16/04/2021
Public Realm

Rattanakosin Henge มุมมองอัสดงสาธารณะจากเกาะรัตนโกสินทร์

มาธวี ติลกเรืองชัย
 


ภาพปกโดย donamtykl

“There is nothing more musical than a sunset.” – Claude Debussy

สโตนเฮนจ์ ไม่ใช่ “เฮนจ์” เดียวในโลก หากหลายเมืองทั่วโลกล้วนมีเฮนจ์เป็นของตัวเอง เพื่อส่งเสริมสุนทรียะ ความโรแมนติก และความคึกคักทางเศรษฐกิจ แล้วย่านท่องเที่ยวอันดับต้นของไทยอย่างย่านรัตนโกสินทร์จะมีเฮนจ์ได้บ้างหรือไม่?

“Henge” มาจากคำว่า สโตนเฮนจ์ (stonehenge) 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ด้านสถาปัตยกรรมของโลก ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเดินทางของดวงอาทิตย์ ซึ่งในอดีตเคยใช้เป็นเครื่องคำนวนปฎิทินดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบัน henge เป็นการสร้างความจดจำของพื้นที่เชิงวัน เวลา และสถานที่ อีกทั้งยังเป็น destination ด้านการท่องเที่ยวที่แต่ละเมืองใช้เป็นจุดขายอีกด้วย

Manhattan Henge ภาพจาก iso.500px.com

เช่น Manhattan Henge เมืองแมนฮัตตัน สหรัฐฯ มีรูปแบบผังเมืองเป็นแบบกริด (grid plan) ซึ่งเป็นสันฐานเมืองที่มีโอกาสเกิด henge ได้มากที่สุด ที่เป็นเช่นนี้พราะองศาของถนนจะต้องตรงกับองศาการตกของดวงอาทิตย์พอดี ประกอบกับการมี องค์ประกอบของเมือง (urban scape) ที่เอื้อต่อการมองเห็นด้วย

Paris Henge ภาพจาก magnificentworld.com

ส่วน Paris Henge เป็นการเพิ่มคุณค่าของพื้นที่โดยการใช้ตัวแลนด์มาร์กที่สำคัญของเมือง เช่น พีระมิดลูฟวร์ เป็นสิ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการตกของดวงอาทิตย์กับเมือง เพื่อสร้างความจดจำเชิงพื้นที่ และสร้างมุมมองที่แตกต่างในการท่องเที่ยว

ภาพจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์

และที่สุดท้ายคือ Panomrung Henge ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ โดยสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่มักมีแนวคิดการออกแบบช่องเปิด ที่คำนึงถึงการเดินทางของดวงอาทิตย์เป็นทุนเดิม ดังนั้นวัดเก่าจะมีความเป็นไปได้ในการเกิด henge ที่สูงมาก

จากตัวอย่างรูปแบบการเกิด henge ในเมืองต่าง ๆ พอสังเขปข้างต้น สามารถแบ่งประเภทของ henge ได้ 3 แบบ คือ

1. Phenomenon Henge หรือ มุมมองอัสดงสาธารณะแบบปรากฏการณ์ เป็นการค้นหาทิศทางการตกของดวงอาทิตย์จากสัณฐานและองค์ประกอบเมือง

2. Landmark Henge หรือ มุมมองอัสดงสาธารณะแบบภูมิสัญลักษณ์ เป็นการเพิ่มความสำคัญและสร้างความจดจำระหว่างสถานที่กับการตกของดวงอาทิตย์

3. Framing Henge หรือ มุมมองอัสดงสาธารณะแบบกรอบภาพ เป็นการเสาะหาสิ่งปลูกสร้างหรือองค์ประกอบของเมือง ที่ทำให้เกิดกรอบภาพ ซึ่งโดยมากเป็นช่องเปิดของโบราณสถาน

Bangkok Henge

กรุงเทพมหานคร เมืองที่คนทั่วโลกเคยโหวตให้เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก ตัวเลข GDP เมื่อปี 2019 ได้ระบุไว้ว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ได้ ก่อนที่โควิด-19 จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างฉับพลัน รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย

เมกะโปรเจกต์ของกรุงเทพฯ ที่จะเกิดขึ้นในย่านสำคัญด้านการท่องเที่ยวอย่าง ย่านรัตนโกสินทร์ โดยมีการประกาศเดินหน้าโครงการทางเท้ารัตนโกสินทร์ ปรับปรุงถนน 30 เส้น เมื่อปลายปี 2020 โดยเริ่มนำร่องก่อน 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 2.7 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับถนนข้าวสารที่ได้รับการปรับปรุงก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมร ถนนจักรพงศ์ และถนนราชินี เพื่อปรับปรุงให้ถนนเป็นมิตรกับคนใช้งานมากยิ่งขึ้น

ซึ่งหากจะพูดถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการใช้งานทางเดินเท้าของประเทศที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยแล้ว แน่นอนว่าช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังจะลับฟ้า ถือเป็นไพร์มไทม์ของวันเลยก็ว่าได้ ดังนั้นแล้ว henge จึงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะดึงดูดให้ผู้คนเริ่มออกมาใช้งานพื้นที่สาธารณะภายในเมืองมากขึ้น และแน่นอนว่า henge จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กลับมาครึกครื้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น

The Rattanakosin Henge

จากการศึกษาวิทยานิพนธ์ ได้มองเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่นำร่องอย่าง กรุงรัตนโกสินทร์ ที่สามารถสื่อสาร henge ออกมาได้ทั้ง 3 รูปแบบ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถเป็นตัวอย่างของการพัฒนาย่านจากการให้ความสำคัญกับการเกิด henge

เมื่อวิเคราะห์ลงไปในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ โดยการแยกประเภทของ henge ในแต่ละแบบ จะสามารถแบ่งออกเป็นย่านการพัฒนาตามการกระจุกตัวได้คือ ย่านพระอาทิตย์ ย่านท่าพระจันทร์ ย่านท่าเตียน ย่านบำรุงเมือง และย่านราชดำเนิน

พระอาทิตย์ตกในย่านพระอาทิตย์

ภาพจาก sun-direction.com

ถนนพระอาทิตย์เป็นหนึ่งในเส้นทางโครงการปรับปรุงทางเท้ากรุงรัตนโกสินทร์ มีความยาวกว่า 750 เมตร และเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการเกิด henge แบบปรากฏการณได้ ซึ่งปัจจัยและเครื่องมือในการออกแบบที่สำคัญเพื่อรองรับการเกิด henge คือ การปรับภูมิทัศน์ทางสัญจร เพื่อไม่ให้บดบังทิวทัศน์และความสวยงามของเมือง โดยมีการตระหนักถึงองศาการตกของดวงอาทิตย์เป็นหลัก

แม้ว่าแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และร่างผังเมืองรวมฉบับล่าสุด จะมีมาตรการการควบคุมภูมิทัศน์ในบางจุดของพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายจุดที่ยังสามารถเพิ่มเติมถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการเกิด henge ได้ ซึ่งความเป็น henge นั้นไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์กับเมืองในด้านความงาม แต่ยังเป็นปัจจัยที่จะพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทั้งในระดับชุมชนและในระดับเมือง  อีกทั้งยังต่อยอดมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่โดยการเพิ่มมุมมองสาธารณะในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดมากมายในการพัฒนาอย่างกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีกด้วย

อ้างอิง

1. แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

2. ช็องเซลีเซ vs รัตนโกสินทร์ เมื่อทิศทางการพัฒนาถนนสำคัญของเมือง มุ่งสู่การ “เดินได้ เดินดี เดินร่ม เดินเย็น” และ หวังให้คนรักเมืองมากขึ้น โดย The Urbanis by UDDC


Contributor