06/03/2020
Mobility

ทางด่วนจักรยาน (Bangkok Low Line) โอกาสสร้างพื้นที่สีเขียวจาก สินทรัพย์ ใต้ทางด่วน

ชยากรณ์ กำโชค
 


กรุงเทพฯ ไม่สามารถมีพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองได้อีกแล้ว…จริงหรือ? 

หากจินตนาการถึงพื้นที่ขนาดไม่ถึง 1 ตารางเมตร ภาพที่ปรากฎในความคิดอย่างหยาบๆ คือ พื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสความยาวไม่เกินด้านละ 1 เมตร ถ้าลองให้คนไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าคงยืนกันไม่เกิน 2-3 คนอย่างเบียดเสียด หรือถ้าให้ยืนคนเดียวก็คงอึดอัดไม่แพ้กัน 

แทบไม่ต้องคิดให้ซับซ้อนก็รู้ว่าพื้นที่ “1 ตารางเมตร” มันช่างเล็กจ้อย โดยเฉพาะเมื่อใช้ “คน” ไปเปรียบเทียบ

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า  “ไม่ถึง 1 ตารางเมตร” คือ ขนาดพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 1 คน ที่คนกรุงเทพฯ เข้าไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่นับรวมสนามกอล์ฟ สวนในพื้นที่ส่วนบุคคล สวนข้างทาง สวนเกาะกลางถนน ฯลฯ  

ข้อมูลดังกล่าว เปิดเผยโดย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ผ่านเพจ echo เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบขนาดพื้นที่สีเขียวกรุงเทพฯ กับพื้นที่สีเขียวของเมืองสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 56 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน เหนือสัดส่วนมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่อยู่ระหว่าง 7-9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน )สัดส่วนมาตรฐานไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศของแต่ละเมือง)

ขณะที่ กรุงเทพฯ พบตัวเลขที่ชวนให้วิตกกังวลที่ 0.88 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน 

ถ้าพูดถึงพื้นที่สาธารณะ หลายคนคงคิดถึงต้นไม้ใหญ่สร้างร่มเงา แซมกับไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้ประดับ มีเส้นทางวิ่งรอบหนองน้ำขนาดใหญ่ มีเครื่องออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น นกและกระรอกวิ่งเล่นสนุกสนาน และมีผู้คนเข้ามาใช้งานพื้นที่อย่างคึกคัก บ้างวิ่งจ๊อกกิ้ง บริหารร่างกาย นั่งปิกนิก เป็นพื้นที่ของคนทุกเพศ-วัย ได้ผ่อนคลาย เสริมสร้างสุขภาวะ เกิดกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือกระจายทั่วกรุงเทพฯ 

แต่ความคิดข้างต้นคงเป็นได้เพียงความฝันในความคิดของใครหลายคนเช่นเดียวกัน เมื่อมองมาที่เนื้อเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งยากจะหาที่ดินว่างเปล่าสำหรับพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะเป็นเจ้าของ กว้านซื้อที่ดินราคาสูงดั่งทองคำกลางเมืองแล้วพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพียงลำพัง คล้ายกับว่ากรุงเทพฯ หมดโอกาสพัฒนาพื้นที่สีเขียว และคนกรุงเทพฯ คงต้องอยู่กับพื้นที่สีเขียวสัดส่วน 0.88 ตารางเมตรต่อไป

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นนั้น คุณ..คิด…ผิด ! 

“หลายคนบอกว่า กรุงเทพฯ ดูจะแออัด หนาแน่น นึกไม่ออกว่าจะสร้างสวนสาธารณะได้อย่างไรในเมือง แต่จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ มี Hidden Asset หรือสินทรัพย์ที่ซ่อนอยู่เยอะ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐและระบบโครงสร้างพื้นฐานเก่า” ผู้อำนวยการ UddC ได้กล่าวไว้บนเวที TDRI Forum 2019 ที่ผ่านมา

ผู้อำนวยการ UddC เน้นย้ำในหลายวาระถึงโอกาสการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ โดยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่ปัจจุบันถูกใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ (under-utilized infrastruture)  ยกตัวอย่างโครงการ “พระปกเกล้าสปายปาร์ค” (สะพานด้วน) เป็นโครงการฟื้นฟูโครงสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินซึ่งไม่ถูกใช้งานแล้วให้กลายเป็นโครงสร้างเส้นทางสีเขียวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะคล้ายกับ New York High Line ที่ฟื้นฟูทางรถไฟยกระดับบนเกาะแมตฮัตตันเป็นพื้นที่สีเขียวในแนวยาว นอกจากนี้ พื้นที่ทิ้งร้างที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของรัฐ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน ก็มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะได้เช่นกัน แถมยังสามารถให้ประโยชน์มากกว่าให้ความเขียวอีกด้วย 

ดังเช่น โครงการ Bangkok Low Line ที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ 

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ค้นพบว่า กรุงเทพฯมีพื้นที่ใต้ทางด่วนในเมือง 1,577 ไร่ มีการใช้ประโยชน์ 60% และเป็นพื้นที่ว่างไม่มีการพัฒนา 40% หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 600 กว่าไร่ เท่ากับสวนลุมพินีประมาณ 2 สวน ทั้งนี้ ด้วยการขาดแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนในภาพรวม ลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่จึงถูกแบ่งเป็นส่วนๆ บางพื้นที่ตัดขาดจากพื้นที่โดยรอบ ทำให้เกิดผลกระทบหลายๆ ด้าน อาทิ เนื้อเมืองแยกขาดออกจากกัน (urban rapture) การสูญเสียโอกาสพัฒนา ปัญหาบุกรุกพื้นที่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง เช่น กลิ่นจากขยะ น้ำเสีย แหล่งเพาะพันธุ์ยุง  ฯลฯ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยโดยรอบ 

Bangkok Low Line เป็นแนวคิดของ UddC ในการฟื้นฟูพื้นที่ทิ้งร้างใต้ทางด่วนซึ่งยังถูกใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ (under-utilized) ในบริเวณย่านที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง อุรุพงษ์ สู่แหล่งงานในย่าน บางรัก สีลม สาทร  ให้กลายเป็นทางเลือกในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ในรูปแบบ “ทางด่วนจักรยานสู่ศูนย์กลางเมือง” 

ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรของพื้นที่ทิ้งร้างใต้ทางด่วนจะถูกพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงกับเนื้อเมืองต่อเนื่องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ พร้อมสร้างทางเลือกในการเดินทางเข้าพื้นที่ใจกลางเมืองแบบไม่ใช้เครื่องยนต์และส่งเสริมสุขภาพ เช่น การเดินเท้าและปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองผ่านสวนแนวตั้ง (Vertical Garden) หรือแม้กระทั่งการปลูกต้นไม้น้อยใหญ่สร้างร่มเง่า ตลอดจนก่อให้เกิดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและกิจกรรมทางสังคม เช่น ร้านค้าชุมชนและลานสาธารณะอเนกประสงค์ 

จึงไม่ผิดเลยถ้าผู้อำนวยการ UddC จะเปรียบพื้นที่แห่งนี้เป็น “สินทรัพย์” เพียงแต่รอโอกาสพัฒนาเท่านั้น  

ไม่เพียงโครงการ New York High Line ที่โด่งดัง แต่การพัฒนาพื้นที่ทิ้งร้างหรือโครงสร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วเป็นกระแสการพัฒนาไปทั่วโลก เช่น โครงการ A8ern8 ของเมืองอัมสเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฟื้นฟูพื้นที่ใต้ทางหลวงยกระดับ A8 ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรมด้านกีฬา อาทิ สเก็ตบอร์ด ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เทเบิลเทนนิส ฯลฯ  พื้นที่บางส่วนยังเป็นโชว์ผลงานของกลุ่มรักงานศิลปะอย่างกราฟิตี และด้วยที่พื้นที่บางส่วนอยู่ติดกับแม่น้ำ Zaan จึงทำให้เกิดพื้นที่ย่อมๆ สำหรับทำกิจกรรมริมน้ำได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับร้านค้าขนาดเล็กหลากหลายประเภท

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับโครงการ A8ern8 ไม่เพียงสะท้อนผ่านรางวัล The European Prize for Urban Public Space เมื่อปีั ค.ศ. 2006 เท่านั้น แต่สะท้อนการใช้พื้นที่โครงการอย่างคึกคึก และดึงดูดให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกความสนใจ เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากกระบวนการร่วมหารือ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือครั้งใหญ่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบโครงการและภาคีที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาสะท้อนความต้องการนั่นเอง

ประโยชน์ของการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนย่อมจะเกิดขึ้นกับหลายฝ่าย ทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรุงเทพมหานคร ชุมชนโดยรอบพื้นที่ และสาธารณชนทั่วไป อาทิ กทพ. จะสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างคล่องตัว แปลงพื้นที่ทิ้งร้างให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วน ซึ่งประสานประโยชน์เชิงพานิชย์และเชิงสาธารณะ รวมถึงป้องกันการบุกรุกที่ละเมิดกฎหมาย 

ขณะที่คนกรุงเทพฯ จะได้พื้นที่สีเขียวเพิ่ม 3.9 ไร่ และพื้นที่นันทนาการ 14.7 ไร่ พร้อมโครงข่ายเส้นทางเดินเท้า-ปั่นจักรยานที่ต่อเนื่อง และพื้นที่สาธารณะที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย 

เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้กล่าวสุนทรพจน์อันเป็นตำนานว่า  “คนมองโลกในแง่ร้าย มองเห็นความยากลำบากในทุกโอกาส คนมองโลกในแง่ดี มองเห็นโอกาสในทุกความยากลำบาก”  (A pessimist sees the difficulty in every opportunity; an optimist sees the opportunity in every difficulty.) หากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้สัดส่วนตามมาตรฐานของ WHO คือความท้าทายที่ยากลำบาก พื้นที่ทิ้งร้างใต้ทางด่วนจึงเป็นโอกาสพัฒนาที่คนมองโลกแง่ดี และ “สายตาดี” ต้องมองเห็นได้แล้ว

โดย ชยากรณ์ กำโชค 

ที่มาข้อมูล 


Contributor