04/11/2019
Public Realm

ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น : เทรนด์ออกแบบเมืองที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของโลก

The Urbanis
 


คุณเคยสงสัยไหมว่า – เมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร? 

มีอาคารสวยล้ำสมัย? ระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม? หรือเอื้อให้คนเดินได้เดินดี?

ใช่แล้ว – เมืองที่ดีควรมีคุณสมบัติทั้งหมดที่ว่ามานั่นแหละ

แต่โลกทุกวันนี้ที่ทรัพยากรมีจำกัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมดูจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นทุกที และภายในปี 2040 อัตราการใช้พลังงานทั่วโลก 80% จะเกิดขึ้นในพื้นที่เมือง ดังนั้น หน้าที่ของนักออกแบบเมืองจึงไม่ได้หยุดแค่การสร้างอาคารสวยๆ สร้างระบบขนส่งสาธารณะดีๆ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนที่สุดด้วย

แต่จะทำอย่างไรเล่า?

หนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญที่ตอบโจทย์นี้ คือ ‘เทคโนโลยี’ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนเมือง

แทนศรี พรปัญญาภัทร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ฝ่าย Urban Technology เล่าไว้ในการบรรยายสาธารณะเรื่อง ‘โลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง’ เมื่อ19 กันยายน 2562 ว่าเทคโนโลยีจะมามีบทบาทต่อการพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างไรบ้าง

(http://www.cgmeetup.net)

ก่อนอื่น อยากชวนคุณมาทำความเข้าใจเสียก่อนว่า คุณภาพชีวิตในเมืองเกิดจาก 

1) โครงสร้างพื้นฐานเมือง (Urban Infrastructure) ที่มีประสิทธิภาพ 

และ 2) การบริการในเมืองที่คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุคนี้จะเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองให้ดีขึ้นนั่นเอง

แทนศรเล่าถึง 5 เทรนด์สำคัญของโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ต้องจับตามอง และมีผลต่อเกมการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารเมือง ซึ่ง 5 เทรนด์ที่ว่า ได้แก่

1.ในอนาคต ภาครัฐจะแข็งแกร่งและกลับมาให้บริการและเป็นผู้ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเมืองบางอย่างอีกครั้งหนึ่ง

2.ความยั่งยืน (Sustainability) ไม่ได้พูดแค่เมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วย

3.การแข่งขันกันทางเทคโนโลยีจะรุนแรงและเปลี่ยนไวขึ้น ผู้ที่วางแผนการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะได้เปรียบเสมอ

4.ประชาชนมีส่วนในการทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่รัฐทำขึ้นสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ได้

5.มีแนวโน้มที่โครงสร้างพื้นฐานเมืองจะกลับไปสู่การบริหารจัดการแบบองค์รวมมากขึ้นกว่าในอดีตที่บริหารจัดการแบบแยกส่วน

(https://www.engie.com/wp-content/uploads/2017/08/infographie2_va.png)

เทคโนโลยีเมือง (Urban Technology) จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงาน เพราะคือจุดเริ่มต้นที่จะขับเคลื่อนเมืองต่อไปได้ 

เทรนด์การใช้พลังงานทั่วโลกในตอนนี้ คือความตื่นตัวเรื่องหาแหล่งพลังงานที่สามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เห็นได้จากแนวโน้มการใช้พลังงานถ่านหินที่ลดลง แล้วเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาดกันมากขึ้น

 ตัวอย่างเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ช่วยผลิตพลังงานสะอาดมีมากมาย ตั้งแต่โซลาร์เซลล์ล่องหน หรือ Invisible Solar Cell ที่สามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่อ่อนไหวอย่างพื้นที่ย่านเก่า โดยโซลาร์เซลล์ไม่จำเป็นต้องติดบนหลังคาบ้านอีกต่อไป แต่ถูกพัฒนาขึ้นเป็น Floating Solar Cell ให้ลอยเหนือน้ำได้ ทำให้ใช้พื้นที่อย่างเต็มประโยชน์ 

หรือการใช้พลังงานจากแม่น้ำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ไม่รบกวนสภาพแวดล้อม หรือใช้ประโยชน์จากน้ำขึ้น น้ำลงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเมืองที่ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงสูง เช่น จีน หรือเกาหลีใต้

อีกหนึ่งเทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คือ District Heating and District Cooling ที่เริ่มใช้กันแพร่หลายในเมืองที่มีความหนาแน่นสูง เริ่มจากเมืองเกิดการผลิตพลังงานใช้เองจาก Power Plant ซึ่งสามารถนำพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจากการผลิตพลังงานไฟฟ้านั้นมาต่อเข้าท่อความร้อน ท่อความเย็น กระจายส่งไปยังตึกต่างๆ ได้อีกทอดหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นใช้งานแล้วคืออาคารใหญ่ๆ ในย่านชินจูกุ โตเกียว ที่มีท่อรับน้ำร้อน น้ำเย็น อยู่ใต้ดิน

(https://www.edf-re.de/wp-content/uploads/EN_Grafik_PS.png)

ระบบการจัดเก็บพลังงาน (Storage) ในเมืองก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะพลังงานเมื่อผลิตขึ้นแล้วหากใช้ไม่หมดก็จะสูญเปล่า หลายเมืองจึงคิดระบบการจัดเก็บพลังงานในช่วงเวลาต่างๆ โดยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยการจัดการพลังงานก็มีตั้งแต่ Building Energy Management System อันเป็นระบบที่ตรวจจับและรายงานการใช้พลังงานในระดับย่อยสุด คือห้องในอาคาร ไปจนถึงการจัดการในระดับย่านซึ่งทำงานประสานกับเทคโนโลยีเซนเซอร์

อีกเทรนด์สำคัญที่จะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือรูปแบบการจัดการพลังงานในเมืองที่เดิมมีแหล่งผลิตพลังงานแหล่งเดียว คือโรงงานไฟฟ้า แล้วส่งต่อไปยังผู้ใช้ (End User) เป็นระบบโครงข่ายแบบเดิมหรือ Traditional Grid ซึ่งจะเปลี่ยนมาเป็นระบบ Distributed System ที่เน้นให้เกิดการผลิตพลังงานทั้งในระดับอุตสาหกรรมและครัวเรือนขึ้นมา และใช้ข้อมูล (Data) เข้ามาเชื่อมโยงเครือข่ายพลังงานในเมืองให้เกิดรูปแบบ Smart Energy Grid ขึ้นมา

ระบบแบบนี้ถือเป็นระบบปิดที่สามารถผลิตและส่งต่อพลังงานจบได้ในตัวเอง ซึ่งจะมีประโยชน์มากในกรณีที่โรงงานไฟฟ้าหลักภายในเมืองขัดข้อง แต่ระบบย่อยเหล่านี้จะยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับย่านหรืออาคารได้ในระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่เป็นความท้าทายของประเทศไทยคือ ระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้ายังถือเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หากครัวเรือนต้องการผลิตหรือจำหน่ายไฟฟ้าเองต้องได้รับอนุญาตก่อน ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยนั่นเอง

 นอกจากเทคโนโลยีด้านพลังงาน แทนศรยังยกตัวอย่างเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงน่าจับตามอง อย่างเรื่องการขนส่ง (Transportation) ที่เน้นเรื่องการเคลื่อนที่ด้วยพลังงานทางเลือก เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเช่นเทคโนโลยีรถยนต์อัจฉริยะ (Autonomous Car) ที่เริ่มเห็นแล้วในสหรัฐอเมริกา หรือกระทั่งเทคโนโลยีล้ำๆ ที่รถยนต์กับสัญญาณไฟจราจรสามารถสื่อสารกันได้ เพื่อควบคุมให้รถหยุดเมื่อมีคนข้ามถนน หรือหยุดรถเท่าที่จำเป็นเพื่อลดอัตราการสะสมมลพิษภายในเมือง 

อีกแนวโน้มสำคัญคือ แม้ว่าขนส่งสาธารณะจะพัฒนาขึ้นแล้ว แต่ในอนาคต คนก็ยังคงต้องการการเคลื่อนที่ในเมืองที่้แบบส่วนตัว (personalisation) มากขึ้นด้วย เช่น มีการใช้พาหนะแบบขับเคลื่อนเอง หรือ Self-Driving Transport Pod

การบริหารจัดการน้ำในเมืองก็เป็นอีกเรื่องที่ท้าทายมาก และต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยไม่น้อย 

เทรนด์สำคัญคือการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาช่วยพัฒนาระบบบำบัดน้ำในเมืองไม่ให้เกิดการทิ้งเลย (Zero Waste) เช่น นำน้ำฝนหรือน้ำเสียกลับมาเป็นน้ำประปาเพื่อช่วยลดการนำเข้าน้ำใหม่ รวมไปถึงเน้นให้มีระบบการผลิตน้ำภายในแต่ละอาคารเอง (Smart Water Grid) ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียระหว่างการขนส่งได้มากเช่นกัน (ข่าวดีคือ ประเทศไทยอนุญาตให้มีการผลิต จำหน่ายและจัดการน้ำแยกออกจากการประปานครหลวงได้แล้ว) 

ส่วนการจัดการขยะ ก็เริ่มมีเทคโนโลยีช่วยลดขั้นตอนการแยกขยะให้ไม่ซับซ้อน เน้นการรีไซเคิลและนำขยะกลับมาใช้ใหม่หรือแปรรูปให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ไปจนถึงเทคโนโลยีการเผาขยะด้วยความร้อนที่สูงมาก จนไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ก็อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับในกรุงเทพฯ หนึ่งในโครงการตัวอย่างที่เริ่มนำ Urban Technology มาออกแบบการใช้พลังงานในเมืองครบวงจรคือโครงการ ‘Chula Smart City’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งใจพัฒนาพื้นที่บริเวณสวนหลวง-สามย่านให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ โดยนักผังเมืองต้องทำงานร่วมกับสถาปนิกและวิศวกรพลังงาน เพื่อพัฒนาระบบการผลิต จัดเก็บ และคำนวณการใช้พลังงานภาย

ในเมือง เพื่อให้ตอบโจทย์ไปถึงเรื่องเศรษฐกิจและความยั่งยืน

เทคโนโลยีเมือง (Urban Technology) ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่นักออกแบบเมืองและนักบริหารเมือง ต้องคำนึงถึง มากกว่าแค่การใช้งานและความสวยงาม

เพราะการบริหารพลังงานและทรัพยากรให้ตอบโจทย์ความคุ้มค่าแก่เจ้าของโครงการและสาธารณะ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเมืองที่เราอาศัยอยู่ได้ไม่รู้จบ


Contributor