11/05/2021
Mobility

ครึ่งศตวรรษของการเปลี่ยนเมืองโคเปนเฮเกน จากเมืองแห่งรถยนต์สู่เมืองเดินเท้าที่มีชีวิตชีวา

ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


ถนน Strøget เป็นถนนเก่าแก่สายสำคัญของเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และเป็นถนนทางเดินเท้า (pedestrian streets) สายยาวที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ปัจจุบันถนนสายนี้มีชื่อเสียง เต็มไปด้วยร้านค้ามากมาย และยังเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนมาแฮงค์เอาท์ นั่งกินดื่มชมการแสดงบนท้องถนน เช่น ดนตรีสด มายากล และกายกรรม ฯลฯ

แต่กว่า Strøget จะมีชีวิตชีวาเหมือนทุกวันนี้ ถนนเส้นนี้ผ่านอะไรมาบ้าง?

ราว 60 ปีก่อน เมืองโคเปนเฮเกนก็ประสบปัญหาเดียวกับหลายเมืองทั่วโลก นั่นคือ เมืองเต็มไปด้วยรถยนต์ กระทั่งปี 1962 ถนนและจัตุรัสกลางกรุงโคเปนเฮเกนทั้งหมด กลายเป็นเส้นทางสัญจรของยานพาหนะและเป็นพื้นที่จอดรถ จากความนิยมใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และในปีเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการสร้างถนนคนเดินในเมืองโคเปนเฮเกน (The Pedestrianization of Copenhagen)

ภาพจาก https://globaldesigningcities.org/

โครงการเริ่มต้นทดลองที่ถนน Strøget แน่นอนว่าการเปลี่ยจากถนนรถวิ่งเป็นถนนคนเดินระยะทาง 1.15 กม. เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายมาก และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เช่น

“ถนนคนเดินไม่มีทางสำเร็จในสแกนดิเนเวีย”

“ไม่มีรถยนต์หมายความว่าไม่มีลูกค้าและไม่มีลูกค้าหมายความว่าไม่มีธุรกิจ”

“สภาพอากาศที่ชื้นของเดนมาร์กนั้นจะทำให้การจราจรปิดถนนเป็นหายนะ อีกทั้งด้วยการเดินเท้าออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งนั้นไม่เข้ากับวัฒนธรรมของเดนมาร์ก”

“เราไม่ใช่คนอิตาลี เราไม่อยากจะเดิน”

อย่างไรก็ตาม the City of Copenhagen เห็นแนวคิดของนักวางผังเมืองชื่อดัง ญาน เกห์ล (Jan Gehl) จึงยังลงมือปฏิบัติทำโครงการนี้ต่อไป โดยเริ่มที่ถนนหลัก Strøget เชื่อมโยงจัตุรัสหลักสองแห่งของเมือง คือ Kongens Nytorv (King’s New Square) และ Rådhuspladsen (City Hall Square) และยังเชื่อมต่อกับถนนอีก 5 สาย ได้แก่ Østergade, Amagertorv, Vimmelskaftet, Nygade และ Fredriksberggade

ภาพจาก https://globaldesigningcities.org/

ซึ่งเส้นทางของโครงการย้อนไปเมื่อ 59 ปีก่อน พอสังเปข มีดังนี้

1962 โคเปนเฮเกนเปิดโซนถนนคนเดินแห่งแรกที่ Strøget

1968 เปิดถนนคนเดินที่ Fiolstræde เป็นแห่งที่สอง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของ Strøget และอยู่ในย่านมหาวิทยาลัย ส่วน Gråbrødretorv เป็นจัตุรัสในเมืองแห่งแรกที่กลายเป็นโซนถนนคนเดิน

1968 จำนวนผู้คนที่ออกมาใช้พื้นที่สาธารณะภายในเมืองเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า

1972 วิกฤตน้ำมันโลก(The world oil crisis) ทำให้ผู้คนลดการใช้รถยนต์ลง และโครงการถนนทางเดินเท้าก็ยังคงเดินหน้าต่อ

1986 ที่จอดรถราวๆ 600 แห่ง ถูกถอดออกไป

1989 ถนน Strædet ที่ขนานกับถนน Strøget กลายเป็นถนนคนเดิน ไม่ให้รถบัสเข้ามา รถยนต์ที่ต้องการเข้ามาลดความเร็วลง

1992 Strædet ได้กลายเป็นถนนคนเดินอย่างเต็มตัวในเดือนกันยายน เสร็จสิ้นโครงข่ายถนนคนเดินของโคเปนเฮเกน (Copenhagen’s pedestrian street network) ในเวลาต่อมาโครงการได้มุ่งเน้นการทำทางเดินเท้าไปที่จัตุรัสสาธารณะและพื้นที่เปิดโล่งอื่นๆ 

1993 Amagertorv ได้กลายเป็นจัตุรัสคนเดิน (pedestrian square) และถูกปูพื้นใหม่ด้วยหินแกรนิต ที่มีลวดลายที่ออกแบบโดยประติมากรชื่อ Bjørn Nørgård

1995 ร้อยละ 80% ของกิจกรรมการจราจรในใจกลางเมืองอยู่บนทางเท้า

1996 โคเปนเฮเกนมีพื้นที่ปลอดรถยนต์ถึง 6 เท่าเมื่อเทียบกับตอนที่โครงการริเริ่มในปี 1962

2000 สถานที่จอดรถได้ถูกเอาออกไปจากจัตุรัส 18 แห่งในเมือง มีม้านั่ง 1,500 ตัว และคาเฟ่ 5,000 ที่นั่งเพื่อดึงดูดผู้คนที่เดินบนทางเท้า 

2005 โคเปนเฮเกนมีอัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปที่ 208 คันต่อประชากร 1,000 คน (โรมมีสูงสุดที่ 665 ต่อประชากร 1,000 คน) 

ภาพจาก https://globaldesigningcities.org/

โครงการ The Pedestrianization of Copenhagen ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาไว้ 5 ประการ คือ

1. ต้องพัฒนาทางเชื่อมต่อภายในตัวเมือง

2. ต้องจัดหาสิ่งแวดล้อมที่น่าดึงดูด 

3. สร้างพื้นที่เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจ

4.ส่งเสริมให้ผู้เกิดความหลากหลายในการใช้ชีวิตและใช้เวลาในใจกลางเมือง 

5.ฟื้นฟูตรอกซอกซอยให้มีชีวิตชีวาและตรงตามการออกแบบที่เป็นสากล(Global Designing)

กุญแจสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายโครงการคือ ย้ายการจราจรทั้งหมดออกจากถนนและทางเท้า แล้วเปลี่ยนมาเป็นการปูพื้นใหม่ และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกบนถนน เช่น ม้านั่ง ที่จอดจักรยาน กระถางต้นไม้ เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาเดินเท้ามากขึ้น รวมถึงสร้างข้อบังคับให้ลดความเร็วในการขับรถในพื้นที่ชุมชน

การที่ถนนคนเดินประสบความสำเร็จในโคเปนเฮเกน ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลาผู้คนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัว มาเป็นการใช้จักรยานหรือขนส่งสาธารณะ ในการเข้าถึงพื้นที่สำคัญๆ ภายในเมือง นอกจากนี้ ยังพัฒนาพื้นที่สาธารณะควบคู่กันไปด้วย

ผลการประเมินโครงการพบว่า ปริมาณการจราจรบนทางเท้าเพิ่มขึ้น 35% หลังจากบทสนทนา มีพื้นที่ทางเดินเท้าเพิ่มขึ้นจาก 15,800 ตารางเมตร ในปี 1962 เป็น 99,700 ตารางเมตร ในปี 2005 ส่วนเอาท์ดอร์คาเฟ่เพิ่มเก้าอี้นั่งจาก 2,970 ที่นั่ง ในปี 1986 เป็น 7,020 ที่นั่งในปี 2006 ขณะที่กิจกรรม stop and staying เพิ่มขึ้น 400% ในระหว่างปี 1968 ถึงปี 1996 และปริมาณคนเดินเท้าทั่วเมืองเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเป็น 15 นาทีต่อวัน

ที่มา http://cyclists-world.com/onewebmedia/UK_CYKELBOG_LARS_GEMZ%C3%98E.pdf

หลังโครงการสิ้นสุดลง พบว่า พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป จากเดิมที่ชาวเมืองโคเปนเฮเกนคิดว่าการเดินเท้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านเป็นวัฒธรรมของชาวเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้น แต่โครงการนี้ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วการขาดแคลนทางเท้าและพื้นที่สาธารณะที่ดีต่างหากที่เป็นอุปสรรค

โครงการถนนคนเดินนี้เป็นทั้งความสำเร็จสำหรับผู้คนและเจ้าของร้านค้า การมีถนนคนเดินและพื้นที่สาธารณะทำให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ชีวิตกลางแจ้งในเมือง เมืองจึงมีชีวิตชีวามากขึ้น ผู้คนมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีไปกับการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกับคนอื่น ร้านค้าบริเวณนั้นก็มีลูกค้าแวะเวียนมาเรื่อยๆ ส่งผลดีกับเศรษฐกิจในพื้นที่ และเมืองยังมีสภาพแวดล้อมที่ดีและมีชีวิตชีวาขึ้นอีกด้วย

ที่มาข้อมูล

Pedestrian Only Streets: Case Study | Stroget, Copenhagen

Copenhagen PEDESTRIANISATION TIMELINE

Cities for People – Copenhagen studies in urban life

Copenhagen’s newest bridge.


Contributor