03/11/2020
Public Realm

เมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร เมื่อการเรียนรู้ > การศึกษา

The Urbanis
 


เรียบเรียงจากการบรรยายวิชาการ โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้อเสนอโครงการศึกษาบทบาท ศักยภาพ และพัฒนาดัชนีชี้วัดการขับเคลื่อนเมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต (The Future of Learning City) โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล / อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ / ธนพร โอวาทวรวรัญญู 

กิจกรรม การเรียนรู้ > การศึกษา โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “เมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต” (The Future of Learning City) ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแวดวงการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้/พื้นที่เรียนรู้ (Learning Provider) กับผู้เรียนรู้ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนนิยามและกำหนดความหมายของคำว่า “เมืองแห่งการเรียนรู้” (Learning City) ผ่านกระบวนการสนทนากลุ่ม พร้อมคำถาม ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ได้บรรยายวิชาการเพื่อบอกเล่าทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกรณีศึกษาเมืองที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนตัวชี้วัดโดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (UNESCO)

ทำไมต้อง “เมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต”

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่สำคัญของการเรียนรู้ โดยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของ สาระการเรียนรู้ วิธีการ และเครื่องมือ รวมถึงรูปแบบสถาบัน  ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี ซึ่งในแต่ละยุคสมัยความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมก็จะแตกต่างกันไป (WEI Mingqin, SUN Jing, SHI Yuanping, 2015) 

ในช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) ระบบการศึกษาถือเป็นระบบหลักของวัฒนธรรมการเรียนรู้ในสังคมทั่วโลก กระบวนการเรียนรู้อยู่ในรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้สอนสู่ผู้เรียน ในสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตซ้ำในรูปแบบสังคมอุตสาหกรรม 

ต่อมาเมื่อต้นศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ในระบบการศึกษาถูกตั้งคำถามว่าสามารถตอบโจทย์ผู้เรียนและสร้างการเรียนรู้ให้แก่มนุษย์ได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ จากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้ในระบบการศึกษาที่ดี (The World Bank, 2018) ผนวกกับการพัฒนาเทคโนโลยี การปฏิวัติดิจิทัล การกลายเป็นเมือง และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ส่งผลให้กระบวนทัศน์การเรียนรู้เปลี่ยนจากการเรียนรู้ในระบบการศึกษา ขยับออกมาสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้แบบเปิดที่ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในระบบการศึกษาอีกต่อไป (UNESCO Institute for Lifelong Learning, 2015)

สอดคล้องกับแนวทางของสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning- UIL) ที่ได้จัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้สำหรับทุกคน โดยตระหนักว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (UNESCO Institute for Lifelong Learning, 2015)

ความหมายเมืองแห่งการเรียนรู้ในนิยามที่ผ่านมา 

Longworth (1996) กล่าวถึงเมืองแห่งการเรียนรู้ว่าจะต้องเป็นเมืองที่มีแผนและนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างยั่งยืน ผ่านการร่วมมือกันของหลากหลายองค์กร

Kearns (1999) กล่าวถึงเมืองแห่งการเรียนรู้ว่า เมืองไม่ได้เป็นพียงสถานที่ที่ผู้คนอาศัยหรือทำงาน แต่ยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนได้สัมผัสกับวัฒนธรรม และการศึกษา เมืองแห่งการเรียนรู้รวบรวมช่องทางในการเรียนรู้ที่หลากหลายที่จะตอบสนองความต้องการและแรงบันดาลใจของประชาชน ด้วยทรัพยากรในท้องถิ่น

European Learning Society (TELS) กล่าวว่าชุมชนหรือเมืองแห่งการเรียนรู้คือเมืองที่มีจัดสรรทรัพยากรในการส่งเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ของประชาชน ทั้งการเติบโตส่วนบุคคลและส่งเสริมการรวมกลุ่มกันทางสังคม

ส่วน UNESCO (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ได้ให้คำนิยามของเมืองสำหรับการศึกษา ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางสังคมของผู้คน และก่อตั้งเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษาของผู้คน

การเรียนรู้ > การศึกษา 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ฉายภาพเปรียบความแตกต่างระหว่าง การศึกษา (Education) กับ “การเรียนรู้” (Learning) พร้อมอ้างอิงนิยามของ โจอิ อิโตะ (Joi Ito) ผู้อำนวยการ MIT Media Lab ที่กล่าวว่า “Education is what people do to you. Learning is what you do to yourself” – “การศึกษาคือสิ่งที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณ แต่การศึกษาคือสิ่งคุณปฏิบัติต่อตนเอง”

“Education เรียนแบบคุณเป็นรับ มีหลักสูตรจัดให้ ส่วน Learning คือคุณอยากรู้อะไรคุณไปขวนขวายเอาเอง มีส่วนร่วมในการเรียนและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ ต้องบอกว่าเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลความรู้ข่าวสารที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจฐานความรู้ ที่ใช้ชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันของเมืองและประเทศ

ทุกคนทราบดีว่าทรัพยากรมนุษย์อันพึงประสงค์ในอนาคต ประกอบด้วย ความสามารถการให้เหตุผลในเชิงวิเคราะห์  การแก้ปัญหา และความสามารถในการปรับตัว นอกจากนี้ Digitalization ทำให้เกิดการเรียนรู้ทุกทีทุกเวลา โลกปัจจุบันเปลี่ยยนแปลงเร็ว เราไม่สามารถหยุดเรียนรู้ เพื่อให้เราก้าวออกไปกับโลกสมัยใหม่ได้ เพราะฉะนั้น ความรู้ในระบบการศึกษาและสถานศึกษาอาจไม่เพียงพออีกต่อไป” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว

คุณสมบัติหลักของเมืองแห่งการเรียนรู้ (UNESCO)

1) ประโยชน์หลักจากการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ 3 ประการ ได้แก่ ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจและการรวมกลุ่มทางสังคม การพัฒนาทางเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน 

2 ) คุณลักษณะสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ 6 ประการ ได้แก่ การเรียนรู้ในระบบการศึกษาแบบบูรณาการ  การส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน การเรียนรู้ในสถานที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ทันสมัย การเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนรู้ การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง

3) เงื่อนไขสำคัญที่เป็นพื้นฐานการสร้างเมืองแห่งความรู้ 3 ประการ ได้แก่ ความมุ่งมั่นและความเข้มแข็งของผู้นำ การบริหารเมืองและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย การจัดสรรและบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

สู่เป้าหมายโครงการเมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต (The Future of Learning City) ของไทย

โครงการศึกษาบทบาท ศักยภาพ และพัฒนาดัชนีชี้วัดการขับเคลื่อนเมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต เล็งเห็นความสำคัญในการศึกษาเชิงลึกและทำความเข้าใจสถานการณ์ของ  “เมืองกับบทบาทและศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้” โดยมีคำถามวิจัยคือ กลไกในระดับเมืองมีบทบาทและศักยภาพอย่างไรในปัจจุบัน และมีแนวทางอย่างไรในการขับเคลื่อนเมืองในประเทศไทยสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อศึกษาสถานการณ์ความพร้อมในการขับเคลื่อนสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย และเมืองกรณีศึกษากรุงเทพมหานครและนครสวรรค์ วิเคราะห์บทบาทและศักยภาพหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ตามบริบททั่วไปและบริบทพื้นที่ ต่อยอดสู่การการสร้างตัวชี้วัดและประเมินศักยภาพในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ และจัดทำข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ อันจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร และตั้งเป้าหมายระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยงานที่สนใจประเด็นเมืองแห่งการเรียนรู้ 

ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการจะมีการเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน ในพื้นที่ศึกษาหรือสนใจในประเด็นการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างเต็มองคาพยพ นอกจากกระบวนการจะก่อความตระหนักรู้ เห็นการพัฒนาเป็นองค์รวม และสร้างความเป็นเจ้าของร่วม หากยังเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยารมนุษย์ในพื้นที่ ช่วยในการเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่จะตอบรับความเปลี่ยนแปลง  ต่อยอดสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในพื้นที่ 


Contributor