18/01/2022
Public Realm

สถาปัตยกรรมผังเมืองกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

บุษยา พุทธอินทร์
 


วันนี้ The Urbanis ขอมาเล่าสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวทางวิชาชีพสถาปนิกผังเมือง จากการบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 ในหัวข้อ มาตรฐานการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม โดย คุณแทนศร กรรมการผู้จัดการบริษัท เออเบิ้น รูม จำกัด และบริษัท ทรีดอท ดีไซน์ จำกัด ได้เข้ามาเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของผู้ที่ทำงานในด้านการพัฒนาเมืองมาราว 10 ปี ตั้งแต่ขอบเขตงานสถาปัตยกรรมผังเมือง มาตรฐานการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง ไปจนถึงประสบการณ์ของการก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมืองและลักษณะทั่วไปของการเริ่มต้นให้บริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง พร้อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสของเส้นทางในการประกอบวิชาชีพ ที่มีความท้าทายรออยู่ในอนาคต

สถาปนิกผังเมือง กับขอบเขตงานสถาปัตยกรรมผังเมือง

คุณแทนศรได้อธิบายถึงนิยามของวิชาชีพสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง โดยอ้างอิงตามกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ปี 2549 ไว้ว่าเป็นวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ชุมชนเมือง ชุมชน และโครงการกลุ่มอาคารที่มีการใช้งานประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท รวมถึงการวางผัง เพื่อกำหนดกิจกรรม พื้นที่ ขนาด ความหนาแน่น ความสูง ที่โล่งหรือที่ว่างระหว่างอาคาร และโครงสร้าง ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการภายในพื้นที่ดังกล่าว

งานสถาปัตยกรรมผังเมืองเป็นงานที่มีขนาดใหญ่ ตั้งแต่ระดับกลุ่มอาคารไปจนถึงระดับเมือง ซึ่งขอบเขตงานที่จำเป็นจะต้องให้สถาปนิกผังเมืองเข้าไปดูแลรับผิดชอบ มี 7 สิ่ง ดังนี้

1) พื้นที่ที่มีการใช้บังคับผังเมืองรวมและจัดทำผังเมืองเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
2) พื้นที่ที่มีการจัดรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
3) พื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน
4) พื้นที่ที่อนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
5) พื้นที่ในเขตเพลิงไหม้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือพื้นที่ที่มีภัยพิบัติ และอุบัติภัยตามที่กฎหมายกำหนด
6) นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือพื้นที่พัฒนาพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด
7) กลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อาคารสูง และอาคารพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 30,000 ตารางเมตรขึ้นไป

เนื้องานตามด้านบนที่ได้ระบุมานั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้สถาปนิกผังเมืองจึงต้องเข้าไปจัดการเนื้องานตามลักษณะดังกล่าว เนื่องจากว่าเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ทั้งความปลอดภัยสาธารณะ (public safety) สุขอนามัยสาธารณะ (public health) และ ความเป็นอยู่ที่ดีสาธารณะ (public welfare)

ทั้งนี้ เพื่อสร้างแนวทางความเข้าใจสำหรับผู้ที่จะประกอบวิชาชีพในอนาคต คุณแทนศรจึงอธิบายต่อถึงความสัมพันธ์ของการปฏิบัติเนื้องานตามขอบเขตวิชาชีพที่กล่าวมาข้างต้น ที่จำเป็นจะต้องศึกษาพระราชบัญญัติ 6 ฉบับหลักที่มีความเกี่ยวข้องในการทำงาน ดังนี้

1. ผังเมืองเฉพาะ เกี่ยวข้องกับ พรบ. การผังเมือง พ.ศ. 2562

สรุปไว้ถึงพื้นที่ที่มีการใช้บังคับผังเมืองรวมและจัดทำผังเมืองเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ได้แก่
1.1) ผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ ประกอบไปด้วย ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค และผังนโยบายระดับจังหวัด
1.2) ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประกอบไปด้วย ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะ

ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำผังเมืองรวม จะมีขั้นตอนถัดไปคือการออกแบบผังพื้นที่ปฏิบัติการ (Action Area Plan) เพื่อส่งเสริมพัฒนาหรือพื้นที่มีปัญหาเร่งด่วนและสามารถนำผังไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม หรือก็คือเพื่อการจัดทำผังเมืองเฉพาะต่อนั่นเอง โดย มาตรา 40 ว่าด้วยเรื่ององค์ประกอบของแผนผังในผังเมืองเฉพาะ ได้กำหนดรายการไว้ ดังนี้

1.1) แผนผังแสดงการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจำแนกเป็นประเภทกิจการ พร้อมแนวเขตที่ดิน
1.2) แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง แสดงการเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง พร้อมแสดงแนวและขนาดทางสาธารณะ
1.3) แผนผังแสดงรายละเอียดของกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการและบริการสาธารณะ
1.4) แผนผังแสดงที่โล่ง
1.5) แผนผังกำหนดระดับพื้นดิน
1.6) แผนผังแสดงบริเวณที่ตั้งของสถานที่หรือวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่า
1.7) แผนผังแสดงบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผังต้นไม้)
1.8) แผนผังแสดงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อนุรักษ์
1.9) รายการประเภทและชนิดของอาคารที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต
1.10) ข้อกำหนดที่จะให้ปฏิบัติตามหรือไม่ให้ปฏิบัติตาม (ประเภท ชนิด ขนาด ความสูง จำนวน การสั่งรื้อ สั่งย้าย การดัดแปลง ฯลฯ)

2. การจัดรูปที่ดิน เกี่ยวข้องกับ พรบ. จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2547

สรุปไว้ถึงพื้นที่ที่มีการจัดรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ เกี่ยวข้องกับมาตรา 3 ว่าด้วยความหมายและเจตนารมณ์ให้เกิดประสิทธิภาพการใช้ที่ดินในด้านคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน ที่สอดคล้องกับการผังเมือง และมาตรา 41(5) ว่าด้วยการเสนอโครงการจัดรูปที่ดินต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้ได้กำหนดองค์ประกอบและรายการไว้ดังนี้

2.1) ผังแม่บทการจัดรูปเพื่อพัฒนาที่ดิน
2.2) แผนผังระบบถนน
2.3) แผนผังระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
2.4) แผนผังแสดงรายละเอียดประกอบเกี่ยวกับที่ดินของผู้ซึ่งเห็นด้วยและผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการจัดรูปเพื่อพัฒนาพื้นที่

ทั้งนี้ การจัดทำการจัดรูปเพื่อพัฒนาที่ดินไม่ว่าที่ใด จะต้องขออนุญาตคณะกรรมการจัดรูปที่ดินของจังหวัดเพื่อจัดทำ และจะต้องมีความยินยอมของเจ้าของที่ดินที่เข้าร่วมจัดรูปที่ดินมากกว่า 2 ใน 3 ของเจ้าของที่ดินในพื้นที่ เพื่อเสนอให้จัดทำ

3. การจัดสรรที่ดิน เกี่ยวข้องกับ พรบ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543

สรุปไว้ถึงพื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน จำแนกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การจัดสรรเพื่อ (1) การอยู่อาศัย (2) ประกอบพาณิชยกรรม (3) ประกอบอุตสาหกรรม (4) เกษตรกรรม มีขนาดตั้งแต่ เล็กพิเศษ เล็ก กลาง ใหญ่ ขึ้นอยู่กับการกำหนดขนาดพื้นที่
มีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 23 หลักฐานประกอบคำขออนุญาตจัดสรรตาม (3) และ (4) รวมทั้ง หมวด 1 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดทำแผนผัง โครงการ และวิธีการจัดสรรที่ดิน ทั้งนี้ในขอบเขตการทำจัดสรรได้กำหนดองค์ประกอบและรายการไว้ดังนี้

3.1) แผนผังสังเขป อาทิ แผนผังแสดงที่ตั้ง การเชื่อมต่อทางสาธารณะ ทางเข้าออก ฯลฯ
3.2) แผนผังแสดงจำนวนที่ดินแปลงย่อยและเนื้อที่โดยประมาณของแต่ละแปลง
3.3) โครงการปรับปรุงที่ดิน โดยแสดงแผนผัง อาทิ ไฟฟ้า ประปา ระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย ถนนและทางเท้า พื้นที่กิจกรรม ฯลฯ พร้อมประมาณการค่าก่อสร้าง และกำหนดเวลาที่จะทำแล้วเสร็จ ในรูปแบบก่อนและหลังการปรับปรุง

4. พื้นที่อนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับ พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

สรุปไว้ถึงพื้นที่อนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีความเกี่ยวข้องกับ มาตรา 35 การจัดทำแผนปฏิบัติการ มาตรา 44 ว่าด้วยการออกกฎกระทรวงคุ้มครองพื้นที่ใดๆ มาตรา 45 ว่าด้วยการจัดการพื้นที่เขตต่างๆ ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ทั้งนี้ในขอบเขตการจัดทำพื้นที่อนุรักษ์ฯ ได้กำหนดเอาไว้ถึงการจัดทำผังแม่บท หรือแผนผังที่เกี่ยวข้องกับการวางผังกลุ่มอาคาร หรือพื้นที่ในเขตต่างๆ ตาม พรบ. ได้แก่

4.1) เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม (ม. 43)
4.2) เขตพื้นที่ตามมาตรา 45
4.3) เขตควบคุมมลพิษ (ม. 59)
4.4) เขตอุทยานแห่งชาติ (พรบ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562)
4.5) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562)
4.6) เขตสงวนเพื่อการท่องเที่ยว เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (พรบ. นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551)
4.7) เขตพื้นที่เมืองเก่า (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546) เป็นต้น

5. เขตเพลิงไหม้ หรือพื้นที่ที่มีภัยพิบัติและอุบัติภัย เกี่ยวข้องกับ พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

สรุปไว้ถึงพื้นที่ในเขตเพลิงไหม้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือพื้นที่ที่มีภัยพิบัติ และอุบัติภัย ตามที่กฎหมายกำหนด มีความเกี่ยวข้องกับ มาตรา 59 ว่าด้วยการจัดทำแผนผังปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ ทั้งนี้ในขอบเขตการจัดทำพื้นที่ในเขตเพลิงไหม้ฯ ได้กำหนดเอาไว้ถึงการจัดทำผังแม่บท หรือแผนผังที่เกี่ยวข้องกับการวางผังกลุ่มอาคาร หรือพื้นที่ในเขตเพลิงไหม้ ซึ่งต้องดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง

6. นิคมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่พัฒนาพิเศษ เกี่ยวข้องกับ พรบ. การนิคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522

สรุปไว้ถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือพื้นที่พัฒนาพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด มีความเกี่ยวข้องกับ มาตรา 39 และ 39 ทวิ ว่าด้วยเกณฑ์ในการจัดสรรที่ดินเพื่อให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม ข้อ 4 (2) ว่าด้วยข้อมูลประกอบแผนผังเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อจัดตั้งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยได้กำหนดรายการเอาไว้ดังนี้

6.1) ผังแม่บทนิคมอุตสาหกรรม
6.2) โครงการปรับปรุงที่ดินที่ขอจัดสรรเพื่อให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม การจัดให้มีระบบ สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการ รวมทั้งการปรับปรุงอื่นตามควรแก่สภาพและลักษณะของนิคมอุตสาหกรรมโดยแสดง แผนผังการใช้ที่ดิน แผนที่สังเขปแสดงแนวเขตที่ดิน แหล่งน้ำใช้ แหล่งรองรับน้ำทิ้ง และบริเวณข้างเคียง แผนงาน และกำหนดระยะเวลาการพัฒนาโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จ

7. กลุ่มอาคารตั้งแต่ 30,000 ตารางเมตร ขึ้นไป เกี่ยวข้องกับ พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ซึ่งต้องมีแผนผังบริเวณแล้วแต่กรณี ที่แสดงองค์ประกอบของอาคารและพื้นที่ว่างระหว่างอาคาร เพื่อยื่นขออนุญาต โดยจะต้องมีรายละเอียดของ 3 รายการหลัก ได้แก่

7.1) แผนผังบริเวณ แผนที่แสดงลักษณะ ที่ตั้งและขอบเขตของที่ดิน และอาคารที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้ รวมทั้งแสดงลักษณะและขอบเขตของที่สาธารณะและอาคาร ในบริเวณที่ดินที่ติดต่อโดยสังเขปด้วย หรือเรียกว่า ผังแม่บท
7.2) แบบแปลน แบบเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง ดัด แปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยมี รูปแสดงรายละเอียดส่วนสำคัญ ขนาดเครื่องหมายวัสดุ และการใช้สอยต่างๆ ของอาคารอย่างชัดเจนพอที่จะใช้ในการดำเนินการได้ หรือเรียกว่า แบบก่อสร้าง
7.3) รายการประกอบแบบแปลน ข้อความชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพและชนิดของวัสดุ ตลอดจน วิธีปฏิบัติ หรือวิธีการสำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อให้เป็นไปตามแบบแปลน หรือเรียกว่า รายการประกอบแบบก่อสร้าง

อย่างไรก็ตามการศึกษาขอบเขตงานและความสัมพันธ์ของการปฏิบัติเนื้องานตามขอบเขตวิชาชีพที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นสาระสำคัญที่ผู้ประกอบวิชาชีพจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ไว้อย่างครอบคลุม กระทั่งการศึกษาอย่างเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อนำไปปฏิบัติงานในโครงการให้ประสบผลสำเร็จได้จริงอันเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพในอนาคต

สถาปนิกผังเมือง กับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง

ในงานศึกษาหรือการพัฒนาโครงการใดก็ตาม สถาปนิกผังเมืองจำเป็นจะต้องรู้จักลักษณะงานที่ตนได้จัดทำ รวมไปถึงการให้ความรู้และการบริการที่ครอบคลุมอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานและสังคมเพื่อเป็นมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพฯ

เมื่อกล่าวถึงมาตรฐาน ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2558 ได้กำหนดนิยามไว้ถึงคำว่าสถาปนิก ผู้รับบริการ การให้บริการ และโครงการ ไว้ดังนี้

สถาปนิก หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจากสภาสถาปนิก
ผู้รับบริการ หมายความว่า บุคคล กลุ่มบุคคล นิติบุคคล หน่วยงานรัฐ ตลอดจนสำนักงานอื่นใด ที่ประสงค์จะมอบหมายหรือที่ได้มอบหมายสภาสถาปนิกเพื่อให้บริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม
การให้บริการ หมายความว่า การที่สถาปนิกรับมอบหมายจากผู้ใดเพื่อให้บริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม
โครงการ หมายความรวมถึง ชิ้นงานหรือเนื้องานทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นชนิดงาน บางส่วนของชนิดงานชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด ตามกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ซึ่งสถาปนิกจัดทำขึ้นในการให้บริการ

ดังนั้น สถาปนิกผังเมืองจำเป็นจะต้องระบุขอบเขตของบริการเพื่อเป็นพื้นฐานของความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างสถาปนิก ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ ในการจัดโครงการต่างๆ รวมไปถึงการแนะนำข้อมูลและสิทธิ์ให้ผู้รับบริการเข้าใจอย่างครบถ้วน
เมื่อพูดถึงเรื่องการให้บริการ จึงได้จำแนกข้อมูลและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองออกเป็น 9 เรื่อง ได้แก่ (1) ลักษณะงาน (2) สาขาวิชาชีพ (3) ระบบงานที่จะให้บริการ (4) ประเภทและขนาดของงาน (5) ขั้นตอน (6) ระยะเวลาดำเนินงาน (7) วิธีการนำเสนองาน (8) ค่าบริการ (9) ภาระหน้าที่ ซึ่งต้องแจ้งเรื่องภาระหน้าที่ของสภาฯ ด้วย

โดยมีลักษณะงาน 5 ประเภท และมีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้

1.1) งานศึกษาโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การกำหนดความต้องการและข้อจำกัดเป็นโครงการย่อ การจัดทำสาระความต้องการสำหรับการออกแบบโครงร่างของโครงการ การจัดทำแผนงานและการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อประโยชน์ในการออกแบบและวางผัง โดยมีขอบเขตงาน ดังนี้

  • งานศึกษาโครงการเพื่อการกำหนดนโยบาย แผนงานโครงการ แนวทางการพัฒนาและงบประมาณ รวมถึงการนำผลการศึกษามาสู่การปฏิบัติ
  • งานศึกษาความเป็นไปได้โครงการ
  • งานศึกษาเพื่อกำหนดความต้องการและข้อกำหนดสำหรับการออกแบบ
  • งานศึกษาเพื่อการออกแบบวางผังในพื้นที่หรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการผังเมืองตามแนวนโยบาย หรือกฎหมาย
  • งานศึกษาเพื่อการออกแบบและวางผังแม่บทเพื่อพัฒนาโครงการหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ ของชุมชนเมืองหรือชนบท
  • งานศึกษาเพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน และทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียในการศึกษาโครงการ

ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานคุณภาพงานศึกษาโครงการ ได้แก่

  • การระบุข้อมูลที่ความเหมาะสมตามความต้องการ ไม่นำข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องในการนำเสนอ
  • ระบุที่มาของข้อมูล วิธีการหาข้อมูล หากมีข้ออ้างอิงที่มาของข้อมูลให้ระบุให้แน่ชัด
  • ระบุวิธีการวิเคราะห์ การคาดการณ์อนาคตและเทคนิคทางสถิติ หรือสูตรจำลองที่แน่ชัด
  • ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ นำไปใช้กับความต้องการของโครงการ
  • มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบทางเลือก รวมถึงข้อสรุปเป็นการออกแบบกายภาพเบื้องต้นตามความเหมาะสม
  • มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบทางเลือกในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในกรณีผู้รับบริการมีความต้องการ
  • มีการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ สังคมและเศรษฐกิจในกรณีเป็นความต้องการของผู้รับบริการโครงการ
  • มีการวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกฎหมายที่ดำเนินการแล้ว ในกรณีศึกษาการออกข้อกำหนด หรือข้อจำกัด
  • ให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม ในกรณีการศึกษาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาธารณะ

1.2) งานออกแบบ การกำหนดรายละเอียดโครงการ การกำหนดแนวคิดในการออกแบบและวางผัง การพัฒนารูปแบบ การจัดทำแบบและเอกสารการก่อสร้าง การกำหนดรูปแบบและรายการวัสดุก่อสร้าง การประมาณราคาค่าก่อสร้าง และการตรวจสอบรูปแบบระหว่างการก่อสร้างในงานสถาปัตยกรรมผังเมือง ทั้งที่ก่อสร้างใหม่ ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย บูรณะ ฟื้นฟู หรืออนุรักษ์ 

  • การกำหนดรายละเอียดโครงการ
  • การจัดทำเกณฑ์งานออกแบบ
  • การกำหนดแนวคิดงานออกแบบ
  • การพัฒนาแบบรูปเพื่องานออกแบบและวางผัง
  • การกำหนดแบบรูปและรายการ
  • การประมาณการค่าก่อสร้าง
  • การจัดทำข้อกำหนดการควบคุมทางกฎหมาย

ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนในงานออกแบบตามมาตรฐานแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

  • ก่อนงานออกแบบ 
    • การกำหนดความต้องการของโครงการ หลังจากที่มีการศึกษาโครงการแล้ว 
    • การจัดทำการสำรวจ ค่าระดับ และรังวัดพื้นที่เพื่อจัดทำแผนที่
    • การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    • การพิจารณาข้อมูลจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • งานออกแบบขั้นต้น
    • แนวความคิดงานออกแบบและวางผัง หรือแนวทางเลือกในงานออกแบบและวางผัง
    • แบบขั้นต้นผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และผังโครงสร้างพื้นฐาน
    • แบบขั้นต้นกลุ่มกิจกรรมและโครงข่ายการบริการพื้นฐานต่างๆ
    • แบบขั้นต้นผังบริเวณแสดงความสัมพันธ์ของอาคารหรือกลุ่มของอาคารกับบริเวณข้างเคียง
    • แบบขั้นต้นแสดงกลุ่มอาคารหรือกลุ่มกิจกรรมในรูปแบบสามมิติ รวมทั้งแสดงเส้นทางสัญจร ที่โล่ง หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    • เอกสารที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อประกอบการพิจารณา
  • งานออกแบบขั้นพัฒนา มีการพัฒนาต่อจากงานขั้นต้น ที่เพิ่มแบบพัฒนาผังแสดงความสัมพันธ์ของกลุ่มอาคารกับบริเวณข้างเคียง ตลอดจนความสัมพันธ์กับผังภูมิทัศน์และระบบโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ และมีร่างประมาณการมูลค่ารวมโครงการ
  • งานออกแบบขั้นสุดท้าย 
    • แนวความคิดในงานออกแบบและวางผัง
    • ผังแม่บทหรือผังบริเวณ
    • ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และโครงข่ายคมนาคมขนส่ง
    • ผังสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
    • ผังการแบ่งเขตพื้นที่การพัฒนา
    • ผังการแบ่งระยะพัฒนา
    • ผังที่โล่ง และนันทนาการต่างๆ
    • ผังกลุ่มกิจกรรมและโครงข่ายการบริการพื้นฐานต่างๆ
    • รูปแบบทัศนียภาพสามมิติ
    • แผนงานการพัฒนาโครงการ
    • ประมาณการมูลค่าโครงการ
    • เอกสารอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น แนวทางข้อกำหนดงานออกแบบ แนวทางงานออกแบบในลักษณะสามมิติ
    • จัดทำแบบและเอกสารต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง

1.3) งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง การบริหารจัดการตามขอบเขตงานศึกษาโครงการ งานออกแบบ รวมถึงการอำนวยการก่อสร้างให้เป็นไปตามขอบเขตงานออกแบบ

1.4) งานตรวจสอบ การสำรวจ การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ รวมทั้งการหาข้อมูลสถิติต่างๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบตามขอบเขตงานศึกษาโครงการ งานออกแบบ งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง

1.5) งานที่ปรึกษา การให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้คำปรึกษาในงานศึกษาโครงการ งานออกแบบและวางผัง งานบริหารโครงการและอำนวยการก่อสร้างและงานตรวจสอบ โดยเสนอแนวความคิดแนวทางเลือกต่างๆ โดยแสดงความเห็นจากประสบการณ์ หรือการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและปริมาณเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้มีอำนาจตัดสินใจ

เมื่อเชื่อมโยงมาที่ระดับของสถาปนิก และลักษณะงาน หากมีการทำงานกับภาครัฐจะถูกกำหนดขอบเขตให้วุฒิสถาปนิกสามารถรับงานได้ทั้ง 5 ลักษณะ ในขณะที่สามัญสถาปนิกรับงานได้ 4 ลักษณะ โดยไม่สามารถรับงานให้คำปรึกษาได้ และภาคีสถาปนิกสามารถรับงานได้เพียง 3 ลักษณะงาน ไม่สามารถทำงานตรวจสอบและงานให้คำปรึกษาได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดหนึ่งของการรับงานในขอบเขตวิชาชีพ

ลักษณะทั่วไปของการเริ่มต้นให้บริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง

คุณแทนศรได้เล่าต่อเรื่องการให้บริการทางวิชาชีพ ว่าด้วยงานทั้งจากภาครัฐและงานภาคเอกชน 

ตัวอย่างของการเกิดงานโดยทั่วไปจากภาครัฐ จะเริ่มตั้งแต่การจัดทำแผน ร่างรายละเอียดโครงการ ตั้งงบหรือของบ จัดทำ TOR  จนมีการเปิดประมูล พอถึงขั้นตอนนี้วิชาชีพสถาปนิกผังเมืองจะเข้ามาจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา ตรงนี้สถาปนิกผังเมืองสามารถเสนอสิ่งที่มากกว่า TOR ว่าจ้างได้ เพื่อยื่นข้อเสนอในการจัดทำโครงการ ส่วนภาครัฐก็จะมีหน้าที่ในการพิจารณาข้อเสนอ เมื่อตอบรับก็จะมีการเจรจาต่อรอง จนกระทั่งการทำสัญญา และเริ่มงาน ส่วนงานของภาคเอกชนนั้นเป็นไปตามขอบเขตทางวิชาชีพและการทำข้อตกลงว่าจ้าง

คุณแทนศรได้เล่าต่อถึงประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักถึงในการเริ่มต้นให้บริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน นั่นคือการทำเอกสารสัญญาและตรวจสอบสัญญา ว่าเป็นที่ยอมรับ เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ให้และรับบริการ ในการทำสัญญา รายละเอียดที่จำเป็นจะต้องระบุนั้นได้แก่ วันที่ สถานที่ทำสัญญา การทำสัญญาระหว่างใครกับใคร ขอบเขตงานสถาปัตยกรรมผังเมือง ระยะเวลา ค่าบริการ เงื่อนไขทั่วไป ตลอดจนระยะเวลาและขั้นตอนในการมอบงาน โดยมีอีกหนึ่งส่วนที่จะต้องตรวจสอบเอกสาร คือรายละเอียดของการบอกเลิกสัญญา เงื่อนไขต่างๆ รวมไปถึงค่าปรับของผู้ให้และรับบริการ หากการจ่ายและรับไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด กล่าวได้ว่า ลักษณะการเริ่มต้นให้บริการวิชาชีพ นั้นเป็นไปตามรายละเอียดขอบเขตงาน และข้อตกลงระหว่างผู้ให้และรับบริการทั้งในภาครัฐและเอกชน

ในท้ายที่สุดนี้ คุณแทนศรได้ชวนชี้ให้ตระหนักถึงความสำคัญแท้จริงของการประกอบวิชาชีพ ว่าผู้ประกอบสัมมาชีพมีเป้าหมายของการประกอบวิชาชีพอย่างไรในอนาคต แท้จริงแล้วผู้ประกอบวิชาชีพสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองต้องการจะเป็นอะไร หรือต้องการเดินไปบนเส้นทางใดในอนาคต
เนื่องจากว่ามีเส้นทางที่หลากหลายในขอบเขตงานที่สามารถทำได้ ความรู้ความเข้าใจและลักษณะงานที่มีความใกล้เคียงกับเพื่อร่วมวิชาชีพในสาขาต่างๆ รวมไปถึงระดับสถาปนิกที่มีผลต่อการรับงานในอนาคตทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น วุฒิสถาปนิก สามัญสถาปนิก ซึ่งกำหนดเอาไว้อย่างน้อยต้องเป็นระดับสามัญสถาปนิก หรือแม้แต่การตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้ประกอบการ ตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคล หรือการเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างเป้าหมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อสะท้อนเงื่อนไข บทบาท เป้าหมายการประกอบวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองในอนาคตต่อไป

การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis

ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center


Contributor