05/11/2020
Public Realm

ฤา จะเป็นความปกติที่ไม่ปกติ

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


หมายเหตุ บทความเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2018

[ว่าด้วยเรื่องความปกติของถนนและทางเท้า]

เมื่อต้นปีมีข่าวว่าทางราชการท้องถิ่นได้มอบเกียรติบัตรให้เก็บเด็กหญิงผู้มีมารยาทงามในการถอนสายบัวขอบคุณรถยนต์ที่หยุดให้เด็กหญิงคนนั้นเดินข้ามถนน มันเป็นข่าวที่น่าขบขันและเป็นตลกร้ายที่เราต้องหันกลับมาดูว่านี่ “มันคือสิ่งปกติที่มันไม่น่าจะปกติ”

ที่มา: http://www.khaosod.com

ความปกติของการใช้ถนนและทางเท้า

เว็บไซต์ www.j-campus.com ได้ยกตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายจราจรในประเทศญี่ปุ่นอันเข้มงวด ดังนี้ ไม่หยุดรถตามป้ายสัญญาณ มีโทษหักคะแนน 2 แต้ม เสียค่าปรับ 5,000-9,000 เยนตามขนาดของรถ ตั้งแต่จักรยานยนต์ไปจนถึงรถบรรทุก

กฎหมายของญี่ปุ่นจะดูแลคนเดินเท้าเป็นพิเศษ โดยมีกฎหมายที่เอาผิดผู้ขับที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ขัดขวางการข้ามถนนของคนเดินเท้า ขัดขวางการสัญจรของเด็กเล็ก ไม่รักษาขัดขวางการข้ามถนนของคนเดินเท้า ไม่รักษาระยะห่างจากคนเดินเท้าในระยะที่ปลอดภัย

จริงๆ แล้วคนเดินเท้าและจักรยานจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพียงแต่แยกเรื่องความปลอดภัยออกมาในแง่ของการเดินตามถนนและเดินข้ามถนน ซึ่งที่ญี่ปุ่น (รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทุกที่) คนกลุ่มนี้จะมีศักย์ใหญ่กว่าคนใช้รถ หมายความว่ารถต้องหยุดและให้ทางกับคนเดินเท้าเพื่อข้ามถนน ด้วยความที่มีศักย์และสิทธิมากกว่าผู้ใช้รถยนต์ รวมถึงการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย ทำให้คนเดินเท้าและจักรยานมีความปลอดภัยมากในประเทศญี่ปุ่น

    จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันของเราต้องมีซักช่วงหนึ่งของวันที่เราเป็นคนเดินเท้า แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคและทำให้บ้านเราแก้ปัญหานี้ได้ยาก คือ คนที่ได้ประโยชน์กับคนที่เสียประโยชน์เป็นคนเดียวกัน เราบ่นว่าเค้าขายของขวางทาง แต่เราก็ยังมีความต้องการที่ซื้อของจากร้านค้าหาบเร่แผงลอยเหล่านี้ ความย้อนแย้งและวาทะกรรมของทางเท้าและหาบเร่แผงลอยยังไม่หมดเท่านั้น จากการวิจัยและผลการสำรวจของ UddC พบว่า หาบเร่แผงลอยเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่ต่างมุมมองก็ต่างแง่คิด เพราะมันเป็นทั้งสิ่งที่ดึงดูดให้คนเดินเท้า คือเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้การเดินเท้าในเมืองเป็นไปได้ง่ายขึ้นเมื่อสองข้างทางมีร้านค้าหาบเร่แผงลอยให้แวะชม แวะซื้อ แต่อย่างไรก็ตามต้องอยู่ในระยะและจำนวนที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นมันก็จะกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนและลดทอน หรือเป็นอุปสรรคในการเดินเท้า เหมือนที่เราคุ้นชินกับเสียงก่นด่าทั้งในชีวิตประจำวันและตามกระแสสื่อสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นเรื่องปกติของเมืองกรุงเทพเลยก็ว่าได้

ความปกติใหม่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นความคุ้นชินที่เราต้องพบเจออยู่เป็นประจำ ในเรื่องถนนและทางเท้านั้น ไม่เพียงแต่เรื่องของหาบเร่แผงลอยเท่านั้น แต่ยังมีความปรกติอีกหลายประการที่คนกรุงเทพ(คนไทย) ดูเหมือนจะคุ้นชิน แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นในสายตาของนานาอารยประเทศ

หรือมันคือ… “ความ(ไม่)ปกติ”

เราจะพาทุกท่านกลับมาย้อนคิดกับความปกติที่ดูเมือนว่ามันจะไม่ค่อยปกติเกี่ยวกับถนนและทางเท้า ซึ่งได้ยกออกมาให้เห็นใน 4 ประเด็น คือ ความปกติว่าด้วยทางม้าลาย ความปกติที่ว่าด้วยสะพานลอย ความปกติว่าด้วยทางเท้า และความปกติที่ว่าด้วยน้ำหยดจากกันสาด สำหรับบทความนี้จะพาทุกท่านไปหาความผิดปกติใน 2 ประเด็นแรก คือ

ความปกติว่าด้วยทางม้าลาย

“เราขอบคุณเมื่อรถยนต์หยุดให้เราข้ามถนนตรงทางม้าลาย”

จากรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก ปี 2015 (พ.ศ.2558) ระบุว่าในปี 2012 (พ.ศ. 2555) ประเทศไทยมีผู้ใช้รถใช้ถนนที่เป็นคนเดินเท้าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 8% รองลงมาจากผู้ขับขี่จักรยานยนต์ 2 และ 3 ล้อ (73%) ถึงแม้อาจมองผิวเผินว่า 8% เป็นสัดส่วนที่ไม่ได้สูงมากนัก แต่เมื่อนำมาเทียบกับจำนวนของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย 36.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนนั้นย่อมสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของคนเดินเท้าจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศออสเตรเลีย 13.2% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทางถนน 5.4 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคนของประเทศออสเตรเลีย และสูงกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนไทยอยู่ในสังคมที่เสี่ยงภัยเหลือเกินกับการเป็น “คนเดินถนน” โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ทำให้ทางม้าลายกลายเป็นแค่รอยสีที่หกเลอะพื้นถนนเป็นคราบสี่เหลี่ยมสีขาวเพียงเท่านั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของทางคนข้ามแทบจะหาไม่ได้ในบ้านเมืองนี้ 

ความอันตรายและความน่ากลัวของการข้ามถนนในกรุงเทพ (ในประเทศไทย) อาจจะเป็นหนึ่งในที่มาและถ่ายทอดมาเป็นคำสอนเด็กๆ ลูก หลานของเรามาเสมอว่า ต้องข้ามถนนบนทางเท้าลาย ก่อนจะข้ามถนนต้องมองทางให้ถ้วนถี่ มองซ้ายที มองขวาที แล้วก็มองซ้ายอีกทีถึงจะข้ามได้ แต่เรากลับไม่ค่อยพบวัฒนธรรมการสอนมารยาทในการขับขี่รถยนต์ที่ต้องให้คอยระวังคนเดินเท้าเลยด้วยซ้ำ

ที่น่าขำขันไปกว่านั้น คือเมื่อไม่นานมานี้ มีการบังคับใช้การให้สัญญานบนผิวจราจรเป็นเส้นทางซิกแซกก่อนถึงทางม้าลาย ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามันคือ อะไร มีความสำคัญแค่ไหน เราจะเห็นแล้วว่า บนท้องถนนในเมืองของเรานั้น รถยนต์ได้เป็นใหญ่เสมอ ทั้งปริมาณพื้นผิวบนถนน ลำดับความสำคัญของการใช้งานถนนและทางเท้า จึงไม่แปลกที่เวลาเราเจอคนขับรถที่มีมารยาทและทำตามกฎจราจร จอดรถเพื่อให้เกียรติคนข้ามถนน “ตรงทางม้าลาย” เราเลยเกิดปฎิกิริยาฉับพลันที่ต้องโค้งคำนับแสดงความขอบคุณ (ปราบปลื้มจนน้ำตาไหล) หรือแม้กระทั่งที่เป็นข่าวที่มีเด็กหญิงถอนสายบัวขอบคุณรถยนต์ที่หยุดให้ตัวเองข้ามถนนตรงทางม้าลาย (ฟังแล้วมันก็อาจจะดูแปลกพิกล)

ไม่รู้ว่าเป็นความวิบัติของตรรกะหรือสถานการณ์และสภาพแวดล้อมบนท้องถนนที่มันแย่มากๆ จนเมื่อเราได้เจอกับสถานณการณ์ที่มันทำให้เราพอรับได้จึงต้องให้ความขอบคุณกับเหล่าผู้ขับขี่ที่เคารพกฎจราจรและให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าเหล่านี้

ที่มา : ทางม้าลาย คนข้ามต้องรอ? หรือ รถควรจะหยุด? https://www.youtube.com/watch?v=8QTHgUnMd9c

แต่ประเด็นสำคัญคงไม่หยุดเพียงแค่นั้น เพราะความจริงแล้วสิ่งที่เราควรตระหนักคือ การรับรู้ว่าการที่รถยนต์ชะลอให้เราข้ามทางม้าลายนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำตามกฎหมาย พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุไว้ชัดเจน กรณีที่ผู้ใช้รถไม่จอดหรือหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายว่ามีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 21 แต่ก็นั่นแหละครับ ที่นี่เมืองไทย ที่นี่กรุงเทพ มันก็จะมีอะไรที่ผิดฝา ผิดตัวเป็ฯธรรมดา เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมารณรงค์ให้คนข้ามตรงทางม้าลาย พร้อมแจ้งค่าปรับสำหรับผู้ที่ไม่ข้ามตรงทางม้าลาย แต่กลับไม่มีการรณรงค์ที่เอาจริงเอาจังกับการหยุดหรือชะลอให้คนข้ามถนน

และนั่นคือเรื่องราวของความปกติที่ดูเหมือนไม่ปกติของทางม้าลาย

ความปกติว่าด้วยสะพานลอย

“เพราะเราเชื่อว่า สะพานลอย ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก แก่คนข้ามถนน”

ถ้าคุณกำลังจะข้ามถนนและมีให้เลือก 2 สิ่งอำนวยความสะดวกในการข้ามถนนสำหรับคุณ “ทางม้าลาย” และ “สะพานลอย” คุณจะเลือกอะไร ???

– หากถามคำถามนี้กับผู้ปกครอง ก็คง แนะนำให้ลูกข้ามสะพานลอย พ่อแม่คงสบายใจกว่า

– หากถามคำถามนี้กับเด็ฏวัยรุ่น ก็คงเลือกข้ามทางม้าลาย เพราะคงสะดวกรวดเร็วกว่า

– หากถามผู้สูงอายุ ที่ยังพอเดินไหว ก็คงเลือกสะพานลอยที่ปลอดภัยกว่า สำหรับคนที่เิดนเหินและเคลื่อนไหวช้า

– และหากเป็นคนพิการหรือคนชรา ก็คงยากที่จะใช้สะพานลอยไหว… จนตั้งตั้งคำถามใหม่ว่านี่มันมีไว้เพื่อความปลอดภัยหรือมันสร้างภาระให้คนเดินเท้า (รวมถึงลดทอนและปิดกั้นกลุ่มคนบางกลุ่ม อย่างเช่น ผู้พิการอีกด้วย)

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งรางวัลความอัปยศสำหรับคนเดินเท้าที่ในพื้นที่เมืองที่มีสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่า “สะพานลอย” นี้

ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบเมื่อโยนคำถามสู่วงสนทนาว่า “เราจำเป็นต้องมีสะพานลอยไหม?” หรือหากทุกคนมีศักยภาพในการเข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ทางเดินเท้า หรือทางข้ามที่ดี จะส่งเสริมให้เกิดการเดินเท้ามากขึ้นหรือไม่ 

จากการเปิดรับประชามติที่จัดโดย Prachamati – ประชามติ ช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องมีการอยู่ของสะพานลอย โดยฝ่ายสนับสนุนให้ข้ามถนนโดยใช้สะพานลอยเห็นว่า แม้จะมีตัวเลือกอื่นในการข้ามถนน แต่สะพานลอยก็เป็นเสมือนการซื้อความปลอดภัยให้กับคนข้ามได้มากที่สุด และยังช่วยให้การเคลื่อนตัวของรถบนท้องถนนเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น 

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านการใช้สะพานลอยข้ามถนนและต้องการให้มี “ทางม้าลาย” มากกว่า เห็นว่า การต้องใช้สะพานลอยข้ามถนนนั้นเป็นการผลักให้คนที่ไม่สามารถขึ้นบันไดหลายขั้นเพื่อข้ามถนนได้กลายเป็นคนที่ทำผิดกฎหมายโดยไม่ได้เจตนา นอกจากนั้นการมีอยู่ของสะพานลอยยังสะท้อนให้เห็นโครงสร้างของรัฐที่ไม่คำนึงถึงความหลากหลายทางกายภาพของผู้คน โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงอายุ ทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนทางเวลาและสร้างความภาระความเหนื่อยให้แก่ผู้สัญจรอีกด้วย 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือ เราอย่าเพิ่งหลงเชื่อว่าการที่มีสะพานลอยนั้นเป็นเครื่องสะท้อนว่าเมืองของเรานั้นได้ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า อำนวยความสะดวกในการข้ามถนน แต่เราลืมคิดไปหรือเปล่าว่าการที่เราต้องพยายามปีนป่ายข้ามสะพานลอยที่สูงเกือบเท่าตึก 2 ชั้นเพื่อให้ได้ข้ามถนนด้วยความปลอดภัยนั้น รถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนก็วิ่งผ่านเราไปอย่างง่ายดายเสียเหลือเกิน เรื่องนี้มันยิ่งย้ำเตือนว่าเมืองของเรานั้นพร้อมที่จะเอื้อประโยชน์ให้คนที่ขับรถยนต์นั้นเดินทางสะดวกมากกว่าไม่ต้องจอดรอเราข้ามถนน

 

ที่มา www.posttoday.com

นอกจากนี้ ในเรื่องของความปลอดภัยจากการใช้สะพานลอยแล้วนั้น ก็มีข้อถกเถียงในความเคลือบเเคลงสงสัย ว่าแท้จริงแล้วเจ้าสะพานลอยที่เราใช้กันอยู่นี้ มันสร้างมาเพื่อสนองความปลอดภัยเเก่เราจริงๆ หรือเปล่า เพระาบ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนสะพานลอยที่ทั้งมืด และเป็นจุดลับตาคน กลายเป็นที่ซ่องสุมของเหล่าอาชญากร คนติดยา และคนจรจัด

นี่เป็นเพียงบางส่วนของความปกติที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและกรุงเทพมหานครแต่ดูเหมือนว่ามันคงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปกติสักเท่าไหร่ของการใช้งานถนนและทางเท้าในเมือง ที่ดูจะผิดฝาผิดตัวยังไงชอบกล เมือนกับเป็นตลกร้ายที่ยังคอยตอกย้ำคนเมืองจนถึงทุกวันนี้

สำหรับบทความฉบับหน้าเราจะมาต่อกันที่ความปกติที่ว่าด้วยทางเท้า และการที่น้ำหยดจากกันสาดกันครับ

อ้างอิง:

โพสต์ทูเดย์, ส่อง”กม.จราจรญี่ปุ่น”เข้มข้น-โทษแรง! 

World Health Organization. 2015. The Global Status Report on Road Safety 2015. (Italy: Management of Non-communicable Diseases, Disability, Violence and Injury Prevention (NVI), WHO).


Contributor