02/12/2020
Public Realm

เมื่อโลกไม่แน่นอน เมืองจะพัฒนาอย่างไร ภาพอนาคตย่านกะดีจีน-คลองสานปี 2030 มีคำตอบ

แพงสุดา ปัญญาธรรม
 


“ไม่มีฮีโร่คนเดียวในการขับเคลื่อนผลักดัน”

เสียงของ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) หรือ “อาจารย์แดง” ของเหล่าลูกศิษย์วิชาสตูดิโอวางผังชุมชนเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คุ้นเคยกันดีมาตลอดภาคการศึกษาที่ผ่านมา พยายามเน้นย้ำ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงาน ‘การนำเสนอสาธารณะร่างผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน’ ได้เข้าใจการทำงานของนักออกแบบผังเมือง ที่ต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชน เพราะพวกเขาไม่ใช่แค่เพียงผู้อยู่อาศัยและใช้งานเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะนักออกแบบเองก็อาจจะตกหล่นหรือลืมบางไอเดียที่อาจนำมาต่อยอดได้

เช่น โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ที่ริเริ่มมาจากความคิดอันตรงไปตรงมาของ “ลุงประดิษฐ์ ห้วยหงส์ทอง” ประธานชุมชนวัดบุปผาราม ย่านกะดีจีน จนพัฒนามาเป็นสวนลอยฟ้าที่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน และทำให้ดัชนีเมืองเดินได้สูงขึ้นมาทันตา อ้างอิงจากผลการศึกษาของ โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) โดย UddC-CEUS และ สสส. พบว่า ดัชนีเมืองเดินได้ในพื้นที่โดยรอบโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นจาก 49 เป็น 76 คะแนนเต็มร้อย

12 ปีแห่งความร่วมมือฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน

12 ปีผ่านไปนับตั้งแต่ริเริ่มโครงการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน วันนี้การพัฒนายังไม่สิ้นสุด ไอเดียจากนิสิตได้เข้ามาต่อยอดความร่วมมือของทั้ง UddC-CEUS กรุงเทพมหานคร และชุมชนชาวกะดีจีน-คลองสานที่เข้ามาร่วมชมนิทรรศการและแสดงความคิดเห็นต่อผลงานของนิสิต ณ สุราลัยฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองสาน

การนำเสนอเริ่มด้วยสาเหตุของการกลับมาศึกษาและหายุทธวิธีใหม่ในการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานทั้ งที่ทำมากว่า 12 ปีแล้ว คำตอบง่ายๆ จากนิสิตภาควิชาผังเมือง คือ เมื่อโลกไม่แน่นอนแล้วการพัฒนาจะหยุดนิ่งได้อย่างไร

ความเป็นเมืองมากขึ้น ประชากรสูงอายุมากขึ้น ที่อยู่อาศัย การเดินทาง การจับจ่ายใช้สอยย่อมเปลี่ยนไปด้วย ไหนจะแนวโน้มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตัวเองจึงต้องการพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ และเทรนด์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ฉีกกฎเกณฑ์ที่เคยครอบให้การเรียนรู้เกิดได้ภายในห้องเรียนเท่านั้น เมืองจะทำอย่างไรเพื่อรองรับความท้าทาย และความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปเหล่านี้

ย่านกะดีจีน-คลองสานถูกดึงเข้ามาในความสนใจอีกครั้งเมื่อระบบรางเข้ามาเชื่อมชุมชนเก่าแก่ฝั่งธนบุรีแห่งนี้เข้ากับฝั่งพระนคร กะดีจีนคลองสานในวันนี้มีศักยภาพทั้งในแง่การเดินทาง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความหลากหลาย และความร่วมมือของชุมชนที่เข้มแข็ง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายความท้าทายที่ต้องเอาชนะ เช่น ปัญหาซอยตัน การขาดแคลนพื้นที่สีเขียว การกระจุกตัวของร้านค้า การท่องเที่ยวที่มีคุณค่าแต่ยังไม่น่าจดจำ แหล่งเรียนรู้ที่เพียบพร้อมแต่ขาดการฟื้นฟู

ความท้าทายเหล่านี้คือสิ่งที่ย่านกะดีจีน-คลองสานต้องก้าวข้ามด้วยศักยภาพที่เพียบพร้อมของชุมชน เพื่อให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะหากไม่พัฒนา สิ่งที่สร้างมาจากความร่วมมือ 12 ปีที่ผ่านมา ไม่นานนักก็จะกลายเป็นเพียงอดีตและสูญหายไปพร้อมกับการเข้ามาของโลกใหม่ การสร้างกะดีจีนคลองสานให้เป็นดั่งหม้อหลอมทางศิลปวัฒนธรรมของฝั่งธนบุรีสะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมของพื้นที่จึงเป็นทางออก ด้วยยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู 5 ด้าน

ยุทธศาสตร์ด้านการเดินทาง

ยุทธศาสตร์แรกคือด้านการเดินทาง เพื่อแก้ปัญหารถติดเพราะกิจกรรมเกินครึ่งตั้งอยู่ริมถนนหลักประกอบกับมีซอยตันจำนวนมาก ทำให้ทุกอย่างต้องเดินทางผ่านถนนหลัก พื้นที่ริมน้ำก็เข้าถึงลำบาก เพราะขาดระบบขนส่งรองที่เชื่อมระบบหลักอย่างรางและเรือ เป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์ด้านการเดินทางจึงมุ่งที่การเพิ่มดัชนีเดินดี ให้กระจายสู่พื้นที่ชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเน้นที่ 5 โครงการคือ 1. พัฒนาพื้นที่ริมน้ำเพื่อเชื่อมฝั่งพระนครและสร้างพื้นที่สาธารณะริมน้ำให้ใช้ได้จริง 2. พัฒนาพื้นที่สองข้างทางให้เกิดร่มเงา เป็นมิตรต่อทั้งคนเดินและจักรยาน 3. เพิ่มขนาดทางเท้าและแยกทางรถทางเดินออกจากกัน เพื่อแก้ปัญหาซอยตันและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สัญจร 4. พัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วชุมชน 5. สร้างสถานที่จอดรถโดยใช้เทคโนโลยีจอดรถอัตโนมัติเพื่อรองรับทั้งผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้กะดีจีนคลองสานเป็นย่านที่เดินได้เดินดีและเชื่อมต่อสู่ภายนอกอย่างแท้จริง

ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ต่อมาคือด้านเศรษฐกิจ ที่มาพร้อมกับ 5 โครงการเพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวของร้านค้า โดยให้เศรษฐกิจเป็นหน้าด่านสำคัญที่จะเปิดรับและดึงคนจากย่านโดยรอบ เช่น ย่านเยาวราช ให้เข้ามาที่ชุมชนโครงการแรกคือเพิ่มร้านค้าในพื้นที่ริมน้ำที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับฝั่งพระนคร ต่อมาคือพัฒนาพื้นที่พาณิชย์โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า เช่น co-working space และพื้นที่จัดแสดงกิจกรรม โครงการที่ 3 คือ พัฒนาธุรกิจใหม่และเก่าควบคู่กันไป เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และต่อยอดธุรกิจผ่านการร่วมมือของนักศึกษาและชุมชน โครงการที่ 4 คือดึงเอาอาหารริมทางมาเป็นจุดเด่น โดยดึงเอาของดังในย่านมาโปรโมตพร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับร้านค้าริมทางและเส้นทางการเข้าถึง โครงการสุดท้ายคือการพัฒนาตลาดชุมชนด้วยหลักสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

ยุทธศาสตร์ด้านการเรียนรู้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือด้านการเรียนรู้ กะดีจีนและคลองสานเต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมนับร้อยแต่เป็นที่รู้จักอยู่ไม่กี่อย่าง เพราะถึงแม้จะมีโรงเรียน 16 โรงเรียนในย่าน แต่เมื่อการเรียนรู้จบในเวลาเรียนก็ไม่สามารถรองรับคนทุกวัยได้ อีกทั้งยังไม่มีสถานที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ จดจำ และใช้ประโยชน์ได้อีก ดังนั้น 5 โครงการที่นำเสนอในยุทธศาสตร์นี้คือ 1.โครงการเพิ่มพื้นที่หลังเลิกเรียน โดยยืดพื้นที่สาธารณะให้มีการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดคนและความแตกต่างจนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2.โครงการท่าเรือที่พัฒนารวบรวมความรู้วัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลายของชุมชนให้อยู่ในจุดที่มองเห็นได้ รวมไปถึงพัฒนาสูตร การยืดอายุอาหาร เพื่อนำส่งออกแข่งขันในวงกว้าง 3.โครงการถนนท่าดินแดงที่เชื่อมไปท่าเรือท่าดินแดง เพื่อส่งต่อเยาวราช และพาหุรัต โดยทำเป็นจุดรวบรวมงานคหกรรมในพื้นที่ 4.โครงการโกดังเซ้งกี่ โดย renovate โกดัง กับโรงเกลือ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ประวัติศาสตร์เสมือนจริง 5.โครงการผสานความรู้วัฒนธรรม โดยกระจายอยู่ตามรอยต่อชุมชน เพื่อปลูกฝังให้เข้าใจความแตกต่าง และรู้จักเรียนรู้ความแตกต่าง

ยุทธศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย

ต่อมาคือยุทธศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย โดยอิงจากช่วงการกักตัวโควิดที่ทำให้เห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อม จะพัฒนาอย่างไรให้น่าอยู่ ผ่าน 5 โครงการ คือ โครงการพื้นที่สีเขียว ที่จะนำพื้นที่ราชการ พื้นที่วัด มาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ให้ชุมชนทำกิจกรรมและสร้างปฏิสัมพันธ์ โครงการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพน้ำในคลองทั้ง 6 สายเพื่อสร้างพื้นที่พบปะใหม่ ต่อมาคือโครงการสร้างพื้นที่สันทนาการเพื่อสร้างกิจกรรมและการออกกำลังกายให้คนในย่าน โครงการที่ 4 คือ การเสริมสร้างชุมชนหลากหลายโดยพัฒนาพื้นที่รกร้างให้เป็นที่อยู่อาศัยถาวร ตลาดนัด ศูนย์สุขภาพ ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก คอนโด ตามความเหมาะสมแก่คนในย่าน สุดท้ายคือโครงการปรับปรุงตึกแถวที่ทิ้งร้างให้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว อพาร์ทเมนต์ โฮสเทล โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะทำให้คะแนนการเข้าพึงพื้นที่สีเขียวเพิ่มเป็น 2 เท่า และคะแนนการเดินเพิ่มจาก 54 คะแนนเป็น 62 คะแนน

ยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์

ยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ การปรับปรุงภูมิทัศน์ย่านให้น่าจดจำ เพราะการพัฒนาใหม่ๆที่เข้ามาในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่มียุทธศาสตร์ควบคุม ทั้ง 3 DNA หลักของย่าน คือ สังคมพหุวัฒนธรรม ชุมชนชาวตรอก และพื้นที่ริมน้ำ อาจหายไป ทางออกคือการควบคุมให้น้อยแต่พอเพียง คือ 1. กำหนดความสูงของอาคาร ริมแม่น้ำ และบริเวณศาสนสถาน 2. กำหนดการใช้สีของอาคาร โดยส่งเสริมให้เพิ่มสีเทา 30% เพื่อความกลมกลืนบริบทเดิมของพื้นที่ และ 3. ส่งเสริมสถาปัตยกรรม อุปกรณ์ประกอบถนน เช่น ระยะกันสาด ระยะป้ายร้าน แนวต้นไม้ริมทาง อุปกรณ์ประกอบถนน เป็นต้น โดยหวังว่าทั้ง 3 ข้อเสนอนี้จะทำให้เอกลักษณ์ของย่านเด่นชัด และพื้นที่ริมคลองที่เคยสำคัญจะกลับมามีชีวิตชีวา บ่งบอกตัวตนของกะดีจีนคลองสานได้

ท้ายที่สุดแม้จะมีเพียง 2 ยุทธศาสตร์คือด้านการเรียนรู้และการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ได้รับการโหวตสูงสุดจากผู้เข้าร่วมงาน จากโครงการ โครการยุทธศาสตร์โดยนิสิตที่ได้รับรางวัล ได้แก่ โครงการ After School  Spaces  พื้นที่แสดงศักยภาพและเพิ่มความเป็นชีวิตสาธารณะภายในย่าน โดยคุณศุภิฌา กัสนุภ และ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ย่านกะดีจีนเพื่อส่งเสริมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกะดีจีนให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยคุณจินตวีณ์ มาลีวงษ์ภัทร แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนได้รับรู้คือการต่อยอดความร่วมมือ และการรับฟังความคิดเห็นของผู้ออกแบบและชาวชุมชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบชุมชนเมือง ที่เปรียบเสมือนห้องนั่งเล่นของเมือง โดยมีลูกค้าและอาจารย์ที่แท้จริงคือพลเมืองไทยนั่นเอง

หมายเหตุ : ท่านสามารถฟังการนำเสนอสาธารณะร่างผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ฉบับสมบูรณ์ได้ทางเพจ UDDC – Urban Design and Development Center


Contributor