16/06/2020
Mobility

FOOD DELIVERY : รัก Food เท่าฟ้า

ปภัสรา เทียนพัด
 


ธุรกิจ Delivery ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2532 โดยบริษัท ไมเนอร์ ฟู๊ด กรุ๊ป และหลังจากนั้นก็มีการเปิดตัวการให้บริการผ่านคอลเซ็นเตอร์และเว็บไซต์เพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2540 และ 2550 ตามลำดับ

โดยภาพจำในอดีตของการส่งสินค้าเดลิเวอรี่นั้นก็มักจะเป็นอาหารประเภทพิซซ่าหรือไก่ทอดเจ้าดังที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งทางโฆษณาโทรทัศน์ แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลมากขึ้น ทำให้ธุรกิจประเภท Delivery นี้สามารถเข้าถึงร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย และไม่มีขีดจำกัดด้านขนาดของร้านค้าอีกต่อไป ไม่ว่าคุณจะมีร้านขนาดเล็กหรือใหญ่ หรือแม้แต่ไม่มีหน้าร้านสำหรับนั่งทานอาหาร คุณก็ยังคงสามารถจัดส่งสินค้าให้ถึงมือของลูกค้าได้อยู่ตลอดเวลา

ในช่วงของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้คนส่วนใหญ่จำต้องทำงานแบบ work from home ร้านอาหารก็งดการนั่งรับประทานที่ร้าน และท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวของเดือนเมษายนทำให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Food Delivery กลายมาเป็นทางเลือกที่สำคัญและอาจจะจำเป็นอย่างมากสำหรับใครหลาย ๆ คน 

วันนี้เราจึงชวนคุณมาคุยกับ คุณธนกฤต, คุณวีระ, คุณอมรพล และคุณพิยดา กลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถรับส่งอาหารในกรุงเทพมหานครกันว่า ในแต่ละวันที่ต้อง Work from everywhere นั้นการทำงานและวิถีชีวิตของแต่ละคนเป็นเปลี่ยนไปแค่ไหนและเป็นอย่างไรกันบ้าง (ในบทสัมภาษณ์นี้ทางผู้สัมภาษณ์ขออนุญาตใช้นามสมมติเพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้ให้สัมภาษณ์)

ทำ Food  Delivery มานานหรือยัง ?

ธนกฤต : “เพิ่งเริ่มทำเมื่ออาทิตย์ที่แล้วครับ ปกติทำตัดต่อกับโปรดิวเซอร์ที่โปรดักชั่น เฮ้าส์ แต่ว่าตอนนี้ลูกค้ายกเลิกงานหมดทุกเจ้า ช่วงนี้ก็เลยออกมาทำเดลิเวอรี่ชั่วคราว”

วีระ : “เกือบปีแล้วครับ แต่ว่าก่อนหน้านี้ก็เป็นเมสเซนเจอร์ด้วย”

อมรพล : “ประมาณเกือบปีแล้วครับ ก่อนหน้านี้ก็ขับรถรับจ้างอยู่โบ๊เบ๊ ช่วงนี้มันมีเวลาว่างเยอะเลยเอาเวลาว่างมาขับ แต่ตอนนี้ก็ส่งอาหารอย่างเดียวแล้ว เพราะโบ๊เบ๊ไม่มีงานแล้วครับ เค้าปิดแล้ว”

พิยดา : “เพิ่งทำเมื่อเดือนที่แล้วค่ะ ยังไม่ถึงเดือนเลย ปกติจะรับเย็บผ้าค่ะ”

ช่วงที่มี Covid-19 ดูเหมือนว่าคนหันมาทำเดลิเวอรี่มากขึ้น

ธนกฤต : “คิดว่าเยอะขึ้นนิดหนึ่งนะครับ เพราะว่ามันไม่มีงานอื่นให้ทำแล้วครับ”

วีระ : “เยอะขึ้นครับ เพราะงานอื่นเขาก็พักกันหมดใช่มั้ยครับ คนเลยหันมาวิ่งเดลิเวอรี่กันหมด คนที่เหมือนไม่น่าจะมาขับอย่างคนที่ดูไม่น่าจะลำบากมากก็มาขับกัน บางคนก็เอาแฟนมาด้วย เหมือนเป็นทางเดียวเดียวที่จะช่วยให้เรามีเงินได้”

อมรพล : “คนก็มาขับกันเยอะ คนมันไม่มีงานก็ต้องไปสมัครขับ ได้รายได้นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย”

พิยดา : “เยอะมากเลยค่ะ เพราะว่าตอนนี้งานมันหายาก บริษัทก็ปิด อย่างเรารับเย็บผ้าพองานผ้าน้อยลงก็เลยต้องหันมาขับหารายได้พิเศษ”

ถ้าเทียบกันช่วงก่อนหน้านี้กับช่วงที่มี Covid-19 มันแตกต่างกันมากมั้ย

ธนกฤต : “คนละเรื่องเลยครับ คือเมื่อก่อนมีงานโปรดักชั่นทุกวัน เยอะจนทำไม่ทัน แต่พอโควิดมาปุ๊บจู่ๆ ก็ว่างเลย นอนเฉยๆ ทั้งวันอย่างนั้น ทุกอย่างพักหมดเลยครับ เงินเดือนก็พักจ่ายด้วย”

วีระ : “ก็จะมีเกี่ยวกับออเดอร์ที่เยอะขึ้นประมาณนั้น แค่นั้นแหละครับ”

อมรพล : “ก็แตกต่างนะ ตอนนี้จะตกประมาณชั่วโมงนึงต่อออเดอร์ ชั่วโมงครึ่งต่อออเดอร์ จากแต่ก่อนที่วันหนึ่ง 20 ออเดอร์ขึ้น ทุกวันนี้ได้ซัก 10 ออเดอร์ก็ถือว่าหรูแล้ว”

พิยดา : “ก่อนโควิดก็สภาพบ้านเมืองมันก็ไม่ได้ดีอยู่แล้ว แล้วยิ่งมาเจอแบบนี้ก็มันก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ บ้านเมืองมันก็แบบเงียบ วันไหนไม่มีงานคนก็ได้รายได้น้อยลง”

ชีวิตการขับ Delivery ส่วนใหญ่จะเริ่มกันตั้งแต่กี่โมง

ธนกฤต : “ประมาณ 10 – 11 โมงครับ สัก 10 โมงก็จะออกมาแถวๆ สยาม เพราะว่าคนสั่งจากแถวนี้เยอะ เสร็จแล้วผมก็อยู่ตรงนี้จนถึงสักทุ่มหนึ่งแล้วก็กลับบ้าน สเต็ปมีแค่นั้นเลย”

วีระ : “ส่วนใหญ่มันขึ้นอยู่กับเวลาที่ร้านเปิดครับ อย่างที่สยามก็จะเริ่มประมาณ 10 โมงเช้า เราก็ออกมาสักประมาณ 9 โมงครึ่ง แล้วก็มาจอดรอรับออเดอร์ แต่ถ้าที่อื่นเขาจะเปิดเช้ากว่านั้น อย่างแถวรองเมือง ลูกค้าจะกดสั่งโจ๊กประมาณ 6 โมงเช้าก็ได้ 

ส่วนเวลากลับเข้าบ้านเนี่ยมันอยู่ที่งานด้วยครับ ถ้างานหมดก่อนหรืองานน้อย เรากดงานไม่ทันเพราะบริษัทที่ผมทำเขาไม่มีระบบคอยยิงงานให้ วันไหนงานหมดก่อนเราก็กลับก่อน แต่ถ้างานยังไม่หมด เราก็วิ่งต่อไปเรื่อย ๆ มันไม่ใช่ว่างกนะครับ แต่ว่างานพวกนี้มันไม่แน่นอน วันนี้มี วันพรุ่งนี้มันอาจจะมีไม่มีก็ได้”

อมรพล : “ของผมประมาณ 9 โมง ก็จะมารอรับอาหาร เด้งตรงไหนก็ไปรับตรงนั้น ตอนนี้เนี่ยเลือกไม่ได้ ไกลก็ต้องรับ บางทีเจอปัญหาจากลูกค้าอะไรอย่างนี้ เช่น ลูกค้าปักหมุดอีกที่หนึ่งแต่ให้ไปส่งอีกที่หนึ่ง มันก็ต้องทำใจ พอสักทุ่มถึงทุ่มสองทุ่มเดี๋ยวเขาก็เริ่มปิดแอปปิดอะไรแล้ว ตอนนี้ประกาศเคอร์ฟิวแล้วนี่ เราก็ต้องทำตามเขา”

พิยดา : “ส่วนใหญ่ก็จะวิ่งรถรองานค่ะ ออกจากบ้านกันตั้งแต่เช้า ช่วงประมาณ 11 โมงกว่าถึงประมาณบ่ายโมงเป็นช่วงที่งานจะเด้งค่อนข้างเยอะ พอเข้าช่วงบ่าย ๆ ที่ว่างหน่อยก็จะมาหาข้าวกินกัน แล้วจะเยอะอีกทีตอนประมาณ 5 โมง หลังจากนั้นก็วิ่งยาวจนถึงสองทุ่มแล้วก็กลับบ้านค่ะ”

วันหนึ่งต้องจัดส่งประมาณกี่ออเดอร์ 

ธนกฤต : “แล้วแต่ช่วงครับ อย่างเมื่อสามวันก่อนมี 20 ออเดอร์ แต่จู่ๆ เมื่อวานก็เหลือแค่ 7 ออเดอร์ ผมก็หาคำตอบไม่ได้ เป็นกันหมดทุกคนเลย ตอนนี้ตกเฉลี่ยก็ประมาณ 12 – 13 ออเดอร์ ”

วีระ : “ตอนนี้ก็ประมาณ 10 กว่าเที่ยวครับ แต่ก่อนหน้านี้จะดีกว่าหน่อย อย่างช่วงเดือนมีนา โอ้โห งานเนี่ยวิ่งกันแบบไม่ทัน แต่ช่วงนี้เมษามันเหมือนมันลด เริ่มลงๆ อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงนี้คนอยากเก็บตังไว้รึเปล่า เพราะว่าในช่วงเศรษฐกิจอย่างนี้ ใครก็ไม่อยากใช้ตัง เป็นไปได้รึเปล่าผมก็ไม่รู้นะ เดานะ คาดเดาเฉยๆ ”

อมรพล : “ก็ประมาณ 12 – 13 ออเดอร์ แล้วแต่ช่วง แต่ไม่ถึง 20 มันยังดีอย่างหนึ่งที่มันก็ยังพอมีรายได้ให้พอได้ซื้อกับข้าว ไม่ค่อยเยอะแต่ก็พอกิน 

ตอนนี้คนคงประหยัดกันครับ มันไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว เดินทางก็ไม่ได้ถูกมั้ย จะสั่งข้าวบางทีก็ถ้าไม่สั่งเดลิเวอรี่ ก็จะซื้อจาก 7-11 เพราะมันมีตัวเลือกเยอะ ง่ายด้วย สะดวกด้วย เดินขึ้นเดินลงแปบเดียวก็ถึง แต่ถ้าสั่งเดลิเวอรี่บางทีแค่รอออเดอร์ก็ครึ่งชั่วโมงแล้ว กว่าจะไปถึงลูกค้าก็อีก 40 – 50 นาที ”

ญาดา (ลูกของคุณพิยดา) : “วันนึงเต็มที่แค่ 12-13 ออเดอร์เองค่ะ จากเมื่อก่อน 20 ขึ้น อาจจะแล้วแต่สถานที่ด้วย แล้วแต่ว่าสถานที่ตรงนี้มันสามารถรับออเดอร์ได้เยอะขนาดไหน ถ้าตรงนี้ออเดอร์เยอะจริงแต่ว่าคนขับเดลิเวอรี่เยอะพอๆ กัน ออเดอร์อาจจะไม่เด้งที่เราก็ได้ ไปเด้งที่คนอื่นอย่างนี้” 

พิยดา : “ถ้าถามว่ารายได้ตอนนี้พอมั้ย จริงๆ มันก็ไม่พอหรอก เรามีรายจ่ายก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เราต้องส่งค่ารถ ค่าอะไรพวกนี้ อย่างลูกเนี่ยเปิดเทอมก็ต้องใช้ตังก็ต้องเก็บตังให้ลูก แต่น้อยยังไงก็ต้องทำ ดีกว่าไม่มีรายได้เลย ถ้าอยู่เฉยๆ ล่ะแย่เลย ถ้าเราไม่หารายได้เข้ามา พูดตรงๆ ว่าที่รัฐบาลมาช่วยมันก็ไม่ได้เต็มที่หรอก มีข้อต้องโต้มาแย้งกันเยอะ

อย่างเงินเยียวยา 5000 นี่ท่าทางจะยาก ไม่ได้ไปลงเพราะมันเรื่องมาก อย่างเราไม่มีบ้านก็อาศัยเขาอยู่ เวลาเขาตรวจสอบว่าทำไมอยู่บ้านหลังนี้ พอไปยื่นแล้วมีปัญหา เดี๋ยวตรวจสอบนั่น เดี๋ยวตรวจสอบนี่ เรารู้สึกเราเบื่อที่จะไปนั่งตอบปัญหา อย่างเราอยู่บ้านญาติ เคยไปลงทะเบียนแล้วเขามาตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ก็มองแค่ว่าเราอยู่บ้านขายของ เขาไม่ได้นึกถึงความจริงว่าเราน่ะอาศัยเค้าอยู่ ช่วยจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เช้าก็ออกมาทำมาหากิน มืดเราก็เข้าไปนอนแค่นั้นเอง เขาไม่มองหลักความจริง

ออกจากบ้านต้องพกอะไรมาบ้าง อะไรสำคัญที่สุด เพราะอะไร

ธนกฤต : “กระเป๋าตังแค่นั้นแหละครับ พวกน้ำก็อาจจะมีซื้อระหว่างทาง พวก 7-11 อย่างนี้ครับ ”

วีระ : “ก็เงิน แล้วก็เอกสาร บัตรประชาชน บางทีอาจจะซื้อน้ำบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะมาซื้อ 7-11 ถ้า 7-11 ปิดแล้วหมดเลยครับ ผมเองก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน”

อมรพล : “มีเจลล้างมือ ปรอท หาปั๊มล้างมือ เช็ดหน้าเช็ดตาหน่อย หน้ากากก็ต้องพกตลอด ที่ใช้อยู่นี่ก็เป็นหน้ากากทำเองเพราะว่าน้องสาวเขาเย็บผ้าอยู่แล้ว ตอนนี้หน้ากากอนามัยหาไม่ได้เลย แล้วอีกอย่างคือแพงด้วย ของปลอมก็เยอะ ถ้าทำเองก็ลงทุนไม่เกิน 10 บาท อย่างที่น้องใส่นี่อย่างต่ำอันนึงก็ 20 – 30 บาทแล้วถูกมั้ย”

พิยดา : “ก็มีมือถือ มีกระเป๋าตัง มีกระเป๋าเก็บอุณหภูมิ เสื้อบริษัท สองอย่างนี้ต้องมีค่ะ แต่ว่าช่วงนี้เหมือนคนมาสมัครกันเยอะของมันเลยหมด นี่อาศัยว่าเอาของหลานมา เพราะช่วงนี้เค้าไม่ค่อยได้วิ่งส่งอาหารแล้วเลยเอาของหลานมา เซ็ตละพันกว่าบาท ถ้าให้ไปลงทุนเองก็คงไม่ไหวอีก 

อย่างตอนนี้ถ้าสมัครจะต้องเสียค่าเปอร์เซนต์อะไรตั้ง 200 กับค่าคอมมิชชันอีก 300 แต่ว่ารุ่นแรก ๆ ไม่เสียนะ บริษัทเขามีรายได้ทางนี้ ทุกวันนี้คนสมัครเข้าตั้งเยอะ เขาได้ตั้งเท่าไหร่ แล้วอย่างตอนนี้มันยังมาหักเปอร์เซนต์ของคนขับอีก จากเมื่อก่อนวิ่งได้ครั้ง 60 ตอนนี้เหลือ 40 บาท ทุกวันนี้คนอยู่บ้าน มีออเดอร์มาเยอะขึ้นแต่คนขับได้ค่าจ้างน้อยลง เขาบีบคนอย่างนี้เลย

 แต่ที่เลือกทำของบริษัทนี้เพราะเค้าบอกว่ามันง่ายกว่าจากที่สอบถามมา แล้วข้อดีคือบางเจ้าเนี่ยกำหนดชั่วโมงงานให้เราวิ่งเลยว่าคนหนึ่งจะวิ่งได้แค่กี่ชั่วโมง แต่กับเจ้านี้เราวิ่งรับออเดอร์เท่าไหร่ก็ได้ ไม่จำกัด”

ในขณะที่เราส่งอาหารให้คนอื่น ตัวเราเองล่ะกินอะไร

ธนกฤต : “แล้วแต่วันครับ เพราะบ้านไม่ได้อยู่ไกลมาก วันไหนสะดวกก็อาจจะแวะเข้าไปกินข้าวที่บ้าน”

วีระ : “ก็มีนมกล่องกับพายที่กินไปเมื่อกี้เท่านั้นแหละครับ เพราะว่างานเดลิเวอรี่มันแข่งกับเวลาไง ช่วงที่รอรับงานก็จะมาหาซื้ออะไรกิน กินไปรับงานให้ลูกค้าไปด้วย เพราะถ้าเราพัก เวลาของเราก็หมดไปเรื่อย ๆ งานก็จะได้น้อยลง”

อมรพล : “ก็กิน 7-11 เหมือนกันให้พออยู่ได้ น้ำสักขวดนึงกับขนมกรอบ ขนมปัง ซื้อกินรองท้องไปก่อน ถ้าจะกินค่อยไปกินข้าวที่บ้าน เดี๋ยวนี้ต้องประหยัดหน่อยนึง อย่างต่อวันก็จะใช้ไม่เกิน 100 บาท เพราะตอนนี้รายได้หายไปเยอะ แต่ก่อนรายได้วันนึง 2000 – 3000 บาทก็ยังพอได้ เดี๋ยวนี้มันไม่ได้แล้ว 500 – 600 บาทก็ถือว่าหรูแล้ว ถ้าไม่ได้ก็เหลือแค่ 200 – 300 บาทแค่นั้นเอง”

พิยดา :  “มีแต่อาหาร 7-11 ทุกวันเลย ทางเลือกมันน้อยก็เลยต้องกินอย่างนี้ นอกจากบางครั้งจะซื้อข้าวเหนียวห่อนึงกับไก่ ป้อนไปนั่งรถไปเพราะไม่มีเวลา ค่าใช้จ่ายต่อวันก็เยอะเลย อย่างมื้อกลางวันสองคนก็ร้อยกว่าบาทแล้ว ไหนจะค่าน้ำมันรถอีก ค่ากินอีก แล้วเราต้องเก็บเงินไว้ให้ถึงสิ้นเดือน”

อะไรที่เป็นอุปสรรคที่สุดของการทำงาน

ธนกฤต : “น่าจะเป็นเวลาที่ร้านค้าเค้ามีโปรโมชั่น คืออย่างบริษัทที่ผมทำมันทำงานเป็นรอบๆ แต่ทุกรอบจะได้ค่าจ้างเท่ากันหมด ไม่ว่าจะรอนานแค่ไหนก็ได้เท่าเดิม อย่างตอนช่วงร้านสุกี้ออกโปรโมชั่นเป็ดย่าง 1 แถม 1 ลูกค้าก็แห่กันไปสั่งซึ่งก็เท่ากับว่าเราต้องไปนั่งรอ สมมุติว่า 1 รอบเขาได้ 50 บาท เขาก็ต้องนั่งรอ 2 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ 50 บาท แทนที่ 2 ชั่วโมงนั้นจะได้ไปทำอย่างอื่น”

วีระ : “อุปสรรค… ก็เกี่ยวกับเรื่องโรคนี่แหละครับ เพราะว่าเราต้องใส่ที่ปิดจมูกด้วย ต้องระวังไปด้วย บางทีก็หายใจไม่ค่อยออก ใส่นานเกินจนรู้สึกเหมือนออกซิเจนมันขึ้นไปเลี้ยงสมองไม่ทัน ส่วนกลัวโรคนี่ก็กลัวนะ เพราะว่าแต่ละวันเราจะไปสัมผัสอะไรมา ไปติดจากใครมาบ้างไม่รู้ใช่มั้ย อาจจะไม่ใช่ว่าแค่พนักงานเดลิเวอรี่ด้วยกันเป็น ถ้าทางลูกค้าเป็นเราก็อาจจะติดจากลูกค้าก็ได้ หรือเวลาเข้าไปรับอาหารในร้านที่อากาศมันไม่ค่อยถ่ายเทแล้วอาจจะติดมาก็ได้เราก็ไม่รู้ นั่นแหละอุปสรรคในการทำงาน”

อมรพล : “ก็เนี่ยแหละ หาที่จอดยากมาก ตำรวจกวนบ้างไม่ให้จอด จอดตรงนี้ก็ใช่ว่าจะได้จอดกันง่าย ๆ เดี๋ยวเค้ามาไล่ก็ต้องไป เค้ามีที่จอดของโซนนี้ แต่ถ้าจะไปจอดอย่างนั้นก็ต้องเสียเงิน จอดครึ่งชั่วโมงเสีย 60 ใครจะไปเอา อย่างรอบที่แล้ววิ่งได้แค่ 40 บาทก็ขาดทุนอีก แล้วบางทีวันไหนโดนตำรวจล็อคขึ้นมา 500 มีปัญญามั้ย”

พิยดา : “ อย่างแรกคือแดด ร้อนมาก เผาไม่รู้จะเผายังไงแล้ว แต่ร้อนก็ต้องทน วันนึงนี่น้ำหลายขวดเลย อีกอย่างคือรถติด ค่าน้ำมันก็ขึ้นบ้างลงบ้าง ออกมาขับเดลิเวอรี่นี่ไม่ง่ายนะ ถ้าไม่มีโทรศัพท์ก็ไม่ได้ ก็ต้องไปผ่อนโทรศัพท์ จากที่เราใช้โทรศัพท์ราคาถูก ๆ ไม่มีที่รับสัญญาณรับงานไม่ได้ ก็ต้องไปเปลี่ยนให้มันดี ต้องลงทุนตั้งหลายอย่าง อย่าคิดว่าออกมาวิ่งแล้วไม่ต้องลงทุน ต้องลงทุน ลงทุนทุกอย่าง

แต่ว่ามันทำไงได้ ตอนนี้งานไม่มีอะไรเท่ากับมาขับรถส่งอาหาร แต่ถ้าสมมุตินะตรงๆ เลยถ้ารัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวไม่ให้ออกจากบ้านเลย ทีนี้คือตายกันเป็นแถบๆ แน่ๆ ตายกันเป็นแถบๆ อยู่แต่ในบ้านจะเอาอะไรกิน อย่างตอนนี้แอพของเจ้าที่ทำมันปิดรับออเดอร์ทุกอย่างตอน 2 ทุ่ม พอเป็นแบบนี้ยิ่งใกล้ 2 ทุ่ม ต้องยิ่งต้องเร่งเวลา เราต้องรีบไปส่งงานนี้แล้วจบงานให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะไปหางานอื่น พูดกันตรงๆ นะว่าคนที่อยู่ข้างในเขาไม่รู้หรอกว่าคนภายนอกเขาเป็นกันยังไง”

คิดว่าหลังโควิดสงบ สถานการณ์จะเป็นยังไง เราจะยังทำ food delivery อยู่หรือเปล่า

ธนกฤต : “ตอบไม่ได้เลยครับ คือเราไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น”

วีระ : “ทำครับทำ เพราะว่าทุกวันนี้ก็ออกจากงานมาทำตัวนี้เป็นหลักเลย ก็คงทำต่อไปเหมือนปกติครับ”

อมรพล : “ก็ทำอยู่เรื่อยๆนะ เหมือนมันกลายเป็นงานอดิเรกไปแล้ว โบ๊เบ๊แต่ก่อนมันขายได้เพราะเศรษฐกิจมันดี ผมวิ่งรถแถวโบ๊เบ๊วันนึงได้ 3,000 – 5,000 บาทแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มันมีเวลาว่างเยอะก็ออกมามาขับ ดีกว่าเอาเวลามาหายใจทิ้งไปเปล่าๆ ส่งไกลบ้างใกล้บ้างแต่ก็ต้องทำ มานั่งรอไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าโควิดมันจะหายไปเมื่อไหร่”

ถ้าให้ฝากข้อความถึงใครซักคน อยากจะฝากถึงใคร และอยากบอกพวกเขาว่ายังไง 

ธนกฤต : “อืม… ไม่รู้จะฝากอะไรครับ ถ้าให้บอกก็อยากบอกว่าอยากเปลี่ยนรัฐบาลมากกว่า”

วีระ : “จะฝากอะไรดี ก็…ขอให้กำลังใจเพื่อนเดลิเวอรี่ด้วยกันแล้วกันว่า สู้ๆ ครับ ทุกวันนี้อย่างว่าแหละครับมันเหนื่อย เหนื่อยกันทุกคนจริงๆ สู้ๆ แล้วก็รบกวนป้องกันแล้วก็ระมัดระวังเรื่องโรคด้วย ประมาณนี้ครับ”

อมรพล : “ก็ไม่ได้ฝากอะไรมาก ไม่รู้จะฝากอะไร ก็ขอให้สู้ๆ กันแค่นั้นแหละ อดทนไว้เดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไปแล้ว”

ญาดา (ลูกของคุณพิยดา) : “ก็เมื่อวานเห็นพวกที่แบบมาฉีดอะไรนะ ฉีดอะไรนะที่เขาไล่แม่อะ ตอนแม่จอดอยู่ข้างถนนอะ อ๋อน้ำยาฆ่าเชื้อ (เสียงคุณพิยดา) อยากจะบอกว่าถ้าคุณจะฉีดก็ฉีดเป็นที่ๆ ฉีดให้มันเสร็จให้มันจบ ไม่ใช่ฉีดแค่นี้แล้วก็เดินไปเลย คุณฉีดไม่ถึงสิบนาทีแล้วคุณก็ไปคุณจะฉีดเพื่ออะไร มันไม่ได้ช่วยและสะอาดขึ้นเลย เปลืองงบประมาณด้วยซ้ำที่เอาไปซื้อน้ำยามา 

หนูก็ไม่แน่ใจว่ามันจริงรึเปล่าที่เขาบอกว่าถ้ามีด่าน แล้วตำรวจเจอว่าเราไม่ใส่หน้ากากอนามัยจะโดนปรับ หนูอยากถามว่าคุณมีหน้ากากอนามัยพอแล้วหรอคุณถึงจะมาจับเขา บางทีคนหาซื้อยังหาซื้อไม่ได้เลย ของก็แพง หน้ากากก็แพง มันแพงนะพี่ แล้วถามว่าประชาชนไม่ทำงาน บริษัทปิดตัว ถามหน่อยเขาจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ใช่มั้ยพี่?”


Contributor