01/11/2019
Mobility
Good Walk – Bad Walk จินตนาการเมืองเดินดี
The Urbanis
เรานึกภาพออกกันไหมว่า หากกรุงเทพมหานครมีทางเดินที่ดี แสงสว่างเพียงพอ ไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีบรรยากาศริมทางที่น่าเดิน ชีวิตในเมืองกรุงจะน่าอยู่เพียงใด
ถ้าเรามีเมืองที่ผู้คนสามารถเข้าถึงจุดหมายต่างๆ ได้ด้วยการเดิน มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการเดิน และเป็นเมืองที่ผู้คนเข้าใจความหลากหลาย สะดวกสบาย ปลอดภัย และรื่นรมย์ เราจะได้ประโยชน์จากบ้านเมืองแบบนี้ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามแต่ใจมากขึ้น นอกจากนี้การเดินยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของสังคมให้มีค่าเฉลี่ยที่ดีขึ้นด้วย
เมื่อมนุษย์เดินสองเท้า เราสามารถเข้าถึงสิ่งเล็กน้อยริมทาง เห็นรายละเอียดที่เคยมองข้าม ได้ออกกำลังกาย และสื่อสารตัวตน ผู้คนมีการแต่งตัวที่แตกต่างตามบุคลิกหรืออาชีพที่หลากหลาย กลายเป็นสีสันให้เมือง และทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้ดำเนิน ‘โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี’ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระบวนการและกลไกในการเชื่อมโยง ‘นโยบาย’ เข้ากับ ‘พื้นที่’ โดยมีเป้าหมายคือการส่งเสริมให้ผู้คนออกมาเดินกันในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างการพัฒนาเมืองเดินดีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
“การแสดงผลงานสาธารณะโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2561 เวลา 13.00-16.30 น. ณ โกดังอเนกประสงค์ริมน้ำ ล้ง 1919 ท่าน้ำเก่าที่ได้รับการเปลี่ยนให้เป็นคอมมิวนิตี้มอลล์แห่งใหม่
ในงานมีแฟชั่นโชว์ที่นำเสนอ good walk กับ bad walk เปรียบเทียบระหว่างชีวิตของผู้คนบนถนนหนทางที่เรียบร้อย เป็นระเบียบ มีร่มเงา เป็นทางเดินมาตรฐาน กับทางเดินที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน สิ่งกีดขวาง และฟุตปาธขรุขระ ภาพจำลองนี้จะบอกปัญหาที่เรากำลังเผชิญ และทำให้เห็นว่าการแต่งกายของคนจะเปลี่ยนไปเพียงใด เราจะสามารถแต่งตัวได้เกินขีดจำกัดที่นึกได้เพียงใด เมื่อไม่ต้องกังวล กับฝน ฝุ่น และแสงแดดอันร้อนแรง
Bad walk
หากเราเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายของชำ เราอาจเห็นรองเท้าแตะยางหรือรองเท้าบู๊ตยาง เสื้อกันฝน ร่มกันแดด และผ้าปิดปาก ขณะเดียวกันเมื่อมองไปที่ถนนในกรุงเทพฯ ผู้คนบนท้องถนนยังใส่ผ้าปิดปาก ถือร่มอย่างทุลักทุเล อีกมือถือถุงแกงหรือของอื่นๆ ในยามฝนตก รองเท้าผ้าใบที่สวมมาอาจเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบโคลน เพราะไปเหยียบแผ่นกระเบื้องน้ำขังเข้า
สภาพฟุตปาธในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการเดินของคนในกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยดีนัก และอาจต้องพัฒนาอีกหลายอย่าง การเดินแฟชั่น bad walk สร้างภาพเสมือนให้เห็นว่าบ้านเมืองที่มีคุณภาพการเดินที่ไม่ดีนั้น ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งการแต่งกาย บุคลิกภาพ และสุขภาพอย่างไร
ภาพคนแก่ที่ต้องใช้ถังออกซิเจนเพื่อใช้ในการช่วยหายใจ อีกมือต้องสะพายกระเป๋า แววตาไม่มีความรื่นรมย์บนฟุตปาธที่ขรุขระและแตกร้าว เป็นภาพจำลองของคนกรุงเทพฯ เพื่อให้เห็นว่าผู้คนต้องทนกับมลพิษมากแค่ไหน แม้ภาพนี้จะดูเหนือจริง แต่ในความเป็นจริงฝุ่นควันจากรถยนต์ที่เราสูดเข้าไปนั้น อยู่ในเกณฑ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากตัวเลขของกรมควบคุมมลพิษที่แสดงว่า จำนวนฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับ 151-200 ซึ่งถือเป็นระดับสีแดง เมื่อเทียบเป็นดัชนีคุณภาพอากาศตามเกณฑ์ของสหรัฐฯ (0-500) สาเหตุสำคัญของฝุ่นควันในกรุงเทพฯ มาจากรถยนต์จำนวนหลายล้านคันบนถนน ที่คนเดินเท้าต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
การเผชิญกับฝุ่นควันในเมืองก็เหมือนการต้องดมก๊าซอันตรายอยู่ตลอดเวลา สัญลักษณ์ของสารกัมมันตภาพรังสี และหัวกะโหลกกระดูกไขว้ที่คล้ายเป็นสร้อยประดับ กำลังบอกเราว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องอันตรายถึงชีวิตหากเราต้องอยู่ในอากาศแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
ไม่ใช่แค่เรื่องของมลพิษเท่านั้น แต่กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่ผลิตขยะมากที่สุดในประเทศไทย เฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ ผลิตขยะมูลฝอย 1.53 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน มีปริมาณขยะเฉลี่ย 9,900 ตันต่อวัน และยังปรากฏให้เห็นบนทางเท้าจากปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ภาพชุดที่ขยุกขยุยกับขยะบนหัว สะท้อนความไม่เป็นระเบียบเหล่านี้ เราอาจเคยเดินเตะขวดน้ำบนพื้นโดยไม่ตั้งใจ เห็นถุงพลาสติกลอยละลิ่วบนทางเท้า แต่เราก็ต้องฝืนยิ้มหรือทำเหมือนไม่เป็นอะไร เพราะจำต้องชินกับสิ่งเหล่านี้ เหมือนที่นางแบบมีรอยยิ้มจากกระดาษตัดแปะ
ด้านหลังที่เดินตามมามีทั้งคราบน้ำตาเป็นสายเลือด แขนที่บาดเจ็บ และชุดที่ทำด้วยถุงพลาสติก เปรียบเทียบให้เห็นว่า เราถูกห้อมล้อมด้วยขยะ และอาจเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา แม้มือหนึ่งจะถือถุงช้อปปิ้ง แต่หลังต้องเกร็งตรงเพราะดามคอไว้ ไม่ได้มีความรื่นเริงใดๆ ในการเดินช้อปปิ้งเลย
นอกจากนี้เราอาจต้องใส่หมวกเซฟตี้เพื่อป้องกันสิ่งของหล่นใส่ ทั้งจากกิ่งไม้ หรือเศษเหล็กปูนในงานก่อสร้างตามถนนที่ไม่ได้มีการควบคุมความปลอดภัย รวมถึงต้องใส่เสื้อกันฝนตลอด เพราะทางเดินไม่มีร่มเงากันแดดฝนที่เพียงพอ
ภาพในแฟชั่นอาจจะดูเหนือจริง แต่ก็เป็นการหยิบเอาความเจ็บปวดที่คนกรุงฯ ต้องเจอ สะท้อนปัญหาออกมาได้ชัดเจน แม้ว่าผู้คนจะเจอสิ่งนี้ทุกวันจนอาจเคยชิน แต่อย่าลืมว่าเราสามารถหวังถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ได้
Good walk
เมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดินร่วมกับขี่จักรยานและระบบขนส่งมวลชน ผู้คนเดินสัญจรในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ปลอดภัย จะนำผลดีมาสู่ผู้คนที่อาศัยในเมือง ทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดียิ่งขึ้น
เมืองเดินดีนั้นต้องน่าเดิน มีกิจกรรมระหว่างทาง มีร่มเงา โครงสร้างกันฝน กันแดด สะอาดตา ต้องเดินสะดวก มีความต่อเนื่องของทางเดินเท้า ความกว้าง และความเรียบของทางเท้าพอเหมาะกับการเดิน ไม่มีสิ่งกีดขวาง และต้องเดินปลอดภัย มีสายตาช่วยเฝ้าระวังจากร้านค้าและผู้คนที่อยู่ริมทาง มีทางข้ามที่ปลอดภัย และมีแสงสว่างยามค่ำคืนที่เพียงพอ
เมื่อเมืองเป็นเมืองเดินดี ก็จะเกิดความหลากหลายในการแต่งกาย บุคลิกภาพที่ดีขึ้นของผู้คน และสุขภาพของคนเมืองที่ไม่ต้องผจญกับอากาศที่เป็นพิษ
ตรงกันข้ามกับ bad walk ที่ผู้คนไม่มีอิสระในการเลือกเสื้อผ้า และยังต้องทนทุกข์กับฝุ่นควันจนต้องเอาหน้ากากมาสวมใส่ เพราะผู้คนที่อยู่ในเมืองที่เหมาะกับการเดินมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ในฉากหลังเมืองที่โล่งสบายตา สวมชุดโปร่งสบาย ยืดอกอย่างมั่นใจ และสามารถเอามือล้วงกระเป๋าได้ตามใจตัวเอง ไม่ต้องหอบหิ้วอุปกรณ์กันภัยมาด้วย
นอกจากจะเดินสบายแล้ว เรายังสามารถถือขนมทานได้สบาย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องฝุ่นควันมากวนใจ หรือจะเลือกใส่โค้ชยาวเพื่อเสริมบุคลิกภาพ ไม่ต้องกังวลว่าต้องใส่ชุดกันฝนเพราะต้องเดินตากฝนบนทางเท้าที่ไม่มีหลังคา ทั้งยังเปลี่ยนจากหมวกเซฟตี้เป็นหมวกแก๊ปที่เข้ากับชุดและทรงผม เดินอกผายไล่ผึ่ง ปล่อยมือได้สบาย
เมื่อนำผู้คนในเมือง good walk กับ bad walk มายืนข้างกัน ก็ทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจน หากเรามีเมืองที่สามารถเดินได้สะดวก นอกจากจะทำให้ได้เห็นผู้คนที่อยู่รายรอบและเข้าใจวิถีชีวิตของคนในสังคมแล้ว ยังช่วยลดมลพิษจากการใช้รถยนต์ โดยเฉพาะปัญหาขนส่งมวลชน เมื่อผู้คนออกมาเดินกันเยอะขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดการเปลี่ยนสังคมจากภาคประชาชนได้อย่างน่าสนใจ
จินตนาการถึงเมืองเดินดี และเริ่มเดินไปด้วยกัน!