22/03/2022
Mobility

เมื่อการออกจากบ้านไปทำงาน คือการเดินทางไกล

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ชรัณ ลาภบริสุทธิ์
 


“บ้านอยู่ฝั่งธนฯ แต่ทำงานอยู่รัชดา” หรือ “บ้านอยู่บางนา แต่ทำงานอยู่สาทร” หลายๆ คน คงได้ยินประโยคบอกเล่าในลักษณะแบบนี้ผ่านๆ หูกันมาบ้าง จากพนักงานออฟฟิศหรือพนักงานประจำตามบริษัท ห้างร้านต่างๆ หลายคนต้องออกจากบ้านตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นพ้นขอบฟ้า เพื่อเดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเศรษฐกิจและแหล่งงาน ด้วยระยะทางที่ไกลและต้องสู้รบแย่งชิงพื้นที่บนท้องถนนกับคนหมู่มาก เพื่อจะได้ไปถึงที่ทำงานได้ทันเวลา

สำหรับบทความ บ้าน ที่ทำงานและการเดินทาง จะบอกกล่าวเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงาน แท้จริงแล้วแหล่งงานบีบบังคับให้เราต้องเดินทางไกล หรือเพียงเพราะเราไม่สามารถอยู่ใกล้แหล่งงานได้

เพราะการออกจากบ้านคือการเดินทางไกล

กรุงเทพมหานคร เมืองที่ผู้คนเลือกที่จะซื้อรถก่อนซื้อบ้าน ซึ่งต่างจากเมืองอื่นๆ ที่ผู้คนมักจะซื้อบ้านก่อนซื้อรถ จากสถิติกรมการขนส่งพบว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนการจดทะเบียนรถยนต์มากถึง 10 ล้านคันในปี 2562 หรือคิดเป็นร้อยละ 63 จากปี 2554

นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการเดินทาง ในปี 2561 ของ Uber พบว่าคนกรุงเทพเสียเวลาไปกับรถติดบนท้องถนนและวนหาที่จอดรถเฉลี่ยวันละ 96 นาที โดยเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 72 นาที และวนหาที่จอดรถอีก 24 นาที หรือหากเทียบใน 1 ปี เราเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 584 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 24 วัน ซึ่งข้อมูลนี้ก็ดูเหมือนจะดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ผลการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางในปี 2555 ผ่านการจัดทำข้อมูลประกอบการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งพบว่า คนกรุงเทพใช้เวลาอยู่ในรถมากกว่า 800 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 1 เดือนกับอีก 3 วัน หากจะคิดให้สบายใจขึ้นคือ ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา เราเรียกคืนเวลาได้เพิ่มขึ้นมา 7 วันต่อปี ที่ไม่ต้องติดอยู่บนรถยนต์ แต่เมื่อดูภาพรวมก็ยังต้องบอกว่าเรายังมีกรรมกับการเดินทาง ซึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากการมีระบบขนส่งมวลชนทางรางที่ดีขึ้นและเชื่อมโยงมากขึ้น 

นอกจากนี้จากรายงานของ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ปี 2563 พบว่า อัตราเร็วในการเคลื่อนตัวของการเดินทางในกรุงเทพมหานครในชั่วโมงเร่งด่วนพบว่า ในเขตเมืองชั้นในมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 17 กม./ชั่วโมง ในขณะที่ในพื้นที่เมืองชั้นกลางและชั้นนอกอยู่ที่ 24 กม./ชั่วโมง และ 32 กม./ชั่วโมง ตามลำดับ จากดัชนีรถติดย้อนหลังพบว่าถนนสายหลักในกรุงเทพฯ หลายสายยังมีดัชนีติดรถที่สูงขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (Longdo Traffic, 2564) สามารถอนุมานถึงความสอดคล้องกับจำนวนปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ในบางครั้งใครหลายๆ คนต้องอยู่บนท้องถนนไม่ต่ำกว่า 30 นาทีหรือเลวร้ายที่สุดก็มากกว่า 2 ชั่วโมงสำหรับการเดินทางไปทำงานเทียบเท่ากับการเดินทางไปสิงคโปร์ และถือเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมชัดสำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะช่วงเดือนที่ผ่านมาเพราะ เจ้าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นกราฟชันยิ่งกว่าเขาพระสุเมรุและเพิ่มขึ้นรายวันเลยก็ว่าได้ ซึ่งนั่นก็คงสะท้อนผ่านรายจ่ายด้านค่าเดินทางที่สูงขึ้นตามไปด้วย

รถแทบจะไม่ใช่รถแล้ว แทบจะเป็นบ้านเคลื่อนที่หลังหนึ่ง

เป็นที่แน่นอนว่าเราคนเมืองกรุง ล้วนมีประสบการณ์ต่างๆ มากมายระหว่างการเดินทางที่แสนจะยาวนาน หลายคนต้องตื่นเช้าตรู่แล้วรีบออกจากบ้านเพื่อไม่ให้ติดแหง็กกับปัญหารถติด บางคนต้องตื่นเช้ามารอรถเมล์ซึ่งก็อาจจะจอดบ้างไม่จอดบ้าง แต่อย่างไรก็ตามระหว่างรอให้รถเคลื่อนที่ บางคนก็เลือกที่จะปรับเปลี่ยนห้องโดยสารเป็นห้องอาหารเพื่อรับประทานอาหารเช้า บ้างก็ใช้พื้นที่เป็นเหมือนโต๊ะเครื่องแป้งที่มีสกินแคร์ เครื่องสำอาง ในการบำรุงผิวหน้าและแต่งหน้าระหว่างรอ หรือในบางกรณีพื้นที่ในรถก็เปรียบเสมือน Sit-in Closet ที่มีเสื้อผ้าเตรียมพร้อมให้เลือกใช้ในหลายโอกาส

เพราะงานอยู่ไกลบ้าน

“บางครั้งความจริงกับความฝันก็สวนทางกัน” เมื่ออ่านครั้งแรกคงไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าหากเรามองย้อนกลับมาผ่านชีวิตและเรื่องราวของการทำงาน ก็คงจะเจ็บช้ำมากอยู่ไม่น้อย หลายคนมักจะเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการวิ่งตามความฝัน อยากทำงานในสายงานที่ตรงกับที่เรียนมาหรือทำงานในบริษัทที่ใฝ่ฝัน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือระยะทางที่ไกลจากที่อยู่อาศัยหรือบ้าน เนื่องจากแหล่งงานมีการกระจุกตัวอยู่ในใจกลางเมืองเป็นส่วนมาก แน่นอนว่าเมื่อใจกลางเมืองมีการกระจุกตัวของแหล่งงานมาก ย่อมเกิดรูปแบบการใช้พื้นที่อย่างเข้มข้น รวมถึงข้อได้เปรียบจากการรวมกลุ่มและการเเข่งขันภายในของย่านธุรกิจศูนย์กลางเมือง

การศึกษาระดับความแตกต่างของค่าจ้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2560 พบว่า ในพื้นที่แหล่งงานอย่าง สาทร-สีลม อโศก-เพชรบุรี ปทุมวัน พระราม 9 และอารีย์ มีเงินเดือนเริ่มต้นงานใหม่ที่สูงที่สุด (Intra-urban Wage Premium) ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเเม้จะเป็นงานประเภทเดียวกัน แต่หากอยู่ในพื้นที่เหล่านี้มีโอกาสที่จะได้รับค่าจ้างเงินเดือนที่สูงกว่าย่านอื่นๆ ในย่านสีลม-สาทร มีการจ่ายเงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่าย่านอื่นๆ เมื่อเทียบกับการเลือกทำงานลักษณะเดียวกันในพื้นที่ย่านชานเมืองถึง 14.6% และการทำงานในย่านอโศก-เพชรบุรี จะให้ผลตอบแทนจากการเติบโตของเงินเดือนสูงที่สุดถึง 9.3% ต่อปี (baania, 2561) ด้วยเงินเดือนที่สูงจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ผู้คนเลือกเข้ามาทำงานในย่านใจกลางเมือง แต่ในขณะเดียวกันราคาคอนโดมิเนียมก็มักจะสูงตามขึ้นไปด้วย 

ในทางกลับกันหลายคนก็เลือกที่จะทำงานอยู่ใกล้บ้าน ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ไม่อยากสู้รบกับคนหมู่มากในการเดินทาง ไม่อยากตื่นเช้าจากการที่ต้องเดินทางไกล เป็นต้น แน่นอนว่าการทำงานใกล้บ้านในบางพื้นที่ก็ต้องประสบพบเจอกับแหล่งงานที่ไม่หลากหลาย รูปแบบงานที่มีน้อยนิด หรืออาจจะไม่ใช่งานในรูปแบบมีเราต้องการ แต่ก็ต้องฝืนทำเพียงเพราะว่าอยู่ใกล้บ้าน หรือในบางคนก็อาจจะมีความสุขกับการทำงานในพื้นที่ตรงนั้นก็เป็นได้

สุดท้ายแล้วไม่ว่าการทำงานที่ไกลบ้านหรือการทำงานที่อยู่ใกล้บ้าน ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจจากปัจเจกบุคคล และไม่ว่าเลือกทางไหนก็อาจจะต้องเลือกข้อดีข้อเสียเปรียบเทียบกันไป

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปัจจุบันที่เกิดขึ้น แหล่งงานเริ่มกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ชานเมืองมากขึ้น งานบางประเภทไม่จำเป็นต้องมีที่ตั้งสำนักงานในพื้นที่ศูนย์กลางเมือง แต่ใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารหรือเทคโนโลยีในการทำงานที่สูงขึ้นทดแทนความจำเป็นในการเลือกทำเลที่ตั้งในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่ยังมีราคาค่าเช่าพื้นที่สำนักงานที่ยังคงมีราคาสูงอยู่มาก ทำให้พื้นที่แหล่งงานนั้นมีการขยายตัวออกไปจากพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งทำให้พื้นที่รอบนอกมีโอกาสในการทำงานที่หลากหลายขึ้น 

เมื่อบ้านกลายเป็นที่ทำงาน

จนกระทั่งเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งนั้น แน่นอนว่าประเทศไทยก็ต้องโดนไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่ไม่คาดคิดกับรูปแบบของชีวิตที่เปลี่ยนไป หลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 หลายกิจการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ หลายบริษัทต้องปิดตัวลง แต่ในบางบริษัทก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกะทันหัน เกิดการปรับตัวที่เรียกได้ว่าจากหน้ามือสู่หลังมือ จนเกิดเป็นรูปแบบการทำงานใหม่ที่ต่างเรียกว่ากันว่า วิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอล (New Normal) เมื่อทุกคนต้องใช้พื้นที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่การทำงาน ปรับเปลี่ยนการประชุมจากการรวมกลุ่มเป็นการประชุมแบบออนไลน์ เป็นต้น

สถานการณ์ในช่วงโควิด-19 จึงเป็นตัวกระตุ้นรูปแบบการทำงานที่ยึดโยงกับรูปแบบพื้นที่ทำงานให้น้อยลงไปอีก ในรูปแบบการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และถือเป็นความปรกติใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเปลี่ยนจากความแปลกใหม่สู่ความเคยชินและคุ้นเคย เพราะในปัจจุบันการทำงานอยู่กับบ้านนั้นถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แน่นอนว่าใครหลายๆ คนไม่ต้องเดินทางเพื่อไปทำงานในใจกลางเมือง หรือพื้นที่ละแวกใกล้บ้าน กลายเป็นว่าช่วงเวลาที่เคยใช้ไปกับการเดินทางถูกแปรเปลี่ยนไปใช้ในรูปแบบอื่นมากขึ้น ทั้งการรับประทานอาหารเช้าแบบไม่ต้องเร่งรีบ ได้เวลานอนเพิ่มขึ้น การไม่ต้องเสียเวลาเพื่อแต่งหน้า หรือการไม่ต้องเผชิญกับปัญหารถติด เป็นต้น

พอมาถึงตรงนี้ บริบทที่เปลี่ยนไปนอกจากวิถีชีวิต คือ รูปแบบของการพัฒนาคุณภาพของพื้นที่เมือง ซึ่งเดิมต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐาน ระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการในพื้นที่ “ไข่แดง” ของเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจศูนย์กลางเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาจจะไม่พอ เพราะผู้คนใช้ชีวิตในระดับ “ละเเวกบ้าน” กันมากขึ้น เราเดินออกไปตลาดหน้าปากซอย ซื้อของในพื้นที่ตลาดใกล้บ้าน เราต้องการเดินออกกำลังกาย เดินเล่นในสวนใกล้บ้าน นี่คือสิ่งที่จะปรับเปลี่ยนหน้าตาของเมืองแห่งนี้ไปอีกมาก ทั้งในเรื่องของการอยู่อาศัย การทำงาน และการเดินทาง ซึ่งคงต้องคอยติดตามกันต่อไป

ท้ายที่สุดแล้วอยากจะชวนผู้อ่านทุกท่านแสดงความคิดเห็น จริงหรือไม่ที่งานทำให้เราต้องเดินทางไกล เพียงเพราะเราไม่สามารถอยู่ใกล้แหล่งงานได้ และก็น่าจะเป็นความท้าทายอีกประการในเรื่องของความจำเป็นของพื้นที่ออฟฟิศ สำนักงานในเมืองว่าจะมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ในเมื่อทุกคนสามารถเรียนรู้และปรับตัวกับการทำงานอยู่ที่บ้านได้แล้ว หรือความจริงแล้วเราก็ยังคงต้องการพื้นที่ภายนอกเพื่อพบปะ ต้องการพื้นที่ทำงานรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นเพียง “คอกทำงาน” เท่านั้น สุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงด้านการเดินทางเคลื่อนย้ายในเมือง เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าจะมีรูปแบบเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อเราเลือกที่จะทำงานอยู่ที่บ้านกันได้แล้ว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS


Contributor