19/03/2021
Environment

ชุมชนเก่ากับการฟื้นฟูเมือง ย้อน Day 1 ของเส้นทางการมีส่วนร่วมฟื้นฟู “สะพานเขียว”

ชยากรณ์ กำโชค
 


เรื่อง/ภาพ โดย ชยากรณ์ กำโชค

ทางเดินลอยฟ้าทาสีเขียว เชื่อมต่อสองสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ขนาบด้วยรั้วสแตนเลส มีต้นไม้ใหญ่แซมอยู่บ้างข้างทาง มีป้ายและสัญลักษณ์จราจรทางเดินทางจักรยาน พร้อมฉากหลังเป็นกลุ่มอาคารสูงรอบด้าน 360 องศา ทอดสายได้ไกลถึงย่านเพลินจิต-ชิดลม อโศก-สุขุมวิท สามย่าน พระรามสี่ ฯลฯ 

ลงตัวด้วยองค์ประกอบทั้งหมด จึงไม่แปลกใจเลยที่ “สะพานเขียว” จะเป็นพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้คนจำนวนไม่น้อย เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวถ่ายรูป หากยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้สะพานเขียวแตกต่างจากทางเดินลอยฟ้าทั่วไปในเมืองใหญ่แห่งนี้ นั่นคือ ชุมชน

อาคารบ้านเรือนโดยรอบโครงการสะพานเขียว คือ ชุมชนโปโลและชุมชนร่วมฤดี ที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจใจกลางเมือง ก่อนโครงการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าแห่งนี้จะเริ่มเปิดใช้งานเมื่อปี 2540 เรียกได้ว่า ทั้งสองชุมชนเป็นชุมชนเก่าในพื้นที่ใจกลางเมืองที่ยังปรากฏอยู่แห่งท้ายๆ ของกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ 

ในอดีต การมีอยู่ของทางเดินลอยฟ้าในฐานะ “เพื่อนบ้าน” อาจก่อประโยชน์อยู่บ้างในฐานะพื้นที่เชื่อมต่อการเดินทางและออกกำลังกายในช่วงเช้าและเย็น ทว่า เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากชุมชนในด้านหนึ่ง ก็ยากจะปฏิเสธว่า สะพานเขียวยังเป็นพื้นที่อันตราย เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เป็นพื้นที่มั่วสุม ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทั้งบนและใต้โครงสร้างสะพาน ที่สำคัญคือตัดแทนชุมชนกับพื้นที่เมืองเสียด้วยซ้ำ 

หากมีคำกล่าวที่ว่า “เมืองเป็นปัญหาและทางออกในตัวเอง” สะพานเขียวก็คงไม่ต่างกัน 

นี่จึงเป็นที่มาของโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว โดย สำนักการโยธา กทม. ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และภาคีวิชาชีพสถาปนิก ประกอบด้วย ATOM Design, Studio TAILA, Landscape Collaboration และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 

แน่นอนว่า ชาวชุมชนคือ “พาร์ทเนอร์” คนสำคัญของโครงการ 

นับหนึ่ง…ถึงสะพานเขียว

22 สิงหาคม 2562 เป็นวันแรกที่ชาวชุมชนโปโลและชุมชนร่วมฤดี ได้พบปะหารือกับคณะทำงาน UddC-CEUS ผ่านกระบวนการร่วมหารือ ณ ห้องประชุม โบสถ์พระมหาไถ่ สาระสำคัญเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของชุมชนต่อการใช้งานสะพานเขียว ผ่าน 2 คำถามสำคัญ คือ เราควรปรับปรุงสะพานเขียวอย่างไร และ เราจะบริหารจัดการอย่างไรหลังฟื้นฟู

กระบวนการร่วมหารือ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 คิกออฟให้เกิดการประชุมหารือระหว่างคณะทำงานและชุมชนอีกหลายต่อหลายครั้ง ด้วยหลากหลายรูปแบบการสนทนา ทั้งการเคาะประตูบ้านสอบถามความเห็น ล้อมวงสนทนาที่มัสยิดอินโดนีเซีย หรือชวนกันเดินสำรวจสะพานเขียวในยามวิกาล เพื่อทดสอบระบบความปลอดภัยและไฟฟ้าส่องสว่าง หรือกระทั่งเดินเรื่อยไปถึงย่านเพลินจิตเพื่อให้เห็นศักยภาพด้านการเชื่อมต่อของสะพานเขียว ในฐานะพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง

หลายต่อหลายครั้งที่ผู้นำบทสนทนาคือชาวชุมชนนั่นเอง

กระทั่งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศเดินหน้าโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวเพื่อเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่จะส่งเสริมโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจของเมือง

ของขวัญปีใหม่ให้ชุมชนปี 2020 

กระบวนการร่วมหารือดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2562 ไปพร้อมกับการประชุมร่วมกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับชาวชุมชน เช่น การเคาะประตูบ้านเพื่อสอบถามความคิดเห็นเพิ่มเติม ตลอดจนการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับสาธารณะ ผ่านข่าวสารและบทความ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในมุมมองของผู้ใช้งานภายนอก 

กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 หรือตรงกับวันคริสต์มาสอีฟ UddC-CEUS ในฐานะหัวหน้าทีมออกแบบโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว ได้นำแบบร่างการฟื้นฟูเสนอต่อชาวชุมชน คล้ายเป็นการ “ส่งการบ้าน” หลังจากดำเนินกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา 

เรียกกิจกรรมที่เกิดขึ้นว่า มอบสะพานเขียวเป็นของขวัญให้ชุมชน “สองศูนย์ สองสวน”

ในวันนั้น ชาวชุมชนโปโลและชุมชนร่วมฤดี ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เดินทางมาร่วมกิจกรรมที่โบสถ์พระมหาไถ่อย่างอบอุ่น เพื่อรับฟัง ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS และคณะทำงาน อธิบายรูปแบบการฟื้นฟู ตลอดจนประโยชน์ที่ชุมชนและเมืองจะได้รับ พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างที่ทำเสมอ 

ทั้งยังได้รับเกียรติจาก ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร คุณหญิงอิสริยาภรณ์ ปัญจมานนท์ นายกสโมสรไลออนส์อาภาภิรมย์ พลอากาศโท รศ.นิกร ชำนาญกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย (ในพระบรมราชูปถัมภ์)  ให้เกียรติร่วมกิจกรรม มีสื่อมวลชนอีกหลายสำนักร่วมนำเสนอข่าวสาร

พิเศษสุดเห็นจะเป็น “เสื้อทีเชิ้ต” สีเขียวอมฟ้า สกรีนลาย “สองศูนย์ สองสวน” ที่ชาวชุมชนโปโลและชาวชุมชนร่วมฤดีรวมใจกันสวมใส่ เพื่อแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจฟื้นฟูสะพานเขียวในอนาคตอันใกล้  

สองศูนย์ สองสวน กับ โควิด-19 : อุปสรรคและโอกาส 

“Bridge of Light สองศูนย์ สองสวน” เดิมมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ตรงกับวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเปิดสะพานเขียวให้ผู้คนเข้ามาใช้งาน ผ่านเทศกาลแสงสีศิลป์สุดโรแมนติก เพื่อชวนคนเมืองร่วมกับถอยหลังการฟื้นฟูสะพานเขียวครั้งใหญ่ ร่วมกับคณะทำงานโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวและชาวชุมชนโปโล-ร่วมฤดี

UddC-CEUS ในฐานะแม่งานได้หารือกับภาคีศิลปินชาวไทย ที่อาสาจัดแสดงผลงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ สร้างสีสันให้สะพานเขียว อาทิ เชิดศักดิ์ เจ้าของผลงานยักษ์คิ้ว พร้อมด้วยศิลปินคนรุ่นใหม่ที่จะผนึกกำลังสร้างสีสันให้ชุมชน อาทิ ONGA KHOPFAH DON BOY เคล้าเสียงดนตรีจากนักเรียนโรงเรียนพระมหาไถ่ มัสยิดอินโดนีเซีย และกลุ่มลีลาศสวนลุมพินี

ที่สำคัญยังได้รับความสนใจจากนักออกแบบแสงไฟมืออาชีพ นำทีมโดย ผศ. ดร.จรรยาพร จุลตามระ ผู้ฝากผลงานสุดปังในเทศกาล “ศิลป์ในซอย” ย่านกะดีจีน-คลองสาน และ Dr. Elettra Bordonaro จาก บริษัท Light Follows Behaviour Limited จากประเทศอังกฤษ ผู้พลิกโฉมพื้นที่สาธารณะกรุงลอนดอนและหลายแห่งทั่วโลกผ่านศิลปะแสงไฟ ร่วมจัดแสดงผลงาน

เป้าหมายประการสำคัญของเทศกาล “Bridge of Light สองศูนย์ สองสวน” คือ การเปิดบ้านของชาวชุมชนให้คนเมืองได้รู้จักและเรียนรู้ โดยมีสะพานเขียวเป็นตัวเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ ทั้งยังถือเป็นการแนะนำโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว ในฐานะพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่มีจะส่วนเสริมสร้างสุขภาวะทางกายและจิตใจของคนเมือง ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ชาวชุมชน จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว

น่าเสียดายที่นับแต่เดือนมกราคม 2563 เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ คณะทำงานที่แม้อยู่ระหว่างการเตรียมการอยู่นั้น จึงตัดสินใจชะลอการจัดกิจกรรมออกไปอย่างไม่มีกำหนด กระทั่งโควิด-19 ได้กลายเป็นวิกฤตของมนุษยชาติในเวลาถัดมา

ภาวะล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นในช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงเป็นเหตุให้โครงการฟื้นฟูสะพานเขียวต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด คงเหลือไว้เพียงการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยสำนักการโยธา กทม. เพื่อเสริมความแข็งแรงให้โครงการ เพิ่มเติมแสงสว่าง และกล้อง CCTV ทว่า ในอุปสรรคยังมีโอกาสให้เห็นอยู่

ดังที่งานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลก ระบุว่า การกักตัวในที่อยู่อาศัยส่งผลให้ผู้คนถวิลหาชีวิตนอกบ้านมากขึ้น เช่นเดียวกัน สะพานเขียวที่เคยเป็นที่รู้จักของคนเฉพาะกลุ่ม กลายเป็นที่รู้จักของคนหลากหลายกลุ่ม โดยมีสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อกลาง ชาวชุมชนถึงกับเอ่ยปากว่า ไม่เคยเห็นภาพเช่นนี้มาก่อนบนสะพานเขียวนับตั้งแต่ใช้ชีวิตกับโครงสร้างลอยฟ้าแห่งนี้มา 20 ปี

กระทั่งเดือนตุลาคม 2563 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ประชุมร่วมกับ UddC-CEUS เดินหน้าโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวอีกครั้ง ในฐานะโครงการ “ซูเปอร์คอนเนคเตอร์” ระดับเมือง เชื่อมระหว่างสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา กับ ย่านอโศก-มักกะสัน

และนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของความร่วมมือในภาคีวิชาชีพสถาปนิก เมื่อ UddC-CEUS ได้จับมือกับ ATOM Design, Studio TAILA, Landscape Collaboration และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าออกแบบแผนการฟื้นฟูอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่สี่แยกสารสิน ใกล้ทางเข้าสวนลุมพินี เรื่อยไปถึงทางเข้าสวนเบญจกิติ ถ.รัชดาภิเษก มีเป้าหมายเพิ่มความเขียว สร้างแลนด์มาร์ก พื้นที่การเรียนรู้ของเมือง และห้องนั่งเล่นแห่งใหม่ของชาวชุมชน

แน่นอนว่า ชาวชุมชนโปโลและชุมชนร่วมฤดีคือภาคีที่คณะทำงานยังจับมืออย่างเหนียวแน่น

 “ชุมชนโปโล-ชุมชนร่วมฤดี” You always be my day 1 

ช่วงเย็นของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 หลังเวลาเลิกงาน เป็นเวลานัดหมายระหว่างคณะทำงานโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว กับชาวชุมชนโปโล-ชุมชนร่วมฤดี เพื่อหารือรับฟังความเห็นต่อแนวทางการออกแบบ ที่คืบหน้าเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ใต้ร่มจามจุรีบนสะพานเขียว ท่ามกลางผู้คนที่กำลังใช้งานพื้นที่สาธารณะแห่งนี้อย่างมหาศาล คือห้องประชุมของพวกเรา บรรยากาศอันคึกคักที่แวดล้อมผู้เข้าร่วมประชุม ก่อให้เกิดบทสนทนาเริ่มต้นว่าด้วย “สะพานเขียวฟีเวอร์” ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจ เกิดคำถามในครัวเรือนถึงกิจกรรมรองรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนข้อสังเกตที่ว่า สะพานเขียวน่าใช้งานมากขึ้น ไม่เปลี่ยว รู้สึกปลอดภัย เมื่อมีผู้คนเข้ามาร่วมใช้งาน

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS นำเสนอแผนการฟื้นฟูที่ดำเนินการร่วมกับสำนักการโยธา กทม. และภาคีเครือข่ายสถาปนิกนักออกแบบ แบ่งเป็น 5 องค์ประกอบหลัก ก่อนที่จะรับฟังข้อเสนอเพิ่มเติมจากชาวชุมชน ประกอบด้วย

The Sky Green Bridge เพิ่มความเขียวให้สะพานเขียวได้เขียวสมชื่อ ด้วยการเพิ่มเติมพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศกรุงเทพฯ เน้นพืชที่บำรุงรักษาง่าย พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของสะพานให้รับน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมทางลาดให้เหมาะสมกับกิจกรรมการเดิน-วิ่ง-ปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ยังมีแผนติดตั้งอัฒจันทร์สำหรับชมทัศนียภาพและศาสนสถานสำคัญ 2 ข้างทาง คือ โบสถ์พระมหาไถ่ของชาวคริสต์ และมัสยิดอินโดนิเซียของชาวมุสลิม

The New City Landmarks จุดหมายตาแห่งใหม่ของเมืองที่ใจกลางกรุงเทพฯ สะท้อนแนวคิดหลักของโครงการ “THE NEW ICONIC URBAN SPACE” แลนด์มาร์กจะจัดวางใน 3 จุดสำคัญตลอดระยะ 1.3 กิโลเมตรของสะพานเขียว ประกอบด้วย สะพานลอยข้ามแยกวิทยุ-สารสิน, ทางลอยฟ้าเหนือทางพิเศษมหานคร, สะพานลอยถ.รัชดาทางเข้าสวนเบญจกิติ ทั้ง 3 จุดออกแบบให้สวยงาม โดดเด่น กลมกลืนกับพื้นที่บนสะพานเขียว มีโครงเหนือหัวที่สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นบางช่วง และเน้นวัสดุที่โปร่งเพื่อให้ความรู้สึกน่าสบายในการใช้งาน

The Learning Wetland ออกแบบสะพานเขียวโซนคลองไผ่สิงห์โตใกล้สวนเบญจกิติและโรงงานยาสูบ เป็นสวนลอยน้ำแห่งการเรียนรู้ ที่อุดมไปด้วยพืชที่มีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมจัดวางทางเดินลอยน้ำที่ยืดหยุ่นไปตามระดับน้ำขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ของเมืองเรื่องการบำบัดน้ำเสีย

The New Common Space พื้นที่ส่วนกลางแห่งใหม่ของชุมชน ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ใต้สะพานเขียวเหนือคลองไผ่สิงห์โต ที่เดิมมีลักษณะมืดทึบและเข้าถึงการใช้งานได้ยาก สู่พื้นที่ทำกิจกรรมอเนกประสงค์ของชุมชนที่เปิดโล่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี และมีแสงสว่างใช้งานตลอดทั้งวันทั้งคืน พร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำใต้สะพานให้สะอาด

The Bridge of Light ไม่เพียงเป็นการจัดวางศิลปะแสงไฟในพื้นที่สาธารณะ ที่ดึงดูดให้ชุมชนและคนทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ในยามค่ำคืนเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเสริมความปลอดภัยและความรู้สึกปลอดภัยต่อการใช้งานสะพานเขียวอีกด้วย แสงสว่างในยามค่ำคืนจำเป็นต้องเพียงพอต่อกล้องซีซีทีวีเมื่อจับใบหน้าผู้ใช้งาน ขณะเดียวกันก็ออกแบบแสงให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยรอบ และไม่กระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า

ภายหลังกระบวนการร่วมหารือ ทีมออกแบบได้รับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อันมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาแบบร่างขั้นสมบูรณ์ ก่อนที่สำนักการโยธา กทม. จะดำเนินการก่อสร้างต่อไปให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

ความจริงแล้ว ภาพที่ชุมชนได้เห็นล้วนเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นใน Day 1 นั่นเอง

ภาพหมู่หลังการประชุมครั้งแรก 22 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุม โบสถ์พระมหาไถ่

Contributor