21/11/2019
Environment

City Farming เมื่อเซินเจิ้นจับแปลงปลูกผักมาสู่แหล่งช้อปปิ้งกลางเมือง

สุธามาส ทวินันท์
 


คุณอาจเคยเห็นแปลงผักขนาดย่อมบนพื้นที่รกร้างในหมู่บ้าน ที่เพื่อนบ้านสักคนเข้าไปปลูกผักสวนครัวไว้ พอจะกินก็เดินออกมาเก็บไปประกอบอาหาร มองดูแล้วเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากบ้านคุณอยู่ในชุมชนชานเมืองหรือในต่างจังหวัด

แต่ถ้าคุณย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง ใช้ชีวิตอยู่บนคอนโดนิเนียมที่พื้นที่โดยรอบอัดแน่นไปด้วยตึกรามบ้านช่อง คงไม่พบเจอภาพวิถีชีวิตแบบนั้นอีกแล้ว ยิ่งใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยศูนย์การค้า เรายิ่งนึกภาพไม่ออกเลยทีเดียวว่าจะมีแปลงเกษตรเกิดขึ้น

ทว่าเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน กลับได้ทำให้ภาพเบลอๆ ที่เหมือนอยู่ในจินตนาการเหล่านั้น ออกมาเป็นรูปธรรมได้สำเร็จ เพราะเขาใช้แนวคิด City Farming

City Farming คือ แปลงเกษตรในเขตเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับคนที่ทำงานกับสัตว์และพืชเพื่อผลิตอาหาร ฟาร์มในเมืองมักเป็นสวนที่ดำเนินการโดยชุมชนซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับชุมชนและให้ความรู้ด้านการเกษตรและการทำฟาร์มแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเมือง ฟาร์มในเมืองจึงเป็นเสมือนแหล่งความมั่นคงด้านอาหารที่สำคัญสำหรับชุมชนหลายแห่งทั่วโลกโดยอาจจะมีตั้งแต่แปลงเล็ก ๆ ไปจนถึงฟาร์มขนาดใหญ่ที่ครอบครองพื้นที่หลายตารางเมตร

ทั้งนี้ ในอดีต เซินเจิ้นเป็นเพียงพื้นที่ทำเกษตรกรรมรายย่อยและเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่มีสภาพความเป็นอยู่เข้าขั้นยากจน แต่หลังจากรัฐบาลจีนมีนโยบายประกาศให้เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก พื้นที่เกษตรกรรมเหล่านั้นก็ถูกแทนที่ด้วยตึกสูงระฟ้าของสำนักงานใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และคอนโดมิเนียมจำนวนมาก  

ความเจริญขยายเข้ามาสู่ตัวเมืองอย่างรวดเร็วจนแทบไม่มีเค้าโครงเดิมเหลืออยู่ เซินเจิ้นกลายมาเป็น Urban Lifestyle เช่นเดียวกับมหานครใหญ่ของโลกหลายแห่ง และดูท่าการความเติบโตของเซินเจิ้นก็คงไม่หยุดลงเพียงเท่านี้ เพราะรัฐบาลจีนกำลังมียุทธศาสตร์ที่จะผลักดันเซินเจิ้น ให้เป็น “Silicon Valley of Asia” ซึ่งถ้าหากยุทธศาสตร์นี้ทำได้สำเร็จจริง คงสามารถขับเคลื่อนทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศและดึงผู้คนอีกมากมายให้หลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า

แน่นอนว่าการเติบโตของเมืองและการพัฒนาทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรลดลง และทำให้คนเมืองมีวิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ตัดขาดจากการไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชนบทอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรัฐบาลจีนเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนั้น จึงออกแบบโครงการ Landgrab City หรือแปลงเกษตรขนาดใหญ่ให้อยู่ใจกลาง Shenzhenwan Avenue (Nanshan) ย่านช็อปปิ้งสุดคึกคักของเมืองเซินเจิ้น แถมยังได้มูลนิธิ Bi-city Biennale  สถาบันที่ให้การสนับสนุนงานด้านศิลปะ การออกแบบและสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยดำเนินงาน พร้อม 3 สถาปนิก Joseph Grima, Jeffrey Johnson และ Jose Esparza เข้ามารับหน้าที่ออกแบบแปลงเกษตรขนาดยักษ์ใจกลางเมืองแห่งนี้ ที่จะช่วยให้ชาวชุมชนเมืองสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านอาหารได้มากขึ้น หรือมีพื้นที่สำหรับพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น

สำหรับการออกแบบ Landgrab City เผยให้เห็นแผนที่ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่ง คือ แผนที่ย่านดาวน์ทาวน์ที่แสดงความหนาแน่นของอาคารและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่อยู่ของคนเมืองถึง 4.5 ล้านคน ส่วนที่สองคือ สวนผักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของเมือง โดยแบ่งพื้นที่เป็นแปลงๆ ตามชนิดของอาหารประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ ซีเรียล และปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเราต้องกินอยู่เป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว

เกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการออกแบบพื้นที่นี้คือ การตั้งคำถามกับศักยภาพการผลิตอาหารต่อพื้นที่ โดยใช้แปลงผักแห่งนี้จำลองให้เห็นว่าการจะผลิต(ผัก)ต่อพื้นที่ได้นั้น ต้องทำเท่าไร และสามารถป้อนผลผลิตให้คนเมืองเซินเจิ้นได้กี่คน ถ้าหากต้องการป้อนผลผลิตให้คนเซินเจิ้นทั้งหมด 4.5 ล้านคน จะต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกเท่าไรกัน การออกแบบจึงเป็นการจำลองภาพปริมาณพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเลี้ยงคนเมืองเซินเจิ้นในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า

โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารให้คนเมืองรับรู้และตระหนักถึงปัญหาระบบการผลิตอาหารที่ไม่สมดุลกับจำนวนประชากรในเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นสิ่งที่หลายหัวเมืองใหญ่ทั่วโลกก็ต้องเผชิญอยู่ คนเมืองต่างก็ต้องพึ่งพาผลผลิตทางเกษตรจากพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ห่างไกล ทำให้ค่าอาหารมีราคาแพงเพราะค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นมา

นับเป็นการฉายให้เห็นภาพพื้นที่เกษตรใจกลางเมืองที่จะช่วยให้คนเมืองหันกลับมาฉุดคิด และตระหนักถึงความสำคัญของการทำเกษตรในเมืองกันมากขึ้น โดยรูปแบบการสื่อสารของ Landgrab City นี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนา และหลายเมืองของประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาคล้ายกับที่เซินเจิ้นกำลังเผชิญอยู่นั่นเอง

ส่วนในประเทศไทยบ้านเราเองก็มีโครงการสวนผักในเมืองอยู่กับเขาเหมือนกัน เพียงแต่มันไม่ได้ตั้งตะหง่านอยู่ใจกลางเมืองอย่างที่เซินเจิ้นทำ แปลงเกษตรในกรุงเทพส่วนใหญ่ยังคงเกิดขึ้นบนพื้นที่ที่ไม่ใช่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ แต่เป็นชุมชนเล็กตามชานเมืองที่พอจะมีพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ส่วนกลางสำหรับใช้เป็นแปลงเพาะปลูก  โดยบางพื้นที่จะอยู่ในความดูแลของมูลนิธิเกษตรยั่งยืนประเทศไทย แต่บางพื้นที่ก็เป็นคนในชุมชนลงแรง ลงเงินสร้างขึ้นมาเอง ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่รกร้างของกรุงเทพฯ อีกหลายแห่งที่ยังไม่ถูกทำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ หากบ้านเราสามารถจัดสรรพื้นที่เหล่านี้มาพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรในเมืองเช่น Landgrab City ก็จะช่วยให้เมืองกลับมีชีวิตชีวาได้มากขึ้นและสามารถพากรุงเทพฯ เข้าสู่การเป็น City Farming ได้อย่างแท้จริง

คำถามสุดท้ายก่อนจากกันคือ ถ้าใจกลางสยามมีแปลงผักขนาดใหญ่ คุณคิดว่าหน้าตามันจะเป็นอย่างไร ?

โดย สุธามาส ทวินันท์

อ้างอิง

https://inhabitat.com/an-urban-farm-sprouts-in-the-heart-of-shenzhen/

http://cityfarmer.info/landgrab-city-farm-in-urban-square-in-shenzhen-china/#more-3452

https://www.brandbuffet.in.th/2017/12/shenzhen-silicon-valley-of-asia/

http://www.environnet.in.th/archives/1416

http://www.thaicityfarm.com/2018/12/24/city-farm-shenzhen/


Contributor