21/05/2020
Mobility

ขนส่งสาธารณะขั้วตรงข้ามกับเว้นระยะห่าง : When Mass (Transit) Cannot Mass

นาริฐา โภไคยอนันต์
 


จะขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ก็กลัวการเว้นระยะห่าง จะขับรถไปทำงานก็ต้องเจอกับปัญหารถติด ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ช่างขัดแย้งกับมาตรการรักษาระยะห่างเหลือเกิน แล้วคนเมืองที่ต้องกลับไปทำงานจะทำอย่างไร 

ระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่มีปัญหาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ทั้งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ ความแน่นเบียดเสียดและไม่มีการระบุเวลาที่ชัดเจน การวางแผนการเดินทางเป็นไปได้ยากมากสำหรับคนเมือง

วันนี้มาชวนคุยกับ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสถานการณ์การเดินทางที่จะเปลี่ยนไปรวมถึงข้อเสนอแนะถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐและประชาชนที่ต้องร่วมมือกันแก้โจทย์ทางสังคมอีกข้อที่กำลังจะตามมา

นั่นคือ “การเดินทาง”

มาตรการที่ต้องใช้อย่างเคร่งครัดหลังเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์เมือง 

ทุกคนที่ใช้ขนส่งมวลชนต้องใส่หน้ากากอนามัย ในกรณีสถานีรถไฟฟ้าควรมีการตั้งกล้องเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในการเข้าแถวตรวจวัดทีละคน การกำหนดระดับความแออัดที่ระบบขนส่งและพาหนะแต่ละประเภทจะรองรับได้ มีการจัดทำระบบข้อมูลให้แก่คนที่จะเดินทางสามารถเช็คสถานการณ์ในแต่ละสถานี เช่น ความหนาแน่นของผู้ใช้งานในสถานีที่ตนจะขึ้นนั้นมากน้อยขนาดไหน มีตัวช่วยในการวางแผนการเดินทาง คำนวณเวลาหากมีการเลื่อนเวลาการเดินทาง ผู้ใช้สามารถตรวจสอบและวางแผนได้ด้วยตนเอง 

เรื่องความแออัดควรมีมาตรการบางอย่างเพื่อดึงดูดให้คนเดินทางนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ส่วนลดค่าโดยสารที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล ในเรื่องมาตรการเว้นที่นั่ง หรือ สลับที่นั่งเพื่อรักษาระยะห่างค่อนข้างเป็นไปได้ยาก และยังไม่มีหลักฐานมารองรับว่าสามารถป้องกันโรคได้ มาตรการเว้นที่นั่งยังไม่เหมาะสมกับการเดินทางในเมืองเพราะเมืองมีคนจำนวนมากที่ต้องเดินทางพร้อมกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน 

รถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์

เช่นเดียวกันกับรถไฟฟ้า แต่เพิ่มเติมเรื่องระบบการเก็บเงินค่าโดยสารที่ยังคงมีการใช้เงินสดอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งไม่ปลอดภัย ถ้าหากเป็นไปได้ต้องเปลี่ยนไปใช้ E-payment ในการชำระค่าโดยสาร หรือลดการใช้เงินสดให้มากที่สุด โดยในช่วงแรกอาจจะมีมาตรการดึงดูดให้คนเปลี่ยนมาใช้โดยการให้ส่วนลดค่าโดยสาร  

มาตรการจากกระทรวงคมนาคมตอนนี้เป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังขาดฐานองค์ความรู้ที่ใช้ในการวางแผนหรือดำเนินงาน ในต่างประเทศหลายที่ก็ยังเป็นการลองผิดลองถูกเช่นเดียวกัน กระทรวงคมนาคมน่าจะรอการทำงานร่วมกับหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข สามารถมองเป็นโอกาสที่ภาครัฐ หน่วยงานฝ่ายต่างๆ จะสามารถมาทำงานร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม 

จีนมีระบบการจองขึ้นรถไฟฟ้าแล้ว

ระบบการจองก่อนใช้ขนส่งมวลชนก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ประเทศไทยสามารถลองนำมาใช้ได้ แต่การนำมาใช้ต้องมีการประกาศให้ชัดเจนว่าอยู่ในช่วงทดลอง มีระบบการติดตามและประเมินผลอย่างเข้มงวด คอยทบทวนผลลัพธ์ว่าเป็นอย่างไร ต้องนำผลการทดลองมาใช้ศึกษาและคอยทบทวนเพื่อนำมาปรับใช้ในอนาคตต่อไป 

ที่มาภาพจากข่าว Beijing Subway begins reservation service, CGTN

การเดินทางไปสู่ความเหลื่อมล้ำ

แน่นอนเรื่องความเหลื่อมล้ำที่จะเพิ่มมากขึ้นในสถานการณ์นี้ ในมุมของการเดินทาง ผู้ที่มีรายได้น้อยยังคงต้องไปทำงานตามสถานที่ต่างๆ  ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ และยังคงต้องพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนโดยไม่มีตัวเลือกอื่น ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่า 

ตอนนี้มีแนวโน้มว่าคนชนชั้นกลางจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น เมื่อมีการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น จะนำไปสู่ปัญหาการจราจรอย่างรถติดตามมาและส่งผลไปยังรถโดยสารประจำทางอีกต่อหนึ่งทำให้วิ่งรับส่งได้ช้าลง คนรายได้น้อยก็จะยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นอีก

ปฏิรูปรถเมล์

การปฏิรูปรถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์นั้นเป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากระบบบริหารรถเมล์ หรือรถร่วมโดยสารที่ต้องดำเนินงานและหารายได้เลี้ยงตัวเองจากการเก็บค่าโดยสาร เมื่อไม่มีผู้โดยสาร ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ก็จะต้องออกไปจากระบบ อย่างที่เป็นข่าวในช่วงนี้ ซึ่งเป็นนโยบายขนส่งสาธารณะที่ล้าสมัยและควรได้รับการปรับปรุง 

ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี

ในปัจจุบันประเทศที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี หรือระบบสวัสดิการที่ทั่วถึงจะใช้วิธีการจ้างเดินรถ โดยภาครัฐนำเงินไปว่าจ้างผู้ประกอบการระดับการให้บริการ ผู้ประกอบการจะดำเนินงานเก็บค่าโดยสารส่งคืนรัฐทั้งหมด ผู้ประกอบการก็จะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงทางด้านต้นทุน ในขณะเดียวกันรัฐก็จะสามารถกำหนดประสิทธิภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายได้อย่างรอบด้านตามที่ต้องการ ทั้งในด้านคุณภาพรถโดยสาร ความถี่ และรอบในการวิ่ง สามารถจัดการกับระบบข้อมูล การจัดเก็บค่าโดยสาร การดำเนินนโยบายมอบส่วนลดให้กับคนแต่ละกลุ่ม รัฐจะกำหนดได้ทุกอย่าง ซึ่งในปัจจุบันรัฐแทบจะไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลยเพราะ รัฐให้ผู้ประกอบการเดินรถเอง ซึ่งนี่อาจเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนนโยบาย 

การนำข้อมูล Big Data มาใช้ในการแก้ปัญหาการเดินทาง

การนำเทคโนโลยี หรือการจัดการข้อมูลอย่าง บิ๊กเดต้า (Big Data) มีศักยภาพสูงในการนำข้อมูลมาใช้ ทั้งจากโทรศัพท์มือถือที่สามารถนำมาใช้ในการติดตาม (Tracing) การแพร่ระบาดต่างๆ ได้ แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ รวมถึงยังมีความอ่อนไหวเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy) ต้องมีการพูดคุย ปรึกษาและทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องการแชร์ข้อมูล นอกจากนั้นยังมีเรื่องความรู้ในการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ที่ยังไม่มีความรู้ที่เพียงพอ รัฐต้องดำเนินการหาบุคคลากรที่มีความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) มาช่วยในการทำงาน ไม่เพียงแค่ความรู้ด้านวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น  แต่ยังต้องมีความรู้ด้านระบาดวิทยา ดังนั้นหลายฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อที่จะเอาข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ตอนนี้ที่สถาบันการขนส่งกำลังดำเนินการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางทั้งก่อนและหลังโควิด-19 ถึงพฤติกรรมของมนุษย์ว่าจะมีพฤติกรรมอย่างไร การท่องเที่ยว รูปแบบในการสั่งอาหาร มีการศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ในประเทศอังกฤษมีการสนับสนุนการขี่จักรยาน โดยทำการปิดถนน 1 เลนให้เป็นทางจักรยานโดยเฉพาะ แต่หากนำมาใช้ในเมืองไทยอาจต้องยอมรับปัญหาและการวิจารณ์จากสาธารณะ ต้องทดลองทำอย่างจริงจัง สนับสนุนให้คนร่วมทำ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยที่ยังไม่ปลอดภัยมากนักสำหรับคนขี่จักรยานในเมืองไทย 

คำตอบของการขนส่งคือ work from home 

การทำงานที่บ้าน หรือ work from home จะยังคงอยู่ต่อไปเพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ออกแบบและสร้างขึ้นนั้นไม่สามารถรองรับกับมาตรการการเว้นระยะห่างระหว่างสังคมได้เนื่องจากไม่ได้ถูกออกแบบมาในการรองรับความหนาแน่นที่รับมือกับโรคระบาด ดังนั้นอย่างน้อยในระยะสั้นนี้ มนุษย์ยังคงต้องทำงานจากที่บ้านเพื่อลดการใช้โครงสร้างพื้นฐานเท่าที่จะทำได้ 

หากจะแก้ปัญหาขนส่งมวลชนในตอนนี้ควรเริ่มที่ตรงไหน 

เริ่มต้นที่การวางแผน ใช้อำนาจในการบริหารจัดการในส่วนที่สำคัญคือต้องมีความรู้ในเรื่องการแพร่ระบาดในระบบขนส่งมวลชน เราไม่สามารถกำหนดนโยบายได้หากไม่มีความรู้ เพราะต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งการกลับมาระบาดรอบ 2 หรือการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น หากเรามีความรู้ที่ถูกต้องแล้ว จะสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างชาญฉลาด มีความสมดุล และปลอดภัย ตอนนี้ยังขาดในส่วนนี้อยู่ 

การเดินทางที่ปลอดภัยจะเป็นอย่างไร เริ่มต้นได้ที่ความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน


Contributor