12/12/2019
Public Realm

มหานครโซล กับการฟื้นฟูเมืองเชิงเส้น

The Urbanis
 


เมืองโซลที่เรารู้จัก

เมืองโซล ประเทศเกาหลี กับภาพจำที่ต่อให้ไม่ได้เป็นแฟนซีรี่ย์เกาหลีหรือเกมโชว์ ก็ต้องเคยเห็นภาพบรรยากาศสีสันของเมืองสมัยใหม่ริมแม่น้ำ พระราชวังเก่าแก่ที่มีทิวเขาเป็นฉากหลัง และพื้นที่ริมน้ำที่ทอดยาวไปตามแนวคลองชองเกชอน ที่เปิดรับทุกเพศ ทุกวัย และทุกกิจกรรมให้มาใช้พื้นที่อย่างอิสระ เมืองที่ถูกสร้างขึ้นโดยภูมิศาสตร์ของพื้นที่นี้ยังคงอัตลักษณ์ ถึงแม้มีการขยายตัวเพื่อรองรับประชากรกว่า 10 ล้านคนและมีเปลี่ยนแปลงอย่างมากในแต่ละยุคสมัย 

หากมองจากสัณฐาน ที่ตั้งเมืองโซลถูกล้อมรอบไปด้วยภูเขา พาดกลางด้วยคลองชองเกระบายน้ำในแนวตะวันออก-ตะวันตก และมีศูนย์กลางการปกครองหันหลังอิงภูเขาภายในกำแพงเมืองที่ลากผ่านสันเขาทั้งสี่ด้าน ช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ประชากรหลั่งไหลเข้าเมือง โซลขยายตัวอย่างมากภายใต้เงื่อนไขพื้นที่ราบที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐบาลได้ออกนโยบายเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยอย่างเร่งรัดทั้งในรูปแบบผังพัฒนาโดยการรื้อร้างสร้างใหม่ รวมถึงการสร้างถนนและทางยกระดับเพื่อบรรเทาสภาพการจราจรที่ติดขัด ผลของการพัฒนาที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการและกลไกทางเศรษฐกิจ ทำให้เมืองถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองและชายขอบเนินเขาซึ่งมีความเหลื่อมล้ำสูง และนำมาซึ่งความไม่พอใจและการเรียกร้องของประชาชนให้มีการเปลี่ยนแปลง

เมืองโซลที่กำลังฟื้นฟู

กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา โซลเป็นเมืองที่มีโครงการฟื้นฟูเมืองอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นโครงการใหม่เกิดขึ้นในทุก 5 ปี ตามวาระสมัยของนายกเทศมนตรีโซล ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของเมือง โดยเฉพาะการปรับใช้โครงสร้างสาธารณูปโภคเก่าและอาคารสิ่งก่อสร้างเดิม อย่างโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอน (2003-2005) ที่ยกเลิกทางด่วนคร่อมคลองเป็นพื้นที่นันทนาการของเมือง โครงการศูนย์ออกแบบดองเดมุน (2009-2014) พื้นที่แสดงงานออกแบบในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โครงการสวนลอยฟ้า Seoullo7017 (2015-2017) แลนด์มาร์คใหม่ของเมือง และล่าสุดโครงการฟื้นฟูย่าน Sewoon Sangga (2015-2018) เชื่อมต่อย่านการผลิตใจกลางเมือง เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าในขณะที่โครงการฟื้นฟูเมืองเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนเมือง มันยังเป็นบันไดสู่ความสำเร็จทางการเมืองของนายกเทศมนตรีในทุกยุคทุกสมัย

สิ่งที่โครงการฟื้นฟูเมืองเหล่านี้มีร่วมกัน คือ ตำแหน่งที่ตั้งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเมืองซึ่งเกิดจากความเข้าใจภูมิศาสตร์และระบบวางผังของเมืองที่พัฒนาตามแต่ละยุคสมัย และลักษณะสำคัญของพื้นที่ที่เป็นเชิงเส้น กล่าวคือ มีลักษณะเป็นแนวทางยาวต่อเนื่องเชื่อมต่อสู่หลายย่านจึงมีศักยภาพเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบ ตัวอย่างที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้อย่างโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอน ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ที่เคยแบ่งเมืองโซลออกทางภูมิศาสตร์และทางสังคมวัฒนธรรม ภายหลังฟื้นฟูกลับกลายเป็นพื้นที่รวมตัวของคนเมือง เป็นพื้นที่นันทนาการให้กับย่านโดยรอบทั้งย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ ย่านพานิชยกรรม และย่านที่อยู่อาศัย ความสำเร็จของโครงการเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบตามมา เช่นเดียวกับโครงการล่าสุดที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ โครงการสวนลอยฟ้า Seoullo7017 ที่พลิกฟื้นโครงสร้างทางยกระดับเก่าเหนือสถานีรถไฟกลางซึ่งถูกยกเลิกการใช้งานให้เป็นทางเดินและสวนสาธารณะ ระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร เชื่อมต่อย่านประวัติศาสตร์และย่านเมืองใหม่เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีพื้นที่พักผ่อนระหว่างทาง พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้งและพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มาเยี่ยมชม กว่า 3 ล้านคนตั้งแต่เปิดโครงการ เป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาอย่างดีและส่งเสริมให้เมืองเป็นมิตรกับคนเดินมากยิ่งขึ้น

โซลในวันข้างหน้า

ถึงแม้ว่า การฟื้นฟูเมืองโซลดูเหมือนจะขึ้นกับวิสัยทัศน์ของแต่ละนายกเทศมนตรีเมือง โดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมืองในภาพรวม ทำให้เกิดคำถามจากประชาชนและวิชาชีพสถาปนิกและนักผังเมืองอย่างมาก แต่ด้วยความเข้าใจภูมิศาสตร์และระบบวางผังของเมือง รวมถึงลักษณะพื้นที่โครงการนำร่องที่มีศักยภาพในการกระตุ้นการพัฒนาและการขยายผล ทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตามเมืองโซลกำลังมีการเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือ การจัดกิจกรรม Seoul Biennale of Architecture and Urbanism 2017 ซึ่งเป็นเวทีเปิดโอกาสให้สถาปนิกและนักผังเมือง ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ได้สะท้อนประเด็นปัญหาของเมือง และขบคิดแนวทางการกำหนดนโยบายเมืองในภาพรวมร่วมกันให้เมืองเป็นแหล่งสร้างสรรค์และเป็นกลไกสู่ความเท่าเทียม


Contributor