18/02/2020
Public Realm

เมืองใหม่ยุค Baby Boomer และ การชุมนุมในปี 1968

อดิศักดิ์ สายประเสริฐ
 



ปี 2019 ที่ผ่านมามีการชุมนุมประท้วงในหลากหลายเมืองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในฮ่องกงที่มีสาเหตุจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การประท้วงการขึ้นค่าระบบขนส่งในซานติอาโกของชิลี การชุมนุมต่อต้านการเปลี่ยนระบบสวัสดิการในปารีสฝรั่งเศส เมื่อขมวดปมของหลายเหตุการณ์ 

คำถามก็คือ การวางแผนรูปแบบเมืองนำไปสู่การชุมนุมประท้วงได้อย่างไร?

เพื่อตอบคำถามนี้ จึงอยากจะพาย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในปี 1968 ซึ่งเกิดจากการวางแผนเมืองรูปแบบใหม่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

การวางผังเมืองหลังสงครามและ Baby Boomers 

เมื่อย้อนกลับไปยังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเมืองและผู้คนเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นช่วงที่รัฐบาลต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าและซ่อมแซมเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงได้เกิดการวางแผนเมืองรูปแบบใหม่ ที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ทางการทหารกับการจัดการพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเมืองแบบเดิม

สหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้เสียหายจากสงครามมากนักต้องการกระจายเมืองไปยังพื้นที่ใหม่ๆ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘New Towns Movement’ เพื่อลดความแออัดในเมืองอุตสาหกรรม มีการย้ายโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งการสร้างโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อรองรับประชากรที่จะเป็นกำลังทางทหาร เพราะแม้จะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น สหรัฐได้ส่งทหารหลายแสนนายไปประจำการในประเทศพันธมิตร ฉะนั้นจึงเกิดลักษณะการขยายเมืองไปพร้อมกับการขยายอุตสาหกรรมทางทหาร เช่น Willow Run ในมิชิแกนที่กลายเป็นเมืองผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Los Alamos ในนิวเม็กซิโกกลายเป็นเมืองพัฒนาระเบิดปรมาณู รวมไปถึงการเปลี่ยนเมืองตอนกลางฝั่งตะวันตกให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเครื่องบิน

เมื่อสภาคองเกรสได้เห็นชอบ G.I.Bill. หรือกฎหมายที่สนับสนุนให้ทหารเข้าศึกษาต่อในระดับ ปวส. หรือ อุดมศึกษา จึงได้เกิดแนวคิดการปรับเมืองทหารสู่เมืองการศึกษา (College Town) ถือเป็นยุคทองของสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา มีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นหลายร้อยแห่ง โดยมุ่งหวังว่าการเรียนและการทำวิจัยจะช่วยให้สหรัฐฯเข้าใจสถานการณ์ในช่วงสงครามเย็นมากขึ้น ทำให้เกิดการกระจายแคมปัสของมหาวิทยาลัยไปพื้นที่ต่างๆที่อยู่ไม่ไกลจากฐานทัพ เช่น the University of California ที่มีถึง 10 แคมปัส ในขณะที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียมีฐานทัพทหารมากถึง 14 แห่ง หรือมหาวิทยาลัยของรัฐในเท็กซัสที่มีมากถึง 34 แห่ง และมีฐานทัพทหาร 13 แห่ง Blake Gumprecht นักภูมิศาสตร์ได้กล่าวว่า College Town ในสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นปรากฎการณ์ที่สถาบันการศึกษามีบทบาทนำในการพัฒนาพื้นที่ในเมืองอย่างสูง มากกว่ายุโรปที่เต็มไปด้วยมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในเมืองใหญ่

อย่างไรก็ตาม ยุค60 หรือ ช่วงทศวรรษ 1960 ถือว่าเป็นยุคมาพร้อมกับปรากฎการณ์เบบี้บูม ส่งผลให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วงปี 1946-1964 มีเด็กเกิดใหม่ในสหรัฐอเมริกามากถึง 76 ล้านคน ในขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวที่กำลังโตขึ้นก็มาพร้อมกับการตั้งคำถามต่อประเด็นสังคม ทั้งการที่รัฐทุ่มงบเพื่อทำสงคราม การเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสี และความเสื่อมโทรมของระบบทุนนิยม ซึ่งมีการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง ค.ศ. 1968 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางความคิดของสังคมโลก เนื่องจากเป็นปีที่มีการชุมนุมประท้วงในกันหลายเมือง เช่น เม็กซิโกซิตี้ ดีทรอยต์ โตเกียว ปราก ปารีส  

เหตุการณ์ May 1968 ในปารีส

ฝรั่งเศสในช่วงปี 1946-1968 ก็มีประชากรเพิ่มมากขึ้นเกือบ 10 ล้านคน ผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มจาก 129,000 คน ในปี 1946 เป็น 540,000 คน ในปี 1968 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า รัฐบาลของชาร์ล เดอ โกล ที่เข้ามาบริหารฝรั่งเศสในปี 1958 จึงมีนโยบายสร้างขยายแคมปัสของมหาวิทยาลัยดั้งเดิมไปยังพื้นที่ชานเมืองมากขึ้น 

มหาวิทยาลัยปารีส-น็องแตร์ ก่อกำเนิดขึ้นจากรูปแบบการพัฒนาพื้นที่โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นตัวนำ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสหรัฐอเมริกาโดยมักสร้าง campus ใหม่นอกเมือง ทำให้มหาวิทยาลัยมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและเวนคืนในราคาถูก คาดหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ดังกล่าวจะนำมาซึ่งความเจริญและการกลายเป็นเมืองการศึกษา ต่างจากแนวคิดการสร้างมหาวิทยาลัยดั้งเดิมของฝรั่งเศสที่มักจะสร้างแคมปัสขนาดเล็กในเมือง เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยได้โดยง่าย  

แคมปัสใหม่สร้างในพื้นที่ชานเมืองห่างจากแคมปัสเดิมที่อยู่ใจกลางปารีสถึง 15 กิโลเมตร และด้วยการเป็นแคมปัสใหม่จึงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ ทั้งหอพักนักศึกษา ระบบขนส่งภายในมหาวิทยาลัย สัดส่วนนักศึกษาที่มีจำนวนมากเกินกว่าที่มหาวิทยาลัยและอาจารย์จะรับไหว (ในทางหนึ่งก็มีความคล้ายคลึงกับการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของไทย) ความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ส่งผลให้นักศึกษาไม่พอใจรัฐบาลเป็นอย่างมาก แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะประกอบไปด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส แต่ก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นจนประชาชนพอใจได้ 

การชุมนุมประท้วงเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 1968 นำโดยกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น นอกจากนั้นมีผู้เข้าร่วมชุมนุม ทั้งศิลปิน นักเขียน แรงงานที่ประกาศหยุดงานเพื่อเข้าร่วมชุมนุม จนกระทั่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายแสนคนทั่วกรุงปารีส กลุ่มผู้ประท้วงยกระดับข้อเรียกขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล ท้ายที่เดอ โกล ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่และไม่ลาออกจากตำแหน่งทันที อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งกลับพบว่าพรรคฝ่ายขวาได้ที่นั่งในสภาถึง 354 ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายได้เพียง 124 ที่นั่ง 

ผลสะเทือนจาก May 1968 ต่อการศึกษาเรื่องเมือง

อองรี เลอเฟบเรอะ ศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยาซึ่งสอนที่น็องแตร์ตั้งแต่ปี 1965 และเข้าร่วมเหตุการณ์ 1968 ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Urban Revolution ว่า การปฏิวัติ 1968 เป็นปัญหาของสังคมเมือง อันเป็นผลมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมือง จากเดิมที่เมืองทำการเกษตรเปลี่ยนมาทำการค้าขาย และกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีโรงงานจำนวนมากและการอยู่อาศัยที่หนาแน่น ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบทุนนิยมมีความย้อนแย้งในตัวเอง เมืองเติบโตไปพร้อมกับความแปลกแยกของผู้คนที่อยู่อาศัย เมื่อความแปลกแยกของเมืองถึงจุดสุกงอม เหตุการณ์ 1968 จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เหตุการณ์ 1968 ที่จบลง ส่งผลให้การวิพากษ์สังคมกลายเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาเมืองทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก ซึ่งถ้าหากจะเข้าใจเรื่องเมืองก็ต้องทำความเข้าใจกระบวนการสะสมทุนของเอกชน การพัฒนาเมืองที่ถูกแทรกแซงโดยรัฐ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การขูดรีดและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในเมืองแบบทุนนิยม นักคิดที่ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการวิพากษ์ ได้แก่ อองรี เลอเฟบเรอะ (Henri Lefevrve) นักสังคมวิทยาที่บุกเบิกการศึกษาเรื่องเมืองแนววิพากษ์ เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) นักภูมิศาสตร์ที่ได้เขียนงานวิพากษ์เมืองจำนวนมากและมีการแปลเป็นไทยหลายเล่ม เช่น ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ มานูเอล คาสเทลส์ นักสังคมวิทยาแนวมาร์กซิสม์ที่เคยถูกจัดอันดับให้มีการอ้างอิงผลงานทางสังคมศาสตร์เยอะที่สุดอันดับที่ห้าของโลก ปีเตอร์ มาร์คูเซอ (Peter Marcuse) อาจารย์ด้านกฎหมายและการวางผังเมือง ซึ่งเป็นลูกชายของแฮร์เบิร์ต มาร์คูเซอ (Herbert Marcuse) นักปรัชญาผู้เป็นขวัญใจให้การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาทั้งในอเมริกาและยุโรป 

นีล เบรนเนอร์ ศาสตราจารย์ทางด้านทฤษฎีการศึกษาเมืองแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้สรุปการศึกษาเมืองแนววิพากษ์ที่ประกอบไปด้วย 4 ลักษณะสำคัญ คือ 1. การวิพากษ์ต้องถกเถียงกับแนวความคิดทฤษฎีอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองภายใต้ระบบทุนนิยม 2. การตั้งคำถามเรื่องเมืองต้องตอบเรื่องความสัมพันธ์ของอำนาจให้ได้ 3. ต้องปฏิเสธการวิเคราะห์เมืองแบบกลไกตลาดที่เต็มไปด้วยเทคนิคและเครื่องมืออันซับซ้อน 4. การวิพากษ์จะต้องเสนอทางเลือกของเมืองที่ซ่อนเร้นอยู่ในเมืองอื่นๆ จึงจะถือว่าเป็นการวิพากษ์เมืองอย่างเป็นระบบและมีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

จะเห็นได้ว่า การวางแผนเมืองในระบบทุนนิยมนั้นสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตผู้คนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นสังคมอย่างมาก การพัฒนาเมืองกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเป็นสองเรื่องที่นักวางแผนเมืองจะต้องเข้าอย่างวิพากษ์ เพื่อให้การวางแผนเมืองนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมในยุคที่เหลื่อมล้ำมากขึ้น

เรื่อง – อดิศักดิ์ สายประเสริฐ


Contributor