06/05/2020
Public Realm
Back to School and Say Hello to New Learning Ecosystem เมืองไทยพร้อมหรือยังกับระบบการศึกษาที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นาริฐา โภไคยอนันต์ ชยากรณ์ กำโชค
#เลื่อนเปิดเทอม
กลายเป็นแฮชแท็กที่ชาวทวิตเตอร์พูดถึงมากที่สุด จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในประเทศไทย หลังมีกระแสข่าวว่า ส.ส.อุบลราชธานี เสนอเลื่อนวันเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ออกไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2563 หรือเลื่อนออกไปจากประกาศเดิมของกระทรวงศึกษาธิการประกาศในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และขยายเวลาให้ทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง และผู้เรียน ได้มีเวลาเตรียมตัวกับการเรียนการสอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่จะแตกต่างออกไปจากเดิม
แม้สุดท้ายแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะยังคงประกาศเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หรือช้ากว่ากำหนดเดิม 45 วัน แต่กระแส #เลื่อนเปิดเทอม ก็สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ทางสังคม ที่ให้ความสำคัญในประเด็นการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่แพ้ประเด็นด้านการแพทย์-สาธารณสุข การจับจ่ายใช้สอย และการจัดการเมืองแม้แต่น้อย เหตุการณ์ดังกล่าวก็บอกเราว่า เด็ก-เยาวชนเอง ก็เป็นผู้ส่งเสียงสะท้อนได้ดังก้องไม่แพ้กลุ่มผู้มีปากมีเสียงกลุ่มใดๆ ในสังคมเลย
ชะตากรรมร่วมของผู้เรียนทั่วโลก
นอกจากจะเป็นปิดเทอมที่ยาวนาน (และเหงา) ที่สุดของนักเรียนไทย สถานการณ์ที่ผู้เรียนในทุกระดับชั้นกำลังเผชิญในขณะนี้ ยังถือเป็นสถานการณ์ร่วมกันของนักเรียนทั่วโลก เพราะขณะนี้รัฐบาลในหลายประเทศต่างใช้มาตรการปิดสถานศึกษา เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 โดยพร้อมเพรียงกัน ถือเป็นการยุติการเรียนการสอนชั่วคราวพร้อมกันทั่วโลกครั้งแรก นับแต่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
สหประชาชาติโดยยูเนสโก รวบรวมข้อมูลพบว่า ในช่วงปลายเดือนเมษายน 63 มีผู้เรียนทั้งในระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษาเกือบ 1,300 ล้านคนทั่วโลกจากเกือบ 186 ประเทศ หรือคิดเป็นผู้เรียนกว่า 73.8 % ได้รับผลกระทบจากการปิดการเรียนการสอนในระบบ และแนวโน้มก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย สหประชาชาติเปิดเผยว่า มีนักเรียนได้รับผลกระทบกว่า 15 ล้านคน มีกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นนักเรียนมัธยมและนักเรียนประถม ตามลำดับ
สถานศึกษาหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ปรับตัวกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการทำการเรียนการสอนออนไลน์ แผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เชื้อไวรัสโคโรนาได้เข้ามาแทรกมาระบบการศึกษาและกระตุ้นให้แวดวงการศึกษาทั่วโลกต้องเร่งปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันที ชนิดที่เทคโนโลยีที่ว่ามาแทรกแซงอยู่ก่อนนั้น ยังต้องหลบให้
ไทยปรับตัวอย่างไรให้พร้อม Back to school 1 ก.ค. 63
คำว่า “ในวิกฤตมีโอกาส” คล้ายจะเป็นคำที่ถูกพูดถึงในหลายระดับท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่กำหนดนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้กล่าวเช่นนั้นในรายการ Voice GO โดยมองว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้สอนจะได้เรียนรู้และทดลองใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอน เช่นเดียวกับเด็กและผู้ปกครองเองที่ต้องปรับตัวจากการเรียนที่บ้านด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบออนไลน์ผ่านแลปท็อปและแท็บเล็ต ผสมผสานกับระบบออนแอร์หรือสอนผ่านทีวี
ประเด็นหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสะท้อนได้น่าสนใจ คือ การจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม โดย มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งกลายเป็นว่าโรงเรียนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ทุรกันดาร กลับมีความคุ้นเคยกับระบบมากกว่าโรงเรียนในเมือง กลายเป็นว่าโรงเรียนในเมืองเสียเองที่ต้องปรับตัวเรียนรู้กับการเรียนในระบบออนไลน์
สำหรับมาตรการในระยะก่อนเปิดภาคเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยจะให้โรงเรียนและครูจัดการประเมินสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 (กำหนดการเปิดภาคเรียนเดิม) ถึง วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 (วันเปิดเรียนใหม่) รวมระยะเวลา 45 วัน เพื่อตัดสินใจว่าโรงเรียนในแต่ละพื้นที่จะจัดการเรียนการสอนรูปแบบใด มาเรียนที่โรงเรียน ออนแอร์ ออนไลน์ หรือผสมผสาน ตลอดจนประเมินความพร้อมของผู้ปกครองและผู้เรียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน ส่วนการออกแบบกายภาพและการใช้พื้นที่จริงของโรงเรียน ยังไม่พบความชัดเจนจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่กายภาพของสถานศึกษาหรือจะเรียกว่าระบบนิเวศแหล่งการเรียนรู้ สำคัญไม่แพ้กับมาตรการจัดการเรียนการสอนอื่นๆ เลย ทั้งในมิติการป้องกันเชื้อโรค และมิติการส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ในการศึกษา
จากแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกา
การศึกษาหลังโรคระบาดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบคิดให้รอบด้าน โดยเฉพาะการเรียนการสอนในชั้นเด็กเล็กที่ยังไม่รู้และเข้าใจเรื่องการเว้นระยะห่างหรือการรักษาสุขอนามัยดีพอ เป็นความท้าทายต่อระบบการศึกษาทั่วโลกที่จะต้องคิดมาตการที่จะใช้ในการรองรับระบบการศึกษาครั้งนี้
หากพูดถึงการปรับตัวเชิงพฤติกรรม หลายเมืองใหญ่ในจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เริ่มกลับมาเปิดสถานศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กโตอย่างชั้นมัธยมและมัธยมตอนปลายที่ต้องเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าก่อนเข้าโรงเรียนต้องมีการตรวจเช็คอุณหภูมิ หรือเดินลอดอุโมงค์ตรวจจับอุณภูมิและนักเรียนต้องแสดงโควด (Code) สุขภาพที่อยู่ในเกณฑ์ปกติซึ่งจะต้องแสดงเป็นสีเขียว และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
แต่ละโรงเรียนก็มีกลวิธีให้เด็กๆ เว้นระยะห่างระหว่างกัน ทั้งเด็กนักเรียนเกรด 1 ใส่หมวกที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อการเว้นระยะห่าง หรือการปรับเปลี่ยนโต๊ะรับประทานอาหาร การติดตั้งน้ำยาทำความสะอาด นอกจากนี้กรมควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกาได้จัดทำคู่มือแนะนำสำหรับสถานศึกษาเพื่อรับมือกับการระบาดเป็นมาตรการที่ต้องปฏิบัติตลอดเวลา คือ สร้างความตระหนักรู้แก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ของสถานศึกษาทุกคนให้ปกป้องและดูแลสุขภาพตนเอง ปิดประกาศลักษณะแสดงอาการของโรค ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ ทั้งโต๊ะ ลูกบิด พื้นที่ครัว ลดการจัดกิจกรรมที่มีการใกล้ชิดกันในพื้นที่ปิด คอยรายงานสถานการณ์ระหว่างเครือข่าย สร้างแผนสำรองฉุกเฉินหากมีการแพร่ระบาดอีกครั้ง
ขณะเดียวกันในระหว่างที่ทั่วโลกกำลังคิดค้นวัคซีนป้องกัน เหล่าโรงเรียนก็คิดค้นมาตรการเว้นระยะห่าง สิ่งหนึ่งที่สถานศึกษาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเริ่มดำเนินการอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ การสอนผ่านเทคโนโลยี ทั้งการเรียนทางไกล (Remote learning) และการเรียนออนไลน์ (Online learning) ในส่วนของการเรียนระดับอุดมศึกษาความเป็นไปได้ที่หน่วยงานระดับอุดมศึกษาหลายแห่งได้คาดการณ์ไว้ คือ
1. การเรียนแบบผสมผสาน ในอดีตการเรียนทางไกลจะเป็นการโต้ตอบทางเดียวแต่ด้วยการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่มีการโต้ตอบปฏิสัมพันธ์กันมาใช้ อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนออนไลน์จะมาเป็นส่วนเติมเต็มแต่ยังไม่ใช่การเรียนการสอนทดแทน การเรียนการสอนในห้องจะเป็นการอภิปรายและอธิบายข้อสงสัยจากผู้สอน ส่วนการอ่านบทเรียนจะมอบหมายผ่านช่องทางออนไลน์ เวลาที่ใช้ในห้องเรียนจะเป็นช่วงเวลาที่ค่ามากกว่าแต่ก่อน
2. การเรียนออนไลน์จะเป็นกลยุทธ์สำคัญหลักของทุกสถาบันการศึกษา อย่างที่ทราบกันว่าหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์มาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแต่ด้วยข้อกังขาถึงคุณภาพ ความโปร่งใส และการลงทุนเตรียมพร้อมทางเทคโนโลยี ทำให้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยภาครัฐยังไม่ได้พัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์มากนักแต่ด้วยสถานการณ์นี้ทำให้แทบทุกมหาวิทยาลัยต้องรีบปรับตัวมาดำเนินการสอนออนไลน์ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการเรียนการสอนเพิ่มเติมหรืออาจจะมีการทดแทนเลยในอนาคต
อีโบล่า สู่โคโรน่า
นอกจากการปรับรูปแบบการเรียนในระดับอุดมศึกษาแล้ว หากยังจำกันได้เมื่อปี 2014 การระบาดของโรคไวรัสอีโบล่าที่แถบประเทศแอฟริกานั้นก็เป็นการระบาดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคือเกือบ 44 % และอาการเจ็บป่วยที่ฉับพลัน ต่างจากโควิดที่จะมีไข้ก่อนและสามารถตรวจพบอาการเข้าข่ายด้วยการวัดอุณหภูมิร่างกาย และหากเปรียบเทียบแล้วหลายหน่วยงานยังแสดงความเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 อาจจะสามารถกลับมาเปิดโรงเรียนได้เร็วกว่าการระบาดของอีโบล่าอีกด้วยเมื่อระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมจำนวนการแพร่ระบาดและสามารถรองรับการรักษาของผู้ป่วยติดเชื้อได้แล้ว
จากการถอดบทเรียนการกลับมาเปิดสถานศึกษาของประเทศเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone) มีข้อสังเกตุที่น่าสนใจ คือ หลักการบรรเทา การฟื้นคืน และการเปิดโรงเรียน ดังนี้
การจัดทำโปรแกรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ที่สามารถออกอากาศผ่านวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเข้าถึงง่ายราคาถูก และระบบออนไลน์รวมถึงจัดหาทรัพยากร เช่น วิทยุ ตำรา คู่มือการศึกษาและอุปกรณ์แก่ผู้ยากไร้ ซึ่งสามารถติดตามผลได้ผ่านหมายเลขโทรที่ใช้งานได้ฟรีสำหรับการถามคำถามระหว่างผู้เรียนและผู้สอนหรือการสอนระยะไกลโดยใช้หมายเลขโทรฟรีในระดับท้องถิ่นหรือภาครัฐให้การสนับสนุนการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและครู มีการตรวจสอบให้แน่ใจว่ามาตรการต่างๆถูกนำไปปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและตามมาตรฐาน คุณครูสามารถติดตาม สอดส่องดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเด็กโดยเฉพาะในกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กที่มีความต้องการด้านการศึกษาพิเศษ และเด็กผู้หญิงวัยรุ่น รวมไปถึงบุคคลากรทางการศึกษาเองก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลในเรื่องความเป็นอยู่และสภาพจิตใจ
ติดตามการเรียนรู้ในระดับชั้นต่าง ๆ การเรียนการสอนที่หยุดชะงักไป จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ อย่างการอ่านออกเขียนได้ในระดับต้น การคำนวณและวิชาสำคัญในระดับมัธยมศึกษาเพื่อติดตามผลการเรียนรู้
การตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในหมู่คนรายได้น้อย เพราะจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ของครัวเรือนต่อปีที่ลดลงในช่วงที่มีการระบาดของโรคและอัตราหญิงตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น เด็กจำนวนมากไม่ได้กลับไปสู่ระบบการศึกษา การยื่นมือให้ความช่วยเหลือและปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดจะช่วยให้เด็กๆสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากที่สุด
เตรียมความพร้อมสำหรับเจ้าหน้าที่และครูที่มีหน้าที่อื่นหรือถูกบังคับให้ออกจากงาน งบประมาณทุกด้าน รวมทั้งด้านการศึกษาในภาวะวิกฤติและหลังวิกฤติจะอยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่สำหรับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น ระบบการศึกษาจะต้องรักษาบุคคลากรไว้และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนเหล่าบุคคลากรให้ผ่านวิกฤตนี้ ทั้งในการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาเปิดโรงเรียนใหม่อีกครั้ง รวมถึงการอบรมหลักสูตรพิเศษเพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาด
การเร่งการเรียนรู้ การปิดโรงเรียนอาจจะส่งผลให้การเรียนรู้ช้าลง เด็กกลุ่มที่ยากจนหรือเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีนั้นมีแนวโน้มที่ผลการเรียนจะลดลง และเมื่อโรงเรียนเปิดใหม่ การสอบหรือประเมินผลจะช่วยให้โรงเรียนทราบถึงช่องว่างของระดับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นและสามารถพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับหรือแก้ไข รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้เพื่อให้เด็กทุกคนกลับมาเรียนได้อย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลเซียร์ราลีโอนพัฒนาและดำเนินการหลักสูตรเร่งรัดซึ่งนำมาใช้กับครูทุกโรงเรียนและออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถทำความเข้าใจตามเพื่อนในชั้นเรียนได้ทัน
ติดตามความคืบหน้าด้วยข้อมูลแบบเรียลไทม์ ข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง โทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยีต่างๆมีการใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อติดตามการแพร่ระบาดของโรค และรัฐบาลยังใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการเปิดโรงเรียน
ตั้งเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเปราะบาง ในระหว่างการระบาดนั้น จำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์ได้เพิ่มสูงขึ้น เด็กหลายคนได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวเมื่อโรงเรียนเปิดเด็กหญิงที่ตั้งครรภ์จึงเป็นกลุ่มที่ยากที่จะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง รัฐบาลจึงมีการวางแผนจัดตั้งโครงการต่างๆที่ช่วยสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเหล่านี้
เรียนทางไกล เรียนออนไลน์ หรือโฮมสคูล
นอกจากทางฝั่งทวีปแอฟริกาแล้ว ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างด้วยเช่นกันจากบทสัมภาษณ์ Paul Reville ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและการบริหารการศึกษาของบัณฑิตวิทยาลัยการศึกษาฮาร์วาร์ดให้ความเห็นถึง กรณีช่องว่างของเทคโนโลยีคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเปลี่ยนผ่านระบบการเรียนการสอนเพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเรียนออนไลน์หรือการเรียนแบบอยู่บ้าน (homeshool) ได้ โดยเฉพาะครอบครัวผู้ใช้แรงงานหรือพ่อแม่ที่ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้าน รวมไปถึงรายจ่ายมีเพิ่มมากขึ้นทั้งค่าอาหารกลางวันและการดูแลเด็ก
คำถามสำคัญที่น่าสนใจในวิกฤติที่มีโอกาสของศาสตราจารย์ยังชวนคิดอีกว่า เราจะทำให้ระบบโรงเรียนและการศึกษา การพัฒนาเด็กสามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนได้อย่างไร
การกลับมาคิดถึงการออกแบบหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของเด็กและให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการ ทั้งจากโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน และยังเป็นโอกาสในการยุติระบบการศึกษาแบบผลิตคนเข้าโรงงาน ที่กำหนดมาตรฐานหนึ่งเดียวที่ยังคงอยู่
ศาสตราจารย์ยังเสนอแนวคิดบทบาทของครอบครัวและชุมชนในการสอนหรือให้การศึกษาแก่เด็กนอกจากโรงเรียนอีกด้วย บทบาทของครอบครัวและชุมชนต่อเด็กจะมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในด้านการจัดการกับปัญหาสุภาพจิต การสอนให้เคารพตัวเอง การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และความสัมพันธ์ของคนรอบข้างที่โดยปกติแล้วสถาบันการศึกษาจะทำหน้าที่นี้ ดังนั้น ชุมชน การรวมกลุ่มละแวกบ้านจะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง อย่างในอดีตของไทยเด็กผู้ชายจะได้รับการศึกษาจากสถาบันทางศาสนาอย่างวัดหรือโบสถ์ที่สอนในเรื่องการอ่านเขียน และเด็กผ้หญิงจะเรียนรู้งานบ้าน งานเรือนจากชุมชน หมู่บ้าน เมื่อระบบการศึกษาได้พัฒนาและจัดตั้งเป็นสถาบัน มีการจัดตั้งโรงเรียนประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในด้านคุณภาพและการสร้างเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ทำให้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาการสอบเข้าแข่งขันในโรงเรียนชื่อดังจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 ตอนนี้ทำให้มนุษย์ต้องลดการพบปะหรือรวมกลุ่ม
เด็กในเมืองที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนที่อยู่ไกลคนละมุมเมืองแต่มีชื่อเสียงอาจจะมีอุปสรรคมากขึ้น การเรียนรู้ชีวิตและการเข้าสังคมจะกลับมาอยู่ในละแวกย่านหรือชุมชนของตนเองมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในอนาคตของทุกโรงเรียนที่จะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของครูผู้สอน หลักสูตรที่ออกแบบอย่างยืดหยุ่นและลดการสอบที่ไม่สามารถวัดผลได้จริง
ดังนั้น การศึกษาหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดจึงต้องใช้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี สัญญาณอินเตอร์เน็ต การจัดชุดการเรียนการสอนที่สะดวกและเข้าถึงได้โดยง่าย ที่ทำให้เด็กทุกคนและกลุ่มเด็กเปราะบางสามารถเข้าถึงได้ การพัฒาคุณภาพการศึกษาของทุกสถาบัน การวัดผล หลักสูตรการเรียนการสอนที่จะต้องคิดทบทวน การนำเทคโนโลยีข้อมูลมาใช้ในการประเมินสถานการณ์ รวมไปถึงการคิดแผนสำรองถึงพื้นที่กายภาพอย่างโรงเรียนจะต้องมีการออกแบบอย่างไรหากมนุษย์จะต้องอยู่ในภาวะที่มีการระบาดที่ยาวนาน ความยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวจึงเป็นหลักสำคัญของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษารากฐานความรู้และการพัฒนาของมนุษยชาติ
ที่มาข้อมูล
– Voice Go: รมว.ศึกษาธิการ แนะ ‘ครู-นักเรียน’ ปรับตัว ‘เรียนออนไลน์’ เสริมศักยภาพ
– Time to fix American education with race-for-space resolve โดย Liz Mineo, The Harvard Gazette
– Mitigating COVID-19 impacts and getting education systems up and running again: Lessons from Sierra Leone โดย Edward Davis และ Chris Berry, Global Partnership for Education
– ที่มาภาพปกจาก China Xinhua News