20/05/2021
Public Realm

ส่อง 6 ฮอตสปอต นครโฮจิมินห์ซิตี เครื่องมือสร้างเมืองนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


ภาพปกโดย Photo by Q.U.I on Unsplash

รู้หรือไม่ กรุงเทพฯ มีแผนการพัฒนาย่านนวัตกรรมมากมายหลายพื้นที่ อาทิ ย่านรัตนโกสินทร์ ราชเทวี กล้วยน้ำไท ลาดกระบัง ปุณณวิถี ฯลฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ย่านนวัตกรรมเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองและประเทศ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนาม ที่มีแนวคิดในการพัฒนาย่านนวัตกรรมเช่นเดียวกัน วันนี้เราจะพาไปดูการสร้างย่านนวัตกรรมในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามอย่าง “นครโฮจิมินห์ซิตี้” (Ho Chi Minh City)

หลายคนอาจสงสัยว่าย่านนวัตกรรมมันคืออะไร?

ข้อมูลของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ระบุว่า ย่านนวัตกรรม (Innovation District) เป็นแนวคิดใหม่ของการวางแผนและออกแบบพื้นที่และสังคมเมืองบนหลักการของการพัฒนาเมือง หรือย่านที่ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้รวมกันเป็นคลัสเตอร์ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยและผู้ดำเนินกิจกรรมในย่าน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อผู้คนและไอเดียภายในย่าน (connecting) รวมถึงการมีกลไกที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน (co-creation) แบ่งปันความรู้ระหว่างกัน (knowledge sharing) ของชุมชน ธุรกิจ และหน่วยงานในพื้นที่

 โมเดลย่านนวัตกรรมแบบเกลียว 3 สาย (triple helix model of innovation district)

Romil Sheth ประธานบริษัท Sasaki ผู้ออกแบบและวางแผนย่านนวัตกรรมในโฮจิมินห์กล่าวว่า โฮจิมินห์ซิตี้ มีศักยภาพในการขยายตัวตามโมเดลเกลียว 3 สาย (the triple helix model) แบบดั้งเดิมของโครงสร้างย่านนวัตกรรม เกี่ยวข้องกับภาควิชาการ รัฐบาล และอุตสาหกรรม เพื่อให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมโดยตรงมากขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างนวัตกรรม ขณะเดียวกันก็ความให้ความสำคัญกับระบบนิเวศในระยะยาวและความยืดหยุ่นต่อสิ่งแวดล้อม (environmental resilience)

6 ฮอตสปอตสร้างเมืองนวัตกรรมโฮจิมินห์ซิตี

รัฐบาลเมืองโฮจิมินห์ซิตีได้เลือกสถาปนิกชาวสหรัฐฯ Sasaki และ enCity ซึ่งเป็นนักวางผังเมืองที่มีสำนักงานในเวียดนามและสิงคโปร์ มาพัฒนาแผนการสร้าง “Highly Interactive Innovative Districts” ทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทที่ได้รับเลือกจากทั้งหมดรายชื่อหกรายชื่อ เพื่อนำเอาแนวคิด “innovation hotspots” ไปดำเนินการออกแบบและวางผัง ซึ่งมีพื้นที่กว่า 22,000 เฮกตาร์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง รวมถึงพื้นที่ในเขต 2 เขต 9 และเขตถู่เดิก (Thu Duc District)

โครงการพัฒนาเมืองนวัตกรรมโฮจิมินห์ได้เสนอฮอตสปอตด้านนวัตกรรม 6 จุด สำหรับการลงทุนแบบแคตาลิติค (catalytic investment) ย่านนวัตกรรมที่วางแผนไว้ถูกมองว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเมืองและภูมิภาค โดยเชื่อมโยงการวิจัย การเป็นผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา อุตสาหกรรม และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่หลากหลาย

1. The Thu Thiem FinTech Hub

พื้นที่นี้ได้รับประโยชน์จากระยะทางที่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองของโฮจิมินห์ซิตีและด้านหน้าติดริมแม่น้ำไซงอน (Saigon River) การเชื่อมต่อระบบขนส่งที่มีอยู่จะมีการบูรณาการร่วมกับ Thu Thiem FinTech Hub เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายที่กว้างขึ้นและเปิดโอกาสให้มีการไหลเวียนของแนวคิดและเงินทุน

2 – The Rach Chiec Sports and Wellness Hub

พื้นที่นี้สร้างขึ้นจากความพยายามในการวางแผนก่อนหน้านี้เพื่อจะทำให้เป็นย่านกีฬา โดยมุ่งเน้นไปที่คะแนนนิยมที่จะเพิ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Rach Chiec เน้นย้ำถึงศักยภาพของโฮจิมินห์ซิตีในฐานะจุดหมายปลายทางระดับนานาชาติสำหรับนวัตกรรมด้านเวชศาสตร์การกีฬา ชีววิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายในการทำให้สภาวะของมนุษย์ดีขึ้น

3 – The Saigon Hi-Tech Park and Automated Manufacturing Hub

พื้นที่นี้สร้างจากกำลังการผลิตที่มีอยู่ โดย Saigon Hi-Tech Park มีขึ้นเพื่อส่งเสริมอนาคตของนวัตกรรมการผลิตและการออกแบบ เชื่อมต่อกับหน่วยงานวิจัยที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้น ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคการผลิตที่เข้มแข็งอยู่แล้วด้วยผลผลิตและวิธีการที่สร้างสรรค์

4 – The National University IT & EduTech Hub

พื้นที่นี้จัดให้มีคลัสเตอร์ของสถาบันการศึกษาอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม (The Vietnam National University) ที่จะสนับสนุนภารกิจด้านวิชาการของโรงเรียน ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เป็นพื้นที่รวมการพัฒนาสำหรับการวิจัย การศึกษา และการทำงานร่วมกัน เป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างความรู้ การผลิตและสนับสนุนการสอนทักษะและวิธีการใหม่ ๆ

5 – The Tam Da EcoTech Hub

พื้นนี้ใช้ประโยชน์จากสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติริมแม่น้ำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และศูนย์กลางการแปรรูปอาหารที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรเทคโนโลยี (agro-tech industries) เขต Tam Da เป็นเขตที่มีความอ่อนไหวต่อระบบนิเวศมากที่สุด ซึ่งการพัฒนาคลัสเตอร์ในพื้นที่สามารถรองรับการเติบโตใหม่ ๆ ที่อยู่ติดกับศูนย์กลางการขนส่งที่มีอยู่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อนุญาตให้มีการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม

6 – The Truong Tho Future Hub

คลัสเตอร์นี้ได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาท่าเรือริมแม่น้ำที่ล้าสมัยให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับโครงการสาธิตเมืองอัจฉริยะ ท่าเรือที่ยังใช้งานอยู่ถูกเปลี่ยนเป็นย่านใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นต้นแบบในการผสานรวมเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ากับชีวิตประจำวันทุกรูปแบบ โครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการขนส่งและการสื่อสารรูปแบบใหม่ เทคโนโลยีอาคารแบบปรับตัวได้ (adaptive building technology) และพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยข้อมูล (data-infused public realm) โดยมุ่งเน้นที่นวัตกรรมด้านศิลปะและความบันเทิงเป็นจุดเด่นของย่านนี้

โครงการนี้คำนึงถึงความเสี่ยงจากอุทกภัยที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ของเวียดนามโดยมีข้อแนะนำ 4 แนวทางหลัก

1) ใช้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนทางอุตสาหกรรมที่สำคัญ

2) ใช้ประโยชน์จากธนาคารที่ดินของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามที่มีอยู่ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูง

3) สร้างการลงทุนด้านการขนส่งล่าสุดต่อไป

4) กำหนดนโยบายที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีมูลค่าในเมือง ในขณะเดียวกันก็รักษาความอัตราการดูดซับของภูมิประเทศที่มีอยู่

ภาพจาก https://www.globalconstructionreview.com/news/ho-chi-minh-city-appoints-firms-develop-ambitious-/

4 กุญแจสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจในกระบวนการออกแบบวางแผน

การออกแบบวางแผนอนาคตของเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ขึ้นอยู่กับ 4 หลักการที่เป็นกุญแจสำคัญ ได้แก่

1) การเชื่อมต่อ (be connected) เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อทางกายภาพ ทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นเมื่อคนและไอเดียอยู่ใกล้กัน และในแง่ของการสื่อสาร เป็นการส่งเสริมให้เกิดบทสนทนาและความโปร่งใส 

2) ความแพร่หลาย (be ubiquitous) เป็นเรื่องสำคัญที่จะกระจายนวัตกรรมไปทั่วเมือง เพื่อให้มันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจโดยรวม (collective understanding) ต่ออัตลักษณ์ของโฮจิมินห์ซิตี หลีกเลี่ยงให้นวัตกรรมอยู่แค่ใน 1 เขต เพื่อเลี่ยงการปะทะกับแง่มุมอื่นของการใช้ชีวิตในเมือง แทนที่ด้วยการสร้างการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคท่ามกลางภาคส่วนที่หลากหลาย ซึ่งจะสนับสนุนสังคมผู้บริหารกิจการ (entrepreneurial culture) และช่วยสร้างให้เกิดสกิลเซ็ทสำหรับเจเนอเรชันต่อไป

3) ความเป็นสากลและชุมชน (be global and local) โฮจิมินห์ซิตียังคงอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครและดึงเอาวัฒนธรรมมาใช้ในการดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจของนวัตกรรมให้ผลประโยชน์กับทุกๆ คน

4) ความยืดหยุ่น (be resilient) โฮจิมินห์ซิตีเป็นเมืองที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่สุดแห่งหนึ่ง หลักการนี้จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสร้าสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (environmental sustainability) แต่ก็ต้องประยุกต์เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองในระยะยาว เสถียรภาพทางสังคม คุณภาพชีวิต และทำให้แน่ใจว่าย่านสามารถปรับตัวต่อเงื่อนไงและการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายได้

แหล่งข้อมูล

ชวนรู้จัก 6 ย่านนวัตกรรมใหม่ในกรุงเทพฯ พื้นที่สร้างโอกาสของสตาร์ทอัพไทย

Sasaki to Design Ho Chi Minh City Innovation District in Vietnam

INNOVATION SERVICE CENTER

Ho Chi Minh City appoints firms to develop ambitious plans for innovation hotspots


Contributor