16/11/2021
Public Realm

ทฤษฎีพื้นฐานเพื่อเข้าใจสัณฐานเมือง โดย รศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข

ชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์
 


หากสามารถตั้งเป้าประสงค์ในการพัฒนาเมืองได้ ในฐานะของนักออกแบบจึงมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนา “เมืองที่อยู่ดี” แต่ในการสร้างเมืองที่อยู่ดีได้ในโลกความเป็นจริงนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามักคิดมุ่งไปสู่ขั้นตอนของการออกแบบกายภาพเป็นหลัก ซึ่งแท้จริงอาจเป็นเพียงตัวขับเคลื่อนหนึ่งในการแสดงผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาเมือง หากแต่พิจารณาย้อนกลับมาสู่ขั้นตอนแรกเริ่มของการลงมือปฏิบัติ นั่นคือขั้นตอนของการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล จะพบว่าการศึกษาสัณฐานเป็นอีกขั้นตอนตั้งต้นที่น่าสนใจสำหรับการทำความเข้าใจพื้นที่เมือง ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโจทย์และแนวทางการพัฒนาในงานออกแบบต่อไป

The Urbanis ชวนศึกษา ทฤษฎีพื้นฐานเพื่อเข้าใจสัณฐานเมือง (Morphology for Urban Architecture) เรียบเรียงจากการบรรยายสาธารณะ โดย รศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

รศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สัณฐานคืออะไรและส่งผลต่อเมืองอย่างไร?

สัณฐาน หมายถึง มิติหรือไดเมนชั่นที่แสดงขนาดและสัดส่วนในเชิงกายภาพ อีกทั้งยังขยายความถึงโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ซึ่งในการศึกษา พบว่ามีแนวคิดทฤษฎีจำนวนมากที่เกี่ยวกับการศึกษาสัณฐานที่มีแนวคิดแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย โดยมีเป้าประสงค์ร่วมถึงการทำความเข้าใจมิติที่ซับซ้อนของเมือง อันนำไปสู่ลักษณะการออกแบบที่แตกต่างกันตามกรอบแนวคิดที่ผลัดเปลี่ยนไป เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง 

ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตเชิงเกษตรสู่ฐานการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ทำให้การใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นโรงงานขยับที่ตั้งใกล้ขอบเขตของเมืองมากยิ่งขึ้น ประชากรชนบทใหม่ย้ายเข้ามาจำนวนมาก เกิดเป็นที่พักอาศัยแออัด ส่งผลให้เมืองแบกรับความหนาแน่นที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดข้อจำกัดส่งผลต่อคุณภาพชีวิตลดลง จึงนำมาสู่การก่อตั้งกลุ่ม CIAM (Congres International Architecture Modern) นำโดย เลอ กอร์บูซิเย (Le Corbusier) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจในเชิงผังเมือง 2 ประเด็นด้วยกัน คือ 1) หลักการกำหนดสีลงบนพื้นที่ต่างๆ เพื่อลด conflict of uses และ 2) แนวคิดที่อยู่อาศัยในแนวตั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่แนวราบเป็นพื้นที่สาธารณะและขับเน้นการสัญจรโดยรถยนต์ ที่เกิดจากโจทย์การพัฒนาที่ทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่เมืองที่จำกัด โดยแนวคิดการดังกล่าว ไม่เพียงแต่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคนั้นๆ แต่ยังสะท้อนสู่สถาปัตยกรรมเมืองอีกด้วย

ส่งผลต่อเมืองอย่างไร?

หากพิจารณาผลลัพธ์ของการพัฒนาที่แตกต่างระหว่างแนวคิด Traditional town ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาดั้งเดิมกับ Modernist housing estate โดยกลุ่ม CIAM สิ่งที่เห็นชัดเจน คือการกำหนดขอบเขตของถนนและมวลอาคารที่สะท้อนรูปแบบที่ว่างที่ต่างกัน โดยการพัฒนาแนวคิดโมเดิร์นนิสม์ที่มุ่งเน้นการสร้างที่ว่าง มีรูปแบบการเรียงตัวของมวลอาคารในระยะห่างมาก ทำให้เกิดพื้นที่ว่างระหว่างองค์ประกอบเมือง อาคาร ถนนกว่ารูปแบบเดิมเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีขอบเขตการใช้งานที่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้คนไม่เข้าใจถึงรูปแบบการใช้งานของพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้น พื้นที่ไม่ถูกใช้งานจากรูปแบบพื้นที่ใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในพื้นที่ 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปปัจจัยแวดล้อมและโจทย์การพัฒนาเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ โมเดิร์นนิสม์ไม่สามารถตอบความต้องการได้อีกต่อไป และเกิดเป็นแนวคิดและทฤษฎีใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างความเข้าใจสัณฐานความเป็นเมืองในมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาวิวัฒนาการองค์ประกอบเมือง โดย M.R.G Conzen เป็นการศึกษานำมาสู่การประชุม ISUF (International Serminar on Urban Form) การศึกษาระบบของเมืองร่วมกับรูปแบบวิถีชีวิตผู้ใช้งาน โดย Jane Jacaobs การเสนอแนวคิดใหม่ในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่อยู่ในกรอบโมเดิร์นนิสม์โดยสิ้นเชิง นั่นคือ สถาปัตยกรรมสนุก-ยืดหยุ่น-เบา-ชั่วคราว อาทิ Plugin City: over London Walking City และ Instant City โดย Archigram ตลอดจนการศึกษาแนวคิด New urbanism ที่สะท้อนสู่กฎหมายและข้อกำหนดเชิงการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น ระยะถอยร่น ความสูงอาคาร ฯลฯ

จากแนวคิดและทฤษฎีตัวอย่าง ล้วนชี้ให้เห็นถึงการตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจเมืองที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยมีแนวคิดโมเดิร์นนิสม์ซึ่งมีอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเมืองจนถึงปัจจุบันเป็นโจทย์โต้แย้งสำคัญ นำไปสู่การเสนอแนวคิดทฤษฎีการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ที่ไม่เพียงแต่ศึกษาเชิงกายภาพแต่ยังมีประเด็นเชิงสังคมและวิถีชีวิตร่วมด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการศึกษาประเด็นเงื่อนไข กฎระเบียบและระบบที่เป็นปัจจัยในการวิวัฒนาการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ชวนตระหนักไม่ใช่การศึกษาผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำความเข้าใจถึงบริบทสถานการณ์ตามแต่ละยุคสมัยที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนาใหม่ สู่วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงเมืองเรื่อยมา 

เครื่องมือที่ให้มากกว่าการเสริมความเข้าใจในสัณฐานเมือง 

ในการศึกษาสันฐานเมือง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การศึกษาไดเมนชั่นและรูปแบบบล็อก ซึ่งสัมพันธ์กันระหว่างถนน ที่ว่างและอาคาร อันประกอบกันสู่รูปแบบเฉพาะของแต่ละเมือง ซึ่งหากสามารถสร้างความเข้าใจในบริบทและศักยภาพที่พื้นที่หนึ่งจะสามารถพัฒนาได้ ประกอบกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือการพัฒนาทางกฎหมายอย่างเหมาะสม จะสามารถสร้างการออกแบบที่มีคุณภาพได้เช่นกัน

Space Syntax เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการศึกษาเพื่อออกแบบเมืองได้ แรกเริ่มนั้นเป็นชุดทฤษฎีที่มีความต้องการศึกษาเรื่อง สเปซหรือพื้นที่ ซึ่งมีความหมายต่อผู้คนทั้งในเชิง Human-related meaning, Human and social concept ซึ่งเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคมมนุษย์ Geometric property คุณสมบัติในเชิงเรขาคณิต และ Physical concept ขนาดกายภาพที่จับต้องได้ หลักการศึกษาจึงใช้พื้นที่เป็น unit of analysis โดยมี 3 ประเด็นสำคัญที่สัมพันธ์กัน ได้แก่ 1) Local Rules 2) Global Form และ 3) Restricted Random Process ที่เป็นการศึกษาถึงกฎ ระเบียบ และปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดระบบของพื้นที่เซลล์ยูนิต(พื้นที่)ย่อยจำนวนมาก จนก่อเกิดเป็นฟอร์มสุดท้ายของพื้นที่หนึ่ง ร่วมกับกระบวนการจำกัดที่ทำให้เราสามารถมองเห็นถึงรูปแบบที่เกิดขึ้นได้ การศึกษาดังกล่าวจึงช่วยให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับพื้นที่บริบท เหตุและผลที่ทำให้เกิดปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนเสนอแนวทางแก้ไขผ่านการออกแบบได้

ทั้งนี้ วิธีการศึกษาจะอ้างอิงกับโครงข่ายพื้นที่สาธารณะและวัดลำดับความสัมพันธ์ของโครงข่ายในระบบ ด้วยการกำหนดเส้นทางการสัญจร (axial line) ที่สัญจรไปได้ไกลที่สุดและมองเห็นไกลที่สุด ซึ่งร้อยเรียงพื้นที่กิจกรรม (convex space) ไว้ด้วยกัน และใช้กระบวนการเทคนิคคอมพิวเตอร์แปลงค่าระดับความสัมพันธ์ของลักษณะและการใช้งานพื้นที่ ออกมาเป็นแบบจำลองโครงข่ายที่แบ่งสีวรรณะที่แสดงระดับค่าการสัญจร ทั้งการเข้าถึง และการเชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะในโครงข่าย ซึ่งจะช่วยประเมินถึงประสิทธิภาพการเข้าถึงของพื้นที่ได้ โดยการอ่านค่าของแบบจำลองจะแสดงตามลำดับความลึกของโครงข่ายจากจุดตัดหรือการหักเลี้ยว ซึ่งลำดับไม่ได้สัมพันธ์กับระยะทางจริงที่เป็นเมทริกซ์ นอกจากนี้ รูปแบบของโครงข่ายการสัญจรที่ต่างกันไม่เพียงแต่แสดงลักษณะทางกายภาพการเชื่อมต่อและการเข้าถึง แต่ยังสัมพันธ์ถึงความเก่า – ใหม่ของพื้นที่ ตลอดจนลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งการรับรู้ความสัมพันธ์ของข้อมูลข้างต้นไม่สามารถอาศัยผลลัพธ์จากกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ได้ แต่ต้องการศึกษาและสังเกตบริบทเชิงสังคมร่วมด้วย 

กรณีศึกษา 

ผังแม่บทจัตุรัสทราฟัลการ์ ปี 2003 (Trafalgar Square, London) โดย Foster + Partners เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีศักยภาพเชื่อมต่อสถานที่สำคัญหลายแห่งของย่าน แต่จัตุรัสสาธารณะดังกล่าวกลับประสบปัญหาพื้นที่ไร้การใช้งานจากบริบทการสัญจรที่ขับเน้นรถยนต์ ในการออกแบบมีการประยุกต์ใช้ space syntax เป็นเครื่องมือประกอบการศึกษาและคาดการณ์ มี 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) วิเคราะห์ค่าความสามารถในการเข้าด้วยการเดินในพื้นที่บริบทปัจจุบันในการแสดงพื้นที่ปัญหา พบว่าบริเวณจัตุรัสมีค่าการเชื่อมต่อเข้าถึงด้วยการเดินต่ำกว่าบล็อกอาคารโดยรอบ 2) สังเกตพฤติกรรมการเดินบนพื้นที่จริงเพื่อกำหนดโจทย์การออกแบบสร้างการเข้าถึงด้วยการเดินและสามารถใช้งานพื้นที่สาธารณะได้ยาวนานขึ้น และ 3) จำลองเส้นทางโครงข่ายใหม่ที่ส่งเสริมการเดินระหว่างจัตุรัสสู่พื้นที่สำคัญโดยรอบ และออกแบบรายละเอียดพื้นที่ตลอดจนโปรแกรมการใช้งาน โดยผู้ออกแบบได้ปรับปรุงกายภาพให้เปิดมุมมองการมองเห็นมากขึ้นร่วมกับกำหนดพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชยกรรมและสาธารณะที่สอดรับกับสถานที่สำคัญโดยรอบเพื่อดึงดูดการใช้งานสู่จัตุรัสทั้งในบทบาทของการเปลี่ยนผ่านและเป็นจุดหมายปลายทาง 

จากที่กล่าวมา ทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจในเชิงการออกแบบว่า การรับรู้ถึงปัญหาบนพื้นที่ใดๆ อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เราต้องลงมือออกแบบหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่ เพราะอาจไม่มีความจำเป็นเสมอไปที่จะต้องออกแบบถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นในท้ายสุดแล้วไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่แท้จริง อาจกล่าวได้ว่า ข้อสังเกตพฤติกรรมและความต้องการของผู้คนต่างหากที่ช่วยกำหนดกรอบทิศทางในการออกแบบว่าควรสร้างเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แค่ไหนและอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์การพัฒนาที่สอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ดังนั้น ในการทำความเข้าใจสัณฐานเมืองเพื่อการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาด้วยเครื่องมือหรือเทคนิค วิธีการใดก็ตามนั้น ไม่สามารถที่จะศึกษาเพียงมิติเชิงกายภาพ แต่ยังต้องทำความเข้าใจในปัจจัยบริบทสถานการณ์ตามแต่ละช่วงเวลา มิติเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมและความต้องการเชิงพื้นที่ของกลุ่มคนในพื้นที่หรือย่านนั้นๆ อย่างรอบคอบ เพื่อที่จะสามารถกำหนดโจทย์การออกแบบที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติของผู้ใช้งานและนำไปสู่การออกแบบที่สามารถขับเคลื่อน “เมืองอยู่ดี” ได้อย่างแท้จริง

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากการบรรยายสาธารณะ ทฤษฎีพื้นฐานเพื่อเข้าใจสัณฐานเมืองสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมผังเมือง (Morphology for urban architecture) โดย รศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เป็นส่วนหนึ่งของชุดการบรรยายสาธารณะ URBAN DESIGN DELIVERY อาหารสมองสถาปนิกผังเมือง เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาหลักการวางผังและออกแบบชุมชนและปฏิบัติการวางผังและออกแบบชุมชน (District Planning) ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The Urbanis


Contributor