08/11/2021
Public Realm

สถาปนิกและนักผังเมืองบนเส้นทางจักรวาลหมาล่าเนื้อ กับ ปรีดา หุตะจูฑะ

บุษยา พุทธอินทร์
 


สถาปนิก(นัก)ผังเมือง ในจักรวาล…หมาล่าเนื้อ คือชื่อหัวข้อบรรยายของ ปรีดา หุตะจูฑะ แห่งแพลนเนอร์26 ในโครงการบรรยายสาธารณะ “โลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง” ปีที่ 5 ที่ชวนให้ผู้ติดตามจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่า อะไรคือ “หมาล่าเนื้อ” แล้ววลีดังกล่าวเกี่ยวข้องอะไรกับวิชาชีพสถาปนิกและนักผังเมือง The Urbanis ได้หาคำตอบและสาระสำคัญจากการบรรยายสาธารณะของปรีดามาฝาก เริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ประสบการณ์และงานที่ภาคภูมิใจ ตลอดจนสิ่งที่อยากฝากว่าที่สถาปนิกผังเมืองในอนาคตในโลกแห่ง “หมาล่าเนื้อ” 

อุปมาบริษัทที่ปรึกษาดั่ง “หมาล่าเนื้อ”

ปรีดา หุตะจูฑะ หรือ ดื้อ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการสถาปนิก เขาคือกรรมการผู้จัดการ บริษัท แพลนเนอร์26 จำกัด ได้บอกเล่าถึง ศาสตราจารย์ วรรณศิลป์ พีรพันธุ์ (2546) ที่เคยอุปมาอุปมัยการทำงานในบริษัทที่ปรึกษาว่า การหางานนั้นเหมือนกับหมาล่าเนื้อ กล่าวคือ ต้องขวนขวายหางานเข้าบริษัทเพื่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง ประหนึ่ง “หมาล่าเนื้อ ที่หาเนื้อมาเพื่อกิน กินหมดก็ต้องหาใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง

ผู้บรรยายอธิบายความหมายของคำว่า บริษัทที่ปรึกษา หมายถึง นิติบุคคลที่ประกอบกิจการหรือให้บริการในการเป็นที่ปรึกษา และได้ขึ้นทะเบียนการเป็นที่ปรึกษากับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง บริการให้คำปรึกษาหรือแนะนำทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม การศึกษาวิจัย หรือด้านอื่นตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

บริษัท แพลนเนอร์ 26 จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ก่อตั้งขึ้นมาจากกลุ่มเพื่อนที่เรียนในภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 26 มีวัตถุประสงค์ของการตั้งบริษัทเพื่อให้บริการด้านการวางและจัดทำผังเมือง (urban planning) การออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) และระบบแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ (MIS & GIS Mapping) เพื่อดำเนินกิจการโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน

แรกเริ่มบริษัทมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เป็นฟรีแลนซ์รับงานขนาดเล็ก ต่อมาจึงขยับขยายและได้ตั้งทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อรับงานที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ทั้งนี้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของขอบเขตของงานจ้าง (Terms of Reference : TOR) จากหน่วยงานรัฐที่ได้กำหนดไว้ โดยบริษัท แพลนเนอร์ 26 มีการรับงานพัฒนาเมืองที่มีหลายขนาด ตั้งแต่โครงการประเภทการวางผังภาค (regional planning) การวางและจัดทำผังเมืองรวม (urban planning) การออกแบบชุมชนเมือง (urban design) การศึกษาออกแบบและวางผังพื้นที่อนุรักษ์ (urban conservation)

จากขอบเขตงานข้างต้น จะเห็นว่าเนื้องานในบริษัทที่ปรึกษามีโครงการที่หลากหลายขนาดตั้งแต่ระดับมหภาคไปจนถึงผังเฉพาะ จะพบว่าวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองไม่เพียงแค่ต้องการทักษะในการออกแบบเท่านั้น แต่จะต้องใช้ทักษะในการเขียน การประสานงาน และการนำเสนอที่สามารถโน้มน้าวได้ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพื่อให้การจัดทำโครงการบรรลุผล ซึ่งจะต้องมีทักษะต่างๆ อย่างครบถ้วนเพื่อที่จะเป็นสถาปนิกผังเมืองในจักรวาล “หมาล่าเนื้อ” ต่อไป

ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง 2564 ระบุว่า ปัจจุบันมีการจดทะเบียนบริษัทที่ปรึกษาในประเทศไทยทั้งสิ้น 2,589 แห่ง โดยสาขาการพัฒนาเมือง (urban development sector) มีเพียง 145 แห่ง โดยเกือบทั้งหมดนั้นกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 140 แห่ง ที่เหลือกระจายตัวอยู่ใน ขอนแก่น พิษณุโลก มหาสารคาม และภูเก็ต จังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งเป็นเหตุให้พบว่า แม้ว่าสถาปนิกผังเมืองจะได้รับงานออกแบบวางผังเมืองในโซนภูมิลำเนาก็อาจจะต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ 

ปรีดาจึงมองว่า การพัฒนาเมืองควรมีการกระจายแหล่งงาน กระจายวิชาชีพออกไปพัฒนาเมืองทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง สนับสนุนให้วิชาชีพสามารถรับงานในพื้นที่โซนภูมิลำเนาของตัวเอง

เรียนผังเมืองจบแล้วไปไหน

หลังจบการศึกษาของภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2559 สถิติพบว่าบัณฑิต 20 คน ประกอบอาชีพในสายงานราชการ 1 คน บริษัทที่ปรึกษา 2 คน อสังหาริมทรัพย์ 5 คน บริษัทเอกชนทั่วไป 9 คน ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ผังเมือง 1 คน อาจารย์ด้านอื่นๆ 1 คน และไม่ทราบข้อมูล 1 คน 

ถัดมาในปี 2560, 2561 และ 2562 พบว่า นิสิตส่วนมากทำงานในหน่วยงานศูนย์วิจัยด้านเมือง รองลงมาในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวกับเมือง ที่เหลือทำงานในบริษัทเอกชนทั่วไป สถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่าสถาปนิกผังเมืองนั้นหายไปจากตลาดแรงงานอย่างมีนัยยะสำคัญ 

และหากย้อนไปนิสิตผังเมืองฯ รุ่นปี 2547 พบว่า จากมหาบัณฑิต 28 คน ประกอบอาชีพอยู่ในสายงานราชการ 10 คน ทำงานอยู่ในบริษัทด้านผังเมืองอยู่ 10 คน ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ด้านผังเมือง 1 คน อาจารย์ด้านอื่นๆ 3 คน และไม่ทราบข้อมูล 4 คน กล่าวคือ อยู่ในสายงานผังเมืองที่รับราชการ 50% และเอกชนอีก 50% สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดที่แตกต่างกันในการเลือกประกอบอาชีพระหว่างสถาปนิกผังเมืองรุ่นก่อนหน้าและรุ่นปัจจุบัน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า รูปแบบการทำงาน วิธีการคิด การดำเนินวิถีชีวิต ของสถาปนิกผังเมืองในแต่ละช่วงวัยก็ย่อมมีความแตกต่างกัน

เส้นทางของสถาปนิกผังเมืองชื่อ “ดื้อ”

ผู้บรรยายกล่าวถึงชีวิตการทำงานที่หล่อหลอมและสะท้อนออกมาเป็นวิธีคิดของสถาปนิกผังเมือชื่อ “ดื้อ”โดยเล่าว่าราวปี พ.ศ. 2535 มีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายอย่างกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ได้เริ่มมีการออกกฎหมายควบคุมอาคารสูงที่เกิดขึ้นในซอยขนาดเล็ก ดังนั้น กระบวนการก่อนที่กฎหมายจะเกิดขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ เจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงได้มีการว่าจ้างสถาปนิกมาออกแบบเพื่อยื่นขออนุญาตก่อสร้างรอไว้ก่อนล่วงหน้า

สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ส่วนหนึ่ง ส่งผลให้ถัดมาในช่วงปี พ.ศ. 2537 ถ้าพูดถึงอาชีพสถาปนิกหรือวงการสถาปัตยกรรมในประเทศไทยนั้นมีภาพลักษณ์ที่ดี วิชาชีพสถาปนิกเป็นที่นิยมสูงและกำลังมาแรง อันเนื่องมาจากค่าเงินเฟ้อ มีการปล่อยเงินกู้จากธนาคาร ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก สถาปนิกและบริษัทสถาปนิกจึงถูกนิยมว่าจ้างเป็นอย่างมากในช่วงนั้น

ถัดมาในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก ส่งผลให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องหยุดชะงัก เกิดหนี้เสียจำนวนมาก บริษัทสถาปนิกหลายแห่งหยุดชะงัก สถาปนิกจำนวนมากตกงาน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของวิชาชีพสถาปนิกหลายคน ปรีดาเล่าต่อว่า ในปี พ.ศ. 2542 เป็นปีที่ตนเองเรียนจบออกมา แต่ต้องไปทำงานธนาคารเนื่องจากงานสถาปัตยกรรมเหลือน้อยลง เนื้องานเป็นงานที่เกี่ยวกับการประเมินอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นงานที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะว่าคนต้องการสินเชื่อ คนต้องการจำนองบ้านมากขึ้น ดังนั้นก่อนจะจำนอง จะเกิดกระบวนการประเมินอสังหาริมทรัพย์ก่อน โดยปรีดาก็ได้เข้าไปทำงานในภาคดังกล่าวในระยะหนึ่ง ก่อนที่จะศึกษาต่อปริญญาโทในภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2544-2546

ปี พ.ศ. 2547 ระหว่างที่ทำวิทยานิพนธ์ ได้เข้าไปช่วยงานในโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ถูกประกาศใช้ในปี 2549 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR: Floor Area Ratio) อัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR: Open Space Ratio) ถูกประกาศใช้ในผังเมืองรวม ซึ่งเป็นการควบคุมการพัฒนาอันเป็นไปเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและความปลอดภัยของเมือง เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่วิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมืองเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการสถาปัตยกรรมและเป็นที่รู้จักมากขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา

จุดเริ่มต้นสู่การเป็น “หมาล่าเนื้อ”

หลังจากนั้นปรีดาได้เข้ามาทำงานในบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งในเวลานั้นยังมีนักผังเมืองอยู่ในบริษัทจำนวนน้อยมากเพียง 2-3 คน โดยงานแรกที่เข้าไปทำในปี พ.ศ. 2547 คือ โครงการวางผังและจัดทำผังเมืองเฉพาะพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) และท่าอากาศยานอู่ตะเภากรุงเทพฯ สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เขาเล่าว่าเป็นงานที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ต่อมาพอเกิดรัฐประหารปี พ.ศ.2549 โครงการจึงไม่ได้ถูกดำเนินงานต่อ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 เป็นงานโครงการศึกษาความเหมาะสม เพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมสะหวัน-เซโน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และในปีเดียวกันนั้นยังได้ทำโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมในเบาะละแหม่ง ผะอัน พม่า และพื้นที่ชายแดนอื่น จะเห็นได้ว่างานผังเมืองนั้นมีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หลังจากที่ได้ทำไปสามโครงการงานหมดออฟฟิศ หรือที่เรียกว่าชิ้นเนื้อหมด จึงได้เกิดการวิ่งงานขึ้น ซึ่งเป็นการเข้าสู่กระบวนการหมาล่าเนื้ออย่างสมบูรณ์แบบ

ส่วนสำคัญที่จำเป็นจะต้องรู้ในจักรวาลหมาล่าเนื้อนี้คือ การออกล่าชิ้นเนื้อหรือโครงการ โดยจะมีกระบวนการตั้งแต่การประกาศงานและรับงานจากบริษัทที่ปรึกษางานเกิดจากการที่ภาครัฐหรือกึ่งรัฐตั้งโครงการขึ้นมาก่อน เมื่อภาครัฐทำการของบประมาณโครงการจากสำนักงบประมาณได้ จึงมาเขียนขอบเขตการจ้างงานโดยละเอียด ซึ่งกระบวนการตรงนี้ บริษัทที่ปรึกษาต้องคอยส่อง ตามข่าวอย่างละเอียด หรือเรียกว่า “เฝ้า” เพื่อที่จะได้เตรียมทีมไว้

หลังจากเขียนขอบเขตจ้างงานเสร็จจะออกประกาศเชิญชวน หลังจากนั้นจะมีการรวมทีมเพื่อไปยื่นข้อเสนอ มีกระบวนการช็อตลิสต์ ประกาศให้บริษัทที่ปรึกษายื่นข้อเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อเสนองาน ราคา ทีมผู้เชี่ยวชาญ ทำการคัดเลือก โดยบริษัทที่ถูกคัดเลือกจะถูกเรียกมาเจรจาต่อรอง และเซ็นสัญญา ปรีดาอธิบายว่า เทคนิคของการยื่นข้อเสนอ (proposal) ที่น่าสนใจคือการออกแบบหน้าปกโดยใช้ทัศนียภาพโครงการเป็นจุดขายและดึงดูดความสนใจคณะกรรมการเพื่อให้เข้ามาเปิดข้อเสนอและอ่านรายละเอียดต่อไป

ผู้บรรยายยังอธิบายถึงกระบวนการออกแบบและการพัฒนาแบบ ที่จะต้องพึงระวังและคอยตระหนักถึงการไม่นำการออกแบบเก่ามาทำซ้ำแล้วยื่นข้อเสนอ ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดจรรยาบรรณ และแสดงให้เห็นว่าการทำงานจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกับวิชาชีพอื่นร่วมกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้มีโอกาสทำโครงการจัดทำและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ที่สมรรถนะสูงในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เป็นการทำงานร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งผลให้เห็นประโยชน์และบทบาทของการทำงานร่วมกันของสถาปนิก (นัก) ผังเมือง ที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการให้สมบูรณ์

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานจากการที่บุคลากรไม่เพียงพอ จึงได้นำงบประมาณมาจ้างบริษัทที่ปรึกษา อาทิ สำนักผังเมือง ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ว่าจ้างงาน ด้วยลักษณะของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษามีกระบวนการทํางานและขั้นตอนในการพัฒนางานออกแบบที่แตกต่างจากบริษัทพัฒนาเมืองโดยทั่วไป ซึ่งทําให้ยังมีข้อจํากัดในการทํางานอยู่หลายด้าน ผู้บรรยายก็เห็นถึงข้อจํากัดเหล่านั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นแนวความคิดว่า น่าจะออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง ที่จะสามารถทํางานได้อิสระมากกว่า ประกอบกับสามารถเลือกงานที่สนใจมาทําได้

ถัดมา ปี พ.ศ. 2559 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัท P26 หรือ บริษัทแพลนเนอร์ 26 จํากัด การรับงานในช่วงแรก รับงานที่มีมูลค่ารวมประมาณ 2 ล้านบาท ในปีถัดๆ ไปก็เริ่มขยับขยายและรับงานที่มีมูลค่าเพิ่มมาจนกระทั่งปัจจุบัน หลักการที่สำคัญในการบริหารงานบริษัทที่ปรึกษา จะต้องมีเครื่องมือที่เรียกว่าการทำแผนควบคุมต้นทุน (cost planning) จะเป็นตัวที่บอกว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายและการดำเนินการเท่าไหร่ ถึงจะทำให้บริษัทมีกำไร โดยปรีดาได้เล่าต่อว่า ปัจจุบันการรับงานจะต้องมีเกณฑ์ในการเลือกซึ่งพิจารณามาจากงบประมาณโครงการและความต้องการในการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า สมประโยชน์ต่อบริษัทจากการลงทุนลงแรงในการจัดทำโครงการ

P26 งานที่หลากหลายและคุณลักษณะที่จำเป็น

P26 เป็นบริษัทพัฒนาเมืองที่มีขอบเขตเนื้องานด้านเมืองที่ค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่ภาพใหญ่อย่างการวางแผนภาค นโยบาย การจัดทำผังพื้นที่เฉพาะ และการอนุรักษ์ฟื้นฟู ตลอดจนการออกแบบโครงการขนาดเล็กอื่นๆ ตัวอย่างงานที่บริษัท P26 ได้จัดทำ เช่น 

  1. โครงการจัดทำผังพื้นที่เฉพาะพื้นที่ภูทับเบิก อำเภอหล่มสัก จังหวัด เพชรบูรณ์ 
  2. โครงการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ จังหวัดระยอง 
  3. โครงการจ้างทำแบบ 3 มิติ และวิดีโอ (Animation) โครงการศึกษาออกแบบและวางผังพื้นที่เฉพาะโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี 
  4. โครงการออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับการท่องเที่ยวบริเวณชุมชนหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ 
  5. โครงการออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับการท่องเที่ยวบริเวณชุมชนแหลมงอน จังหวัดตราด 
  6. โครงการศึกษาออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 
  7. โครงการศึกษาออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนหล่มสัก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
  8. การศึกษาออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนเมืองสมุทรปราการ อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดสมุทรปราการ 
  9. โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนเด่นชัย-แม่จั๊วะ จังหวัดแพร่ 
  10. โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี 
  11. โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดกาฬสินธุ์
  12. โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมเมืองย่านสะพานใหม่
  13. โครงการจ้างที่ปรึกษาโครงการเพื่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตามผังเมืองรวมด้วยมาตรการกลไกที่เหมาะสมกรณีมาตรการการควบคุมเขตพื้นที่ซ้อนทับ (Overlay Zoning)

หากถามว่าในโครงการเหล่านี้ งานสถาปัตยกรรมผังเมืองอยู่ตรงไหนของกระบวนการ คำตอบนั่นคืออยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ ตั้งแต่การเขียนร่างข้อเสนอจนกระทั่งการนำส่งโครงการปิดท้าย นั่นสะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อโครงการของวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองที่อยู่ในบริษัทที่ปรึกษาได้เป็นอย่างดี

บริษัท P26 เป็นบริษัทพัฒนาเมืองที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก แต่สามารถทำงานได้ตั้งแต่สเกลเมืองขนาดใหญ่จนมาถึงสเกลเมืองขนาดเล็ก ดังนั้นบริษัทที่มีขนาดไม่ใหญ่ต้องมีเพื่อนร่วมงาน บุคลากร ที่มีศักยภาพมาทำงานร่วมกันในทีม และสามารถทำให้ตรงกับเป้าหมายที่บริษัทได้ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามคุณดื้อได้กล่าวไว้ว่า คุณเก่งทุกเรื่องไม่ได้หรอก แต่คุณต้องรู้ว่าใครเก่ง เช่นเดียวกันกับการทำงานในบริษัทที่ปรึกษา โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเครือข่ายที่ดีกับบริษัทในสายงานเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การทำงานที่บริษัท P26 มีความร่วมมือกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ในการพัฒนาโครงการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในท้ายที่สุดนี้ การดำเนินงานบริษัทถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีหลายกระบวนที่ต้องคิด เริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเลือกคนที่เก่งและตรงกับความสามารถทำให้สามารถทำงานออกมาได้ดีที่สุด ด้วยปัจจุบัน บริษัท P26 ยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก จำนวนบุคลากรในองค์กรก็จะมีประมาณ 20-30 คนเท่านั้น ดังนั้นบริษัทก็จำเป็นที่จะต้องเลือกคัดคนที่เก่ง และมีความสามารถในการทำงานได้จริง โดยคุณดื้อได้กล่าวประเด็นเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า คุณสมบัติพนักงานที่ดีในบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คุณดื้อใช้พิจารณาในการรับพนักงานเข้ามาทำงาน ได้แก่ 

(1) ความฉลาด คือ ต้องมีความเข้าใจกับงานที่ได้รับมอบหมายและสามารถทำได้ดี 

(2) การนำเสนอผลงานต้องมีความมั่นใจและโน้มน้าวคนได้ดี ตอบคำถามได้อย่างเฉลียวฉลาด

แก้ปัญหาได้ในขณะที่ประชุม ซึ่งเป็นทักษะที่บริษัทที่ปรึกษาต้องการและสามารถขึ้นไปถึงการบริหารได้ (3) เขียนงานดี เนื่องจากว่าเนื้องานในบริษัทที่ปรึกษานั้นไม่ได้มีเพียงแค่งานออกแบบเท่านั้น แต่ยังมีงานเขียนที่มีความสำคัญมากอีกด้วย 

(4) บริหารและประสานงานดี สามารถจัดระเบียบอะไรก่อนหลังได้ และสามารถทำได้ภายในเวลาที่กำหนด และ 

(5) อุปนิสัยที่ดี มีความคิดเชิงบวกซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานในการร่วมงาน

และสุดท้ายส่วนที่ไม่ได้ถูกพิจารณามากนักสำหรับการคัดเลือกพนักงานนั่นคือเรื่องอายุ ที่ไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งที่จะสามารถวัดคุณภาพของผลงานได้ หากมีความสามารถในการทำงานได้ดี นั่นเพียงพอแล้วสำหรับการพิจารณา ซึ่งข้อประเด็นในการพิจารณาข้างต้นเป็นสิ่งสำคัญของวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองที่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาและเป็นทักษะที่ต้องการในตลาดงาน

อนาคตของสถาปนิกผังเมืองในจักรวาลหมาล่าเนื้อ

ปรีดาได้เล่าว่า ในอนาคตอันใกล้และไกลนี้ จะมีงานโครงการพัฒนารอบสถานี (TOD) เกิดขึ้นมากเรื่อยๆ เนื่องจากมีผังแม่บท ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วางไว้ 177 สถานีทั่วประเทศ โดยที่ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ได้อนุญาตให้บุคคล ดังต่อไปนี้

1. สมาคม

2. กรมโยธาธิการและผังเมือง การเคหะแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. หน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคลอื่นใดที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่

4. บริษัทพัฒนาเมืองตามกฎหมาย

5. บริษัทร่วมทุนรัฐ-เอกชน

6. องค์กรเดินรถทั้งรัฐและเอกชน

7. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงสร้างพื้นฐานและ

8. บุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด

ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากคณะกรรมการ TOD ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน หรือการสนับสนุนเชิงวิชาการซึ่งถือเป็นโอกาสของวิชาชีพในอนาคต หรือแม้กระทั่งการพัฒนาที่ดิน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใน EEC เพื่อการดำเนินการหรือประกอบกิจการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินที่สะท้อนให้เห็นถึงตลาดงานของวิชาชีพที่รออยู่ในอนาคต ทั้งนี้ การทํางานต่อด้านการออกแบบวางผังเมือง ถือว่ายังเป็นเส้นทางที่สดใสและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทํางานตั้งแต่ในส่วนภาคราชการเอง หรือจะเป็นในภาคส่วน เอกชน ก็ยังเติบโตได้

ในท้ายที่สุดนี้ “สถาปนิกผังเมืองในจักรวาลหมาล่าเนื้อ” ก็เป็นการอุปมาอุปมัยถึงการประกอบวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองในบริษัทที่ปรึกษา ที่จะต้องมีฝูง มีทีม มีขั้นตอนการวิ่งงาน ล่าชิ้นเนื้อไปเรื่อยๆ เมื่อหมดก็ล่าใหม่ บริษัท P26 ก็เป็นหมาล่าเนื้อตัวหนึ่งที่ล่าในระบบนิเวศที่ถูกต้อง มีจรรยาบรรณ ไม่ลดทอนคุณค่า มูลค่าของวิชาชีพสถาปนิกผังเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่วิชาชีพสถาปนิกผังเมืองต้องตระหนักถึง ซึ่งการเล่าถึงเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งสะท้อนลักษณะการทํางานในวิชาชีพนี้ได้เป็นอย่างดีและช่วยเป็นแนวทางต่อไปสำหรับสถาปนิกผังเมืองที่ต้องการประกอบวิชาชีพในบริษัทที่ปรึกษาต่อไป

การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis

ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center


Contributor