15/12/2021
Public Realm

Urban Dataverse เพราะเมืองกำลังขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์ พรรณปพร บุญแปง
 


ข้อมูลเมืองมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก หากเปรียบเมืองเป็นบ้านหนึ่ง การจะสร้าง ออกแบบหรือต่อเติมบ้านให้ออกมาดูดีตรงใจได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ในทุกมิติตั้งแต่ขนาด โครงสร้าง วัสดุที่ใช้ ศึกษาว่าจะมีคนเข้ามาอยู่อาศัยกันกี่คน ห้องไหนจะใช้งบประมาณในการต่อเติมมากหรือห้องไหนจะใช้งบประมาณน้อย และอีกมากมาย หากกลับมาดูในบริบทของเมืองที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลในมิติที่หลากหลาย ข้อมูลเมืองมีหลายประเภท หลายรูปแบบและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการจราจร การแก้ปัญหาคุณภาพอากาศ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ช่วยในการออกแบบเมืองให้น่าอยู่และมีอัตลักษณ์ ข้อมูลเมืองจะช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนหรือกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เองก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เมืองพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

The Urbanis สรุปสาระงานเสวนา Urban Dataverse: The verse of data-driving urbanism จากวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.จิรันธนิน กิติกา ทีมผู้อยู่เบื้องหลังเพจ “เชียงใหม่ฉันจะดูเเลคุณ” คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ นักภูมิศาสตร์เมือง คนเล่นแร่แปรธาตุข้อมูลเชิงพื้นที่เมือง คุณธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up studio กับโครงการเปลี่ยนสังคมด้วย “ดาต้า” และ คุณนิธิกร บุญยกุลเจริญ หนึ่งในนักพัฒนา ทีม Longdo Map ผู้เขียนลิงก์เช็กพิกัด หลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานซอยกิ่งแก้ว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

นครานฤมิต การปะทะสังสรรค์ระหว่างเมือง ผู้คน และข้อมูล

คุณต่อ – อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง

“การมองเมือง-เข้าใจเมือง” ผ่านแว่นกรองที่แตกต่าง

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองมีความผันผวน ซับซ้อน และคลุมเครือตลอดเวลา (VUCA: volatility, uncertainty, complexity, ambiguity) ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การดำเนินงานในเมือง โครงสร้างการพัฒนาในเมือง รวมถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้น 

ยกตัวอย่าง บริบทของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของเมืองหลัก หรือเมืองสำคัญของประเทศไทย พบว่า เป็นเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงผันผวนทั้งเชิงการเมือง บริบทความเชื่อ หรือค่านิยมต่างๆ ดังนั้น การมองเมืองหรือเข้าใจเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา จึงไม่ควรมองเพียงมิติทางกายภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรมีแว่นกรองหรือมุมมองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ  ยกตัวอย่างประเด็นการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของเมือง เราสามารถอาศัยข้อมูลต่างๆ มาประกอบ อาทิ ข้อมูล GDP เพื่อดูการเติบโตทางเศรษฐกิจ ข้อมูลจำนวนนักท่องท่องเที่ยวเพื่อดูการเติบโตด้านการท่องเที่ยว และข้อมูลหน้าตารูปแบบชายคาอาคาร เพื่อดูพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของเมือง

ข้อมูลกับการสะท้อนความเป็นจริงของเมือง

สิ่งที่หลายคนไม่อาจปฏิเสธได้ คือ โอกาสและความยากในการเข้าถึงข้อมูลในประเทศไทย จึงมักมีคำถามซ้อนกันเสมอว่า หากมีข้อมูลเปิด (Open Data) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้น จะสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน และแค่ไหนถึงไม่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล แต่ทั้งนี้ อยากให้มองว่าข้อมูล คือ สิ่งสำคัญที่สามารถเปิดพื้นที่การพูดคุยและสร้างการเจรจาต่อรองให้กับเมือง โดยที่ทุกคนสามารถเเสดงความคิดเห็น สอบทาน ตั้งคำถาม รวมทั้งชักจูงให้เกิดการพูดคุยปัญหาประเด็นต่างๆ ในระดับเมือง หรือระดับประเทศได้

โดยโจทย์ที่สำคัญ คือ การชี้ให้เห็นถึงศตวรรษความเป็นเมือง โดยที่คำว่า “เมือง” ไม่ได้จำกัดแค่ว่ากรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเมืองรอง และเมืองขนาดเล็ก เนื่องจากปัจจุบันเรามีการใช้ชีวิตเข้าใกล้ความเป็นเมืองมากขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่มีความเป็นพื้นที่เมือง ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การใช้ข้อมูลเมือง หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเมือง โดยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นของเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการผลักดันและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม 

ได้แแก่ 1) ข้อมูลกายภาพเชิงพื้นที่ (Physical Data) เช่น เส้นถนน เส้นทางน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานของเมือง 2) ข้อมูลพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ (Behavioral Data) เป็นข้อมูลที่เกิดจากการปะทะสังสรรค์ระหว่างกายภาพ และประชากรในเมือง โดยพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะสะท้อนออกมาผ่านทางกายภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงหน้าตาอาคาร การขึ้นป้ายโฆษณา การรวมกลุ่มของภาคประชาสังคม เป็นต้น และ 3) ข้อมูลประชากร พลเมือง (Demographic Data) นอกเหนือจากข้อมูลประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ยังรวมถึงข้อมูลประชากรแฝง และนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนเมือง

ยกตัวอย่าง ข้อมูลเมืองเชียงใหม่ โดยศึกษาผ่านการขับเคลื่อนของกลุ่มคน ภาคประชาสังคม และการเปลี่ยนแปลงเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมืองเพื่อขับเคลื่อน และสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 พบว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นของเมืองเชียงใหม่ เช่น การต่อต้านโครงการพัฒนาเมือง การขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม การผลักดันแก้ปัญหา PM 2.5 เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรม หรือสิ่งที่ผู้คนหรือกลุ่มภาคประชาคมสนใจ ผ่านการตอบโต้ และสร้างกลไกในการพูดคุยในประเด็นต่างๆ รวมทั้งการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ที่ทำให้การรวมกลุ่มการสร้างประชาคมผ่านโลกเสมือนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างการเปลี่ยนแปลงของเมืองมากขึ้น 

การตั้งต้นประเด็นขับเคลื่อนผ่านการสร้างข้อมูลเมือง

การสร้างข้อมูลเมืองจากการนำความสนใจของกลุ่มคนในเมือง หรือตัวกระทำที่อยู่ในเมือง (Agent Based and City Database) ถือเป็นหนึ่งแนวทางการสร้างฐานข้อมูลเมือง เพื่อทราบถึงความต้องการ ความสนใจ และเพื่อสามารถตอบโจทย์ถึงความต้องการของเมือง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเรื่อง เเต่เพียงข้อมูลที่รวบรวมได้นั้น ต้องสามารถตอบคำถามกับผู้คนที่อยู่ในเมืองได้

ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลหรือการเชื่อในข้อมูลเมือง ไม่ใช่เพียงเปิดพื้นที่สำหรับการพูดคุยเรื่องเมืองเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างวัฒนธรรม ความเชื่อ รวมถึงสร้างสิ่งที่เรียกว่า ธรรมาภิบาลเมือง (Governing the City)  ช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมือง ยกตัวอย่าง ประเด็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตคนเมือง แต่เราจะสามารถตั้งคำถามกับประเด็นนี้ได้อย่างไร ดังนั้นการใช้แมพวิชวลแสดงพื้นที่สีเขียวในเมือง จึงเป็นหนึ่งแนวทางการใช้ข้อมูลสะท้อนให้เห็นประเด็นเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ เพื่อบ่งชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ใดที่มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ขาดแคลนพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นตัวตั้งต้นในการสะท้อนปัญหา และสร้างขับเคลื่อนปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงประเด็น

ท้ายที่สุด เชื่อว่ากุญแจสำคัญของการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความร่วมมือและพลังของเมือง จะสามารถผลักดันและสร้างองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) สร้างประเด็นยุทธศาสตร์ของเมือง (Strategic Issue) หรือประเด็นเมืองที่ผู้คนสนใจ 2) สร้างพื้นที่ยุทธศาสตร์ (Strategic Area) พื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือมีศักยภาพสูง และ 3) การเลือกหรือสร้างภาคียุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ที่สามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นองคาพยพ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการทำเรื่องเมืองและข้อมูลเมือง เราอาจไม่ได้มองเพียงเชิงโครงสร้างพื้นฐานในทางกายภาพ แต่ต้องมองทั้งในมิติของผู้คน เมือง และข้อมูล เพื่อพลิกฟื้นหรือสร้างกลไกใหม่ๆ ในการสร้างความร่วมมือและสร้างพลังให้กับเมือง 

ต้นทุนของเมืองคือผู้คน
เรียนรู้ผ่านการทำงานของ “เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ”

คุณภูวา – ผศ.ดร. จิรันธนิน กิติกา อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังเพจ “เชียงใหม่ฉันจะดูเเลเธอ”

ทำความรู้จักกับ เชียงใหม่ฉันจะดูเเลเธอ

เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ คือ เฟซบุ๊กเพจที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างกลไกขับเคลื่อนภาคประชาคมเมืองเชียงใหม่ ที่ต้องการเชื่อมโยงภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงงานวิจัย “การพัฒนากระบวนการเพื่อขับเคลื่อนประชาคมเมืองเชียงใหม่” แผนงานคนไทย 4.0 มีทีมวิจัยหลักผู้อยู่เบื้องหลัง ได้แก่ คุณสุวารี วงศ์กองแก้ว, รศ. ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์, ผศ.ดร.จิรันธนิน กิติกา และ อ.อจิรภาส์ ประดิษฐ์

จากจุดเริ่มต้นของเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ ในการเป็นเครื่องมือของงานวิจัยในปี 2556 ที่บอกเล่าเกี่ยวกับประเด็นเมืองเป็นหลัก แต่เนื่องด้วยเพจถูกขับเคลื่อนด้วยงานวิจัย ส่งผลให้หลังจากปิดโครงการวิจัย เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ กลายเป็นเพจที่เงียบเหงา และขาดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อน ต่อมาหลังจากการทำโครงงานวิจัยแผนงานคนไทย 4.0 ในปี 2563 เพจได้กลับมาพลิกฟื้น และกลายเป็นกลไกของเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ทำให้ปัจจุบันเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเมืองอย่างมีส่วนร่วมด้วยข้อมูลจากประชาชน สะท้อนให้เห็นประเด็นเมืองที่หลากหลาย และนำไปสู่การออกแบบแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) และผังออกแบบเชิงแนวคิด (Conceptual Design Plan)

Facebook: เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ

การเชื่อมโยงผู้คนผ่านข้อมูลเมือง

หนึ่งในจุดประสงค์ของเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ คือ การสร้างต้นทุนใหม่ให้กับเมือง โดยกลไกที่เป็นนัยสำคัญในการสร้างต้นทุนใหม่ของเมือง คือ ผู้คน และภาคประชาสังคม ดังนั้นรูปแบบการทำงานของเพจในช่วงแรกหลังจากพลิกฟื้น คือ การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่ภาคประชาสังคมขับเคลื่อน เช่น เป้าหมาย และกลไกในการขับเคลื่อน ฯลฯ ทำให้ภาพลักษณ์ของเพจในช่วงนี้ เป็นเพียงการบอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คนได้ ทำให้ยอดการมีส่วนร่วมโพสต์ต่างๆ ลดลง 

อย่างไรก็ตาม จากการกวาดสัญญาณการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าการใช้อินโฟกราฟิก ถือเป็นเครื่องมือเล่าเรื่องเมืองที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงประเด็นปัญหาต่างๆ สู่งานข้อมูลให้เข้าใจได้ง่าย และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คน และสร้างยอดการมีส่วนร่วมเพจได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมืองไม่เคยถูกออกแบบ หรือเล่าเรื่องราวผ่านสื่อมาก่อน แต่มักถูกบอกเล่าผ่านผู้ประกอบการ งานกิจกรรมต่างๆ ทั่วไป 

กลไกสะท้อนเสียงของผู้คนในเมือง

เพื่อให้การเสนอข้อมูลเมืองเกิดกลไกที่สะท้อนเสียงผู้คนกลับมา เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ จึงสร้างและพัฒนากลไกผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลความร่วมมือภาคประชาคม และมีการทำงานแบบเชิงรุก คือ ทำงานร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ บ่มเพาะ active citizen และสร้างต้นทุนให้กับเมือง โดยอาศัยกลไก 4 เสาหลัก  ประกอบด้วย 1) การตั้งประเด็นเมือง หรือประเด็นร้อน โดยการกวาดสัญญาณจากคนเมือง และโซเชียลมีเดีย เช่น การสร้างโพลล์สำรวจ  2) การวิเคราะห์ และสรุปข้อมูล โดยอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัยและรวดเร็ว เช่น  Google Heat Map และ Application Programming Interface (API) 3) การหาทางออกให้กับเมือง ผ่านการถอดบทเรียนจากเมืองอื่นที่มีประเด็นคล้ายคลึงกัน และ 4) การแปลงข้อมูลที่น่าสนใจให้เป็นข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและอ้างอิงได้ เกิดเป็นข้อตกลงร่วมกันบนฐานความคิดเห็นและข้อมูล

สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดจากกระบวนการทำงานผ่านกลไก 4 เสาหลัก คือ เพจได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเมืองเชียงใหม่ยังขาดพื้นที่สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเมือง รวมทั้งข้อมูลที่เพจนำเสนอออกมาเป็นข้อมูลที่คนในเมืองให้ความสนใจจริงๆ  

โดยประเด็นที่พบว่าได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ประเด็นเมืองกาแฟ ที่ผลักดันศักยภาพต้นทุนกาแฟ และวัฒนธรรมกาแฟเมืองเชียงใหม่ สู่วัฒนธรรมกาแฟที่มีคุณภาพผ่านแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) หรือประเด็นพื้นที่สาธารณะของเชียงใหม่ จากการถอดบทเรียนเมืองสิงคโปร์ และนิวยอร์ก นำมาสู่การทดลองกระจายเฟอร์นิเจอร์เพื่อสร้างความเป็นสาธารณะเพื่อเกิดการทดลองพื้นที่ของผู้คนร่วมกัน และประเด็นเชียงใหม่คราฟท์ จะทำอย่างไรให้สินค้าแฮนด์เมดในเชียงใหม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่เห็นได้จากเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอในปัจจุบัน คือ ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือเล่าเรื่องราวข้อมูล เพื่อหาข้อสรุป และเกิดข้อตกลงร่วม แต่ยังทำงานเชิงรุกโดยทำงานร่วมกับชุมชน ผ่านกระบวนการสร้างและขับเคลื่อนข้อมูลแบบไม่ยัดเยียด เพื่อสร้างต้นทุนใหม่ให้กับเมือง และสะท้อนกลไกของประชาคมเมือง 

สื่อสารและสร้างเรื่องราวเมือง
เพื่อเปลี่ยนการขับเคลื่อนเมืองจากเรื่องดราม่าสู่ “ดาต้า”

คุณกิ๊ง – ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up studio: กับโครงการเปลี่ยนสังคมด้วย “ดาต้า”

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

ทำความรู้จักกับ Punch Up studio

Facebook: Punch Up

Punch Up studio เป็นสตูดิโอที่ทำหน้าที่แปลงข้อมูล สำหรับคนที่มีข้อมูล เยอะ ใหญ่ ซับซ้อน น่าเบื่อ โดยการแปลงโฉมข้อมูลออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ และเอาข้อมูลมาเล่าเรื่องใหม่ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นสามารถ เข้าถึง เข้าใจ เข้าใช้ ได้ง่ายขึ้น สามารถนำไปทำประโยชน์กับคนได้มากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง งานของ Punch Up บางครั้งเกิดขึ้นจากการมีประเด็นหรือมีคำถาม แล้วมองหาบางสิ่งบางอย่างที่จะมาเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหานั้นได้ ซึ่งในเรื่องที่ข้อมูลสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ แล้วจึงนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ มาลองสร้างเป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนสามารถดึงไปขับเคลื่อนหรือการแก้ปัญหาบางอย่างได้ โดยมีวัตถุประสงค์แบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือการให้ข้อมูลและสองคือสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้คน

สิ่งหนึ่งที่ Punch Up studio ทำ คือการสร้างเครื่องมือจากข้อมูล แล้วมีการคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data driven) มากกว่าสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยดราม่า (Drama driven) เป็นการสร้างสังคมที่มีการใช้ข้อมูลมาถกเถียงกันและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง

ผลงานการแปลงดาต้ามาเป็นข้อมูลและเครื่องมือ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ในช่วงที่โควิด 19 กำลังระบาดในประเทศไทย มีคำถามหนึ่งตามมาว่าถ้าสิ่งนี้ระบาดทั่วประเทศระบบสาธารณสุขเราจะพร้อมหรือไม่ ทาง Punch Up studio จึงร่วมมือกับไทยพีบีเอส (Thai PBS) สำนักข่าว The Active ทำ “โควิด-19 ทำให้เห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย?” เพื่อหาคำตอบต่างๆ เกี่ยวกับระบบสุขภาพไทย เช่น จำนวนแพทย์ระบาดวิทยาต่อประชากรมีเท่าไหร่ จำนวนแพทย์มีเท่าไหร่ จำนวนเตียงมีเท่าไหร่ คนเข้าถึงประกันสุขภาพอะไรได้บ้างไหม จังหวัดไหนบ้างที่ระบบสาธารณสุขมีความพร้อม ฯลฯ โดยการขำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาแปลงให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายและน่าสนใจขึ้น

อีกงานหนึ่งที่น่าสนใจคือ รถไฟฟ้า.. มหาความเปลี่ยนแปลง เรามักจะมีคำถามหนึ่งที่ค้างในใจว่า ถ้าหากเราเป็น First jobber หรือเป็นเด็กที่เพิ่งจบใหม่ เรามีสิทธิ์ที่จะซื้อคอนโดในย่านไหนได้บ้าง เพราะเรามักจะมีสมมติฐานในใจว่าเมื่อกรุงเทพมันโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วย่านที่รถไฟฟ้าไปถึงคอนโดก็น่าจะผุดเป็นดอกเห็ด แล้วราคาที่ดินก็น่าจะแพงขึ้น จึงมีการเอาข้อมูลที่เก็บโดยกรมธนารักษ์และจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ มาลองแมพบนแผนที่เพื่อดูรถไฟฟ้าในย่านต่างๆ แล้วรถไฟฟ้าแต่ละสายผ่านย่านประเภทไหนบ้าง เพื่อตอบให้เราข้อมูลตอบคำถามว่าตกลงราคาที่ดินมันขึ้นสูงในย่านไหนบ้าง 

This image has an empty alt attribute; its file name is image-7-1024x498.png

ในงานชิ้นนี้ได้พิสูจน์สมมติฐานที่ว่าเมื่อไฟฟ้าขึ้นคอนโดก็จะตามมามากมาย ราคาที่ดินก็จะแพงขึ้น แต่ปรากฏว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อเอาข้อมูลกางดูพบว่าบางสถานีบางย่านที่รถไฟฟ้าไปถึงแต่คอนโดไม่ขึ้น บางย่านราคาที่ดินขึ้นก่อนที่รถไฟฟ้าจะไปถึงเสียอีก จึงมีพยายามไปหาคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเทรนด์ต่อไปของการเปลี่ยนแปลงของเมืองมันจะเป็นเป็นอย่างไร

คนเมือง กับ เรื่องกิน เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ร่วมกับไทยพีบีเอสเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่อง วัฒนธรรมอาหาร (Food Culture) เริ่มต้นจากการสังเกตเห็นว่าปัจจุบันร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านหมาล่าหรือร้านปิ้งย่างมีมากมายในแต่ละจังหวัด จึงมีการใช้ข้อมูลจาก Wongnai มาเปิดให้ดูว่าจริงๆ แล้วร้านเหล่านี้เปิดมากในย่านไหน ย่านไหนที่มีร้านเปิดใหม่เยอะที่สุด ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเพื่อทำให้เราเข้าใจบริบทของเมืองแล้วก็รู้ว่าย่านที่เราอาศัยอยู่ ย่านที่เราเข้ามาทำงาน เข้ามาเรียน อาหารการกินนั้นเป็นอย่างไร หรือแม้แต่คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ ก็สามารถใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ย่านไหนได้อีกด้วย

ความฝันและแรงบันดาลใจ

คุณกิ๊งเล่าว่าเคยเห็นงานหนึ่งของ New York Time ที่มีการเอาข้อมูลของแต่ละเมืองในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกามาเปิดเป็นข้อมูลเปิด (Open Data) ที่ถูกจัดเป็นระบบทุกอย่าง เพื่อให้คนที่เป็นผู้อพยพ (Immigrant) หรือคนอเมริกันที่อยากย้ายถิ่นฐาน เลือกว่าตนเองมีไลฟ์สไตล์แบบไหน เช่น เป็นคนโสดหรือไม่ อายุเท่าไหร่ วันหยุดชอบทำอะไร ชอบทานอะไร ทำงานแบบไหนเป็น เป็นคนไร้บ้านหรือไม่ แล้วก็เอาข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผลว่า เมืองไหนบ้างที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือว่ามีแนวโน้มที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่คุณจะไปอยู่ ซึ่งคุณกิ๊งก็มีความฝันว่าอยากจะทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เช่นกัน 

ในอีกฝั่งหนึ่งที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างการมีส่วนร่วม ทาง Punch Up ได้มีการสร้างแพลตฟอร์มหนึ่งชื่อว่า  Bangkok Budgeting ที่มีไอเดียมาจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วในมุมของประชาชนตัวเล็กๆ จะสามารถส่งเสียงเรียกร้องให้ไปยังผู้ว่าฯ คนต่อไปได้อย่างไร จนได้ไปเห็นคอนเซ็ปต์ของต่างประเทศจากเว็บไซต์หนึ่งชื่อว่า Your Future London ที่เปิดโอกาสให้คนลอนดอนมาช่วยกันช่วยภาครัฐหรือผู้ปกครองเมืองในการตัดสินใจว่าควรจะเอางบประมาณที่มีอยู่ในปีนี้ไปพัฒนาในส่วนไหน

หรืออย่างในเมืองนิวยอร์ก ก็มีการเปิดให้ประชาชนเลือกว่าจะเอางบประมาณที่มีอยู่ไปพัฒนาในโครงการไหนบ้าง เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนที่เสียภาษีและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองก็ควรที่จะมีส่วนร่วมหรือควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าอยากให้ภาครัฐพัฒนาอะไร เพราะฉะนั้น Bangkok Budgeting จึงเป็นแฟลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาส่งเสียงถึงผู้ว่าฯ คนต่อไปว่าควรพัฒนาเรื่องอะไรบ้างและควรพัฒนาเรื่องใดเป็นลำดับแรก ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการรับฟังเสียงของประชาชนทั้งที่เกิดหรืออยู่ในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่จะย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็ตาม ได้สามารถเข้ามาส่งเสียงผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้

ข้อมูลคืออนาคตของเมือง เราจึงต้องความร่วมมือการใช้ข้อมูลทั้งจากรัฐ เอกชน และพลเมือง

คุณปาล์ม – นิธิกร บุญยกุลเจริญ หนึ่งในนักพัฒนา ทีม Longdo Map ผู้เขียนลิงก์เช็คพิกัด หลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานซอยกิ่งแก้ว

ทำความรู้จักกับ ปาล์ม นิธิกร นักพัฒนา “Longdo”

คุณปาล์ม – นิธิกร บุญยกุลเจริญ ตำแหน่งเป็นวิศวกรและซอฟต์แวร์ดิเวลอปเปอร์ จาก บริษัท เมตามีเดียเทคโนโลยี เจ้าของโปรดักต์ที่ชื่อว่า “Longdo” ไม่ว่าจะเป็น Longdo Dict พจนาณุกรมออนไลน์ Longdo Map แผนที่ออนไลน์ของคนไทยเอง และ Longdo Traffic และอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการดิจิทัลวิถีใหม่หรือว่าที่เรียกว่าดิจิทัลนิวนอร์มอล (Digital New Normal) 

Longdo Map คือแผนที่ออนไลน์เปิดให้ประชาชนสามารถที่จะค้นหาข้อมูล ปักหมุดเส้นทางหรือค้นหาหาชั้นข้อมูลต่างๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บริการในเรื่องของ แมพเอพีไอ (Map API) ที่เป็นของคนไทยแท้ๆ เพื่อที่จะต่อยอดในการเอาไปทำโซลูชั่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชันต่างๆ 

อีกโปรดักต์คือ Longdo Traffic ทำในส่วนของการจราจร ซึ่งนอกจากจะให้ข้อมูลเส้นจราจรแล้ว ยังมีข้อมูลอุบัติเหตุที่ถูกป้อนข้อมูลเข้ามา และมีอีเว้นท์อะไรต่างๆ ที่อยู่ในระบบโดยเป็นข้อมูลเปิดทั้งหมด โดยข้อมูลเปิดจะมีอยู่สองชุด หนึ่งคือข้อมูลเหตุการณ์ย้อนหลังอุบัติเหตุ ที่เก็บรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2555 เอามาทำการแสดงให้เห็นเป็นภาพ (Visualization) ซึ่งจะทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นและมีสิ่งที่เรียกว่า Data as a services หรือเว็บเซอร์วิส (Web Service) ในมุมของนักพัฒนา ข้อมูลตรงนี้สามารถหยิบยกไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนโยบาย (Policy Marker) นำข้อมูลไปใช้เพื่อนำงบไปลงทุนหรือแก้ปัญหาในพื้นที่ที่เกิดเหตุได้อย่างถูกต้อง

มีข้อมูลเปิดแล้วดีอย่างไร

ยกกรณีตัวอย่างเช่น มีการนำข้อมูลดัชนีจราจรย้อนหลังไปทำวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพอากาศกับการจราจรที่ติดขัดในเมืองกรุงเทพฯ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน แสดงให้เห็นว่าการมีข้อมูลเปิด (Open Data) ให้กับสาธารณะเข้าถึงและสามารถหยิบไปใช้ได้ สามารถนำไปสู่การค้นคว้าวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย

หรือยกตัวอย่างช่วงเหตุการณ์ไฟไหม้กิ่งแก้วที่ผ่านมา ที่มีการทำเว็บเช็กระยะรัศมีจากโรงงาน เพื่อให้คนทั่วไปรู้ที่ตั้งโรงงานและรู้ว่าบ้านตัวเองอยู่ไกลจากโรงงานมากน้อยแค่ไหน อยู่ในระยะอันตรายหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นได้ว่าข้อมูลเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเมืองได้ คุณก็สามารถที่จะเปิดดูตำแหน่งโรงงานแล้วบอกได้ว่า โรงงานที่ใกล้ที่สุดของเราอยู่ห่างจากเราเท่าไหร่และเป็นโรงงานอะไร ทำให้เห็นว่าการมีข้อมูลพื้นฐานเมื่อไปผนวกเทคโนโลยี สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือเพื่อตอบโจทย์บางอย่างได้

หรือเรื่องของขนส่งสาธารณะ (Public transport) ที่มีข้อมูลเปิดจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง เมื่อมีการเอาข้อมูลมาซ้อนในแต่ละระดับ ทำให้เราได้เห็นว่าถนนเส้นไหนห่างจากขนส่งสาธารณะมากที่สุด ซึ่งก็พบว่าบางหมู่บ้านมีระยะทางจากบ้านไปถึงขนส่งสาธารณะห่างถึงสิบกิโลเมตร ทำให้เห็นว่าบางพื้นที่ขนส่งสาธารณะเข้าถึงได้ยากมาก ข้อมูลตรงนี้สามารถนำไปซ้อนทับกับข้อมูลอื่นได้อีก เช่นนำมาซ้อนทับกับข้อมูลคาดการณ์ประชากรที่เฟซบุ๊กมีการใช้อัลกอริทึม (Algorithm) วิเคราะห์คาดการณ์ว่าพื้นที่นั้นๆ มีประชากรอยู่เท่าไหร่ หากเราลองนำชั้นข้อมูลทั้งสองมาซ้อนทับกัน ก็อาจชี้ให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกบางอย่างและสามารถนำไปต่อยอดเป็นนโยบายใหม่ที่อาจจะช่วยในการบริหารทรัพยากรและงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า

นอกจากนี้ การมีแฟลตฟอร์มกลางที่เป็นข้อมูลเปิด ก็เป็นเหมือนกระดาษทดที่ให้หน่วยงานรัฐหรือแม้แต่เอกชนเอง มาสามารถเอาข้อมูลมาลงหรือว่ามีส่วนช่วยในการทำข้อมูลบนแผนที่ ข้อมูลเหล่านี้เปิดโอกาสให้สาธารณชนเอาข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ค้นคว้าวิจัยได้ต่อ นำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ

กรณีศึกษาข้อมูลเมืองในต่างประเทศ

หากเทียบภาพ Open Data Portals ในเอเชียก็จะเห็นว่าไต้หวัน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นนำโด่งในด้านข้อมูลเปิดในขณะที่ประเทศไทยถือว่ายังต้องพัฒนาอีกมาก ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นมีการจัดงาน Open Data Challeng ที่โตเกียวเป็นปีที่ 4 ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมคิดโซลูชั่นใหม่ๆ จากข้อมูลเปิดที่มีอยู่ โดยจะมีหน่วยงานเอกชนเข้ามาสนับสนุนเงินทุน

ตัวอย่างเช่น mini tokyo 3D แผนที่บอกรายละเอียดและเส้นทางของรถประจำทางแต่ละสายในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งตอนนี้ทางคุณปาร์มมีเทคโนโลยีแผนที่รองรับ มี 3D รองรับแล้ว แต่ทีมขาดคือพับลิคเซอร์วิสอย่างเช่นการ tracking รถสาธารณะ ที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ในกรุงเทพมหานครยังขาดข้อมูล Open API หรือก็คือ Application Programming Interface ที่นักพัฒนาสามารถเอาไปต่อยอดได้ แตกต่างจากญี่ปุ่นที่มีข้อมูลเปิดและฟรี กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับเมืองที่ประชาชนเอาไปใช้ได้ สามารถสร้างโซลูชั่นได้โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้างเพราะนักวิจัยหรือนักศึกษาสามารถเอาข้อมูลไปใช้ได้เลย

นอกจากในโตเกียวแล้ว ในเมืองโกเบเองก็มีการจัดงานร่วมกับบาร์เซโลน่า แข่งขัน World Data Viz Challence 2020 ที่มีการใช้ข้อมูลเมืองมาวิเคราะห์หรือทำให้เห็นเป็นภาพ เพื่อทำเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์สำหรับการจัดทำและปรับปรุงนโยบายสาธารณะ เพื่อให้คนที่จะเป็นขับเคลื่อนนโยบายเอาไปใช้ต่อได้ 

ตัวอย่างสุดท้ายในเมืองชิคาโกที่มีการใช้ Array of Things (AoT) หรือการใช้แพลตฟอร์มการตรวจจับอัจฉริยะ เพื่อรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมสำหรับการวิจัยและการใช้งานสาธารณะ โดยมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ติดเซนเซอร์ที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องคุณภาพอากาศ คุณภาพเสียง ฯลฯ ติดตั้งตามเมือง ซึ่งสามารถส่งข้อมูลต่างๆ เข้ามาสู่ฐานข้อมูลส่วนกลาง และเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ได้ฟรี ซึ่งก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งที่เชื่อได้ว่าเมืองในอนาคตคงหนีไม่พ้น

ประเทศไทยมีข้อมูลหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับเมือง แท้จริงแล้วเราไม่ได้ข้อมูลน้อย เพียงแต่ว่าข้อมูลนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถแก้ได้หากมีการให้สนับสนุนให้คนสามารถเอาข้อมูลเมืองไปใช้แล้วสร้างให้เกิดเป็นโซลูชั่นบางอย่าง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นในการผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย

การที่เมืองมีข้อมูลเปิดที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ฟรีนั้นช่วยในการขับเคลื่อนเมืองได้อย่างมหาศาล ตั้งแต่การเริ่มต้นเข้าใจบริบทหรือมิติของเมืองทั้งในด้านกายภาพ พฤติกรรม และประชากร ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ ค้นคว้าวิจัยต่อยอด เกิดเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหรือนโยบายที่เป็นสาธารณประโยชน์ ช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเปิดบทสนทนาใหม่ๆ ให้กับเมือง จนกลายเป็นสังคมที่ผู้คนขับเคลื่อนด้วยข้อมูลแทนการขับเคลื่อนด้วยดราม่า เสริมสร้างให้เกิดภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง บ่มเพาะความเป็นพลเมือง และสร้างต้นทุนให้กับเมือง แม้ข้อมูลเมืองในประเทศของเราจะยังรั้งท้ายหลายประเทศในเอเชียแต่การจะมีข้อมูลเมืองที่มีประสิทธิภาพและเปิดให้ใช้ได้อย่างอิสระก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง หากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้ความร่วมมือและพร้อมบูรณาการข้อมูลซึ่งกันและกัน

เพราะเมืองกำลังขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

หากเมืองมีข้อมูลเปิดที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและฟรี ก็จะนำมาสู่เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากกว่าดราม่า การมีข้อมูลเมืองเปิดที่ไม่ว่าใครก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ไปต่อยอดได้อย่างอิสระ ก็จะนำมาสู่การเกิดโซลูชั่นใหม่ๆ ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเปิดบทสนทนาใหม่ๆ ให้กับเมือง แต่การจะมีข้อมูลเมืองที่มีประสิทธิภาพและเปิดให้ใช้ได้อย่างอิสระได้นั้นไม่สามารถเกิดได้จากคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือและพร้อมบูรณาการข้อมูลซึ่งกันและกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน


Contributor