12/03/2020
Public Realm

ความจำเป็นของบ้านสุดท้ายของชีวิตคนเมือง

The Urbanis
 


สถานการณ์สมมติ –  ชีวิตประจำวันของคนเมือง A

“ฉันตื่นเช้าไปทำงานตั้งแต่หกโมงเพราะกลัวรถติด เลิกงานแล้วก็ยังต้องหาอะไรทำอยู่ข้างนอก ทำโอทีบ้าง ไปสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง เลี่ยงรถติดตอนเย็นอีกเหมือนกัน กว่าจะกลับถึงบ้านก็ปาเข้าไปสามสี่ทุ่มแล้ว ไปถึงก็อาบน้ำนอนดูซีรี่ย์ สักตีหนึ่งค่อยหลับ อยู่คอนโดเล็ก ๆ อย่างฉันไม่มีอะไรให้ทำมากหรอก ทำอาหารเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้”

นิยามของคำว่า “บ้าน”

ถ้าให้เราลองนิยามคำว่า “การใช้ชีวิตในเมือง” หนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้น ความเร่งรีบ ความวุ่นวาย หรือการผ่าฟันความลำบากทั้งหลายแหล่ในชีวิตประจำวัน ยิ่งเฉพาะกรุงเทพมหานคร จ้าวแห่งความโกลาหลแล้ว ไม่ว่าจะรถติดบนโลเคชั่นสี่แยกดาวอังคาร กำลังนั่งยานกลับดาวพลูโต หรือเดินอยู่บนฟุตพาทพร้อมแฮชแท๊ก #ชีวิตดีดีที่ลงตัว ก็ตาม ไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนกรุงเทพต้องแข็งแกร่งอยู่เสมอ 

และด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้เอง “บ้าน” ของคนเมืองก็ต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน บ้านของคนเมืองที่ว่าเป็นได้ทั้งห้อง ๆ หนึ่งบนคอนโดสูง หอพักรายวัน ห้องเช่า ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ บ้านแฝด ไปจนถึงบ้านเดี่ยวชานเมือง เราทุกคนเลือกบ้านที่สะดวกต่อการดำเนินชีวิตอันเร่งรีบวุ่นวายนี้ คำว่า “บ้าน” ที่คนเมืองใช้เรียกหาจึงเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เราไปทำงานได้สะดวกขึ้น มีอาณาบริเวณใช้สอยตามความจำเป็นและราคาที่เรากล้าแบก เป็นพื้นที่ที่ให้เราสามารถพักใจพักกายจากความเหนื่อยล้า นอนเล่นโทรศัพท์บนฟูกนุ่มและรดน้ำต้นไม้กระถางเล็ก ๆ ที่มุมห้อง “บ้าน” ในบริบทนี้ จึงเป็นพื้นที่ของการหยุดพักเพื่อเติมพลังให้พร้อมสำหรับวันใหม่ และเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เราจัดสรรไว้เพื่อรักษาความเป็นตัวตนของเราท่ามกลางกระแสแรงกดดันมากมายที่โหมกระหน่ำอยู่ภายนอก

ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดความหมายและสร้างประสบกาณณ์ของมนุษย์ไว้ว่า ประกอบด้วย ตัวปัจเจก(ความเป็นตัวตน) อำนาจ เทคโนโลยี และจินตนาการ องค์ประกอบทั้ง 4 ประการนี้ แปรผันไปตามบริบทของสังคมและเป็นตัวกำหนดการสร้างความหมายของคำว่า “บ้าน” ซึ่ง ผศ.ดร.ภาวิกาได้กำหนดมิติของความเป็น “บ้าน” ในเชิงสังคมวิทยาไว้ว่า บ้านประกอบไปด้วย 2 มิติใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก คือ (1) มิติเชิงพื้นที่ และ (2) มิติเชิงความสัมพันธ์

มิติเชิงพื้นที่ (space) คือ พื้นที่ในที่นี้เป็นได้ทั้งพื้นที่เชิงกายภาพและความเป็นเจ้าของ เช่น ขนาดของพื้นที่ในเมืองที่คนเมืองเป็นเจ้าของอยู่ ณ ขณะนั้น คนส่วนใหญ่อาจเป็นเจ้าของบ้านตนเอง มีกรรมสิทธ์ถูกต้องในบ้านทาวน์เฮ้าส์หรือห้องในคอนโด บางส่วนอาจเป็นเจ้าของเพียงชั่วคราว และบางส่วนอาจใช้วิธีเช่าอยู่ หรือเป็นได้ทั้ง พื้นที่เชิงอุดมคติ หมายถึง พื้นที่หรือสถานที่ที่มีความหมายหรือเป็นพื้นที่ตนต้องการไปสู่ ต้องการสร้าง หรือต้องการดำรงอยู่ในพื้นที่เช่นนั้น แต่ “บ้าน” ในลักษณะนี้ก็ย่อมมีข้อจำกัดต่อการสร้างประสบการณ์ เรื่องราว และความทรงจำ

จึงเป็นที่แน่นอนว่า มิติเชิงพื้นที่เดี่ยว ๆ ไม่สามารถอธิบายความเป็น “บ้าน” ได้ เราจึงจำเป็นต้องมองควบคู่ไปกับ มิติเชิงความสัมพันธ์ (affiliation) กล่าวคือ ด้วยสภาวะการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของสังคมสมัยใหม่ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายร่างในเชิงกายภาพในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เช่น การเคลื่อนย้ายจากการทำงาน การเดินทางท่องเที่ยว การแต่งงาน หรือการอพยพย้ายถิ่นจากสภาวะจำเป็นต่าง ๆ ความเป็นพลวัตรอันลื่นไหลของสังคมสมัยใหม่ ส่งผลให้ “บ้าน” ในมิติของพื้นที่เชิงกายภาพมีความหมายลดน้อยลง ในทางกลับกันบ้านในมิติเชิงความสัมพันธ์มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งเป็นได้ทั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ต่อสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ผู้คน สถานที่ เทคโนโลยี หรือวัตถุอื่น ๆ

นิยามของคำว่าบ้านจึงแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะ “บ้าน” ของคนเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ เป็น “บ้าน” ที่คลับคล้ายจะเป็นสถานที่ชั่วคราวก็ไม่ใช่ จะเป็นของเราทั้งหมดก็ไม่เชิง เช่น ในหนึ่งห้องคอนโดของเราไม่สามารถทำตามใจชอบได้ แต่ที่นี่เป็นบ้านเพราะเรารู้สึกผูกพันกับสถานที่และความทรงจำ หรือในซอยบ้านตึกแถวของเรา จะเปิดเพลงเสียงดังหรือจอดรถหน้าบ้านก็ยังต้องเกรงใจผู้อื่น แต่ที่นี่เป็นบ้าน เพราะเรากลับมาพักกายหลังจากผ่าฟันรถติด หรือในห้องเช่าเล็ก ๆ ของเราที่ไม่ได้มีเครื่องใช้สะดวกสบาย ที่นี่เป็นบ้านเพราะเราได้อาศัยอยู่กับคนที่เรารัก

เช่นนั้นแล้ว เมื่อชีวิตคนเมืองมี “บ้าน” ในรูปแบบนี้ คำถามสำคัญต่อมาคือ แล้วเมื่อคนเมืองอยู่ในวาระท้ายของชีวิต (End-of-Life) “บ้าน” จะต้อนรับเราหรือไม่ เราพึ่งพิงบ้านได้หรือเปล่า และบ้านเอื้อให้เรามีชีวิตระยะท้ายที่มีคุณภาพหรือไม่   

บ้านหลังสุดท้ายของชีวิตคนเมือง

ในงานศึกษาระบบบริบาลสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้าย ของ ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ พบว่า สถานการณ์ของผู้ป่วยระยะท้ายในระบบบริการสุขภาพ กำลังเผชิญปัญหาสำคัญ กล่าวคือ การมุ่งพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดที่ว่า “บ้าน” เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการจากไป โรงพยาบาลและการแพทย์กำลังตั้งใจค้นหา “บ้าน” ในอุดมคตินั้นเพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้ไปอยู่ในสถานที่ดังกล่าว แต่ถ้าหาก “บ้าน” ในความหมายของคนเมืองกลับไม่ได้มีหน้าตาแบบดั้งเดิมเสียแล้ว ด้วยความเป็นพลวัตรและการเคลื่อนที่ของสังคม ผู้คน และสิ่งของ ท้ายที่สุดจะค้นหา “บ้าน” เพื่อวาระท้ายของชีวิตคนเมืองได้อย่างไร และแม้ว่าจะค้นพบแล้ว “บ้าน” ในบริบทเมืองจะทำหน้าที่ตามแนวคิดเชิงอุดมคติเพื่อการตายดีได้หรือไม่

จะเป็นอย่างไรเมื่อ (1) บ้านไม่ต้อนรับเรา กรณีของผู้อยู่อาศัยในบ้านเช่า คอนโด แฟลตรายเดือน หอพัก ฯลฯ ที่ไม่ต้องการให้มีการตายเกิดขึ้น (2) เมื่อบ้านโดดเดี่ยวเรา กรณีของ gated community หมู่บ้านจัดสรร บ้านเดี่ยวรั้วรอบกรอบทึบ ฯลฯ ที่ชุมชนและบริการสาธารณสุขยากที่จะเข้าถึง (3) เมื่อบ้านไม่มีใคร กรณีของคนเมืองที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นโสด ไม่มีลูกหลาน เมื่อเจ็บป่วยหรือแก่ตัวลงอาจจะต้องพึ่งพาโรงพยาบาล สถานพยาบาล Nursing home และมูลนิธิ เป็นหลัก (4) เมื่อบ้านไม่มี กรณีของคนไร้บ้านและอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะของเมือง และ (5) เมื่อบ้านไม่ใช่บ้านในเชิงกายภาพ เช่น บ้านคือการได้อยู่กับคนที่รักไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม หรือบ้านคือการได้กอดสัตว์เลี้ยงสุดที่รักแม้ตัวจะอยู่ที่โรงพยาบาลก็ตาม

ข้างต้นคือ สถานการณ์ที่ชีวิตคนเมืองกำลังเผชิญ เป็นความท้าทายสำคัญเรื่องบ้านในเชิงพื้นที่อาจไม่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ในวาระท้าย  และในบริบทของความเป็นเมืองที่เน้นการมุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเช่นนี้ จะมีสักกี่คนที่หันกลับมามอง และเตรียมความพร้อมเพื่อวาระสุดท้ายของตน

“การเช่านี้เองที่ทำให้ผู้เช่าไม่มีอำนาจเหนือสถานที่เพราะเขาไม่ได้เป็นเจ้าของ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เขาไม่มี “บ้าน” เขาจึงไม่อาจเรียกร้องให้อุดมคติของการกลับไปตายบ้านเกิดขึ้นจริงได้ การตายและความตายมีความพิเศษกว่าการใช้ชีวิตในมิติอื่น ด้วยเหตุว่าการตายและความตายยังต้องอาศัย “พื้นที่” ประเภทหนึ่งที่จะรองรับให้ประสบการณ์นั้นเกิดได้ สุดท้ายคนก็ยังต้องตายในพื้นที่ที่เป็นสถานที่ ไม่ว่าที่นั่นจะเป็นบ้านของเขา เป็นโรงพยาบาล หรือที่ใดสักแห่งไม่เว้นท้องถนนอันพลุกพล่าน” (บ้านสุดท้ายของชีวิต, หน้า 198)

สถานการณ์สมมติ – คนเมือง A ในวาระท้าย

“หากกลับบ้านที่คอนโดไป ฉันก็ต้องอยู่คนเดียวไม่มีคนดูแล เกิดเหตุอะไรมาก็เรียกใครไม่ได้ ฉันอยากให้มีพยาบาลมาเยี่ยมบ้านเหมือนที่ต่างจังหวัด แต่ยามก็คงไม่ให้เข้า แล้วคอนโดก็คงไม่ยอมให้ฉันมาตายในนี้หรอก ลำบากเพื่อนบ้าน แถมขายต่อไม่ได้อีก จริง ๆ แล้วฉันไม่อยากอยู่โรงพยาบาล  แต่ก็ไม่มีทางอื่นแล้ว”

ท้ายที่สุด ความจำเป็นของบ้านหลังสุดท้ายของชีวิตคนเมือง ก็คือการหันมาตั้งคำถามกับการดำเนินชีวิตภายใต้บริบทที่แทบจะไม่มีพื้นที่ให้แก่ความตาย หรือเรียกได้ว่า แทบจะไม่พิจารณาความตายและการตายเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ความไม่พร้อมเรื่องการมีอยู่ของบ้านหลังสุดท้าย สะท้อนถึงความไม่พร้อมต่อการเตรียมตัวต่อความตายของสังคมนั่นเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทางออกอาจไม่ใช่ “บ้าน” ของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็น “ระบบ” หรือการเกิดขึ้นของ “สถานที่ให้บริบาล” แบบใหม่ที่ตอบโจทย์คนเมืองในอนาคต

อ้างอิง
– ศรีรัตนบัลล์, ภ. (2018). “บ้าน” สุดท้ายของชีวิต: มุมมองเชิงสังคมวิทยาต่อการบริบาลคุณภาพชีวิตระยะท้าย The Sociology of illness, dying and death: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.).
– ศรีรัตนบัลล์, จ. และคณะ (2018). โครงการวิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อการพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (hospice care) ในประเทศไทย. ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)


Contributor