26/06/2023
Mobility
5 จุดโปรดระวัง!!! ข้างหน้าเกิดอุบัติเหตุบ่อย
พรรณปพร บุญแปง พีระดา เต๋จ๊ะนัง
กรุงเทพฯ เมืองที่ครองแชมป์ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในไทย จากบทความกรุงเทพฯ เมือง(อุบัติเหตุ) 15 นาที มีการกล่าวถึงการเดินทางที่เพิ่มขึ้น 40 ล้านเที่ยวคนต่อวัน และมีการใช้ยานพาหนะที่สูงขึ้น เนื่องจากแหล่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่เฉพาะใจกลางเมือง ทำให้คนจำเป็นต้องเดินทางเข้า-ออกเมืองเป็นประจำทุกวัน ซึ่งหากเมืองไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อย่างจริงจัง แน่นอนว่าในอนาคตผู้คนต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความสูญเสียที่มากขึ้นและถี่ขึ้น
ที่มา https://share.traffy.in.th/teamchadchart
ยิ่งขับขี่เร็ว การมองเห็นแคบลง ความสูญเสียยิ่งเพิ่มขึ้น
นอกจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว อุบัติเหตุทางเท้าก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจไม่แพ้กัน ปัจจุบันจึงได้มีการคิดค้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนในเมืองมากขึ้น เช่น Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับแจ้งปัญหาของเมือง ที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นของเมือง ตลอดจนแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น
จากข้อมูลของ Traffy Fondue แสดงให้เห็นว่าประเด็นที่ได้รับแจ้งและได้รับความสนใจจากประชาชนมากเป็นอันดับต้น ๆ คือ “อุบัติเหตุบนทางเท้า” เนื่องจากทางเท้าชำรุด การมีสิ่งกีดขวางบนทางเท้าทำให้คนจำเป็นต้องเดินลงบนถนน การขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า และแสงสว่างไม่เพียงพอ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ 5 จุดเสี่ยงเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดจากในกรุงเทพฯ ปี 2563-2565 โดย Thai RSC
ที่มา https://mapdemo.longdo.com/bkk-accidents-clusters
5 จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในกรุงเทพฯ
1) ถนนเพชรเกษม บริเวณเพชรเกษม ซอย 68-เพชรเกษมซอย 74 เขตบางเขต เกิดอุบัติเหตุ 1,990 ครั้ง เฉลี่ย 1-2 ครั้ง/วัน โดยรถที่ออกจากซอยเพชรเกษม 70 พุ่งตรงไปจุดกลับรถเพื่อเลี้ยวขวา ทำให้เกิดการตัดกระแสรถทางตรงที่ขับมาด้วยความเร็วและการขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า แสงสว่างไม่เพียงพอ ทางเดินและถนนชำรุด
2) ถนนพระราม 4 แยกเกษมราษฎร์ (ถนนพระราม 4 ตัดถนนเกษมราษฎร์) ใกล้โลตัสพระราม 4 เขตคลองเตย เกิดอุบัติเหตุ 736 ครั้ง เฉลี่ย 0.7 ครั้ง/วัน เนื่องจากการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางและขอบทาง รถออกจากซอยด้วยความเร็วและทางข้ามม้าลายอยู่ในจุดที่อันตราย
3) ถนนพุทธบูชา ตัดถนนประชาอุทิศ (ใกล้ มจธ. เขตทุ่งครุ่) เกิดอุบัติเหตุ 512 ครั้งครั้ง เฉลี่ย 0.5 ครั้ง/วัน สาเหตุเกิดจากรถที่ออกจากซอยประชาอุทิศ 44 เลี้ยวออกตัดกระแสรถจากทางตรง และตู้ควบคุมการจราจรบดบังทัศนวิสัยและการมองเห็นของรถจากทางตรงบนถนนประชาอุทิศ อีกทั้งคาดว่าผู้ใช้ถนนประชาอุทิศมุ่งหน้าพุทธบูชา มักเข้าใจว่าบริเวณแยกนาหลวงเป็นสามแยก และสามารถชิดซ้ายเพื่อตรงผ่านไปได้
4) แยกพัฒนาการ (ถนนพัฒนาการ-ศรีนครินทร์) เขตสวนหลวง เกิดอุบัติเหตุ 480 ครั้ง เฉลี่ย 0.4ครั้ง/วัน สาเหตุเกิดจากการขับขี่มาด้วยความเร็วเกินมาตรฐาน แสงสว่างบริเวณใต้สะพาน เนื่องจากอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นจราจร/ป้าย อาจเกิดการชำรุดจากการก่อสร้าง เพราะฉะนั้นความสว่างในช่วงกลางคืนจึงจำเป็นต้องมีเพียงพอต่อการจราจร รวมไปถึงทางเดินเท้าชำรุดมีน้ำขัง รถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้าและมีป้ายโฆษณากีดขวางบนทางเท้าจึงจำเป็นต้องเดินบนถนนอาจส่งผลต่อการขับขี่ยานพหนะบนท้องถนนได้อีกด้วย
5) ถนนประชาธิปก (ใกล้วงเวียนใหญ่) เขตคลองสาน เกิดอุบัติเหตุ 464 ครั้ง เฉลี่ย 0.4 ครั้ง/วัน เนื่องจากแสงสว่างจากป้ายโฆษณามีการรบกวนทัศนวิสัยการขับขี่ของผู้ขับขี่ การฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางและขอบทาง เช่น การจอดในที่ห้ามจอด การใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับสภาพข้างทางในเขตเมืองและเขตชุมชน ระยะความกว้างของช่องจราจรจากวงเวียนเข้าสู่ถนนประชาธิปกแคบลง เสี่ยงให้เกิดการเฉี่ยวชน รวมไปถึงการปล่อยน้ำทิ้งลงถนนทำให้ผู้คนสัญจรลำบากและรถจักรยานยนต์ลื่นล้ม
เมื่อสาเหตุไม่เพียงแต่ความประมาทเท่านั้น
แน่นอนว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากความประมาทและฝ่าฝืนกฎจราจรสูงถึง 90% แต่จากข้อมูล 5 จุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ ที่เกิดอุบัติได้ทั้งบนท้องถนนและทางเท้า พบว่า สาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน สามารถเกิดได้จาก 4 องค์ประกอบหลัก (กองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง)ได้แก่
ด้านคน ผู้ขับขี่ มักเกี่ยวข้องกับความประมาท ไม่มีวินัยพอของผู้ขับขี่หรือจงใจที่จะมองข้ามกฎต่าง ๆ อาทิ ขับรถเร็วเกินกำหนด การฝ่าฝืนสัญญาฯไฟจราจร แซงรถในที่คับขัน รวมถึงโทรศัพท์ขณะขับขี่ สำหรับคนเดินถนนและข้ามถนน อาทิ ไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลาย สะพานลอย และการข้ามตัดหน้ารถระยะประชั้นชิด
ด้านยานพาหนะ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะยานพาหนะที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสภาพชำรุด ขาดการบำรุงรักษา หรือไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ดีเพียงพอ
ด้านถนน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ก่อให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง ซึ่งโดยปกติจะต้องมีการออกแบบแนวเส้นทางให้เป็นแนนวตรงมากที่สุด เพื่อความสะดวกและปลอดภัย แต่ในบางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินได้ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ จึงต้องอาศัยการออกแบบที่ดีตามหลักวิศวกรรมจราจร
ด้านสภาพแวดล้อมของถนน เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางถนน หรือมีส่วนทำให้อุบัติเหตุมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์เป็นผู้กระทำ เช่น การปลูกสร้างสิ่งบดบังสายตา การก่อสร้างริมถนนหรือการวางวัสดุอุปกรณ์ไว้บนถนนโดยไม่มีสัญญาณเตือน และการปลูกต้นไม้ข้างทาง
อย่างไรก็ตาม การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากข้อผิดพลาด หรือข้อบกพร่องขององค์ประกอบหนึ่งหรือหลายองค์ประกอบ พบว่ามีสัดส่วนความผิดพลาดของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นปัจจัยร่วมอยู่ใน สาเหตุของอุบัติเหตุถึงร้อยละ 95 (กองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง, 2561)
ดังนั้น เมื่อมีผู้คนเพิ่มมากขึ้นในเขตเมือง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ถนนและทางเท้าร่วมกันก็มีจำนวนมากขึ้น และความต้องการระบบขนส่งสาธารณะก็เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การมีความรู้และตระหนักในเรื่องความปลอดภัยยังไม่พอ แต่ต้องลงมือปฏิบัติตามกฏแห่งความปลอดภัยหรือกฏจราจร รวมไปถึงการ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาข้อมูล
กรุงเทพฯ เมือง(อุบัติเหตุ) 15 นาที
เปิดข้อมูล 20 จุดอันตรายในกทม. เกิดอุบัติเหตุมากสุด ตายมากสุด รัชดาแชมป์
100 จุดเสี่ยงอุบัติเหตุสูงสุด 3 ปีย้อนหลังจากข้อมูล Heat Map ของ ThaiRSC และ iTIC
เปิดกายภาพถนนต้องแก้ 100 จุดเสี่ยง กระจาย 35 เขตเมืองกรุง!
ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC