09/06/2021
Public Realm

Hudson Yards ย่านพัฒนาแบบผสมผสานแห่งมหานครนิวยอร์ก ส่วนผสมที่ลงตัวของ luxury และ creativity

สรวิชญ์ ธรรมรติวงศ์
 


การวางผังพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (mixed-use development) เป็นเทรนด์การพัฒนาเมืองที่มหานครทั่วโลกให้ความสนใจ ด้วยหลายสาเหตุ เช่น พื้นที่เมืองที่จำกัดทำให้การใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ หรือการสร้างกลุ่มอาคารสูงและทันสมัยของสำนักงานขนาดใหญ่ หรืออื่น ๆ ด้วยสาเหตุเหล่านี้เองการพัฒนาพื้นที่ mixed-use ในมหานครยุคปัจจุบัน จึงมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่มาก และประกอบอาคารสูงหลายแห่งเกาะกลุ่มรวมกัน ซึ่งตัวอย่างที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอวันนี้คือ Hudson Yards ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่แบบ mixed-use ขนาดใหญ่บริเวณทางตะวันตกของ Midtown Manhattan ซึ่งถือเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ mixed-use ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

Hudson Yards opening: Timeline of the megaproject's major moments - Curbed  NY

ที่ตั้งของโครงการ Hudson Yards เดิมเป็นทางผ่านของทางรถไฟ Hudson River Railroad เชื่อมระหว่างมหานครนิวยอร์กกับพื้นที่ตอนบนของรัฐนิวยอร์ก (Upstate New York) ที่ตั้งของ Hudson Yards จึงเคยเป็นลานขนส่งสินค้ามาก่อน (freight yards) ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การใช้รถไฟในสหรัฐอเมริกาเริ่มเสื่อมความนิยม แทนที่ด้วยการเกิดขึ้นของทางหลวงเชื่อมระหว่างรัฐ (Interstate Highways) ที่ทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกสบายกว่าโดยรถไฟแบบเดิม ลานขนส่งสินค้าที่เคยพลุกพล่านก็เงียบเหงาลง พื้นที่ Hudson Yards ก็เช่นเดียวกัน

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2004 เมื่อมหานครนิวยอร์กร่วมชิงตำแหน่งผู้จัดงานกีฬาโอลิมปิดฤดูร้อนปี 2012 รัฐบาลท้องถิ่นนครนิวยอร์กประกาศแผนพัฒนามหานครนิวยอร์ก โดยใช้งบประมาณกว่า 3,700 ล้านดอลลาร์ พัฒนา Hudson Yards บนแมนฮัตตันเป็นพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ สอดคล้องกับแนวคิดของกลุ่มนักพัฒนาที่มองว่า การพัฒนาพื้นที่ในเกาะแมนฮันตันเป็นคำบัญชาของพระเจ้าที่ต้องการให้ทำการขยายพรมแดนบนพื้นที่ที่เหลืออยู่ หรือที่เรียกว่า “Manhattan Manifest Destiny” ซึ่งนั่นก็คือ Hudson Yards นั้นเอง

แม้ภายหลังมหานครนิวยอร์กไม่ถูกรับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2012 แต่ด้วยการลงทุนพัฒนาโครงการที่ดำเนินการล่วงหน้าไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Tishman Speyer จึงเข้าไปประมูลเพื่อพัฒนาต่อในปี 2008 แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจในช่วงปี 2008 ทำให้การพัฒนาหยุดชะงักไป ก่อนที่ The Related Companies บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกแห่ง จะเข้ามาพัฒนาต่อในปี 2009 โดยร่วมทุนกับ Oxford Properties Group

South of Hudson Yards, 601 West 29th Street begins to rise; See new  renderings and historic maps | CityRealty
ที่มาภาพ City Realty

ปัจจุบัน Hudson Yards ได้ถูกพัฒนาจนเสร็จสิ้นไปส่วนหนึ่งแล้ว โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2024 เมื่อการพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์ Hudson Yards จะมีทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดนิทรรศการ คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน สวนสาธารณะ ถือว่าเป็นย่าน all in one อย่างสมบูรณ์แบบ

บางส่วนที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เช่น The Vessel สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ใจกลางย่าน Hudson Yards ที่มีแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมบ่อน้ำขั้นบันไดโบราณของอินเดีย The Vessel ถือเป็นการสร้างภาพจำและแบรนด์ให้กับพื้นที่ ทำให้พื้นที่ Hudson Yards แตกต่างไปจากพื้นที่การพัฒนาอื่น ๆ มีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือประชากรในมหานครนิวยอร์กจำนวนมากให้เข้ามาชื่นชมพื้นที่การพัฒนาแห่งนี้ รวมทั้งสร้างประสบการณ์ใหม่ของการชมทัศนียภาพแม่น้ำฮัตสัน ผ่านการเดินขึ้นไปบน The Vessel ทำให้ The Vessel เป็น Creative Space ที่น่าสนใจได้อย่างดี

A group of people outside a building

Description automatically generated with low confidence
ที่มาภาพ Hudson Yards New York

สถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่ง คือ The Shed ผลงานการออกแบบจาก Diller Scofidio + Renfro และ Rockwell Group อาคารแห่งนี้เป็นศูนย์การแสดงศิลปะและวัฒนธรรมสุดล้ำสมัยความสูงเท่าตึก 8 ชั้น ภายในมีพื้นที่สำหรับแสดงผลงานศิลปะจำนวน 2 ห้องใหญ่ รวมถึงมีสถานที่อำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น ห้องแลปศิลปิน รวมถึงยังมีจุดเด่น คือ หลังคาขนาดยักษ์ของตึกที่สามารถเคลื่อนตัวออกมาเพื่อสร้างพื้นที่พิเศษรองรับกิจกรรมอื่นๆ ได้ ทั้งคอนเสิร์ต จุดจัดแสดงภาพวาด งานดิจิทัลมีเดีย หรือว่าจะทำให้เป็นพื้นที่สำหรับการเต้นออกกำลังกายก็สามารถทำได้

การสร้างพื้นที่ในลักษณะนี้เป็นการสร้าง creative space หรือก็คือพื้นที่ที่เปิดกว้างให้นักท่องเที่ยว หรือชาวนิวยอร์กเองเข้ามาประกอบกิจกรรมที่สร้างความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ไม่เหมือนใคร รวมถึงมีประสบการณ์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาตามอีเว้นที่เปลี่ยนไป ซึ่งช่วยให้พื้นที่ Hudson Yards นี้ เป็นพื้นที่ที่ไม่น่าเบื่อ จำเจ และสามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว และประชากรในเมืองให้เข้ามาเพื่อสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่นี้ได้ตลอดเวลา อันเป็นการสร้าง place branding ให้กับ Hudson Yards ผ่านการพัฒนาพื้นที่โดยอิงความสะดวกสบายและการทำให้เข้าถึงง่ายของผู้คนเป็นหลักที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

The Shed New York ที่มาภาพ https://theshed.org/about/building

ทั้ง The Shed และ The Vessel ถือเป็นสถานที่ที่สร้างแบรนด์ให้กับ Hudson Yards ผ่านการสร้าง creative space ที่เสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ที่เข้าสัมผัส ซึ่งความเป็น creative space สามารถเห็นได้ประเทศไทยเช่นเดียวกัน เช่น Warehouse 30 ที่เป็นโครงการฟื้นฟูโกดังสินค้าเก่าให้กลายเป็นพื้นที่ mixed-use ที่ประกอบไปด้วยกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ร้านค้าหลากประเภท ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ร้านขายแผ่นเสียงไวนิล ร้านขายดอกไม้ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านอาหาร โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ หรือ พื้นที่ทำงานในรูปแบบ creative co-working space ภายใต้ชื่อ ‘วัน บิ๊ก เฮ้าส์’ ซึ่งสามารถดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นที่ได้เป็นอย่างดี

เดินเล่นชิวๆ ที่โกดังสุดฮิปในซอยเจริญกรุงกับ “Warehouse 30”
Warehouse 30

นอกจากพื้นที่ที่เป็น Creative Space แล้ว Hudson Yards ก็ยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่ช่วยดึงดูดผู้คนเข้ามา เช่น โรงแรมหรูระดับ 5 ดาวอย่าง Equinox Hotel คอนโดมิเนียมจำนวนมาก ห้างสรรพสินค้าระดับ luxury อย่าง The Shops & Restaurants at Hudson Yards และที่ขาดไม่ได้เลยคือ อาคารสำนักงานอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของพื้นที่ mixed-use

ยกตัวอย่างเช่น อาคาร The Spiral อาคารแห่งนี้เป็นตึกระฟ้าขนาดใหญ่ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ มีจุดเด่นคือในทุก ๆ ชั้นจะมีทางเดินออกไปยังสวนที่วนไปรอบอาคารที่ สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานของพนักงานอยู่ในออฟฟิศที่ตั้งอยู่ใน The Spiral ได้ ตัวอย่างสำนักงานที่จะเข้ามาตั้งใน The Spiral เช่น Pfizer ที่เป็นบริษัทยาสัญชาติอเมริกัน ที่วางแผนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่เข้ามาที่ The Spiral ในอนาคต 

จากสถานที่ที่ยกมาทำให้เราเห็นว่า Hudson Yards เป็นสถานที่ที่สามารถดึงดูดผู้คนได้หลากหลาย ตั้งแต่ผู้ต้องการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ของการท่องเที่ยวในเมือง หรือกลุ่มคนอื่น ๆ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้สูงที่ต้องการความสะดวกสบายและความหรูหรา หรือกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่นอกจากต้องมาทำงานแล้ว ยังต้องการสภาพแวดล้อมส่งเสริมการทำงานที่ได้มาตรฐานและสร้างสรรค์ สามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตได้

Hudson Yards กลายเป็นพื้นที่ Mixed Use ที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายมากมาย ตอกย้ำความเป็น Cosmopolitan และ World City ของมหานครนิวยอร์กได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เองกรุงเทพมหานครที่ปัจจุบันที่เริ่มมีแผนพัฒนาย่านแบบ mixed- use ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนมองว่าการพัฒนาโครงการ Hudson Yards สามารถเป็นบทเรียนที่นำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทยได้ เช่น การสร้าง Place Branding จากสิ่งที่คนไทยสนใจ หรือการสร้าง Creative Space ที่แปลกใหม่ เป็นต้น

หากทำได้ ผู้เขียนเชื่อว่ากรุงเทพฯ ก็จะมีย่านที่ดึงดูดผู้คนอันหลากหลายและกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

แหล่งข้อมูล

The evolution of Hudson Yards: from ‘Death Avenue’ to NYC’s most advanced neighborhood

THE VESSEL งานสถาปัตยกรรมที่ต้องปีนบันไดชม

Hudson Yards โครงการระดับ Mega Development ของอเมริกา มูลค่าสูงลิ่วแค่หกแสนหกพันล้านบาทเท่านั้นเอง

The Shed ศูนย์การแสดงศิลปะและวัฒนธรรมน่าเช็คอินแห่งใหม่เมื่อไปเยือนนิวยอร์ก

Warehouse 30


Contributor