11/08/2020
Public Realm

มุมไบเปลี่ยนสัญญาณไฟคนข้ามถนน ก้าวแรกเพื่อเสริมพลังให้ผู้หญิงกล้าใช้ชีวิตสาธารณะของเมือง

ชยากรณ์ กำโชค
 


ทันทีที่รัฐบาลท้องถิ่นนครมุมไบติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนข้ามถนนรูปแบบใหม่บริเวณย่านศูนย์กลางเมือง ก็ทำให้เกิด ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในทันที และส่งแรงกระเพื่อมเป็น เวิลด์ อเจนด้า จากความสนใจของสื่อระดับโลก ที่พุ่งเป้ามาที่นครมุมไบ มหานครด้านการเงินแห่งประเทศอินเดีย เมืองหลวงของรัฐมหาราฏระ เมืองซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่จริงกว่า 20 ล้าน สูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก  

สัญลักษณ์รูปคนเพศชายบนไฟคนข้ามถนน ถูกเปลี่ยนเป็นรูปคนเพศหญิงสวมกระโปรง จำนวน 240 จุดทั่วเมือง ถือเป็นเมืองแรกของอินเดียที่ดำเนินโครงการนี้ แม้ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายเมืองในยุโรปก็เคยดำเนินการมาก่อน หากประเด็นที่ทำให้โลกสนใจก็เพราะว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ประเทศที่ได้ชื่อว่าการใช้ชีวิตสาธารณะของผู้หญิงเสี่ยงอันตรายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นาย Aaditya Thackeray รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมของรัฐมหาราฏระ ได้โพสต์ภาพสัญญาณไฟจราจรรูปแบบใหม่ในย่าน Dadar ผ่านทวิตเตอร์ พร้อมแคปชัน  “ถ้าคุณผ่าน Dadar คุณจะมองเห็นบางสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นนครมุมไบได้ดำเนินการเพื่อรับประกับความเท่าเทียมกันทางเพศ ผ่านไอเดียง่ายๆ อย่างการใช้สัญลักษณ์บนไฟจราจรที่เดี๋ยวนี้มีรูปผู้หญิง” ทวีตดังกล่าวก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นตามมาจำนวนไม่น้อย 

เช่น มีผู้แสดงความคิดเห็นว่า นี่คือก้าวเล็ก ๆ แต่เด็ดเดี่ยว ของการเริ่มต้นการยุติการแบ่งแยกทางเพศที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกผู้คน ด้วยการออกแบบสภาพแวดล้อมของเมือง อีกความเห็นทวีตว่า นี่คือสัญลักษณ์ที่ยืนยันว่าผู้หญิงจะมีตัวตนและจะได้รับการยอมรับในภาวะปกติใหม่ ขณะที่ผู้นำพรรคการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งได้ทวีตว่า การเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรเป็นก้าวย่างสำคัญของการเสริมพลังสตรี ชาวเมืองและผู้ใช้สื่อสังคมล้วนชื่นชมการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์นี้ ซึ่งจะมีส่วนปรับความเข้าใจของสาธารณะใหม่ ทั้งยังเป็นการท้าทายความปกติทางเพศเดิม ผ่านการเรียนร้องให้ผู้หญิงหันมาใช้พื้นที่สาธารณะกันมากขึ้น 

ผู้หญิงในอินเดียเผชิญกับปัญหาด้านความปลอดภัยในหลายประเด็น ตั้งแต่ปัญหาพื้นที่สาธารณะที่ค่อนข้างมืดสลัวยันความแออัดของระบบขนส่งมวลชน กระทั่งการเดินในจุดอับสายตา นี่จึงถือเป็นก้าวสำคัญของเมืองและรัฐที่จำเดินหน้าพัฒนาสาธารณูปการสาธารณะที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในรอบหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเกิดโศกนาฏกรรมร่วมกันข่มขืนฆ่าอันโหดร้ายเมื่อปี 2012 ที่หลายฝ่ายเรียกว่า “วิกฤตการข่มขืน” เป็นตัวจุดชนวนให้ผู้มีอำนาจของอินเดียหันมาสนใจและเริ่มต้นปฏิรูปปัญหาผู้หญิงกับใช้ชีวิตสาธารณะของเมือง โดยใช้แนวทางแนวทางการใช้การออกแบบวางผังเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตเมืองเพศหญิง 

ประกอบกับผลการสำรวจของมูลนิธิธอมสันรอยเตอร์ส เมื่อปี 2018 เปิดเผยว่า อินเดียเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้หญิง รายงานระบุว่าเกิดเหตุข่มขืนจำนวน 33,356 ครั้ง กับอีกการกระทำความรุนแรงทางเพศกว่า 89,097 ครั้ง ในปี 2019 ที่ผ่านมา เมืองเดลีจึงประกาศงดเก็บค่าโดยสารรถขนส่งมวลชนสำหรับผู้หญิง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้หญิงนิยมใช้ ขณะหลายรัฐมอบจักรยานให้เด็กผู้หญิง เพื่อรับประกันว่าอย่างน้อยพวกเธอจะไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน เพื่อเพราะไม่มั่นใจความปลอดภัยในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 

Shilpa Phadke นักรัฐศาสตร์และนักรณรงค์เพื่อสิทธิความเท่าเทียม เจ้าของหนังสือ Why Loiter? Women and Risk on Mumbai Street กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะหรือตามถนนหนทางในหลายเมืองของอินเดีย  มีสัดส่วนผู้หญิงกล้าใช้งานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น “หากวันหนึ่งที่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เติบโตขึ้น แล้วพบว่าสัญญาณไฟจราจรมีสัญลักษณ์เพศหญิงปรากฏอยู่ แม้จะเป็นสัญญะเพียงเล็กน้อยแต่ทรงพลัง สื่อว่าเพศหญิงก็สามารถใช้ชีวิตสาธารณะได้…สัญญาณไฟฟ้าจราจรดังกล่าวได้ลบทัศนคติและจินตนาการเดิมๆ ที่ว่าถนนเป็นของเพศชาย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยมายาวนานมากเกินไปแล้ว” Phadke กล่าว

มหานครมุมไบไม่ใช่เมืองแรกของโลกที่มีไอเดียเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรเพื่อสร้างความตระหนักด้านความเท่าเทียมทางเพศ เช่น  ก่อนหน้านี้ สัญญาณไฟข้ามถนนในเมืองของประเทศเยอรมนีก็ปรับให้มีสัญลักษณ์เพศชายและเพศหญิงคู่กัน ขณะที่เมืองหลวงของออสเตรียอย่างกรุงเวียนนา ได้เพิ่มสัญลักษณ์คู่รักเพศเดียวกันบนสัญญาณไฟเมื่อปี 2015 ด้านกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสัญญาณไฟข้ามถนนจะต้องแทนที่ด้วยสัญญาณเพศหญิงในหลายหลายรูปแบบ อาทิ หญิงตั้งครรภ์ หญิงสองคนจับมือกัน หรือแม้กระทั่งผู้หญิงกับผมทรงแอโฟร่

ประเทศอินเดียอยู่อันดับที่ 112 จาก 153 ประเทศ ในดัชนีความเท่าเทียมทางเพศของ World Economic Forum และมีสถิติเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ประมาณ 239,000 คน เสียชีวิตเฉลี่ยต่อปี สืบเนื่องจากการเพิกเฉยต่อปัญหาการกีกกันทางเพศ  และอ้างอิงจากผลการศึกษาเมื่อปี 2018 พบว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมาประชากรเด็กหญิงตายประมาณ 2.4 ล้าน ข้อมูลดังกล่าวล้วนสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาที่หยั่งรากลึก จนคนบางกลุ่มมองว่ายากจะแก้ไขด้วยการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรเท่านั้น หากจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการปรับแก้ไขกฎหมาย และให้การศึกษาเพื่อปรับทัศนคติเดิม เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ที่มาข้อมูล 

Sign of the times? Mumbai installs female figures on traffic lights to promote gender equality  https://edition.cnn.com/style/article/mumbai-traffic-light-women-intl-hnk-scli/index.html

‘A small but powerful signal’: Mumbai installs female figures on traffic lights https://www.theguardian.com/world/2020/aug/04/a-small-but-powerful-signal-mumbai-instals-female-figures-on-traffic-lights

Mumbai Put Female Figures on Traffic Signals. Some Women Are Not Impressed. https://www.nytimes.com/2020/08/06/world/asia/mumbai-traffic-light-woman-india


Contributor