23/06/2020
Economy
BRIDGES THAT CONNECT OUR CITIES: สะพานที่เชื่อมเมืองของเราเข้าด้วยกัน
ปรีชญา นวราช
สะพานในสายธารประวัติศาสตร์
สะพานที่เราสัญจรข้ามแม่น้ำไปทำงานและข้ามกลับบ้านอยู่ทุกวัน สิ่งใดก็ตาม หากเราเห็นทุกวัน บางทีสิ่งนั้นอาจกลายเป็น “The Invisible” เป็นสิ่งที่เราอาจมองข้ามความสำคัญหรือความหมายเดิมของสิ่งนั้นไป
แท้จริงแล้ว ตลอดสายธารแห่งประวัติศาสตร์ สะพานเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเมือง เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเมือง รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ภาพจำของเมือง เป็นสถานที่ที่มีความหมายในเชิงสังคมและผู้คน
นิยามของสะพานในเชิงผังเมืองคือ “โครงสร้างที่ทอดยาวเพื่อเป็นทางสัญจรผ่านสิ่งกีดขวางเชิงภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำคลองหรือถนน”
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ตั้งแต่อดีตกาล หากเลือกได้ มนุษย์จะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ เพื่ออรรถประโยชน์ในเชิงการคมนาคมขนส่ง การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม และการอุตสาหกรรม ดังนั้น สิ่งที่มีคู่กับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ทั่วโลกคือสะพานนั่นเอง
สะพานจึงเป็นสาธารณูปโภคของเมืองที่ได้รับการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเมือง เกณฑ์ในการพิจารณาสร้างสะพาน คือ ความมั่นคงแข็งแรงและความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจในการรองรับการสัญจรผ่าน ในยุคแรกสะพานสร้างไว้เพื่อรองรับการเดินเท้าของคน และได้วิวัฒน์ไปตามการพัฒนาของการสัญจรในเมือง (urban mobility) สู่รถม้า รถยนต์ และรถราง
ในกาลต่อมา ความงามและความหมายเชิงสัญลักษณ์ได้กลายเป็นเกณฑ์ในการออกแบบสะพานในยุคหลังสงครามโลก อาทิ สะพานโกลเดนเกต (Golden Gate Bridge) ที่ได้รับการออกแบบด้วยวิสัยทัศน์ของตัวแทนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการก่อสร้าง หรือสะพานบรูคลิน (Brooklyn Bridge) ที่เชื่อมแมนฮัตตันกับบรูคลินซึ่งเป็นย่านการพัฒนาใหม่ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางวิศวกรรมแห่งศตวรรษที่ 19
นอกจากมิติในเชิงวิศวกรรมและการพัฒนาเมืองแล้ว สะพานยังมีความหมายในเชิงสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย นอกจากจะใช้เป็นจุดอ้างอิงเพื่อนัดพบแล้ว สะพานยังเป็นสถานที่ที่เราใช้ชมทัศนียภาพของเมือง มีผู้กล่าวว่าการเรียนรู้และบอกเล่าที่ทรงพลังที่สุดคือการกระทำผ่านมุมมองจากที่สูง ดังนั้น สะพานมักเป็นพื้นที่ทีคนเมืองจะสามารถเชื่อมโยงคนเองกับเรื่องราวของเมืองผ่านการยืนมอง
สะพานยังมักถูกใช้เป็นฉากหลังของภาพเขียน ภาพยนตร์ และวรรณกรรม เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความผูกพันของคน เมือง และสะพาน
การกลับมาของสะพาน ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของเมือง
ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สะพานเป็นหนึ่งในธงนำของโครงการฟื้นฟูเมืองทั่วโลก ที่เกิดการปฏิวัติการสัญจรเมืองจากรถยนต์ย้อนกลับสู่การเดินเท้าและจักรยาน สะพานในฐานะสาธารณูปโภคของเมืองต้องปรับเปลี่ยนบทบาทอีกครั้ง ไม่ได้เป็นแค่ “โครงสร้างที่ทอดยาวเพื่อเป็นทางสัญจรผ่านของรถยนต์ข้ามสิ่งกีดขวางเชิงภูมิศาสตร์” อีกต่อไป แต่ได้ Re-program หรือปรับเปลี่ยน+เพิ่มเติมประโยชน์ใช้สอยร่วมสมัยเข้าไป อาทิ ทางเท้า ทางจักรยาน จุดหยุดพัก จุดชมวิว หรือแม้กระทั่งสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว
ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาฟื้นฟูสะพานข้ามแม่น้ำ ที่จัดได้ว่าเป็นธงนำการฟื้นฟูเมืองที่ได้รับการกล่าวถึงได้ระดับโลก บ้างก็สำเร็จ บ้างก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง ดังนี้
Garden Bridge, London
โครงการ Garden Bridge เป็นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่คนทั่วโลกจับตา สร้างขึ้นเพื่อใช้ข้ามแม่น้ำเธมส์ที่ไหลผ่านใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีขนาดความยาว 367 เมตร กว้าง 30 เมตร ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชื่อดังอย่าง Heatherwick Studio
โครงการตั้งอยู่บริเวณ Southbank เพื่อเชื่อมต่อการสัญจรระหว่างฝั่งสถานีรถไฟใต้ดิน Temple กับ Southark และ Waterloo โดยแนวคิดหลักของการออกแบบ Garden Bridge นอกจากเพื่อการเชื่อมต่อการสัญจรด้วยเท้า คือการสร้างสวนสาธารณะและปลูกพืชพรรณบนสะพาน เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และจุดชมวิวแห่งใหม่ให้กับเมือง
อย่างไรก็ตาม หลังเปิดตัวโครงการในปี 2017 ได้เกิดประเด็นร้อนและการประท้วงต่อต้าน เพราะการก่อสร้างจำเป็นต้องตัดต้นไม้เก่าบริเวณเชิงสะพานกว่า 20-30 ต้น และเกิดข้อสงสัยถึงความจำเป็นในการสร้างสะพานคนเดินแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสะพานคนเดินถึง 2 แห่ง ได้แก่ สะพานโกลเดนจูบิลี (Golden Jubilee Bridge) กับสะพานแบล็กไฟร์เออร์ส (Blackfrairs Bridge )ประกอบกับงบประมาณการลงทุนมหาศาลกว่า 254 ล้านเหรียญหรือ 7,900 ล้านบาท ซึ่งได้มาจากงบของเมือง TFL (Transportation of London) และเงินบริจาคประชาชน เป็นเหตุให้โครงการถูกระงับไปอย่างไม่มีกำหนด
Pier 55, New York
A New Floating Island Park ของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชื่อดังอย่าง Heatherwick Studio ร่วมกับ Mathews Nielsen นักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม แม้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสะพาน ที่เชื่อมต่อการสัญจรทางเท้าข้ามแม่น้ำ แต่อยู่ในรูปแบบของสวนสาธารณะที่ชะโงกลงไปในแม่น้ำฮัตสัน (offshore park) บริเวณย่านแมนฮัตตันฝั่งตะวันตก ซึ่งมีขนาด 9,712.46 ตารางเมตร และมีความสูงที่แตกต่าง ตั้งแต่ 4.5 เมตร ถึง 19 เมตร
โครงการนี้มีแนวคิดหลักในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ท่าเรือเก่า (Pier 54) ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของมหานครนิวยอร์ก พื้นที่ใช้สอยประกอบด้วยลานกิจกรรม แหล่งเรียนรู้ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ ออกแบบเส้นทางเดินภายใต้นิเวศที่ร่มรื่นและสมบูรณ์ มีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวและพลิกฟื้นย่านโดยรอบ ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2021 ด้วยงบก่อสร้าง 250 ล้านเหรียญหรือประมาณ 7,800 ล้านบาท
The 11th Street, Washington, D.C.
โครงการ The 11th Street เป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กของกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา สร้างข้ามแม่น้ำ Anacostia สะพานแห่งนี้ไม่ได้สร้างเพียงเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการสัญจรของเมือง แต่ยังโดดเด่นด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรม (Iconic) เพื่อเป็นต้นแบบของเมืองสุขภาวะในระดับโลก โดย OMA บริษัทสถาปนิกชื่อดังเป็นชนะการประกวดแบบจากคะแนนโหวตของสาธารณะ สะพานมีพื้นที่รวมกว่า 4,000 ตร.ม. แบ่งพื้นที่ใช้สอยหลากหลาย อาทิ พื้นที่จัดแสดง คาเฟ่ ลานกิจกรรม และแปลงเกษตร (Urban Agriculture) ที่จะสร้างพื้นที่กิจกรรมแห่งใหม่ให้กับเมือง
ขณะนี้ โครงการยังคงอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบ โดยการรับผิดชอบโครงการจากรัฐบาลกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรในท้องถิ่น มีงบประมาณก่อสร้าง 45 ล้านเหรียญหรือ 1,395 ล้านบาท ปัจจุบันมีแนวคิดจะระดมทุนมูลค่า 1 ล้านเหรียญจากผู้บริจาคทั้งภาครัฐและเอกชน และได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 14.5 ล้านเหรียญจากรัฐบาลดีซี และประเด็นด้านงบประมาณ และเสียงวิพากษ์จากชุมชน เรื่องของการสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ Gentrification ทำให้ปัจจุบันโครงการได้ถูกเลื่อนเรื่อยมา
Providence River Pedestrian Bridge, Rhode Island
โครงการสะพานคนเดินแห่งนี้เป็นการใช้โครงสร้างเก่าของสะพานรถยนต์เดิม เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว (I-195 highway) ของเมือง โรดไอส์แลนด์ สหรัฐอเมริกา โดยการออกแบบของบริษัทสถาปนิก Inform Studio แนวคิดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2008 โดยรัฐสภา Rhode Island’s Congressional Delegation ร่วมด้วยการผลักดันของ Jewelry District Association และ The Providence Foundation ให้มีการจัดการประกวดแบบสะพานคนเดินแห่งนี้มีความยาว 140 เมตร เชื่อมต่อการสัญจรสองฝั่งของเมือง (East-West Side) เชื่อมสวนสาธารณะของสองฝั่งแม่น้ำ Providence และเชื่อมต่อท่าเรือสำคัญ 5 จุด
ภายใต้แนวคิดหลักของการสร้างความทรงจำของสะพานเดิมที่อยู่คู่กับเมืองมายาวนาน และการเลือกใช้วัสดุหลักเป็นไม้เนื้อแข็งจากอเมริกาใต้ ที่เคยสำหรับการสร้างเรือเพื่อสร้างการระลึกถึงการเดินเรือในอดีตของเมืองพรอวิเดนซ์ โครงการนี้ได้เริ่มก่อสร้าง 2016 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2019 ด้วยงบประมาณ 22 ล้านเหรียญหรือ 660 ล้านบาท ซึ่งได้รับการวิพากษ์ว่าสูงกว่างบประมาณตั้งต้นไปอย่างมาก
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (Chao Phraya Sky Park)
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา หรือที่เราเคยรู้จักกันอย่างดีในนาม สะพานด้วน โครงสร้างที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 30 ปีของโครงการรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยในชื่อ ‘รถไฟฟ้าลาวาลิน’ โครงการสวนลอยฟ้านับเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จของ กรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่น หัวเรี่ยวหัวแรงประสานความร่วมมือ สนับสนุนงบประมาณในการศึกษาออกแบบวางผัง และดำเนินการก่อสร้าง ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงสร้างสะพานและผู้ดูแลพื้นที่ ที่เปิดไฟเขียวสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะส่งเสริมการสัญจรของเมือง ที่ประสานความร่วมมือผ่านลมฝนมากว่า 5 ปีจนถึงฝั่งในวันนี้
สวนลอยฟ้าแห่งนี้ศึกษาและออกแบบโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ร่วมกับบริษัท ภูมิสถาปนิก LANDPROCESS และบริษัทสถาปนิก N7A โดยเป็นโครงการยุทธศาสตร์ของโครงการกรุงเทพฯ250* ที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครเลือกมาดำเนินการเป็นอันดับแรก ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองเห็นศักยภาพของโครงการสวนลอยฟ้านี้ สะพานความยาวเพียง 280 เมตร จะสร้างให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อเมือง ทั้งด้านการประสานโครงข่ายการสัญจรด้วยเท้าของพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน กว่า 200 แห่ง เชื่อมต่อสถานศึกษา กว่า 20 แห่งโดยรอบ สร้างทางเลือกให้กับคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำได้สัญจรถึงกันได้ด้วยการเดินหรือขี่จักรยาน
นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักของการเชื่อมต่อการสัญจรแล้ว ผู้ออกแบบยังใช้ประโยชน์จากความสามารถในการรับน้ำหนักของโครงสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินที่สร้างขึ้นเพื่อรับน้ำหนักการสัญจรของรถไฟ ดังนั้น สะพานที่มีความกว้างกว่า 8 เมตร เมื่อปรับเป็นทางเท้าและจักรยานแล้ว ยังมีพื้นที่และความสามารถในการรับน้ำหนักเหลือพอที่จะใช้ปลูกต้นไม้และสร้างพื้นที่เอนกประสงค์เพิ่มความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียวทางตั้งบนสะพาน
ดังนั้นพื้นที่กว่า 22,400 ตารางเมตร เหนือแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ จึงได้ทำหน้าที่เป็นสวนสาธารณะย่อมๆ ที่คนเมืองและนักท่องเที่ยว สามารถขึ้นไปใช้งานเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการออกแบบที่สร้างให้เกิดทางเดินต่างระดับ และ ลานอัฒจันทร์ (Amphitheatre) สามารถชมวิวทิวทัศน์ของคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่าง 360 องศา และการออกแบบโครงสร้างหลังคาคลุมในการจุด เพื่อใช้ในการรองรับกิจกรรมที่หลากหลายในช่วงเวลาที่แตกต่างกันของวัน แนวคิดเหล่านี้ได้ผสานสวนลอยฟ้าแห่งนี้ เข้ากับการเชื่อมต่อสวนเชิงสะพานเดิมทั้งสองฝั่งแม่น้ำได้อย่างไร้รอยต่อ โดยไม่มีการทำลายต้นไม้ แต่ปลูกต้นไม้ใหญ่เพิ่มถึง 172 ต้น
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแห่งนี้ ใช้เวลา 5 ปี ในการแปลงร่างเป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาในปี 2020 ได้สร้างให้เกิดการจุดประกายให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ในการฟื้นฟูเมือง ได้แสดงให้เห็นวิธีการเปลี่ยนวิธีมองพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งวิธีการลงทุนที่ชาญฉลาดของภาครัฐ ที่สุดท้ายแล้ว ใช้งบประมาณเพียง 3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่า London
Garden Bridge 85 เท่า เนื่องจากการลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างของโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว นำมาทำให้เกิดประโยชน์
สะพาน เมือง อนาคต?
จากกรณีศึกษาทั้ง 5 แห่งที่ได้หยิบยกขึ้นมา แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ อุปสรรค และความซับซ้อนที่แตกต่างกันของการพัฒนาโครงการ แม้จะไม่ใช่ทุกแห่งที่จะได้รับการก่อสร้าง และสำเร็จลุล่วง แต่อย่างน้อยน่าจะสร้างให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีของการประสานความร่วมมือของหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมถึงความตระหนักรู้ของสาธารณะ ในการขับเคลื่อนโครงการ ที่ล้วนมีเจตนารมณ์เดียวกันในการสร้างให้เกิดคุณภาพชีวิตของคนและเมืองที่ดีขึ้น
วันนี้สะพาน ที่เราข้ามแม่น้ำไปทำงานและข้ามกลับบ้านอยู่ทุกวัน จึงไม่ได้ถูกให้ค่าแค่เพียงโครงสร้างที่ใช้ในการเชื่อมต่อการสัญจรอีกต่อไป แต่ได้ถูกสรรค์สร้างให้กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการเชื่อมต่อทั้งมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สร้างให้เกิดคุณประโยชน์ต่อคนและเมืองอย่างแท้จริง
หมายเหตุ:
โครงการ “กรุงเทพ 250” เป็นโครงการฟื้นฟูเมืองของกรุงเทพฯ ในวาระครบ 250 ปี กรุงเทพมหานคร ในปี 2575 มีเป้าหมายเพื่อพลิกฟื้นย่านเมืองเก่า 17 เขตให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพและเป็นมหานครที่น่าอยู่ น่าทำงาน น่าใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม มีโครงการสวนลอยฟ้าแห่งนี้ เป็นโครงการยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่นำร่องของโครงการย่านกะดีจีน-คลองสาน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkok250.org หรือ facebook : bangkok250
ที่มาข้อมูล
The Urbanis: ‘สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา’ : ความหวังและความเป็นไปได้ใหม่ ในการเติมสีเขียวให้เมือง เชื่อมเมือง เชื่อมชุมชน ให้ผู้คนเดินได้
Dezeen: “Waterloo Garden Bridge is better than the Garden Bridge”
The Guardian: By the busload: £940m bill for Boris Johnson’s mayoral ‘vanity projects’
The Guardian: Garden Bridge v Pier 55: why do New York and London think so differently?
ArchDaily: Heatherwick’s Little Island is Taking Shape off New York’s Shoreline
ArchDaily: OMA + OLIN Selected to Design D.C.’s 11th Street Bridge Park
Aasarchitecture: Pier 55 a new floating island park by Thomas Heatherwick
https://oma.eu/
Providence River Pedestrian Bridge
WPRI12: Providence River Pedestrian bridge set to open
Go Providence: PUBLIC PARK AND PEDESTRIAN BRIDGE