01/09/2020
Public Realm
20 ปีของการพัฒนาเมือง : บทเรียนที่แสนเจ็บปวด La Confluence และ มักกะสัน
The Urbanis
หลายคนคงคุ้นเคยกับพื้นที่ขนาดใหญ่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ อย่างพื้นที่สวนลุมพินีซึ่งมีขนาด 360 ไร่ หรือพื้นที่สนามหลวงใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ เเต่อาจจะมีไม่กี่คนที่รู้จักพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างพื้นที่มักกะสันที่มีขนาดใหญ่กว่า 700 ไร่ โดยมีขนาดเป็น 1.3 เท่าของพื้นที่สวนลุมพินี หรือเปรียบได้กับสนามหลวง 9 เเห่งด้วยกัน
เเต่ปัจจุบันพื้นที่มักกะสันยังถูกปล่อยให้ร้างท่ามกลางการพัฒนาของพื้นที่อื่นๆ โดยรอบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพื้นที่ La Confluence ในประเทศที่พัฒนาเเล้วอย่างฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าเเก่ใจกลางเมืองที่เคยถูกปล่อยให้ร้างเเละส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเชื่อมต่อกับเนื้อเมืองโดยรอบ โดยในบทความนี้จะอธิบายถึงขั้นตอนเเละเเนวคิดในการเเก้ไขปัญหาพื้นที่ลักษณะนี้ ผ่านกระบวนการวางผังเเละออกเเบบเมืองจนเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาเพียงเเค่ 20 ปี
โครงการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่เมืองลียงหรือ “La Confluence” นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าเเก่ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1.5 ตร.กม. โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมที่เคยตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เริ่มมีการปิดกิจการเเละย้ายออกจากพื้นที่ จึงเป็นผลให้พื้นที่กลายเป็นพื้นที่รกร้าง เสื่อมโทรมเเละไม่น่าอยู่อาศัย ผู้คนต่างพยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังพื้นที่บริเวณนี้
เพราะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมเเล้ว ยังเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นเเรงงาน รวมถึงคุก St.Paul ทั้งๆ ที่บริเวณนี้นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟเก่าเเก่อย่างสถานี Perrache เเล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณเเหลมของเกาะใจกลางเมืองลียง ที่เป็นจุดตัดของเเม่น้ำสายสำคัญอย่างเเม่น้ำโซน (Saone) เเละแม่น้ำโรน (Rhone) ที่มีมุมมองของคุ้งน้ำที่สวยงามซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพมาก จากทำเลที่ตั้งที่เชื่อมต่อกับตัวเมืองทั้งฝั่งตะวันตกเเละฝั่งตะวันออกได้
จากการที่พื้นที่ที่มีศักยภาพระดับนี้ เเต่กลับถูกทิ้งร้างเเละเป็นที่หลีกเลี่ยงของผู้คนในเมือง ทางภาครัฐจึงได้มีการเสนอให้มีการบูรณะฟื้นฟูเมืองบริเวณนี้ โดยนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมกับศักยภาพที่มีอยู่เเล้ว ยังเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อพื้นที่บริเวณนี้กับพื้นที่ด้านข้าง รวมถึงเป็นการขยายศูนย์กลางเมือง ไปทางใต้ของเกาะมากขึ้น ซึ่งจากเดิมการพัฒนาของเมืองลียงจะหยุดอยู่เเค่ที่สถานี Perrache ที่เปรียบเสมือนกำเเพงที่เเบ่งเกาะออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือส่วนเหนือเเละส่วนใต้
ซึ่งผลจากการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่บริเวณนี้ จะเป็นการเชื่อมเเกนเหนือ-ใต้ของเมือง โดยจุดประสงค์หลักคือ การเพิ่มความหนาเเน่นพร้อมกับการสร้างพื้นที่สาธารณะเเละพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกเพศ ทุกวัยเเละทุกกลุ่มรายได้ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการสร้างความสมดุลระหว่างจำนวนของประชากรกับการใช้งานของพื้นที่โดยมีธีมหลักในการออกเเบบคือ เเม่น้ำสายสำคัญทั้ง 2 สายที่ขนาบข้างพื้นที่โครงการ
โดยโครงการเเบ่งออกเป็น 2 ระยะ เเละมีระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมด 20 ปี ซึ่งในระยะเเรก จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันตก หรือพื้นที่ที่อยู่ติดกับเเม่น้ำโซน (Saone) โดยมีเเนวคิดหลักคือ การพัฒนาให้กลายเป็นเมืองตัวอย่าง ผ่านการผสมผสานการใช้งานของพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่อยู่อาศัยเเละสำนักงาน รวมถึงพื้นที่สาธารณะ โดยลักษณะสัณฐานเดิมของพื้นที่บริเวณริมเเม่น้ำโซน (Saone) นั้น เคยเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมเก่าเเละท่าเรือโบราณอย่างท่าเรือ Rambaud ซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้างจึงกลายมาเป็นเเนวทางในการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำที่มีความยาวกว่า 1.5 กม. ให้เกิดความต่อเนื่องตั้งเเต่บริเวณตอนเหนือของเกาะยาวไปจนถึงตอนใต้
ซึ่งบริเวณท่าเรือเก่า Rambaud นั้นได้มีการรื้อถอนออกเเละเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการใช้งานที่หลากหลายที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนได้ทุกช่วงวัย เช่น สวนสาธารณะ พื้นที่สำหรับปลูกผัก สนามเด็กเล่น สนามเปตอง รวมถึงอาคารศูนย์รวมชุมชนเเห่งใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆ โดยจะประกอบไปด้วยกิจกรรม เช่น การสอนดนตรีและการสอนปั้นให้กับผู้คนในย่าน
ส่วนกลุ่มอาคารโกดังที่ตั้งอยู่ริมเเม่น้ำโซน (Saone) นั้น ได้มีการฟื้นฟูปรับปรุงตัวอาคารให้มีรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่เช่น หอศิลป์ (art galleries) โชว์รูมจัดเเสดงหุ่นยนต์รวมถึงศูนย์จัดเเสดงงานต่างๆ นอกจากการปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำเเล้ว ยังมีการสร้างศูนย์กลางพาณิชยกรรมระดับย่านขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ Pole de loisirs et de commerces ที่ประกอบไปด้วยร้านค้า ร้านอาหารมากมาย รวมถึงโรงเเรมที่สามารถมองออกไปสู่พื้นที่ริมน้ำ
พื้นที่อาคารที่เหลือโดยรอบยังถูกนำไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งในรูปเเบบที่อยู่อาศัยที่เปิดขายให้คนทั่วไป (open market housing) ที่อยู่อาศัยการเคหะ (affordable housing social housing) หอพักสำหรับนักศึกษาเเละที่อยู่อาศัยที่ออกเเบบสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ส่วนมากจะอยู่ภายใต้เเนวคิดของอาคารประหยัดพลังงาน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่ต้องการสร้างความสมดุลระหว่างการใช้เเละการผลิตพลังงาน
ในระยะที่ 2 ของโครงการนั้น คือการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่ติดกับเเม่น้ำโรน (Rhone) ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณนี้เคยเป็นตลาดขายส่ง (Wholesale market) มาก่อน โดยมีเเนวคิดหลักในการพัฒนาให้กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยผสมผสานกับสำนักงานทั้งขนาดเล็ก (SOHO) เเละขนาดใหญ่ โดยมีพื้นที่สีเขียวที่สอดเเทรกระหว่างกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยบริเวณย่าน The Champ (The Field) นอกจากนี้ยังเน้นการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเเม่น้ำกับพื้นที่โดยรอบผ่านการสร้างสะพาน 3 เเห่งที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าเเละการขี่จักรยาน
ทั้งนี้เนื่องจากเดิมบริเวณนี้เคยเป็นตลาดขายส่ง (Wholesale market) มาก่อน จึงได้มีการเก็บโครงสร้างบางส่วนของอาคารไว้เเละเปลี่ยนการใช้งานใหม่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงบริษัท startup ต่างๆ ที่ต้องการพื้นที่ที่กว้างเเละมีความยืดหยุ่นสูง เช่น บริษัทสื่อดิจิตัลสถาบันสถาปัตยกรรมการออกแบบ นอกจากนี้ยังมีเเนวคิดในการบิดเเกนเดิมของพื้นที่บริเวณตอนใต้ของเกาะ โดยมีการกำหนดขอบเขตการสร้างอาคารสูงให้สิ้นสุดเเค่ที่ปลายสวน The Champ (The Field) เท่านั้น เพื่อเปิดมุมมองไปสู่เเม่น้ำเเละเพื่อให้เกิดความเชื่อมต่อกับสภาพเเวดล้อมโดยรอบทั้งทางกายภาพเเละจินตภาพ โดยสามารถเดินจากสวนไปยังพิพิธภัณฑ์ Confluences (Musee des Confluences) ที่เป็นเสมือนจุดหมายตาของพื้นที่ La Confluence ได้
นอกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคารเก่าที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังมีการเก็บรักษาอาคารเดิม เช่นในพื้นที่ Sainte Blandine ซึ่งเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่อยู่ล้อมรอบสถานีรถไฟ Perrache โดยมีเเนวความคิดในการพัฒนาย่านนี้ให้กลายเป็นย่านที่เป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม เเละมุ่งเน้นการปรับปรุงอาคารเก่าที่สร้างก่อนปี ค.ศ. 1990 ให้กลายเป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน จากการที่สถานี Perrache ถูกมองว่าเป็นกำเเพงที่เเบ่งเมืองออกเป็น 2 ส่วน
จึงได้มีการเเก้ปัญหาผ่านเเนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงให้ย่านนี้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ฝั่งเหนือเเละฝั่งใต้ของเกาะผ่านการเพิ่มการใช้งานของสถานี Perrache เดิมให้กลายเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการสัญจรทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถราง รถใต้ดิน รถบัส เเละรถยนต์ซึ่งได้เเยกระบบทางเท้าเเละทางจักรยานให้เชื่อมต่อกับสถานีโดยตรงเพื่อความสะดวกสบายในการสัญจรของคน ทว่าคุก Saint Paul ได้มีการเปลี่ยนการใช้งานให้เป็น มหาวิทยาลัยคาทอลิก (Catholic University) โดยที่ด้านบนของอาคารได้มีการเปลี่ยนการใช้งานเป็นห้องเรียนเเละเปิดให้พื้นที่ด้านล่างให้เป็นพี้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดความเชื่อมต่อระหว่างอาคารเรียนเเละพื้นที่สาธารณะด้านนอก
เมื่อมองกลับมายังประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามักกะสันก็มีลักษณะเงื่อนไขเเละปัญหาของพื้นที่ที่คล้ายกับ La Confluence เช่น การที่มักกะสันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่มีพื้นที่กว่า 700 ไร่ ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพพร้อมรองรับการพัฒนา ท่ามกลางจุดตัดของแอร์พอร์ตลิงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเเละการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้จะส่งผลดีต่อพื้นที่เมืองโดยรวม เพราะเปรียบเสมือนจิ๊กซอร์ชิ้นสำคัญที่ขาดไปในภาพใหญ่ของเมือง เหมือนกับโครงการ La Confluence ที่กลายเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมเมืองทั้งหมดเข้าด้วยกันอีกครั้ง
ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่มักกะสันได้มีการวางแผนการพัฒนามาเเล้ว 3 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งเเรกเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2540 ซึ่งทางภาครัฐได้มีการวางแผนพัฒนาให้เป็นมักกะสันคอมเพล็กซ์เเละต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ที่มีการเสนอโดยกลุ่มประชาสังคมให้มักกะสันกลายเป็นสวนสร้างสรรค์ เเละในปีเดียวกันรัฐบาลก็ได้มีการเสนออีกแผนคือแผนที่เป็นส่วนผสมระหว่างแผนเเรกเเละแผนที่ 2
และล่าสุดคือแผนปีพ.ศ. 2560 ที่ต้องการให้กลับไปใช้แผนเเรก โดยเมื่อรวมระยะเวลาตั้งเเต่แผนเเรกจนถึงแผนปัจจุบัน คือประมาณ 20 ปีพื้นที่มักกะสันก็ยังคงเป็นพื้นที่ร้าง ที่ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของภาพอนาคตที่ไม่ชัดเจน ข้อกฎหมายหรือทิศทางนโยบายของผู้มีอำนาจ ซึ่งผลจากการที่พื้นที่มักกะสันไม่ได้รับการพัฒนา นอกจากจะส่งผลต่อภาพรวมของกรุงเทพฯ เเล้ว ยังส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสารและกิจกรรมในแอร์พอร์ตลิงค์ของสถานีมักกะสันเอง ที่ผู้คนโดยรอบไม่สามารถเดินทางเข้าถึงการใช้บริการแอร์พอร์ตลิงค์ได้สะดวกและปลอดภัย
จากการศึกษาโครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ La Confluence จะเห็นได้ว่าโครงการเลือกที่จะทำการฟื้นฟูในพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเเก้ปัญหาของเมืองได้ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านกายภาพ ที่โครงการ La Confluence เลือกใช้เครื่องมืออย่างการพัฒนาฟื้นฟูเมือง (Urban regeneration) ซึ่งก็คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเดิมของพื้นที่ให้มีการใช้งานใหม่ให้เหมาะสมเเละสอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิธีที่มีความยั่งยืนกว่าการรื้อร้างเเละสร้างอาคารใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทางเเล้ว (Urban sprawl) ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ผ่านเอกลักษณ์เรื่องราวเเละประวัติศาสตร์ของพื้นที่อีกด้วย
นอกจากนี้ยังสามารถเเก้ปัญหาในมิติเชิงเศรษฐกิจของเมือง ซึ่งผลจากการพัฒนาพื้นที่ส่งผลต่อโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองลียง รวมถึงการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ ประกอบกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่เเละคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ สุดท้ายนี้หากเรายังปล่อยให้พื้นที่มักกะสันทิ้งร้างเเละมีการใช้งานที่ไม่เข้มข้นเท่าที่ควร คงถือว่าเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การสร้างเเหล่งงาน สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน เหมือนกับกรณีตัวอย่าง อย่างย่าน La Confluence