04/03/2022
Public Realm
ห้องสมุด: หนึ่งในพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเมือง
นวพร เต็งประเสริฐ ชรัณ ลาภบริสุทธิ์
“โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว เราไม่สามารถหยุดเรียนรู้ เพื่อให้เราก้าวออกไปกับโลกสมัยใหม่ได้ เพราะฉะนั้น ความรู้ในระบบการศึกษาและสถานศึกษาอาจไม่เพียงพออีกต่อไป”
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) กล่าวไว้ใน กิจกรรม การเรียนรู้ > การศึกษา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร เมื่อการเรียนรู้ > การศึกษา
เมื่อการเรียนรู้ไม่ใช่แค่การศึกษา แต่ยังมีความหมายและมุมมองที่มากไปกว่านั้น วันนี้ The Urbanis จะพามาดูว่า การเรียนรู้คืออะไร สำคัญไฉนกับพวกเราทุกคน และพื้นที่แบบไหนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พร้อมทั้งพาไปดูห้องสมุดที่เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นอย่างไรบ้าง
การเรียนรู้คืออะไร
มีคนให้คำนิยามเกี่ยวกับการเรียนรู้ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การบอกว่าเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวม สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากภายในผ่านกระบวนการรู้คิด และจากภายนอก ผ่านชุดประสบการณ์การเรียนรู้ และการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล สื่อ และสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้
บ้างก็กล่าวว่า การเรียนรู้ คือ กระบวนการของการได้รับใหม่หรือการปรับเปลี่ยนที่มีอยู่ความรู้ พฤติกรรม ทักษะค่านิยม หรือความพึงพอใจ การเรียนรู้บางอย่างเกิดขึ้นในทันทีโดยเหตุการณ์เดียวแต่ทักษะและความรู้จำนวนมากสะสมจากประสบการณ์ซ้ำ ๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเรียนรู้มักจะมีอายุการใช้งานยาวนานและเป็นการยากที่จะแยกแยะเนื้อหาที่เรียนรู้
หรือบางคนก็นิยามว่าเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์และเพิ่มศักยภาพในการปรับปรุงประสิทธิภาพและการเรียนรู้ในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนอาจเกิดขึ้นในระดับความรู้ เจตคติ หรือพฤติกรรม และผลจากการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนมีมุมมอง แนวคิด และโลกแตกต่างออกไป
นอกจากนี้ ในส่วนขององค์ประกอบที่ทำให้เกิดการเรียนรู้นั้นได้มีนักวิชาการให้คำนิยามที่หลากหลายกันไป ทั้งนี้ผู้เขียนสามารถสรุปใจความได้ง่าย ๆ ว่า องค์ประกอบ 2 ประการที่สำคัญ คือ ตัวผู้เรียน ต้องมีความพร้อมและมีการตื่นตัวในการเรียนรู้ และสภาพแวดล้อม ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ การมีบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ มีสถานที่ที่เอื้ออำนวย ตลอดจนอุปกรณ์ในการส่งเสริมให้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นตัวช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นแล้วการเรียนรู้ อาจจะกล่าวได้ว่าคือการสอดประสานกันระหว่างตัวบุคคลกับชุดข้อมูลหนึ่งๆ ที่สามารถทำให้ผู้รับข้อมูลนั้นเกิดกระบวนการการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล ทั้งในด้านของความรู้ พฤติกรรม ทักษะ ค่านิยม ประสบการณ์ และความพึงพอใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผ่านการมีองค์ประกอบของการเรียนรู้ อีกทั้งการเพิ่มระดับของการเรียนรู้ยิ่งจะทำให้ประสิทธิภาพและศักยภาพของด้านต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
การเรียนรู้สำคัญไฉน
มนุษย์เรานั้นเกิดวิวัฒนการได้ส่วนหนึ่งมาจากการเรียนรู้ ตลอดประวัติศาสตร์ของชีวิตมนุษย์ในทั่วโลกได้มีรูปแบบการเรียนรู้ต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนรู้นั้นสำคัญกับชีวิตของเรา เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์
หากพูดแบบนั้นอาจจะดูไกลตัวจากชีวิตประจำวันเกินไป มองประโยชน์และความสำคัญของการเรียนรู้ผ่านเรื่องราวรอบตัวง่าย ๆ คือ ในปัจจุบันสังคมโลกของเรานั้น เป็นสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge –based economy) กล่าวคือ เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปโดยใช้องค์ความรู้ โลกเปลี่ยนแปลงจากการใช้กำลังในการขับเคลื่อนมาเป็นใช้สติปัญญามากขึ้น ทำให้ความรู้ สติปัญญากลายเป็นรากฐานสำคัญในการทำงานและดำเนินชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะยกระดับสถานะและรายได้ของทุกคน เพราะการเรียนรู้ทำให้เกิดศักยภาพ มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และท้ายที่สุดนำไปสู่การบรรลุในทุก ๆ เป้าหมายที่ตั้งไว้
แล้วพื้นที่แบบไหนที่เอื้อต่อการเรียนรู้
จากข้อมูลของ NSW Government Schools (2564) ที่ระบุไว้ว่า พื้นที่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพควรจะมีลักษณะที่คล่องตัว หลากหลายและเชื่อมต่อเข้าหากัน สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบการเรียนรู้และเทคโนโลยีได้ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิ เสียง และแสง สนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมถึงสนับสนุนการเรียนรู้และการสอนร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
เมื่อการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เพียงแค่ในห้องเรียนอีกต่อไป ขอบเขตขององค์ความรู้ได้ขยายออกไปไกลกว่าพื้นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำให้ทุก ๆ ที่สามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ หรือเรียกได้ว่า โลก คือ ห้องเรียน พื้นที่การเรียนรู้ที่สำคัญที่เรามักคุ้นเคยกันดี คือ ห้องสมุด พื้นที่สำคัญที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ เพราะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ในแขนงต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน หรือที่เรียกกันว่าขุมทรัพย์ทางปัญญา ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
วันนี้จะพาไปดูห้องสมุดสาธารณะในต่างประเทศกันว่ามีความน่าสนใจมากแค่ไหน มันมีอะไรที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นกับผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง และย้อนกลับมาดูที่กรุงเทพมหานครว่ามันมีพื้นที่เหล่านั้นแค่ไหนและตอบโจทย์การเรียนรู้หรือไม่
ฟินแลนด์
ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับทางด้านการศึกษา รวมถึงมีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก (British Broadcasting Corporation-BBC, 2017) ถือเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ในช่วงปี 2016 องค์การสหประชาชาติได้ยกให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ประชากรมีความกระตือรือร้นในการใช้ห้องสมุดอย่างมาก ด้วยประชากร 5.5 ล้านคน แต่มีการยืมหนังสือเกือบ 68 ล้านเล่มต่อปี แม้มีห้องสมุดสาธารณะเพียง 308 แห่ง เป็นอันดับที่ 65 ของโลก (OCLC, 2018)
พามาดูห้องสมุด Helsinki Central Library Oodi ห้องสมุดใจกลางเมืองเฮลซิงกิ เปรียบเสมือนของขวัญครบรอบ 100 ปีประเทศฟินแลนด์จากการประกาศอิสรภาพ ใช้เวลาสร้างนานกว่า 10 ปี เป็นสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชน เพราะประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมาในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งยังตั้งอยู่ตรงข้ามรัฐสภาและใกล้กับสถาบันการศึกษาที่สำคัญหลายแห่ง ถือเป็นทำเลที่มีมูลค่าสูงมากแต่นั่นก็เป็นเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับที่ตั้ง เพื่อให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงห้องสมุดนี้ได้ง่าย ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจว่าห้องสมุดนี้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ภายในห้องสมุดนี้ไม่ได้เป็นเพียงห้องสมุดแบบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย ทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงภาพยนต์ Co-Working Space และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าครบครันในที่เดียวจนทำให้แทบไม่มีธุรกิจ Co-Working Space ในเมืองนี้เลย ถือเป็นพื้นที่ที่ให้ชาวเมืองได้มาพบปะ ทำกิจกรรมและเกิดการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
จีน
เขยิบกลับมาที่เอเชียกันบ้าง ประเทศจีนนับตั้งแต่ปี 2013 ใช้เงิน 4% ของ GDP ประเทศไปกับการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อทำให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงแม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เป็นประเทศที่มีห้องสมุดสาธารณะมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ถึง 51,311 แห่ง (OCLC, 2018) ตัวอย่างห้องสมุดที่น่าสนใจและเป็นที่โด่งดังเนื่องจากดีไซน์ที่ดูแตกต่าง อย่างห้องสมุดเทียนจิน หรือ Tianjin Binhai Library ที่มีพื้นที่ 33,700 ตารางเมตร และถูกออกแบบให้จัดเก็บหนังสือได้ถึง 1.2 ล้านเล่ม เป็นห้องสมุดที่รัฐบาลตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเมือง รองรับความหลากหลายของประชาชนภายในเมืองทุกช่วงวัย มีการออกแบบเพื่อเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของเมือง เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมที่มีโถงห้องประชุมอยู่กลางอาคาร รายล้อมไปด้วยชั้นวางหนังสือของอาคารที่เรียงซ้อนกัน ภายในอาคารมีโปรแกรม ได้แก่ Educational/ Cultural/ Auditorium Terrace bookshelves / Book storage Atrium space/ service space Reading area for children, elderly Auditorium Reading room/ lounge Meeting room Office Computer/ Audio room ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้คนภายในเมือง และอาคารนี้ยังมีบทบาทเป็นเสมือนพื้นที่รวมตัวทางสังคมที่เชื่อมต่อจากสวนสาธารณะของเมืองไปยังย่านวัฒนธรรมอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าพื้นที่การเรียนรู้ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะที่ล้วนได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาล ตัวภาครัฐวางนโยบายและให้ความสำคัญกับการศึกษาและการเรียนรู้เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่ส่งผลให้ชาวเมืองสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
กรุงเทพมหานคร
จากข้อมูลสถิติพบว่าประเทศไทยมีห้องสมุดที่เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะมากถึง 2,116 แห่ง ถือเป็นอันดับที่ 24 ของโลก (OCLC, 2018) สำหรับกรุงเทพมหานครมีจำนวนห้องสมุดมากถึง 170 แห่ง และอยู่ในการดูแลของภาครัฐจำนวน 36 แห่ง จากข้อมูลข้างต้นกรุงเทพมหานครถือเป็นเมืองที่มีห้องสมุดที่มากสุดในประเทศ ผู้เขียนจึงอยากจะขอนำผู้อ่านไปรู้จักกับห้องสมุดในกรุงเทพมหานคร นั้นก็คือ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Library) ทุกคนเชื่อไหมว่าห้องสมุดแห่งนี้เกิดจากที่กรุงเทพมหานครถูกเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก (World Book Capital) ในปี พ.ศ. 2556 โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำหรับพื้นที่การใช้งานได้ถูกแบ่งออกตามประเภทของหนังสือ ได้แก่ โซนหนังสือนิตยสาร โซนหนังสือเด็ก โซนหนังสือทั่วไป และโซนจดหมายเหตุ แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านั้นถูกจัดสรรไว้เป็นเพียงพื้นที่อ่านหนังสือเท่านั้น
มองเขา แล้วย้อนดูเรา
สำหรับพื้นที่การใช้งานทั้งในประเทศฟินแลนด์และประเทศจีนดังตัวอย่างข้างต้น เห็นได้ชัดว่าห้องสมุดเป็นมากกว่าห้องสมุดที่เราคุ้นเคย เป็นพื้นที่ที่มีอรรถประโยชน์ใช้สอยที่มากมายหลายประเภท แต่หากมองย้อนกลับมาที่ไทยหรือในกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่าห้องสมุดเป็นเพียงอาคารหลังหนึ่ง หรือห้องบล็อคหนึ่ง ที่มีเพียงแค่โต๊ะสำหรับอ่านหนังสือ กับชั้นหนังสือที่มีหนังสือมากมายอยู่เรียงราย และไม่สามารถทำอะไรได้ไปมากกว่าการนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ภายในพื้นที่แห่งนั้น ส่วนพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ห้องประชุม Co-Working Space ก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเป็นพื้นที่ของเอกชนเท่านั้น
แล้วทุกคนเคยตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่ว่า การที่กรุงเทพได้ถูกคัดเป็นเมืองหนังสือโลกนั้น ช่วยผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด ผลการสำรวจของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2561 พบว่าประคนไทยมีค่าเฉลี่ยการอ่านมากขึ้นถึง 80 นาทีต่อวัน โดยกรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้อ่านมากถึงร้อยละ 92.9 แต่กลับพบว่าช่วงอายุที่มีการอ่านมากที่สุดคือ อายุ 60 ปีขึ้นไป
แล้ววัยที่ควรได้รับการเรียนรู้อยู่ที่ไหน จากการสำรวจบอกว่า ช่วงอายุตั้งแต่ 6 – 24 ปี เป็นช่วงที่มีการอ่านหนังสือน้อย ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ไม่ชอบหรือไม่สนใจและไม่มีเวลาอ่าน จากตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าค่านิยมในการอ่านของคนไทยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อดูจากจำนวนห้องสมุดที่มีอยู่ แล้วเพราะเหตุใดกัน หนึ่งในเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของพื้นที่และสภาพแวดล้อมในการอ่าน กรุงเทพมหานครเห็นได้ชัดว่ามีพื้นที่ห้องสมุดที่เยอะ แต่พื้นที่เหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกใช้งานมากนัก หลาย ๆ แห่งมีการเข้าถึงที่ไม่สะดวก ขนส่งสาธารณะที่เข้าไม่ถึง อีกทั้งในเรื่องของกฏระเบียบในการใช้งานที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน รวมถึงการที่ภาครัฐขาดการผลักดันและการสนับสนุน ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงประจักษ์
“ห้องสมุดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ชั้นดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่” ประโยคข้างต้นคงเป็นประโยคที่บ่งบอกถึงความเป็นจริงได้อย่างดี แต่สำหรับกรุงเทพฯ ยังคงถือว่า “เกือบ” จะเข้าใกล้ความเป็นจริงเสียมากกว่า ในความจริงที่ว่ากรุงเทพฯ มีปริมาณห้องสมุดที่เยอะ แต่ด้านคุณภาพนั้นยังคงไม่เอื้อให้เกิดการอ่าน ไม่สร้างแรงดึงดูดมากพอให้คนเข้าไปใช้งาน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ไร้ความเป็นอิสรภาพในการใช้งาน และยังขาดการส่งเสริมจากภาครัฐในการสนับสนุน
ท้ายที่สุดแล้ว การทำให้พื้นที่แห่งการเรียนรู้ในกรุงเทพฯ จากที่ถูกมองข้าม ถูกละเลยและให้ความสำคัญน้อย กลับมามีความสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม ควรจะมาจากการผลักดันและขับเคลื่อนด้านนโยบาย โครงการในรูปแบบต่างๆ การต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่แล้วสู่การทำให้เข้าถึงได้ง่ายและดูเป็นมิตร อีกทั้งการทำให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ รวมถึงประชาชนเองก็ต้องมีการตระหนักและร่วมตั้งคำถามกับภาครัฐอยู่เสมอ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโอกาสในการพัฒนาด้านศักยภาพของพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และจะทำให้เกิดความสามารถในการเรียนรู้ในทุกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
และบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #LearningCityTH #UDDC_CEUS
ที่มาข้อมูล
What is the Importance of Learning (In Any Stage of Life)
What country has the Most Public Libraries in the World?
New China Insights: คนจีนยุคใหม่กับเรื่องของการศึกษา