03/03/2022
Public Realm

มองผ่านวิสัยทัศน์การพัฒนา “กรุงเทพฯ มหานครแห่งเอเชีย”

ณัฐชนน ปราบพล
 


ศตวรรษที่ 21 คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองมากกว่าชนบท และยังมีแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่หรือเมืองมหานครที่เป็นศูนย์รวมกิจกรรมการบริการต่าง ๆ เต็มไปด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต กลายเป็นความท้าทายต่อเมืองทั่วโลก ว่าจะวางแผนเพื่อให้สามารถรองรับการอยู่อาศัยของคนจำนวนมาก พร้อมทั้งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีต่อคนเมืองได้ ศตวรรษที่ 21 นี้ จึงถือเป็นศตวรรษของเมือง

วันนี้ เราจึงชวนทุกท่านมาดูว่า เมืองกรุงเทพฯ ที่ว่าใหญ่นั้น ใหญ่แค่ไหน? และการเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในพ.ศ. 2575 ตามวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปีนั้น ต้องการอะไรมาเติมเต็มให้สามารถปลดล็อกการบริหารจัดการและพัฒนากรุงเทพฯ ให้ก้าวไปข้างหน้าได้

แค่ไหนเรียกมหานคร?

หากมองในบริบทเชิงพื้นที่แล้ว เมืองก็คือพื้นที่ที่มีคนมาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ผู้คนในชุมชนก็วิถีชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่ต่างไปจากสังคมเกษตรกรรมรูปแบบเดิม ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การจะบอกว่าเมืองนั้นเป็นเมืองขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จะพิจารณาจากจำนวนประชากรของเมืองนั้น ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเกณฑ์การจำแนกขนาดของเมืองไว้ 4 ขนาด ได้แก่

  • นคร (Large city) ประชากร 5 แสน – 1 ล้านคน
  • มหานคร (Metropolis) ประชากร 1 ล้าน – 5 ล้านคน
  • อภิมหานคร (Megalopolis) ประชากร 5 ล้าน – 10 ล้านคน
  • มหานครขนาดใหญ่ (Megacity) ประชากรมากกว่า 10 ล้านคน

ส่วนเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 5 แสนคนนั้น ถือเป็นเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีเณฑ์การจำแนกแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของบริบทในแต่ละประเทศ

ถ้าจำแนกขนาดเมืองตามจำนวนประชากรข้างต้น กรุงเทพฯ จะถือเป็นเมืองระดับอภิมหานครด้วยประชากรตามทะเบียน 5.5 ล้านคน และถ้ารวมประชากรในกลุ่มจังหวัดปริมณฑล ก็จะทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็น Megacity ไปโดยปริยาย ด้วยจำนวนประชากรรวม 11 ล้านคน และมากถึง 15 ล้านคน หากรวมประชากรแฝง (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2562)

กรุงเทพฯ ใหญ่เท่าใคร?

หากจะลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ว่ากรุงเทพฯ ใหญ่แค่ไหน ขนาดใกล้เคียงกับเมืองอะไรบ้างในละแวกนี้ จึงจะขอเปรียบเทียบขนาดของเมืองใน 2 มิติ นั่นคือ

  • มิติขนาดประชากร กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวนประชากรรวม 15 ล้านคน ใกล้เคียงกับเขตเคฮันชิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น คือ เขตนครโอซากะ (Osaka) – โคเบะ (Kobe) – เคียวโตะ (Kyoto) ซึ่งมีประชากรประมาณ 17 ล้านคน
  • มิติขนาดเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 8.2 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดเศรษฐกิจของกรุงมะนิลา (Manila) เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ เล็กกว่าเศรษฐกิจของเขตนครโอซากะ – โคเบะ – เคียวโตะ 3 เท่า

เมืองใหญ่อย่างเดียวคงไม่พอ เมืองต้องอยู่ดีด้วย

ดังที่เห็นในการเปรียบเทียบแล้วว่า กรุงเทพฯ เป็นมหานครขนาดใหญ่ที่เทียบเคียงกับมหานครใดของโลกได้บ้าง ทั้งด้านขนาดประชากร และขนาดเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญคือ เมืองจะใหญ่อย่างเดียวไม่พอ แต่เมืองต้องมีสภาพแวดล้อมที่พร้อมรองรับการอยู่อาศัยของผู้คนมหาศาล พร้อมทั้งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อาศัยได้ การบริหารจัดเมืองขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงจำเป็นต้องมีแผนการพัฒนาหรือแผนการปฏิบัติงานที่เหมาะสมและมีวิสัยทัศน์ กล่าวง่าย ๆ คือ “ต้องเป็นเมืองที่มองไปยังอนาคตแล้วเห็นอนาคต”

การพัฒนาของกรุงเทพฯ ปัจจุบัน มีแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556 – 2575) ที่เป็นเหมือนแผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการเมืองกรุงเทพฯ โดยมีวิสัยทัศน์สู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” คือ กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหลวงของเอเชีย เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมในภูมิภาคอาเซียนและในทวีปเอเชีย คนทั่วโลก เมื่อนึกถึงทวีปเอเชียจะนึกถึงเมืองกรุงเทพฯของเรา ในฐานะเป็นเมืองชั้นนำในด้านเศรษฐกิจ ภาคบริการ ความปลอดภัย ความสวยงาม สะดวกสบาย น่าอยู่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันเมืองกรุงเทพฯ ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะในด้านความเรียบง่าย มีเสน่ห์ และมีชีวิตชีวา” ประกอบด้วยการพัฒนาใน 7 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 

1. มหานครแห่งความปลอดภัย – เมืองปลอดมลพิษทั้งทางน้ำ อากาศ เสียง และขยะ ปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด ปลอดอุบัติเหตุ ปลอดภัยพิบัติสิ่งก่อสร้างปลอดภัย ปลอดโรคคนเมืองและอาหารปลอดภัย

2. มหานครสีเขียว สะดวกสบาย – มีพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวในสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่และจำนวนประชาชากร ชาวกรุงเทพฯ มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีระบบคมนาคมขนส่งที่หลากหลาย สะดวก คล่องตัว มีทัศนียภาพที่สวยงาม ปราศจากสิ่งกีดขวางเป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง

3. มหานครสำหรับทุกคน – ชาวกรุงเทพฯ อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและสมานฉันท์ เกื้อกูล เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง และเข้าถึงบริการสาธารณะ ดำรงไว้ซึ่งความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

4. มหานครกระชับ – เมืองมีการเติบโตแบบกระชับ โดยการพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพฯ ให้มีศูนย์กลางการให้บริการและพัฒนาเมืองในลักษณะเมืองเครือข่าย

5. มหานครประชาธิปไตย – เป็นเมืองประชาธิปไตย มีธรรมาภิบาล ที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย มีระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ การเมืองสะอาด ปลอดคอร์รัปชั่น อีกทั้ง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน มีบทบาทในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ อย่างเข้มแข็ง

6. มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ – เป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคและนานาชาติ กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของเอเชีย และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วิทยาการด้านต่าง ๆ ของภูมิภาค

7. การบริหารจัดการทั่วไป – กรุงเทพฯ มีกฏหมาย ที่รับรองความเป็นอิสระและให้อำนาจในการบริหารจัดการ ตลอดจนรวมถึงการบริการสาธารณะตามที่ประชาชนคาดหวัง

แนวคิดการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ 7 ด้านนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาเมืองอย่างกรุงเทพฯ เน้นการบริหารจัดการและแก้ปัญหาของเมืองในประเด็นที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ได้ แต่ในความเป็นจริง สังเกตได้เลยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ประเด็นการพัฒนาที่อาจจะพอเห็นความสำเร็จจากการดำเนินงานได้บ้าง ก็จะมีเพียง การเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยว พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นบ้าง (แต่ก็ยังต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น) และการดำรงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เท่านั้น

ปัญหาติดหล่มการพัฒนาของกรุงเทพฯ นี้ อาจมีจุดเริ่มต้นจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 

  • การขาดความต่อเนื่อง เพราะอีกด้านหนึ่งนั้น เมืองคือศูนย์รวมปัญหาและมีความซับซ้อน ความต่อเนื่องของยุทธศาสตร์และการดำเนินงานจึงจำเป็นต่อกระบวนการแก้ปัญหาจนถึงพัฒนาเมือง แต่การดำเนินงานตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้น กลับขาดสิ่งสำคัญตรงนี้ไป
  • โครงสร้างการบริหารงาน ที่แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่ได้รับสิทธิ์การกระจายอำนาจในระดับประเทศ ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้ว่าราชการได้เอง แต่ขณะเดียวกัน โครงสร้างองค์กรของการปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีสภาวะรวมศูนย์อยู่ที่ผู้ว่าฯ เพียงคนเดียว กลายเป็นต้นตอของการขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพฯ จากประชาชน ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจดูแลพื้นที่ในระดับเขตและแขวง

ถึงครึ่งทาง ท่ามกลางการแข่งขันของเมืองมหานคร

ณ ตอนนี้กรุงเทพฯ เดินทางมาถึงครึ่งทางตามระยะเวลาของแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปีแล้ว การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ จะสามารถทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งเอเชียได้หรือไม่ คงตอบได้ยาก แต่สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา คือต้องอย่าลืมว่า ยังมีมหานครโดยรอบกรุงเทพฯ ที่กำลังรอช่วงชิงโอกาสของกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา และการพัฒนาหรือแก้ปัญหาเมืองที่ไม่ตรงจุด นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้ว อาจทำให้เมืองย่ำอยู่กับที่ หรือก้าวถอยหลังไปโดยที่ไม่รู้ตัว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS


Contributor