05/05/2021
Mobility

สำรวจ 5 เมืองเดินได้ เปลี่ยนถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ จากโครงการทดลองที่ชวนคนเมืองมีส่วนร่วม

ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


ภาพปกจาก https://www.publicspace.org/works/-/project/k081-poblenou-s-superblock

เมืองเราที่อยู่อาศัยประสบกับปัญหามากมาย ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ผู้คนจึงเริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนมากขึ้น การเคลื่อนที่ในเมือง (urban mobility) ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนภายในเมืองดีขึ้น

หันมามองประเทศไทยที่ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหามลภาวะทางเสียง ปัญหามลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ ส่วนหนึ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คือการสนับสนุนรูปแบบการเดินทางทางเลือก เช่น การใช้ขนส่งสารธารณะ การเดินเท้า การปั่นจักรยาน

ทว่า กรณีประเทศไทย ถนนและผิวจราจรถูกสร้างมาโดยให้ความสำคัญกับรถยนต์เป็นอันดับแรก และลืมที่จะออกแบบเพื่อผู้คนที่เดินเท้า ปั่นจักรยาน หรือคนใช้งานวีลแชร์ เราจึงขอยกตัวอย่างโครงการทดลองใน 5 เมืองทั่วโลก ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองการใช้ถนนว่าไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่สำหรับรถยนต์เท่านั้น แต่เป็นได้มากกว่านั้น

เมืองเคปทาวน์: ปิดถนนวันหยุดแล้วออกมาเล่นสนุกในเมือง

เริ่มต้นที่ เมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ประเทศแอฟริกาใต้ กับโครงการ Open Streets Day จัดตั้งโดยองค์กร Open Streets Cape Town (OSCT) เพื่อส่งเสริมให้ถนนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะด้วยการปิดถนนช่วงวันหยุดให้ผู้คนออกมาโลดแล่น สร้างสีสัน และทำกิจกรรมบนถนน ผ่านการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ และผู้คนในท้องถิ่น

OSCT เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ริเริ่มขับเคลื่อนโดยผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง วิธีที่เราใช้รับรู้และประสบการณ์ที่เรามีต่อท้องถนน โดยองค์กรได้สร้างโปรแกรมเรื่องที่ชื่อว่า “Open Streets Days” ขึ้นมากระจายทั่วทั้งเมือง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Bogotá’s Ciclovía ซึ่งเป็นโปรแกรมสันทนาการ ที่สร้างถนนปลอดรถยนต์กว่า 120 กิโลเมตรในทุก ๆ วันอาทิตย์และวันหยุดราชการ โดยเชื่อว่าถนนนั้นสามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่สร้างสรรค์และพบปะผู้คน พื้นที่ที่สร้างงานและรายได้ให้กับคนในพื้นที่ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของวัฒนธรรมและค่านิยมในท้องถิ่น และยังก่อให้เกิดชุมชนที่ปลอดภัยและเหนี่ยวแน่นอีกด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ Open streets Day ประสบความสำเร็จเกิดจากการสร้างทีมที่ทุกคนมีความคิดที่อยากจะพัฒนาถนนเหมือนกัน OSCT ได้สร้างทีมที่แบ่งหน้าที่สำคัญออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบริหาร ดำเนินงาน และขอใบอนุญาตโครงการ 2) ด้านการสื่อสาร และ 3) ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน

ประการที่สองคือการมีพันธมิตร (partnerships) โดยองค์กรได้พาร์ทเนอร์หลักกับ The City of Cape Town’s Transport และ Urban Development Authority นอกจากนี้ OSCT ยังร่วมมือกับองค์กรอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงพันธมิตรท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพในการร่วมจัดงาน มาช่วยในการทำโครงการนี้ให้สำเร็จ

ประการสุดท้ายคือเรื่องสำคัญอย่างการวางแผนงาน สิ่งที่ OSCT ทำคือ เปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับทีมคณะจัดงานหลักทั้งหมดมาระดมความคิดร่วมกันเพื่อร่างแผนการทำโครงการและสร้างความเข้มแข็งให้กับทีม     

โครงการ Open streets Day ทำให้เห็นถึงศักยภาพของถนนในการเป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถสร้างกิจกรรมต่างๆได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ทำศิลปะบนกำแพง(Live graffiti) พื้นที่เล่นบาสเก็ตบอล พื้นที่เล่นโยคะ พื้นที่เดี่ยวไมโครโฟน ฯลฯ จากบางส่วนของแบบสำรวจโครงการพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความเชื่อมโยงกับย่านที่จัดงานมากขึ้น และจากการสัมภาษณ์ผู้คนในเคปทาวน์พบว่าผู้คนชอบโครงการนี้เป็นอย่างมาก

เมืองโคเปนเฮเกน: เมื่อก่อนไม่มีใครเดินแต่ตอนนี้เพลินไปพื้นที่สาธารณะ

ย้ายมาเมืองในแถบสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) อย่าง เมืองโคเปนเฮเกน(Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก จากเมืองที่เต็มไปด้วยลานจอดรถสู่เมืองแห่งลานเดินเท้า กับการเปลี่ยนแปลงถนนสายหลักเพื่อรถยนต์เป็นที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนเดินเท้าเข้ามาใช้พื้นที่ไม่ว่าจะฟังดนตรี ดูการแสดง ทานอาหารริมทาง หรือแม้แต่จะนั่งเล่นบนพื้นเฉย ๆ ก็ยังได้

ภาพจาก https://vimeo.com/13826541

ช่วงต้นปี 60’s Copenhagen เป็นเมืองที่ผู้คนใช้รถยนต์เป็นจำนวนมาก เริ่มที่จะสร้างปัญหาให้กับเมือง ในปี 1962 จัตุรัสกลางเมืองโคเปนเฮเกนเต็มไปด้วยรถยนต์และลานจอดรถ เมืองจึงมีความคิดที่จะเอารถยนต์ออกจากถนนหลักระยะทาง 1 กิโลเมตร ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาว่ามันคงจะไม่สำเร็จ เพราะที่นี่ไม่ใช่อิตาลี ไม่มีใครออกมาเดินหรอก

ปัจจุบันถนน Strøget ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมืองมีความยาวกว่า 1.15 กิโลเมตร ได้กลายเป็นถนนเดินเท้า (pedestrian streets) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในเดนมาร์ก มีผู้คนมากมายออกมาเดินเล่น มาฟังดนตรีสด มาจับจ่ายซื้อของ ทำให้ธุรกิจที่ตั้งอยู่ริมถนนได้กำไรเพิ่มขึ้น

การพัฒนาถนน Strøget มีเป้าหมายไว้ว่า 1) ต้องพัฒนาทางเชื่อมต่อภายในตัวเมือง 2) ต้องจัดหาสิ่งแวดล้อมที่น่าดึงดูด 3) สร้างพื้นที่เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจ 4) ส่งเสริมให้ผู้เกิดความหลากหลายในการใช้ชีวิตและใช้เวลาในใจกลางเมือง 5) ฟื้นฟูตรอกซอกซอยให้มีชีวิตชีวาและตรงตามการออกแบบที่เป็นสากล (global designing)

กุญแจสำคัญที่ทำให้โครงการเป็นไปตามเป้าหมาย มาจากการย้ายการจราจรทั้งหมดออกจากถนนและทางทางเท้า แล้วเปลี่ยนมาเป็นการปูพื้นใหม่และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ม้านั่ง ที่จอดจักรยาน กระถางต้นไม้ เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาเดินเท้ามากขึ้น รวมถึงสร้างข้อบังคับให้ลดความเร็วในการขับรถในพื้นที่ชุมชน การที่ถนนคนเดินประสบความสำเร็จในโคเปนเฮเกนส่วนหนึ่งมากจากการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลาผู้คนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาเป็นการใช้จักรยานหรือขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะควบคู่กันไปด้วย

เมืองบาร์เซโลนา: บล็อคสี่เหลี่ยมเปลี่ยนเมืองได้อย่างไร

เมืองที่มักจะได้จะได้รับการยกย่องเรื่องการวางผังเมืองที่โดดเด่นและเป็นระเบียบเรียบร้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หนีไม่พ้น เมืองบาร์เซโลนา (Barcelona) ประเทศสเปน จากเมืองที่เผชิญกับปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสัญจรแบบใหม่

ภาพจาก https://www.vox.com/2016/8/4/12342806/barcelona-superblocks

Barcelona เป็นเมืองที่มีขนาดและประชากรใหญ่เป็นอันดับสองของสเปน ประสบปัญหาการจราจร มลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียงอย่างหนัก เนื่องจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น กระทั่งปี 2014 ทางเมืองก็ได้สร้างแผนการขนส่งของเมือง (Urban Mobility Plan) แผนดังกล่าวมีโมเดลที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากชื่อ ซูเปอร์บล็อค (Superblocks) ออกแบบโดยเทศบาลเมืองบาร์เซโลนา (the Municipality of Barcelona) และสำนักงานนิเวศวิทยาเมืองบาร์เซโลนา (the Urban Ecology Agency of Barcelona)

Superblocks เป็นพื้นที่แบบกริดมีขนาดประมาณ 9 บล็อคอาคาร โดยที่การสัญจรหลักจะถูกจำกัดด้านนอกซูเปอร์บล็อค ส่วนการสัญจรด้านในซูเปอร์บล็อคจะเป็นทางวันเวย์ มีแต่การสัญจรของคนในพื้นที่และจะถูกจำกัดความเร็วที่ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น การออกแบบลักษณะนี้ทำให้ถนนกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่

โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เสริมสร้างการขนส่งที่ยั่งยืน 2) ฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะ 3) รักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในเมือง 4) ส่งเสริมความร่วมมือและการอยู่ร่วมกันในสังคม 5) แนะนำกระบวนการการมีส่วนร่วมและระบบการจัดการรูปแบบใหม่ 6) ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคพลังงานอย่างยั่งยืน 7) ลดมลพิษทางเสียง ทางอากาศและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 8) เพื่อเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่น

หลังจากดำเนินโครงการในเมืองบีโตเรีย-กัสเตย์ซ (Vitoria-Gasteiz) พบว่าใน central superblock มีพื้นที่ทางเดินเท้าเพิ่มขึ้นจาก 45% เป็น 74% เสียงรบกวนที่วัดได้ใน superblock ลดลงจาก 66.50 เดซิเบลเป็น 61.00 เดซิเบล ซึ่งเป็นผลมาจากการลดจำนวนรถยนต์ในโซน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ได้ 42% และฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ 38%

Superblocks ยังทำให้พื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวภายในเมืองเพิ่มขึ้น ผู้คนในเมืองเปลี่ยนรูปแบบการสัญจรมาเป็นการเดินเท้าและจักรยานมากขึ้นจากกการมีถนนที่ปลอดภัย เด็กๆมีพื้นที่ให้ออกมาวิ่งเล่น ผู้คนออกมาพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีให้กับธุรกิจภายในพื้นที่อีกด้วย

เมืองเดลี: สร้างความปลอดภัยในการช็อปด้วยการสต็อปรถยนต์ไม่ให้เข้ามา

สำรวจเมืองในทวีปเอเชียกันบ้าง เมืองเดลี (Delhi) ประเทศอินเดีย กับผลงานการเปลี่ยนแปลงถนนย่านตลาดจันทนีจาวก์ (Chandni Chowk) ที่แต่เดิมขวักไขว่ไปด้วยผู้คนและรถยนต์ที่สวนกันไปมาสู่ทางเดินเท้าปลอดรถยนต์

Chandni Chowk ถือเป็นย่านที่แออัดที่สุดแห่งหนึ่งในเดลี ในปี 2020 ถนนยาวกว่า 1.3 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่าง the Red Fort และ the Fatehpuri Masjid ได้ถูกเปลี่ยนโฉมใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ Mughal-era ถนนบริเวณนี้จากเดิมที่มีผู้คนพลุกพล่านและมีรถขับสวนไปมาในตอนนี้ได้กลายเป็นถนนเดินเท้าปลอดรถยนต์เรียบร้อยแล้ว

โครงการนี้มีวิสัยทัศน์การพัฒนา คือ 1) เป็นโครงการที่ช่วยผลักดันการอนุรักษ์และฟื้นฟูชาจาฮานาบาต (Shahjahanabad) ส่วนหนึ่งในเมืองเดลีที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ 2) สร้างความต่อเนื่องทางกายภาพและการมองเห็นในกับภูมิทัศน์ถนน 3) เสริมสร้างการเดินเท้าที่ปลอดภัยและเป็นอิสระโดยให้ความสำคัญกับคนเดินเท้ามากกว่ายานพาหนะ 4) ส่งเสริมและรักษาความเป็นมัลติฟังก์ชัน (Multifunction) ของจันทนีจาวก์ในการเป็นถนนคนเดิน (market street) ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมและจัดพิธีการ งานรื่นเริงต่าง ๆ ให้กับประชาชน และ 5) สร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามทั้งสองฝั่งถนนโดยการปลูกต้นไม้

ย่านตลาดจันทนีจาวก์จะเป็นพื้นที่ปลอดรถยนต์ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม หากฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับ โดยค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 65 ล้านรูปี แต่ตอนนี้ค่าใช้จ่ายขยายเป็น 90 ล้านรูปีหรือประมาณ 378 ล้านบาทไทย โครงการได้ดำเนินการโดยคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับประชาชน มีการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานบางอย่าง เช่น สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเพื่อให้คนเดินเท้าข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย จัดห้องน้ำสาธารณะและม้านั่งยาวตลอดแนว นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้รถลากไฟฟ้า (E-rickshaws) ได้ในบางจุดเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดเพิ่มเติม โดยภายหลังการพัฒนาถนนในย่านตลาดจันทนีจาวก์ พบว่ ากระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนเป็นไปในทางที่ดีสังเกตได้ที่ #chandnichowk ในทวิตเตอร์ที่มีผู้คนกล่าวชื่นชมโครงการนี้เป็นจำนวนมาก

เมืองโซล: เพราะอยากให้เมืองเปลี่ยนไปถนนจึงต้องเปลี่ยนแปลง

ปิดท้ายด้วย เมืองโซล(Seoul) ประเทศเกาหลีใต้ ที่เมื่อปีที่แล้วเพิ่งประกาศโครงการพัฒนาพื้นที่ควางฮวามุนสแควร์ (Gwanghwamun Square) ใหม่ ให้ออกมาในรูปแบบที่ทันสมัยมากกว่าเดิม

Gwanghwamun Squar หรือ Gwanghwamun Plaza เป็นแลนมาร์คแห่งหนึ่งของโซล เชื่อมต่อระหว่างประตูควางฮวามุน และชองกเยพลาซา ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระราชวังเคียงบก ในอดีตพื้นที่นี้เคยเป็นถนนขนาดใหญ่มาก่อน จนกระทั่งในปี 2006 นายกเทศมนตรีกรุงโซล Oh Se-hoon ได้สั่งให้มีการสร้างสร้างจัตุรัสคนเดิน เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของเมือง ทำให้จากถนน 16 เลน เหลือเพียง 10เลน เท่านั้น ต่อมาในปี 2013 ได้มีโครงการ Sejong-ro Car-Free Sunday ขึ้นบนถนน Sejongro ข้างควางฮวามุนพลาซ่าให้กลายมาเป็นโซนเดินเท้า โดนถนนฝั่งซ้ายจะถูกปิดเดือนละ 2 ครั้งในทุกวันอาทิตย์ที่่ 1 และ 3 ระหว่างเดือนมีนาคมถึงตุลาคมเพื่อจัดงานเทศกาลต่าง ๆ

และในปี 2020 รัฐบาลกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government:SMG) ได้ประกาศโครงการสร้าง New Gwanghwamun Square มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนเปลี่ยนโฉม Gwanghwamun Square เป็นพลาซ่าที่ผู้คนสามารถหยุดพักและเดินได้อย่างสะดวกสบาย โดยการก่อสร้างโครงการนี้มีอยู่ 2 ช่วง

ขั้นตอนแรกคือ ‘การก่อสร้างขยายและบำรุงรักษาถนนฝั่งตะวันออก’ จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2020 และดำเนินต่อไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายและติดตั้งถนนฝั่งด้านตะวันออกด้านหน้าสถานทูตสหรัฐฯ เป็นถนน 7 – 9 เลนเพื่อให้การจราจรทางด้านตะวันตกของศูนย์วัฒนธรรมเซจง (the Sejong Culture Center) ไหลไปทางทิศตะวันออก

ขั้นตอนที่สองคือ ‘การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใน New Gwanghwamun Square’ จะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2020 และสิ้นสุดภายในเดือนตุลาคม 2021 เพื่อสร้างจัตุรัสที่สะท้อนคุณค่าความสืบเนื่องของอดีต ขณะเดียวกันก็เป็นการเฉลิมฉลองพลวัตและการแสดงออกของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างและกระตุ้นให้เกิดความมีชีวิตชีวาของผู้คนและเมือง โดยการปรับปรุงใหม่นี้จะมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่กิจกรรมมากขึ้นเพื่อให้ตอบรับกับความต้องการและวิถีชีวิตของผู้คน


Contributor