17/01/2020
Public Realm
เพราะความตายคือส่วนหนึ่งของชีวิต : เมืองกับความตาย
The Urbanis
สายตาความกระวนกระวายของคนรอบตัว
บทสนทนาที่ดำเนินไปด้วยคำถามเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ระหว่างหมอกับผู้ป่วย เพื่อเช็คความทรงจำและการตอบสนองของคนไข้
การเคานต์ดาวน์รอวันสุดท้าย
ความหวังของคนไข้และคนใกล้ตัวที่แปรผันตามอาการและการคาดการณ์ของหมอ
สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเป็นบรรยากาศกระอักกระอ่วนใจที่ไม่มีใครอยากประสบ บรรยากาศเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสารคดี END GAME กำกับโดย Rob Epstein และ Jeffrey Friedman ที่ตามถ่ายชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้ายและคนรอบข้างในประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาพยนตร์ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายผ่านเคสคนไข้ระยะสุดท้ายและการตัดสินใจของตัวเขากับคนรอบตัว แม้เรื่องจะไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ก็น่าสนใจมากพอที่จะทำให้เราจินตนาการถึงชีวิตตัวเอง ทั้งในบทบาทของคนรอบข้างที่คอยลุ้น และคนที่อ่อนแรงอยู่บนเตียง ที่สำคัญคือคงไม่มีใครอยากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นไม่ว่าจะในบทบาทใด แต่จะเลี่ยงได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ภาพยนตร์เปิดฉากความตายเรื่องนี้ฉายในงาน Futures of Thai Urban Life เป็นส่วนหนึ่งของงานนำเสนอความก้าวหน้างานวิจัยในโครงการ “คนเมือง 4.0” อนาคตชีวิตคนเมืองของไทย โดยหัวข้อ ‘การตายและความตายในเมือง’ วิจัยและนำเสนอโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาวิกา ศรีรีตนบัลล์ ที่กำหนดกรอบศึกษาเรื่องความตายผ่านสองประเด็นหลัก ได้แก่ การมีชีวิตช่วงสุดท้าย (End-Of-Life) และการจัดการร่างหลังเสียชีวิต (Body Disposal)
ความตายในอนาคตอาจเป็นแบบใด เมืองและสังคมอาจส่งผลให้รูปแบบการตายเป็นอย่างไรได้บ้าง และความตายควรเป็นเรื่องของใคร งานวันนั้นชวนให้เราขบคิดในประเด็นเหล่านี้
บ้านหลังสุดท้าย
Hospice หรือสถานบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้าย คือหนึ่งในประเด็นที่ ผศ. ดร.ภาวิกา หยิบยกมาพูดคุยว่าเป็นหนึ่งในทางเลือกของการดูแลในวาระท้ายของชีวิต โดยสถานที่ที่ว่าให้การรักษาแบบ Palliative Care หรือ การดูแลรักษาแบบประคับประคอง
“ถ้าเรายอมรับได้แล้วว่าสิ่งที่เป็นจะไม่หาย เราอยู่กับสิ่งที่เป็นได้ไหมโดยมีการแพทย์รองรับ” เธอตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วม
จริงอยู่ว่าความหวังที่จะหายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตที่ไร้เรี่ยวแรงของผู้ป่วยและญาติ แต่กับบางโรคและในบางสถานะอาการ ผู้เชี่ยวชาญอาจฟันธงได้ว่าโอกาสมีชีวิตรอดนั้นไม่เหลือ Hospice Care (การให้บริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้าย) จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลชีวิตบั้นปลาย โดย Hospice Care ที่ใช้การดูแลรักษาแบบประคับประคองถูกอธิบายผ่านในสารคดีว่า คือ การรักษาเพื่อให้ใช้ชีวิตในแบบที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยระยะเวลานานเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลและเป็นทางเลือกที่จัดว่าไม่เลวนัก แต่ในความเป็นจริง ‘สถานบริบาล’ ลักษณะนี้ยังคงเป็นทางเลือกที่ถูกเลือกไม่มากนัก ไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ
จากการศึกษาดูรูปแบบของการตายโดย ผศ. ดร.ภาวิกา พบว่าหนึ่งในรูปแบบการตายที่เกิดขึ้นอยู่และยังจะเกิดขึ้นในอนาคตคือการตายในโรงพยาบาล ซึ่งในไทยมีผู้เสียชีวิตในลักษณะนี้ถึง 70% เหตุผลอาจเป็นเพราะโรงพยาบาลคือสัญลักษณ์แห่งความหวังที่ว่าเมื่อได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยอาจหายเมื่อได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่ใช้การรักษาแบบ Curative ซึ่งอีกมุมหนึ่งเมื่อสภาวะโรคไม่อาจหายได้ การรักษาแบบ Curative ก็อาจถูกมองได้ว่าเป็นการพยายามยื้อความตาย
ไม่ใช่แค่นี้ ยังมีอีกหลายเหตุผลประกอบที่ทำให้การตายในโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องปกติสามัญ เช่น การที่ผู้ป่วยไม่มีทางเลือกอื่น ผู้ป่วยจึงเลือกไปจบชีวิตในที่ที่ตนต้องการไม่ได้ หรือบางครั้งการทำใจไม่ได้ของญาติก็เป็นผลสำคัญที่ยื้อการรักษาให้ถึงที่สุด ทั้งที่การวินิจฉัยนั้นออกมาชัดเจนแล้วว่าโอกาสที่จะรอดชีวิตนั้นแทบไม่เหลือ
สำหรับหลาย ๆ คน การอยู่และพยายามรักษาในโรงพยาบาลจึงน่าเลือกกว่าการไปอยู่ในสถานบริบาลฯ ซึ่งบางสายตาอาจมองว่าเป็นการยอมจำนนต่อความตายที่ไม่สะดวกใจจะยอมรับเท่าใดนัก
ในภาพยนต์สารคดี END GAME ก็ฉายภาพเช่นนั้นให้เห็นอยู่บ้าง เช่น แม่ที่ยืนกรานว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่ให้ลูกผู้ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเข้าไปในที่แบบดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของการหมดหวัง หรือคนไข้อีกคนที่เข้าใจดีว่าสถานบริบาลฯ สำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นดีอย่างไร แต่ตนก็ยังขอเลือกจบชีวิตในบ้านของตัวเอง
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็แสดงให้เห็นว่ามีผู้ป่วยบางคนเลือกที่จะอยู่ในสถานบริบาลฯ เพราะยอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเชื่อมั่นว่าการดูแลจากสถานบริบาลฯ คือทางเลือกในการมีบั้นปลายชีวิตในแบบที่ต้องการ “มีอะไรที่คุณลุงอยากให้มี แต่ที่นี่ยังไม่มีไหมครับ” คือประโยคที่สารคดีถ่ายทอดคำพูดของคุณหมอกับผู้ป่วยที่ตัดสินใจอยู่ใน Hospice รายหนึ่ง ทั้งยังมีภาพของผู้ป่วยระยะท้ายที่นอนอยู่บนเตียงมือเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลงร็อคที่ผู้ดูแลช่วยเปิดให้ฟัง สะท้อนความสุขที่เขาเลือกเองในช่วงบั้นปลายชีวิต
ในประเทศไทย แม้การพูดถึงว่าเราจะตายอย่างไรยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่เหตุผลที่เรื่องนี้อาจพูดได้มากขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่เคร่งครัดน้อยลง การปลีกตัวออกจากศาสนสถานมากขึ้น และ กฎหมายมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพื่อการยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย เพื่อยุติความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย
รูปแบบความตาย
จากการสังเคราะห์ผ่านการศึกษาและประสบการณ์ของ ผศ.ดร.ภาวิกา รูปแบบการตายที่เกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นในอนาคตมีอยู่หลายลักษณะ นอกจากความตายในโรงพยาบาลที่เล่าควบคู่ไปกับสถานบริบาลฯ แล้ว ยังมีรูปแบบการตายอื่น ๆ ดังนี้
- ความตายอย่างโดดเดี่ยว: คนจำนวนไม่น้อยจบชีวิตอยู่เพียงลำพังในบ้าน และคนไม่น้อย ‘เตรียมตัว’ ที่จะจากไปอย่างโดดเดี่ยวซึ่งอาจสัมพันธ์กับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น อีกหนึ่งสัญญาณที่เป็นตัวเน้นย้ำความจริงข้อนี้ก็คือปริมาณศพไร้ญาติในแต่ละปีก็มีอยู่ไม่น้อย สถานที่ที่ไม่คิดว่าจะพบร่างไร้วิญญาณไม่ว่าจะเป็นท้องถนนหรือพงหญ้า คือสิ่งที่หน่วยกู้ภัยเผชิญอยู่เนือง ๆ ในหลายกรณีเมื่อพบศพก็ไม่สามารถหาคนรู้จักได้ จึงไม่มีใครมารับศพไปทำพิธี
- การฆ่าตัวตาย: ข้อมูลจาก Health Focus แสดงให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจว่าปัจจุบันมีคนเลือกจบชีวิตด้วยวิธีนี้สูงถึงเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน
- การตายอย่างโหดร้าย: อัตราการถูกฆ่าหรือการเสียชีวิตแบบกลุ่มที่มากขึ้นทุกวันนั้นหาใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นผลผลิตเชิงโครงสร้าง ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันในสังคมคือหนึ่งในนั้น
- การตายที่เป็นการสะท้อนกลับของความเป็นสมัยใหม่: โลกสมัยใหม่ สังคมทุนนิยม สามารถนำมาซึ่งความขัดแย้ง รวมไปถึงสิ่งที่เป็นพิษต่อสุขภาพอย่างเชื้อโรค ฝุ่นละออง และหายนะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ (manmade disaster)
- ความตายทางเลือก: ว่าด้วยการตายที่คนหนึ่ง ๆ มีอิสระในการตัดสินใจจบชีวิต เช่น การุณยฆาต (Euthanasia) ที่ถูกกฎหมายในบางประเทศ แต่ยังเป็นที่ถกเถียงในแง่มุมที่ว่าการจบชีวิตในรูปแบบนี้เหมือนหรือต่างกับการฆ่าตัวตายหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการใช้การแพทย์เข้ามามีบทบาทในการจบชีวิตคนด้วยหรือไม่ ส่วนมุมมองด้านบวกนั้นมองว่าเรื่องนี้ คือ การตายดี ตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี เป็นต้น
ฉากทัศน์พยากรณ์ความตาย
จากการศึกษาเรื่องความตายในเมือง ผศ. ดร.ภาวิกามองภาพความตายที่อาจเกิดขึ้นผ่านปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ปัจจัยแรก คือเรื่องความเป็นปัจเจก (Individualism) และการรวมกลุ่มผ่านโลกออนไลน์ (Cyber Collectivism)
และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ เรื่องการตายแบบเป็นธรรมชาติ และการยื้อหรือจัดการความตายผ่านเทคโนโลยี (Transhuman and Technology)
เมื่อนำทั้งสองปัจจัยนี้มาฉายภาพความเป็นไปได้ของความตาย จึงได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1: ปัจเจก-การตายตามธรรมชาติ
รูปแบบนี้มองว่าด้วยความที่คนอยู่อย่างโดดเดี่ยวในสังคม การตายจากการฆ่าตัวตายอาจสูง
อย่างไรก็ตาม การตายอาจไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องการสูญเสียเพราะอย่างไรก็ใช้ชีวิตเพียงลำพังเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งเมื่อตายไปก็อาจไม่ต้องมีพิธีกรรมมากมาย สามารถจัดการศพได้ทันทีที่เสียชีวิต (Direct Cremation)
รูปแบบที่ 2: ปัจเจก-การตายและเทคโนโลยี
รูปแบบนี้อาจหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่อยากอยู่ในโลกปัจจุบัน แต่อาจไม่ได้แปลว่าไม่อยากมีชีวิต หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้อยากตาย แต่ไม่อยากใช้ชีวิตทรมานกับการรักษา
เมื่อมีเทคโนโลยีชั้นสูง เทคโนโลยีเหล่านั้นอาจถูกนำมาใช้เพื่อยื้อความตายและเพื่อรับมือกับความเจ็บ
รูปแบบที่ 3: การรวมกลุ่มผ่านโลกออนไลน์-การตายตามธรรมชาติ
การตายในรูปแบบนี้ หมายถึงการตายที่ต้องการการยอมรับ ประคับประคอง เอื้ออาทร
แนวคิดนี้จึงสะท้อนอยู่ในการบริการสุขภาพแบบ Hospice Care รวมทั้งอาจมีธุรกิจหรือวิสาหกิจสังคมเกี่ยวกับผู้ดูแลคนป่วย (Care Giver) รวมถึงชุมชนพูดคุยจัดกิจกรรมเรื่องความตายในรูปแบบที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาเกิดขึ้น
รูปแบบที่ 4: การรวมกลุ่มผ่านโลกออนไลน์-การตายและเทคโนโลยี
ประเด็นสำคัญที่สุดของรูปแบบนี้คือมนุษย์มีและอยู่ได้ด้วยความหวังที่จะไม่ตาย
ทุกนวัตกรรมมุ่งไปสู่การยืดเวลาการตาย แต่ในขณะเดียวกันการเข้าถึงบริการเหล่านี้อาจมีข้อจำกัดด้วยชนชั้น เข้าถึงด้วยราคาและค่าใช้จ่าย การตายจะไม่ได้หมายถึงความสิ้นสุด แต่หมายถึงการรอเวลาเพื่อกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
แม้รูปแบบและลักษณะการตายที่ผศ. ดร.ภาวิกานำเสนอไปจะเป็นงานวิจัยที่ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษา และสารคดีที่เปิดฉายจะไม่ใช่เรื่องของเราโดยตรง แต่การทำความเข้าใจเรื่องความตายด้วยการพูดถึงเรื่องความตายทำให้เราอดจินตนาการถึงความตายไม่ได้
“พวกเราต่างก็วิ่งหนีจากความตาย แต่ความตายคือส่วนหนึ่งของชีวิต”
คือประโยคทิ้งท้ายจากสารคดี END GAME
“ถ้าเชื่อว่าชีวิตกับความตายแยกกันไม่ออก เราสะสมตัวตนเอกลักษณ์มาตลอดชีวิต แต่พอจะตายกลับต้องถูกกด ถูกปิด” ผศ. ดร.ภาวิกายกตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งในจังหวัดอยุธยาว่าพยาบาลได้เปิดบทสวดมนต์ให้ผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต ทว่าผู้ป่วยยังคงไม่สงบ กระทั่งหมอทราบว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวมีอาชีพทำระนาดและชอบระนาดเป็นชีวิตจิตใจ หมอคนดังกล่าวบังเอิญเล่นระนาดเป็นจึงเล่นระนาดให้ผู้ป่วยฟังจากนั้นคุณลุงท่านนั้นก็สงบขึ้น “การถกเรื่องการตายในบรรยากาศทั่ว ๆ ไป อาจเป็นการทบทวนชีวิต เป็นการพูดคุยเป็นการคิดเรื่องตายอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะหากคุยเรื่องการตายเมื่อป่วยมันอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันอาจเป็น taboo [ข้อต้องห้าม] ทางวัฒนธรรม”
คล้ายกันกับที่คุณหมอท่านหนึ่งใน END GAME กล่าวไว้
“คนสุขภาพดีต่างหากที่คิดว่าเขาอยากตายอย่างไร และเป็นคนป่วยนั่นเองที่คิดว่าเขาอยากจะอยู่อย่างไร”
แล้วคุณล่ะอยากตาย หรือไม่อยากตายแบบไหน?