03/08/2020
Public Realm

เมื่อ Apple Store ขยับจากร้านค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ศูนย์กลางเมือง

กรกมล ศรีวัฒน์
 


เปิดตัวไปแล้วสำหรับแอปเปิ้ลสโตร์ สาขาที่สองในเมืองไทยหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อจากสาขาแรกที่ไอคอนสยามที่เปิดตัวในปี พ.ศ.2561 แต่สิ่งที่ทำให้สาวกใจเต้นเป็นพิเศษจนคิวเข้ารับชมเต็มในวันแรกๆ คือสาขานี้เป็นหน้าร้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับการออกแบบโดดเด่นด้วยไอเดีย “Tree Canopy” สรรสร้างพื้นที่ให้มีรูปแบบเหมือนแกนลำต้นของต้นไม้ขนาดใหญ่ และโลเกชั่นใหม่ใจกลางกรุงเทพ โดยแอปเปิ้ลเปิดเผยว่าสาขานี้จะเป็น “สี่แยกแห่งความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ” สอดคล้องกับแนวคิดของแอปเปิ้ลที่ต้องการสร้างทาวน์สแควร์ พื้นที่สาธารณะที่ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้คน

“เดิมทีเหตุผลที่ร้านค้าของแอปเปิ้ลถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อเสริมสร้างการใช้ชีวิต” Angela Ahrendts

“เดิมทีเหตุผลที่ร้านค้าของแอปเปิ้ลถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อเสริมสร้างการใช้ชีวิต” Angela Ahrendts รองประธานอาวุโสฝ่ายค้าปลีกของแอปเปิ้ลเปิดเผยแนวคิดเริ่มแรกของแอปเปิ้ลสโตร์ เธอได้เข้ามามีส่วนดูแลให้มีความเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนได้มามีปฏิสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น สร้างทาวน์สแควร์ในรูปแบบ Multi-use destinations ดึงคนจากหลากหลายความสนใจเข้ามาในพื้นที่ เป็นศูนย์รวมกิจกรรม ตั้งแต่ช้อปปิ้ง ไปจนถึงพักผ่อนหย่อนใจ โดยบอกเล่าเพิ่มเติมว่า แอปเปิ้ลจะตัดสินความสำเร็จของร้านค้าใหม่ในแบบที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยอดขาย แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่เดินเข้ามาใช้บริการ และเวลาที่พวกเขาใช้ไปกับสถานที่นี้

แอปเปิ้ลสโตร์ สาขา Union Square ในซานฟรานซิสโกที่เปิดเมื่อปี พ.ศ.2559 ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชื่อดัง Foster+Partners เป็นหนึ่งในตัวอย่างชั้นดี โดยเป็นสาขาแรกที่ออกแบบให้ตรงกับความเป็นทาวน์สแควร์ ตัวสถานที่ตั้งอยู่ตรงข้ามจัตุรัสสำคัญใจกลางเมือง ออกแบบให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยมีสนามสีเขียวด้านหลัง พร้อมฟรีไวไฟ ให้คนได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ยังมี Genius Grove พื้นที่รายล้อมด้วยต้นไม้ที่มีสินค้าของแอปเปิ้ลวางเรียงราย พร้อมผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือ ให้คนได้เข้ามาลองเล่นลองใช้อุปกรณ์ของแอปเปิ้ลเป็นแห่งแรก

ภาพ Apple Store สาขา Union Square ถ่ายโดยNigel Young / Foster + Partners
ที่มาภาพ https://archello.com/story/39311/attachments/photos-videos/3 

ข้ามไปยังแอปเปิ้ลสโตร์ สาขาห้องสมุด Carnegie ก็ตอบรับความเป็นทาวน์สแควร์ โดยใช้พื้นที่ห้องสมุดซึ่งเป็นอาคารสาธารณะแห่งแรกของ Washington, D.C มาเป็นที่ตั้ง มีการออกแบบที่พยายามรักษาสถาปัตยกรรม Beaux Arts แบบดั้งเดิมผสานกับการปรับภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น  นอกจากนี้ยังจัดเวิร์คช็อปหมุนเวียน เพื่อดึงดูดผู้คน “สถานที่ที่เข้ามาใช้บริการได้ฟรี พื้นที่จัดงานแสดงคอนเสิร์ตสาธารณะ การจัดนิทรรศการศิลปะ การฝึกอบรมสำหรับครู และคลาสเรียนเขียนโค้ดสำหรับเด็กๆ” ความสะดวกสบายทั้งหลายเหล่านี้จะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าชมที่อาจทำให้คุณยอมซื้อ iPhone X ได้ง่ายขึ้น

Apple Store สาขาห้องสมุด Carnegie กรุงวอชิงตัน ดีซี
ที่มาภาพ https://www.apple.com/th/newsroom/2019/05/apple-carnegie-library-opens-saturday-in-washington-dc/

 Greg O’Dell ประธานและซีอีโอของ Events D.C. ผู้มีอำนาจในการประชุมที่จัดการห้องสมุด Carnegie และเจ้าของที่ดิน กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องของการสร้างพื้นที่สำหรับประสบการณ์ เมื่อแอปเปิ้ลนำเสนอไอเดียเรื่องของการเป็น COMMUNITY SPACE, COMMUNITY FORUM และ EVENT SPACE ขึ้นมา นั่นเป็นเรื่องที่ทำให้เราสนใจ”

“ฉันคิดว่าเราจะรู้ว่าเราได้ทำผลงานยอดเยี่ยมจริงๆ ก็ต่อเมื่อคนรุ่นใหม่ หรือเด็ก Gen Z พูดว่าเจอกันที่แอปเปิ้ลนะ” Ahrendts

“ฉันคิดว่าเราจะรู้ว่าเราได้ทำผลงานยอดเยี่ยมจริงๆ ก็ต่อเมื่อคนรุ่นใหม่ หรือเด็ก Gen Z พูดว่าเจอกันที่แอปเปิ้ลนะ” Ahrendts กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงตัวชี้วัดความสำเร็จของทาวน์สแควร์ในรายการ CBS This Morning ซึ่งออกอากาศในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2560

แม้จะถูกตั้งคำถามว่าพื้นที่สาธารณะจะเป็นจริงได้แค่ไหน ในเมื่อพื้นที่ของเอกชนมีเป้าหมายในการขายสินค้า ทำให้อาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึง และการทำกิจกรรมของผู้คน แต่นี่ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่สาธารณะทางกายภาพในเมืองมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่สาธารณะที่ดีก็อาจช่วยเอื้อต่อพื้นที่พาณิชยกรรมให้ได้ประโยชน์จากผู้คนที่ออกมาใช้ชีวิต  

ที่มาข้อมูล:

DON’T CALL IT A TOWN SQUARE: APPLE AND PUBLIC SPACE

The Great Thing About Apple Christening Their Stores ‘Town Squares’

Can Apple stores be public spaces?

Apple Central World


Contributor