15/08/2022
Public Realm

ชุมชนเคลื่อน เมืองขยับด้วยโยบายเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ: จาก Bangkok Brand ถึง Made in Bangkok

ณัทพัฒน เกียรติไชยากร
 


กลายเป็นปัญหาโลกแตกทุกครั้งเมื่อมีคนถามชาวกรุงเทพมหานครว่า “อะไรคือของดีประจำกรุงเทพฯ” หรือเวลาชาวกรุงเทพฯ ไปเยี่ยมญาติพี่น้องหรือเพื่อนที่ต่างจังหวัดก็จะคิดไม่ตกว่า “จะซื้ออะไรเป็นของฝาก” หลายครั้งปัญหาเหล่านี้จบด้วยการหิ้วขนมจากร้านดังในห้างสรรพสินค้าไปฝาก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจไม่แสดงถึงอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ เลยแม้แต่น้อย ต่างกับหลายจังหวัดในประเทศไทยที่มีผลิตภัณฑ์ประจำตำบลหรือ OTOP อันโดดเด่นที่ไม่ว่าเราไปเที่ยวทีไรเป็นอันต้องแวะอุดหนุนติดไม้ติดมือมาด้วยทุกที ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชมผู้ผลิตที่เด่นชัด เห็นเมื่อใดก็พอจะเดาได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้มาจากไหน

แล้วทำอย่างไรล่ะ? ถึงจะทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนของกรุงเทพฯ โดดเด่นเป็นที่รู้จักเหมือนกับ OTOP ของหลายตำบลในไทย หรือหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ของประเทศญี่ปุ่น วันนี้ The Urbanis จะพาทุกท่านไปสำรวจ 2 นโยบายด้านเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดัน พัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนของกรุงเทพฯ ให้มีมาตรฐาน เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เป็นที่รู้จัก ตลอดจนเกิดการยอมรับของประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

ยกระดับแบรนด์สินค้าของกรุงเทพสู่ตลาดโลกด้วย Bangkok Brand

Bangkok Brand หรือตราผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2553 โดยสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร โครงการนี้เป็นหนึ่งในนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตั้งแต่ครัวเรือน ชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น ไปจนถึง SMEs นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตก่อนจะช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพภายใต้ตราเครื่องหมาย Bangkok Brand ซึ่งโครงการนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 3 มหานครสำหรับทุกคนตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคระยะ 20 ปี (2556-2575) วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ

1. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตได้มีช่องทางในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตน

2. เพื่อประชาสัมพันธ์ Bangkok Brand ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

3. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความสนใจในการบริโภคสินค้าของ Bangkok Brand มากขึ้น

จุดเด่นของโครงการนี้อยู่ที่การคัดสรรผลิตภัณฑ์โดยสำนักพัฒนาสังคม เพื่อนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมายกระดับคุณภาพและมาตรฐาน ก่อนจะสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ภายใต้
ตราเครื่องหมาย Bangkok Brand ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะถูกส่งมาคัดสรรนั้นจะต้องเป็น 1 ใน 5 ประเภทผลิตภัณฑ์ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้าหรือเครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์จำพวกของใช้ ของที่ระลึก หรือของตกแต่ง หากผลิตภัณฑ์ใดผ่านการคัดเลือกจะถูกจัดระดับผลิตภัณฑ์ใน 5 ระดับ

1. ระดับ Premium คือผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน มีศักยภาพในการส่งออก

2. ระดับ Platinum คือผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับ ในระดับประเทศ และสามารถพัฒนาสู่สากล

3. ระดับ Gold คือผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาเป็นระดับ Platinum ได้

4. ระดับ Silver คือผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นระดับ Gold โดยจะมีการประเมินเป็นระยะ

5. ระดับ Bronze คือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถพัฒนาเป็นระดับ Silver ได้ เนื่องจากมีจุดอ่อนและพัฒนายาก

โดยที่ขั้นตอนคัดสรรผลิตภัณฑ์นี้จะเกิดขึ้นทุก 2 ปีเพื่อรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์เอาไว้ ตลอดจนสร้างโอกาส และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเชิงธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ

ขันลงหินบ้านบุผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand 2020 ระดับ Premium ในประเภทของใช้ ของที่ระลึก ของตกแต่ง

ที่มา: กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร

Made in Bangkok นโยบายใหม่แกะกล่องเพื่อเศรษฐกิจที่ดีจากฐานราก

นโยบายขยายโอกาส ขยายช่องทาง ให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ หรือ Made in Bangkok คือนโยบายที่มุ่งสนับสนุนสินค้าสร้างสรรค์ที่ถูกผลิตขึ้นในกรุงเทพมหานครด้วยการพัฒนาสินค้าเหล่านั้นให้เป็นสินค้าสร้างสรรค์ ก่อนจะสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์และช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ยังมุ่งสนับสนุนผู้ผลิตด้วยการสร้างองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรอบรม เวิร์กช็อป และการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจ จุดเด่นประการหนึ่งของนโยบายนี้คือการจัดหมวดหมู่ของสินค้าที่ครบถ้วนในทุกมิติความสร้างสรรค์ตั้งแต่ ศิลปะ เสื้อผ้า งานฝีมือ ไปจนถึงเครื่องครัว และวิธีการสนับสนุนช่วยเหลือที่ครอบคลุมทุกกระบวนการ

นโยบาย MiB ส่วนหนึ่งมีความมุ่งหมายที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์จากโครงการ Bangkok Brand ของสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผลิตภัณฑ์ในโครงการกว่า 534 ผลิตภัณฑ์จาก 345 ผู้ประกอบการ ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ และการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ผลิตนั้นมีด้วยกันอยู่ 11 วิธี ได้แก่

1. การออกแบบช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มเติม และร่วมมือกับเครือข่ายร้านค้าห้างร้าน เพื่อเปิดพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าเพิ่มเติม

2. การจัดหลักสูตรให้ผู้ประกอบการนำสินค้าเข้าแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ต่าง ๆ ผ่านการช่วยเหลือจากอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.)

3. การจับคู่ผู้ประกอบการต่างประเภทมาออกแบบสร้างสรรค์งาน

4. การจัดเวิร์กช็อปด้านผลิตภัณฑ์จากความร่วมมือของกทม.และภาคเอกชน เพื่อต่อยอดและขยายช่องทางการหารายได้จาก และพัฒนาศักยภาพของภูมิปัญญาที่มีอยู่

5. การจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการสร้างสรรค์ภายในกรุงเทพฯ ให้ผู้สนใจต่อยอดธุรกิจสามารถติดต่อกันได้

6. การสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจและ e-GP เพื่อโอกาสในการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐและ กทม.

7. การสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อเปิดห้างหรือร้านค้าในแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ระดับโลก

8. การร่วมกันพัฒนาให้สินค้าที่ผลิตในกรุงเทพฯ มีความสร้างสรรค์ในทุกมิติ ตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการตลาด

9. การจัดงานนิทรรศการและงานจัดแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมสินค้าสร้างสรรค์และผู้ประกอบการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ได้เรียนรู้จากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ

10. การสนับสนุนและให้ข้อมูลในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

11. การประเมินผลตอบรับของสินค้าทั้งจากฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดและปรับปรุง

วิธีการในการสนับสนุนสินค้าสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ภายใต้นโยบาย Made in Bangkok ทั้ง 11 ข้อนี้ถือได้ว่าครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย ไปจนถึงการพัฒนาต่อยอดสินค้า   

ขยับตัวเลขทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับความเข้มแข็งของชุมชน

ที่มา: matichon online

แม้ว่าโครงการ Bangkok Brand จะมีกระบวนการคัดสรร แบ่งระดับ และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อส่งเสริมการขายในหลากหลายช่องทางอย่างเป็นระบบ แต่รูปแบบโครงการลักษณะนี้อาจจะเหมาะสมกับผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตที่มีองค์ความรู้ในด้านธุรกิจอยู่แล้ว เพราะการคัดสรรมีลักษณะคล้ายกับการแข่งขันทางธุรกิจที่ผู้เข้ารอบเท่านั้นถึงจะได้รับการสนับสนุน สะท้อนจากเกณฑ์การพิจารณาที่ประกอบไปด้วย 1.ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ 2. ด้านการตลาด และ 3. ด้านความเป็นมาของผลิตภัณฑ์

อีกทั้งทางโครงการไม่มีการอบรม เวิร์กช็อป หรือการเรียนการสอนความรู้ด้านธุรกิจก่อนการคัดสรร ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ไม่มีความรู้ด้านธุรกิจ หรือไม่มีทุนทรัพย์ที่มากพออาจไม่สามารถผ่านการคัดสรรเขาร่วมโครงการได้ เช่นเดียวกับนโยบาย Made in Bangkok ที่มีการสร้างความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการสร้างสรรค์ สนับสนุนและผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชนของกรุงเทพผ่านการจัดเวิร์กช็อป การอบรม และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งอาจจะละเลยตัวละครสำคัญในเรื่องนี้อย่าง “ชุมชน”

จากงานวิจัยของคุณยุพิน คล้ายมนต์เกี่ยวกับการศึกษาการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนผ่านโครงการหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นและไทยพบว่า 3 การพัฒนาสำคัญที่ส่งผลให้ OVOP ประสบความสำเร็จคือ

1. การพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล สินค้าสามารถเข้าถึงรสนิยมของผู้บริโภคทั่วโลกแต่ยังคง
อัตลักษณ์ของท้องถิ่น

2. การพึ่งพาตนเองและคิดอย่างสร้างสรรค์ ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใด หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการตลาด

3. การสร้างทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาให้มนุษย์มีความกล้า และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล

ลักษณะการพัฒนาของ OVOP จึงเป็นการพัฒนาแบบ Bottom-Up จากชุมชน-ท้องถิ่นขึ้นไปสู่ภาครัฐ การริเริ่มและดำเนินการของท้องถิ่นจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมศักยภาพของชุมชน ประเทศญี่ปุ่นดำเนินการสนับสนุนท้องถิ่นด้วยการตั้งโรงเรียนฝึกอบรมผู้นำท้องถิ่น สนับสนุนผู้ผลิตด้วยเงินลงทุน สิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีจากภาครัฐ ไปจนถึงส่งเสริมการตลาดโดยรัฐบาลญี่ปุ่น นอกจากนี้เครือข่ายที่มาจากการฝึกอบรมของภาครัฐก็กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยแลกเปลี่ยนและส่งต่อองค์ความรู้ระหว่างชุมชน

นโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครทั้ง 2 นโยบายถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับความพยายามในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนของชาวกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ทั้งสองนโยบายอาจจะยังขาดอยู่คือการสร้างองค์ความรู้กับชุมชน หรือการสร้างความรู้บนฐานของชุมชนเพื่อให้การพัฒนาชุมชนสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถหยัดยืนได้ด้วยศักยภาพของชุมชน เมื่อชุมชนเข้มแข็งและสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดได้ เมื่อนั้นผลิตภัณฑ์ชุมชนก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากฐานราก และขับเคลื่อนประเทศได้ในที่สุด

ย่านกะดีจีน-คลองสานกับการพัฒนาด้วยมรดกทางวัฒนธรรม

ที่มา: Art in Soi – ศิลป์ในซอย

ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นย่านประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานครที่รุ่มรวยไปด้วยมรดกวัฒนธรรมจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และการรวมตัวของผู้คนจาก 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ความแตกต่างหลากหลายนี้ผสมผสานกันอย่างลงตัวทำให้ย่านแห่งนี้มีศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม อาหารการกิน รวมถึงวิถีชีวิตที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะฉะนั้นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักรู้ของชุมชนจึงเป็นโจทย์สำคัญของชาวกะดีจีน-คลองสานที่จะทำให้ย่านที่ล้ำค่านี้สามารถพัฒนาและสร้างการพลวัตของเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

เป็นเวลามากกว่า 10 ปีที่เครือข่ายภายในย่านกะดีจีน-คลองสานได้มีบทบาทสร้างองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาผ่านกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น เทศกาลศิลป์ในซอยที่จัดต่อเนื่องมาถึง 6 ครั้ง การส่งเสริมอาชีพด้านศิลปะหัตถกรรมภายในย่าน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมของพื้นที่ เป็นต้น การขับเคลื่อนแบบ bottom-up โดยชุมชนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญอันจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขนมฝรั่งกุฎีจีน กรอกจิ้มคั่ว หมูกระดาษ น้ำลูกยอ ล้วนแล้วแต่เป็นของขึ้นชื่อที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของย่านกะดีจีน-คลองสาน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกิดจากความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงมรดกด้านวัฒนธรรมของชุมชนที่เข้มแข็งแห่งนี้ ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนส่งเสริมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วยนโยบายด้านเศรษฐกิจทั้ง Bangkok Brand และ Made in Bangkok โดยอาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการรับสมัครเพียงอย่างเดียวเป็นการมุ่งเข้าหาชุมชนหรือผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนที่ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

The Urbanis เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตหากหลายชุมชนในกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐควบคู่ไปกับการพัฒนาขับเคลื่อนชุมชนด้วยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะทำให้ชุมชนเหล่านั้นเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ที่มาข้อมูล

“Bangkok Brand” สุดยอดผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร

กทม.เด้งรับไอเดีย’ชัชชาติ’ ดันขนมไทย MIB เตรียมต่อยอดสินค้า Bangkok Brand

ขยายโอกาส ขยายช่องทาง ให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok)

เมื่อโลกไม่แน่นอน เมืองจะพัฒนาอย่างไร ภาพอนาคตย่านกะดีจีน-คลองสานปี 2030 มีคำตอบ


Contributor