพูดคุยร่วมโต๊ะกัน เพราะทุกคนต่างมุ่งออกกำลังกายในพื้นที่ของตน หรือวิ่งไปในทางของตนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาในประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการติดเชื้อจากกการวิ่ง ยังคงมีน้อยมากเกินกว่าจะสรุปผลได้ ที่สุดแล้ว คำถามที่แท้จริงคือความเสี่ยงจากไวรัสขณะวิ่งไปในสวนสาธารณะ มีมากเท่ากับการวิ่งไปตามถนนและชุมชนหรือไม่ และความเสี่ยงที่ยังมีอยู่นั้นคุ้มค่าที่ต้องแลกด้วยคุณภาพชีวิตและสุขภาพระยะยาวของคนเมืองหรือไม่

ทั้งนี้ ผลการศึกษาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสวนสาธารณะ จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อมาตรการควบคุมโรคระบาดในอนาคตหรือโรคอุบัติใหม่ที่แน่นอนว่า สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวของเมืองจะต้องเป็นจำเลยหรือคำสั่งปิด/เปิดอีกหรือไม่

คนมองสวนในเมืองเปลี่ยนไปอย่างไรในยุคโควิด 

สวนสาธารณะเป็นสาธารณูปการสำคัญของเมืองทั่วโลก แต่หลังจากการระบาดของเชื้อโคไรนาไวรัสในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงทำให้คนเมืองรู้รับถึงคุณค่าของพื้นที่ที่สูญเสียไป หากยังทำให้รับรู้ถึงความสำคัญอย่างยิ่งในมิติอื่นๆ อีกด้วย

การสำรวจความคิดเห็นต่อสวนสาธารณะในมหานครนิวยอร์ก โดย New School’s Urban Systems Lab ได้ศึกษาทัศนคติ ผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกและการใช้งานสวนสาธารณะในยุคโควิด-19 ผ่านกลุ่มตัวอย่าง 2,863 คน ผลของการศึกษาได้มอบมุมมองที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น อาทิ 88% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าสวนสาธารณะมีความจำเป็นอย่างมากต่อสภาพร่างกาย และอีกกว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าสวนสาธารณะมีความจำเป็นอย่างมากต่อสภาพจิตใจ

ยังมีประเด็นที่สะท้อนความกังวลต่อการใช้สวนสาธารณะหลังโควิด ผลการสำรวจพบว่า 59% กังวลการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานเว้นระยะห่างในสวนสาธารณะ ทำให้เสี่ยงในภาวะโรคระบาด และ 57% มองว่าสวนสาธารณะมีคนมากเกินไป  

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่ม Non-Binary กังวลว่ามีตำรวจมากเกินไป กลุ่มชาวละตินอเมริกันกังวลว่าสวนสาธารณะกลายเป็นพื้นที่ของคนผิวขาว กลุ่มคนแอฟริกันอเมริกันกลายเป็นเป้าหมายในการบังคับใช้กฏหมายของตำรวจ

สะท้อนให้เห็นว่า สวนสาธารณะนอกจากเป็นพื้นที่ผ่อนคลายจิตใจ แต่ยังเป็นพื้นที่ที่น่าหวาดหลัวสำหรับคนบางกลุ่ม ดังเช่นกรณีคนเอเชียถูกคนผิวขาวทำร้ายขณะเดินเล่นในสวนสาธารณะของนิวยอร์ก เพราะถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของเชื้อไวรัส

กราฟแสดงถึงความกังวลต่อสวนสาธารณะระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ุต่าง ๆ ในนิวยอร์ก ที่มา : Urban Systems Lab

ยังมีประเด็นคำถามที่น่าสนใจในการศึกษาวิจัยจากมหานครนิวยอร์กที่ว่า คนต้องการมีประสบการณ์หรือต้องการทำอะไรในพื้นที่สีเขียวของเมือง พบว่า 85% ต้องการพื้นที่สำหรับการเดิน เช่นเดียวกับต้นไม้และร่มเงา 73% ต้องการพื้นที่สำหรับนั่ง 63% ต้องการสวนสาธารณะที่ได้รับการดูแลสม่ำเสมอ และ 58% ต้องการให้สวนมีสระน้ำและบ่อน้ำ ฯลฯ สัดส่วนความต้องการที่ลดหลั่นลงมา อาทิ พื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่เด็กเล่น พื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พื้นที่สร้างการเรียนรู้ ตามลำดับ

กราฟแสดงถึงสิ่งที่ต้องการในสวนสาธารณะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในนิวยอร์ก ที่มา : Urban System Lab

การเดินในพื้นที่สีเขียวยิ่งจำเป็นในวิกฤตโรคระบาด

ดังที่เห็นจากกราฟด้านบนซึ่งระบุว่า ผู้อาศัยในมหานครนิวยอร์กต้องการให้พื้นที่สีเขียวเพื่อกิจกรรมการเดินมากที่สุด ชวนให้นึกถึงการศึกษาของ National Institude of Health Research (NIHR) ที่ศึกษาคนวัยกลางคนกว่า 400,000 คนในสหราชอาณาจักร พบว่า การเดินออกกำลังกายสัมพันธ์กับอาการรุนแรงของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

ผู้คนที่ออกกำลังกายด้วยการเดินช้าๆ มีแนวโน้มแสดงอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิดมากกว่าคนที่เดินเร็วถึง 2.5 เท่า โดยไม่จำกัดน้ำหนัก เพราะฉะนั้นแม้สวนในบ้านเราอาจจะไม่ตอบโจทย์ต่อการเดินได้มากที่สุด แต่การได้ออกไปเดินออกกำลังกายที่สวนเป็นบางครั้งก็ยังมีประโยชน์ ทว่าในภาวะล็อกดาวน์ซึ่งผู้คนไม่อาจเดินทางไปออกกำลังกายที่สวนขนาดใหญ่ของเมืองได้อย่างคล่องตัวนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ สวนละแวกย่าน จะเข้ามามีบทบาทในฐานะพื้นที่สีเขียวที่อยู่ใกล้ตัวผู้คนมากที่สุด

แหล่งข้อมูล

กทม. สั่งปิด 31 สถานที่เสี่ยง-ให้ใส่หน้ากาก 100% มีผล 26 เม.ย.นี้

ฐานข้อมูลและระบบติดตามประเมินผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร

Perception and Use of Urban Green Spaces during Covid-19

Making Gyms Safer: Why the Virus Is Less Likely to Spread There Than in a Bar

Research on Physical Damage of Outdoor Physical Exercise Based on Environmental PM2.5 Detection

Air pollution and exercise: Is it safe to train outside? — MassCare

Covid: Slow walkers ‘more likely to die’, study finds


Contributor