07/04/2022
Public Realm

พิพิธภัณฑ์: นิยามที่มากกว่าห้องเก็บของ

พรรณปพร บุญแปง ชรัณ ลาภบริสุทธิ์
 


เมื่อถึงเวลาหลังเลิกงาน หรือวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เชื่อว่าหลายๆ คน มักจะเลือกออกไปที่ไหนสักแห่ง ที่ไม่ใช่บ้านหรือที่พัก แต่เป็นพื้นที่ที่ได้พบปะ พูดคุย และใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศเดิมๆ ที่เจอตลอดทั้งอาทิตย์

จึงมีคำกล่าวว่า บ้าน คือ First place หรือจุดเริ่มต้นของวัน และที่ทำงาน โรงเรียน คือ Second place หรือพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมจำเป็น และเรามักใช้เวลาส่วนใหญ่เมื่อออกนอกบ้าน ส่วน Third place คือ พื้นที่เหลือหลังจากนั้น เป็นพื้นที่ที่เราเลือก และสมัครใจในการทำกิจกรรมทางเลือก เช่น เดินห้าง นั่งอ่านหนังสือที่ร้านกาแฟ หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นหนึ่งในสถานที่ฮีลใจของใครหลายๆ คน

Ray Oldenburg และ Dennis Brissett นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งนิยาม “Third Place” ในหนังสือ The Great Good Place ปี 1989 ได้กล่าวว่าการทำให้เมืองเกิดความเป็น The Great Good Place หรือสถานที่ที่ดีที่สุด หัวใจสำคัญ คือ Third place หรือ สถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

สำหรับกรุงเทพฯ ต้องเรียกได้ว่ามีรูปแบบของ Third place ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สวนสาธารณะ ร้านกาแฟ ฯลฯ แต่หนึ่งใน Third Place อย่างพิพิธภัณฑ์ ที่พบกว่า 240 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีมากที่สุดในประเทศ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2563) แต่จากการสำรวจของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง พบว่าคนกรุงเทพฯ เลือกไปพิพิธภัณฑ์เพียง 10% ของสาธารณูปการทั้งหมด และไปน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถึง 72% ของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, 2556)

จากผลสำรวจที่แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่สถานที่เแรกๆ ที่คนกรุงเทพฯ เลือกไป ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ยังเป็น Third Place ที่มีความสำคัญและมีบทบาทกับเมืองอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ทุกอย่างสามารถสืบค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้จากโลกออนไลน์ เรามาไขข้อสงสัยในบทความนี้กัน

พิพิธภัณฑ์ คืออะไร

ก่อนที่จะพูดว่าพิพิธภัณฑ์คืออะไรนั้น ต้องขอเล่าถึงนิยามหรือคำจำกัดความของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” กันก่อน

ความจริงแล้วคำว่า “Museum” ที่ใช้ในโลกตะวันตก อาจไม่เท่ากับ “พิพิธภัณฑ์” ที่ใช้ในประเทศไทย

คำว่า Museum หรือ มิวเซียม (คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ) เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เป็นคำยืมจากภาษาละติน คือ คำว่า “มูเซอุม” หมายถึง “หอแห่งสรรพวิชา” หรือ “แหล่งเรียนรู้” ต่อมาในสมัยกรีก-โรมัน ได้ให้ความหมาย “มิวเซียม” คือ สถานที่อันเป็นที่สถิตแห่งความรู้ และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนกันระหว่างนักปราชญ์กับลูกศิษย์ จากนั้นได้มีการใช้ความหมายนี้เรื่อยมา จนในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ “มิวเซียม” ได้ถูกจำกัดความหมายใหม่ คือ สถานที่จัดเก็บและแสดงสิ่งของนานาชนิด ซึ่งกรอบความหมายนี้ได้ถูกส่งต่อยังประเทศต่าง ๆ ในโลกตะวันตก

และสำหรับ คำว่า “พิพิธภัณฑ์” พบว่าเริ่มต้นใช้ ราวปี 1857 เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาบาลี หากพูดถึงรูปศัพท์แล้ว มีความหมายเพียง “สิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น ซึ่งเป็นการสมาสระหว่างคำว่า “พิพิธ” แปลว่า นานาชนิด และ “ภัณฑ์” ที่แปลว่า สิ่งของ ซึ่งไม่ได้หมายถึงสถานที่จัดแสดงวัตถุแต่อย่างใด ดังนั้น คำที่ถูกต้องตามความหมายคือ “พิพิธภัณ-ฑสถาน” ที่แปลว่า สถานที่เก็บของนานาชนิด

ทั้งนี้ ด้วยการให้ความหมายและคำจำกัดความที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย สภาการพิพิธภัณฑ์สถานระหว่างชาติ หรือInternational Council of Museum (ICOM) จึงพยายามขยายคำจำกัดความให้ครอบคลุมกับวัตถุประสงค์ของสถานที่มากที่สุด นับตั้งแต่ปี 1946 เป็นต้นมา

โดยปัจจุบันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า “มิวเซียม” กับ “พิพิธภัณฑ์” มีความหมายเทียบเท่ากัน ดังนั้น “พิพิธภัณฑ์ คืออะไร” ตามความหมายสากล โดย ICOM ปี 2001 พิพิธภัณฑ์ คือ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เปิดเป็นสถานที่สาธารณะ และเป็นสถาบันถาวรที่ใช้บริการแก่สังคมและมีส่วนในการพัฒนาสังคม โดยมีหน้าที่หลักๆ 5 ประการ คือ 1) รวบรวม 2) สงวนรักษา 3) ค้นคว้าวิจัย 4) เผยแพร่ความรู้ และ 5) จัดแสดงความรู้ (กรมศิลปากร, 2556)

จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย

กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างในปัจจุบัน ที่เป็นศูนย์รวมความรู้หลากหลายแขนง รวมถึงเป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจและสร้างไอเดียใหม่ๆ เรามาย้อนดูกันว่าจุดเริ่มต้น หรือการก่อตัวของพิพิธภัณฑ์กัน

ในช่วงก่อนปี 1857 แม้ยังไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในสยาม แต่พบว่ามีสิ่งก่อสร้างที่ทำหน้าที่เหมือนพิพิธภัณฑ์ คือ เป็นสถานที่สะสมสิ่งของ จัดแสดงสิ่งของ ให้ความรู้และความเพลิดเพลินใจ คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือวัดโพธิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โดยเป็นสถานที่สะสมพระพุทธรูปให้ประชาชนได้กราบสักการบูชา เเละเพื่อสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในช่วงของการสร้างชาติ ดังนั้น หากอาศัยนิยามของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในปัจจุบัน วัดพระเชตุพนฯ ถือเป็น “พิพิธภัณฑ์ของกรุงสยาม” แม้จะยังไม่มีคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ก็ตาม

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงจัดพระที่นั่งราชฤดีเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ เครื่องราชบรรณาการ ของแปลกและของสะสมส่วนพระองค์ และหนึ่งในพระที่นั่งจากทั้งหมด 11 แห่ง มีพระนามว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุจากพระที่นั่งราชฤดีเข้ามาไว้ แล้วจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะและทูตานุทูต เพื่อแสดงความเป็นอารยของกรุงสยาม จึงกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่คำว่า “พิพิธภัณฑ์” เกิดขึ้นและมีการใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มของพิพิธภัณฑ์ในสมัยต่อมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “มิวเซียม” ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง โดยจุดประสงค์แรกเริ่มเอาไว้เทิดพระบารมีของพระมหากษัตริย์ รวมถึงแสดงความ “ศิวิไลซ์” ของสยาม ให้เท่าเทียมกับประเทศผู้ล่าอาณานิคมในสมัยนั้น และวันที่ 19 กันยายน ปี 1874 ถือเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานของชาติแห่งแรกของไทย เพราะเป็นพิพิธภัณฑสถานของหลวงหรือทางราชการที่จัดตามหลักวิชาการสากลและเปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้ วันที่ 19 กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย

พิพิธภัณฑ์ กับเมือง

จากจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ สะท้อนให้เห็นถึงผลพวงความนิยมสะสมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของแปลก ของมีค่า ของพระเจ้าแผ่นดินและชนชั้นสูงในทวีปยุโรป ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 -17 โดยในระยะแรกเป็นไปเพื่อแสดงถึงความเป็นรัฐชาติ และแสดงถึงสถานะความมั่งคั่งร่ำรวยในหมู่ชนชั้นสูงด้วยกันโดยไม่ได้เปิดให้สาธารณชนทั่วไปเข้าชม ต่อมามีแนวคิดการสะสมวัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจและปัญญา แสดงถึงรสนิยมและภูมิรู้ของผู้สะสม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 5 (รัชกาลที่ 5) จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมายังประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าสยามมีรุ่งเรืองและมีความศิวิไลซ์เช่นเดียวกัน (กรมศิลปากร, 2556) ดังนั้น จากการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ในยุคแรกๆ ที่มีการก่อตัวขึ้นผ่านนโยบายของรัฐบาล โดยให้ความสนใจในเรื่องการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ทำให้คนส่วนใหญ่มองพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงสถานที่เก็บรักษาของเก่า ไม่มีกิจกรรมที่มีชีวิตชีวา และขาดการเคลื่อนไหว

แต่แท้จริงแล้วพิพิธภัณฑ์มีบทบาทอย่างไร? พิพิธภัณฑ์นอกจากเก็บรวบรวมวัตถุหลักฐาน และจัดแสดงวัตถุเพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวบางอย่างแล้ว ยังถือเป็นแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนสำคัญให้กับผู้เรียน และผู้สนใจ โดยหัวใจของการเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่การได้รับ “ข้อมูลความรู้ใหม่” แต่เป็นการสร้าง “ประสบการณ์ใหม่” ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน เพื่อนำไปสู่ข้อค้นพบ และวิธีคิดใหม่ ตลอดจนเป็นสถานที่สร้างความรู้สึกเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากรายงานวิจัย “พิพิธภัณฑ์ขุมพลังแห่งการเรียนรู้” ได้กล่าวว่า ร้อยละ 36 ของประชาชนในทุกระดับที่มีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์ พบว่า พิพิธภัณฑ์ช่วยให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ทางสังคมเป็นพิเศษ วัตถุที่แสดงอยู่นั้นสามารถดึงดูดความสนใจ ทำให้เกิดการ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ และการพัฒนาทักษะต่างๆ เกิดการยอมรับในตนเองเป็นการ นำห้องเรียนสู่ประสบการณ์จริง เป็นการเรียนรู้ของชีวิต เป็น ห้องเรียนเพื่อชีวิต (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2544)

พิพิธภัณฑ์กับแนวโน้มในอนาคต

เมื่อโลกก้าวสู่ยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และเชื่อมโยงข้อมูลได้ทั่วทุกมุมโลก เราสามารถค้นคว้าหาข้อมูลจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับการระบาดของ Covid-19 ที่กระทบพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้โดยตรง เราจึงได้เห็นพิพิธภัณฑ์ในหลายแห่งทั่วโลกต่างปรับตัวให้มีความทันสมัยมากขึ้น จากพิพิธภัณฑ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นสถานที่น่าเบื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ กลายเป็นความหวังที่ส่องแสงให้เห็นว่า นอกจากพิพิธภัณฑ์จะมีชีวิตชีวาแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้คนเกิดการเรียนรู้ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง AR (Augmented Reality) VR (Virtual Reality) และ MR (Mixed Reality)

พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เช่น Rijksmuseum พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ที่ตั้งอยู่ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เปิดให้เข้าชมการจัดแสดงวัตถุโบราณ ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และภาพวาดในสมัยยุคกลางถึงยุคมอนเดรียน จำนวนกว่า 8,000 ชิ้น ในรูปแบบออนไลน์

The Louvre พิพิธภัณฑ์อันดับหนึ่งแห่งกรุงปารีส ได้มีการจัดนิทรรศการเสมือนจริง หรือ Virtual Reality Tour เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าชมงานจัดนิทรรศการผ่านช่องทางออนไลน์ และสัมผัสประสบการณ์เสมือนว่าคุณกำลังเดินเข้าไปชมในสถานที่จริง เช่น ให้เราได้สำรวจความลี้ลับของอารยธรรมอียิป สำรวจป้อมปราการ คูเมืองเดิมของปารีสที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยกษัตริย์ฟิลิปป์

หรือ Art Gallery of Ontario ในประเทศแคนาดา ซึ่งได้ร่วมมือกับศิลปินดิจิทัล Alex Mayhew ได้มีการนำเสนอนิทรรศการศิลปะ ‘ReBlink’ ด้วยเทคโนโลยี AR ผ่านโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดด้วยการจัดแสดงแบบ pop up ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงเรื่องราวของศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน

สำหรับประเทศไทย พบว่ามีการนำเทคโนโลยีหรือเทคนิคที่ทันสมัยเข้ามาให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน เช่น นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑ์ลำพู พิพิธภัณฑ์พระราม 9 ที่ช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้

ดังนั้น ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าบทบาทของพิพิธภัณฑ์คงไม่ใช่ที่เก็บรวบรวมของเก่า รักษา หรือเผยแพร่ความรู้อีกต่อไป สิ่งสำคัญ คือ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถมีส่วนร่วม และเกิดการต่อยอด เกิดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ได้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

และบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #LearningCityTH #UDDC_CEUS

ที่มาข้อมูล

ความหมายสากลของพิพิธภัณฑ์

มองอนาคตพิพิธภัณฑ์ไทย ในศตวรรษที่ 21

พิพิธภัณฑ์ขุมพลังแห่งการเรียนรู้

เราไม่ชอบ หรือ เราไม่มี การเดินกับสาธารณูปการของเมือง


Contributor