23/01/2020
Public Realm

7 เครื่องมือสำรวจเพื่อนผู้อยู่ในเมือง

The Urbanis
 


“ก่อนจะเข้าใจเมือง เข้าใจมนุษย์ด้วยกันก่อน”

คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริงไปนักสำหรับมุมมองคนเมืองและพลเมือง

ปัจจุบันนี้ มีการศึกษาเมืองเกิดขึ้นมากมาย เพราะเราอยากทำความเข้าใจเมืองให้ลึกซึ้ง แต่ต้องไม่ลืมว่า เมืองกับมนุษย์นั้นใกล้ชิดแนบแน่น ดังนั้น การศึกษาเมือง โดยเนื้อแท้ก็คือการศึกษามนุษย์นั่นเอง

ในการร่วม ‘เตียว ส่อง เวียง เจียงใหม่’ กับ ธีรมล บัวงาม จากสำนักสื่อประชาธรรม ซึ่งเป็นนักการสื่อสารที่สนใจเมืองผ่านมิติและรูปแบบการสื่อสาร จึงพาผู้ร่วมเดินทางเข้าสู่ ‘มนุษย์’ ในการร่วม ‘ส่องเวียง’ 

การจะเข้าใจเมืองทางกายภาพได้ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของผู้คน ความคิด ความเชื่อ โดยมีผู้คนเป็นโจทย์ใหญ่และเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจความหลากหลายของเมืองของผู้คน  

เครื่องมือทั้ง 7 ชนิดในการเก็บข้อมูลเมืองที่ธีรมลได้บอกเล่าไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจคนที่อยู่ในเมืองมากขึ้นนั้น มีดังนี้ 

1. Social Mapping ทำความเข้าใจพื้นที่มากขึ้นทางภูมิสังคม ศึกษาถึงความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ชีวภาพ วีถีชีวิต ประเพณี ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม

2. ศึกษาพงศาวดารหรือกลุ่มทุนในเมือง ในแต่ละพื้นที่ แต่ละย่าน 

3. การจัดองค์กรของกลุ่มคนต่างๆ ในพื้นที่ การทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาโครงสร้าง การลำดับความสำคัญ เพื่อให้เข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่

4. พื้นที่กับความสัมพันธ์ในแต่ละด้าน เช่น สุขภาพ สามารถทำการศึกษาร่วมกับหมอชาวบ้าน โรงพยาบาล หรือด้านการเดินทางสามารถศึกษาร่วมกับจุดเปลี่ยนถ่ายการโดยสาร

5. ปฏิทินของชุมชน คือ ประโยชน์และความสัมพันธ์การใช้งานของพื้นที่ตอนไหน ช่วงเวลาไหน และใช้งานอย่างไร เช่น ลานกว้างบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่มีการใช้งานในช่วงประเพณียี่เป็ง หรืองานปีใหม่เมือง หรือในพื้นที่การใช้งานไม่ได้เกิดขึ้นตลอดทั้งปีแต่ถูกกหนดไปตามแต่ละช่วงเทศกาลของเมือง

6.ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ช่วยอธิบายประวัติศาสตร์ของเมือง เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมบางอย่าง และการกระทำของผู้คนที่มีนัยยะของคน

7. เรื่องราวของผู้คนในพื้นที่ การสื่อสารกับคนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นจากมุมของคนนอก

ถ้าพูดถึงเฉพาะเชียงใหม่ เราจะพบว่าช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่มีความเปลี่ยนแปลงและพลวัตรสูง ด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยังคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมล้านนาและรับวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ไหลบ่าเข้ามา ดังนั้นการทำความเข้าใจเมืองเชียงใหม่ จึงต้องพร้อมทำความเข้าใจความหลากหลาย 

การออกแบบเมืองผู้คนที่อยู่ในเมืองต้องมีส่วนร่วมในการสังเกต ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตว่าเมืองพูดอะไร หรือกำลังส่งเสียงอะไร เช่น มีเสียงคนพูดภาษาจีน เสียงรถแดง หรือการสังเกตุวัตถุ ป้ายโฆษณาที่ถูกติดบนเสาไฟ  ภาพและสี ในแต่ละช่วงเวลาจึงมีความสำคัญมากว่ามีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ

เมืองมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น ผู้คนมีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น รวมถึงคนจีนเหล่านักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ ที่เข้ามาและเป็นโจทย์ใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง คือการสร้างการตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมและสามารถยืดหยุ่นได้  กิจกรรมต่างๆสามารถเป็นได้ทั้งกิจกรรมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ โดยมีการอธิบายความสำคัญ ความหมายของกิจกรรมนั้นๆ อย่าง การเดินสำรวจเมือง 

เชียงใหม่ เมืองที่ผสมผสานระหว่างขนบธรรมเนียมแบบเก่าและวัฒนธรรมสมัยใหม่จึงต้องหาจุดร่วม เพราะเมืองที่ดีนั้นสามารถออกแบบได้โดยยังคงเคารพความเชื่อของผู้คน และคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้อาศัยอยู่ในเมือง

พูดได้ว่า นี่คือหัวใจสำคัญในการออกแบบ


Contributor